เทคนิคสัมภาษณ์งานแบบ Group Interview ไม่ต้องกลุ้มเมื่อสัมภาษณ์แบบกลุ่ม

23/07/24   |   476   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานตรงใจได้ผ่านมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

Group Interview หรือ การสัมภาษณ์งานแบบกลุ่ม เป็นการสัมภาษณ์งานแบบที่องค์กรจะคัดเลือกแคนดิเดตที่น่าสนใจจากใบสมัครและพอร์ตโฟลิโอ จากนั้นก็เชิญพวกเขามาสัมภาษณ์งานในห้องเดียวกันที่บริษัท ซึ่งมันก็ฟังดูเป็นบรรยากาศที่กดดันมากสำหรับแคนดิเดต เพราะต้องตอบคำถามสัมภาษณ์ต่อหน้าคู่แข่ง แต่ในความเป็นจริง ถ้าเราเข้าใจ Group Interview และสามารถจับจุดมันได้ เราก็จะสามารถพลิกสถานการณ์จากการสัมภาษณ์สุดกดดันให้กลายเป็นโอกาสโชว์ความโดดเด่นในตัวเองให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็น วันนี้ JobThai เลยจะมาแนะนำเทคนิคดี ๆ ที่คนหางานสามารถเอาไปใช้ได้จริงเมื่อต้องสัมภาษณ์งานแบบกลุ่ม

 

Group Interview คืออะไร ทำไมเราถึงต้องสัมภาษณ์งานพร้อม ๆ กับ คู่แข่ง

 

ให้ความสำคัญกับผู้สัมภาษณ์ทุกคนเท่ากัน

บางครั้งในห้องสัมภาษณ์ อาจมีตัวแทนจากฝั่งองค์กรอยู่หลายคน และแคนดิเดตบางคนก็เลือกมองแค่คนที่ดูแล้วน่าจะเป็นคนที่สำคัญที่สุดในห้อง เช่น Hiring Manager หรือ CEO เพราะคิดว่าเขาคนนั้นคือคนที่มีผลต่อการตัดสินใจในการว่าจ้าง แล้วละเลยผู้สัมภาษณ์คนอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริง ผู้สัมภาษณ์ทุกคนต่างมีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจว่าจะจ้างเราหรือไม่ ถึงบางคนในนั้นมีตำแหน่งที่เล็กกว่าหรืออาจจะไม่ได้เป็นหัวหน้าเราโดยตรง แต่ถ้าเขาอยู่ในห้องนั้น มันก็เป็นไปได้สูงว่าเขาคนนั้นมีอำนาจมากพอที่จะลงความเห็นและประเมินว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับงาน

 

การที่เรามองผู้สัมภาษณ์และให้ความสำคัญกับคนคนเดียว เป็นสัญญาณของความไม่เคารพในตัวผู้อื่น ซึ่งเชื่อสิว่าไม่ใช่แค่คนที่ถูกเมินจะดูออก แต่คนที่สำคัญที่สุดที่เราเทโฟกัสไปให้ ก็สามารถสัมผัสถึงสิ่งนี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นให้ความสำคัญกับทุก ๆ คนเท่า ๆ กัน ถ้ากลัวจะเสียสมาธิเพราะมัวแต่คิดว่าต้องมี Eye Contact กับทุกคน ก็อาจใช้วิธีว่าถ้าใครเป็นคนยิงคำถาม ก็หันไปตอบคนนั้น

 

เคารพแคนดิเดตคนอื่น

ถ้าไปถึงที่บริษัทเร็วหน่อย ในระหว่างที่รอให้เขาเรียกเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ก็อย่ากลัวที่จะพูดทักทายแคนดิเดตคนอื่น ๆ และเมื่อเริ่มสัมภาษณ์แล้ว ถ้าทุกคนได้โจทย์ที่ต้องทำร่วมกัน แล้วต้องแสดงความเห็น ก็ให้เป็นไปอย่างใจเย็นและมีเหตุผล พร้อมรับฟังไอเดียที่ดีจากทุกคน อย่าลืมว่างานนั้น ๆ เป็นงานกลุ่ม

 

ถ้าแคนดิเดตคนอื่นกำลังแชร์อะไรบางอย่าง เช่น ถ้าเขาเล่าเรื่องตลก คนบางคนอาจเกิดความรู้สึกว่าตัวเองต้องเล่าเรื่องที่ตลกกว่า เรื่องที่ดีกว่า เพราะรู้สึกว่าตัวเองต้องแข่งขัน แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ควรพูดอะไรเพราะแค่จะเอาชนะใคร ไม่ควรพูดเพื่อทำให้ใครรู้สึกแย่ ถ้ามีเรื่องที่อยากแชร์ก็ควรดูหัวข้อบทสนทนาในตอนนั้น สังเกต Flow ของบทสนทนา และหาจังหวะดี ๆ

 

ความรู้สึกอยากจะแข่งขัน อยากทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ อาจทำให้เราเผลอทำตัวเหมือนคนที่อยากจะควบคุมบทสนาทนาและพยายามจะอยู่เหนือกว่าแคนดิเดตคนอื่น ๆ ซึ่งเราต้องเตือนตัวเองเอาไว้ว่าการทำอย่างนั้นมันไม่ใช่การสร้างความประทับใจที่ดี เพราะการไม่สนใจผู้อื่นและพยายามที่จะเป็นคนที่ส่งเสียงของตัวเองให้ดังที่สุด อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์ตัดสินว่าเราเป็น Red Flag ได้เลย เพราะเขาจะเห็นว่า ถ้าต้องอยู่ในภาวะกดดัน หรือภาวะที่ต้องแข่งขัน เราจะเน้นตัวเองก่อนโดยที่ไม่สนใจคนอื่นหรือความเหมาะสมของสถานการณ์รอบตัว

 

ระวังพูดขัดจังหวะคนอื่น

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องระวังที่สุดในการสัมภาษณ์แบบ Group Interview เพราะการพูดขัดคนอื่น แสดงให้เห็นว่าเราไม่เคารพโมเมนต์ตอบคำถามของคนอื่น ถ้าเรานึกเรื่องที่อยากจะพูดออกทีหลัง ก็ควรหาจังหวะพูดหลังจากที่แคนดิเดตคนอื่นพูดจบแล้ว ถ้าไม่มั่นใจว่าเขาพูดจบรึยังก็อาจพูดเพื่อเช็กก่อนได้ว่า “ผมขอแชร์ในมุมของผมบ้างได้ไหม”

 

ถ้าเรากะจังหวะไม่ถูก แล้วเผลอพูดชนกันกับแคนดิเดตคนอื่น ๆ เพราะเราคิดว่าเขาตอบจบแล้วและอยากจะเสริมขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำก็คือการเอ่ยขอโทษ และให้เขาพูดให้จบก่อน แล้วเราค่อยรอเล่าในจังหวะที่เหมาะสม

 

รับฟังทุกคนและรู้จักเชื่อมโยงบทสนทนา

เปิดหูและเปิดใจรับฟังคนรอบข้างทุกคน ถ้าคนข้าง ๆ ตอบคำถามได้ดี ฟังแล้วเรารู้สึกเห็นด้วย ก็ไม่ต้องกลัวที่จะพยักหน้าตอบรับหรือเอ่ยปากชมหรือพูดว่าเห็นด้วยกับคนคนนี้นะ สิ่งนี้แสดงถึงความสบายใจและความมั่นใจในตัวเองจนกล้าที่จะเอ่ยปากชมคนอื่น รวมถึงเป็นการให้เกียรติแคนดิเดตคนอื่น ๆ ว่าเรามองเห็นความสามารถและให้คุณค่ากับคำพูดของเขา และทำให้ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นการแข่งขัน ซึ่งในการทำงานจริง ทุกคนทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคนเก่งคนละแบบ เราทำทั้งหมดไม่ได้ถ้าขาดใครไป คนที่ต้องทำงานเป็นทีมจึงควรเห็นค่าเพื่อนร่วมทีม

 

ถ้ามีแคนดิเดตสักคนกำลังพูดในหัวข้อที่เรารู้สึก Relate เช่น มีประสบการณ์การทำงานร่วมที่คล้ายกัน และอยากจะแชร์ในมุมของตัวเองบ้าง ก็สามารถหาจังหวะเพื่อพูดโยงมาถึงตัวเองได้ นอกจากจะเป็นการเล่าถึงทักษะความสามารถและประสบการณ์แล้วยังเป็นการโชว์ทักษะการฟังและการสื่อสารของเราอีกด้วย

 

ทวนคำถามในสไตล์ตัวเองบ้าง

เวลาที่ถูกถามคำถามบางอย่าง เราสามารถทวนคำถามจากผู้สัมภาษณ์ได้ เช่น ถ้าเราเจอคำถามที่เข้าใจยาก มีรายละเอียดเยอะ เราสามารถถามว่า “ผมเข้าใจถูกไหมครับว่า คุณอยากให้ผมช่วยอธิบายในส่วนนี้ ว่า…” ซึ่งการทวนแบบนี้จะแสดงให้เห็นว่าเรากำลังตั้งใจฟังอยู่ และเรามีทักษะในการจับใจความที่ดี หรือในกรณีที่เราต้องการเวลาสักนิดเพื่อคิดและเรียบเรียงคำตอบ การทวนคำถามก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่จะช่วยถ่วงเวลาให้เรามีเวลาคิดมากขึ้นอีกนิดหน่อย แต่ยังไงก็ตามแนะนำว่าอย่าทำบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้เราดูเหมือนคนที่ตีประเด็นไม่แตกและไม่มั่นใจในตัวเองจนต้องถามเช็กบ่อย ๆ

แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้อื่น

ในเวลาที่เราสัมภาษณ์งานเราต่างอยากจะเป็นคนที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาตัวเลือกขององค์กร แต่สำหรับการสัมภาษณ์งานแบบกลุ่ม แนะนำว่าให้ยึดหลัก Think “We” not “Me” หมายถึง ถ้าจะทำอะไรให้นึกถึงส่วนรวม เช่น ได้รับโจทย์ที่ต้องทำร่วมกันกับแคนดิเดตคนอื่น ๆ แล้วต้องพูดพรีเซนต์ แทนที่จะบอกว่า “ผมคิดว่า…” ลองเปลี่ยนเป็น “พวกเราคิดว่า…” เพราะ Group Interview สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทีมที่ต้องทำงานด้วยกัน

 

นอกจากนี้ถ้าเราได้เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้กับผู้สัมภาษณ์ฟัง เช่น ได้แชร์ประสบการณ์การทำงานงานที่เก่า สามารถใช้คำว่า “ทีมเรา” ได้ เช่น “ทีมเราทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้” โดยอธิบายเพิ่มว่าเรารับผิดชอบในส่วนไหน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรารู้จักการทำงานแบบ Teamwork และรู้จักให้เครดิตผู้อื่น

 

รู้ว่าตอนไหนคือโมเมนต์ของเรา และตอนไหนไม่ใช่

เวลาทำงานหลายคนอาจโฟกัสว่า “ฉันจะต้องดีที่สุด” “ฉันต้องทำให้สมบูรณ์แบบ” หรือ “ฉันต้องพึ่งพาตัวเองได้” แต่ปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญกับการเป็นทีมและการทำงานแบบพึ่งพาช่วยเหลือกันในทีมมากขึ้น เพราะการทำงานที่มีหลาย ๆ คนได้ช่วยกันทำและระดมไอเดียนั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อตัวงานโดยตรงแล้ว ยังอาจส่งผลดีต่อวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันในองค์กรด้วย ซึ่งทัศนคติในการทำงานสามารถสะท้อนออกมาได้ผ่านการกระทำในห้องสัมภาษณ์ ดังนั้นเราในฐานะแคนดิเดตต้องรู้จักดูจังหวะว่าตอนไหนที่ให้คนอื่นเขาได้ Shine และจังหวะไหนที่เราสามารถ Step Up ขึ้นมาเพื่อแสดงความสามารถหรือมุมมองที่เป็นประโยชน์ได้

 

เป็นคนพูดน้อยไม่ใช่อุปสรรค ถ้าเรารู้จักสื่อสาร และหาจังหวะเป็น

Group Interview ถือว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่ท้าทายมากสำหรับคนที่พูดไม่เก่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องตัดใจยอมแพ้แต่เพียงเท่านี้ เรายังคงมีลุ้นพอ ๆ กับคนอื่นถ้าเรารู้จักสังเกต Flow ของบทสนทนา และกล้าพูดเมื่อถึงจังหวะที่รู้สึกว่าตัวเองควรจะพูด เพื่อที่จะได้ไม่กลับมาเสียดายว่า “ตอนนั้นเราน่าจะตอบไปเนอะ”

 

เวลาที่ผู้สัมภาษณ์ถามคำถาม และให้แคนดิเดตตอบทีละคน เราไม่จำเป็นต้องรอตอบคนสุดท้าย เพราะเกรงใจอยากให้ทุกคนพูดจบก่อน ถ้ามันไม่มีเรียงลำดับการตอบ ก็เลือกตอบในจังหวะที่เหมาะสมได้เลย และในระหว่างที่ตอบอย่าลืมว่าไม่มีใครเร่งให้เรารีบพูดให้จบ ดังนั้นให้ตอบคำถามด้วยความใจเย็น เราสามารถค่อย ๆ เล่าได้ การที่เราค่อย ๆ ใช้เวลาจะทำให้คำตอบของเราเป็นคำตอบที่กลั่นกรองและเรียบเรียงอย่างดีแล้ว ในทางกลับกัน ถ้าเรารีบพูด มันก็จะดูเหมือนว่าเรากลัวไม่ได้พูด หรือกลัวจะทำคนอื่นเสียเวลาจนถึงขั้นไม่ให้เวลาตัวเองได้ตอบ ซึ่งอันที่จริงเราไม่ใช่คนที่ต้องกังวลเรื่องเวลา เพราะผู้สัมภาษณ์จะเป็นคนควบคุมสิ่งนี้เอง

 

นอกจากนี้คนที่พูดไม่เก่งมักกังวลว่าเราจะพูดน้อยไปและสู้คนอื่นที่พูดเก่ง ๆ ไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการพูดสั้นหรือพูดยาวไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือเนื้อหาที่เราพูดออกไปนั้นเป็นการตอบคำถามที่ตรงประเด็น ชัดเจน และครบถ้วนไหมต่างหาก ซึ่งถ้าไม่มั่นใจว่าเราจะตอบได้โอเคไหม เราก็สามารถเตรียมตัวก่อนได้โดยการหาข้อมูลคำถามที่มักจะเจอบ่อยในการสัมภาษณ์งาน แล้วก็ฝึกซ้อม พร้อมอัดวิดีโอไว้ แล้วเปิดดูว่าเราพูดครบถ้วนและตรงประเด็นดีรึยัง

 

9 คำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิต พร้อมเทคนิคการตอบที่คนหางานควรเตรียมตัว

 

ถ้าต้องเจอสถานการณ์ที่เป็น Group Activity ที่ให้แคนดิเดตทำงานร่วมกันเป็นทีม เราก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบทบาทที่เป็นผู้นำทีมก็ได้ เพราะในการทำงานจริงเวลาทำงานเป็นทีมมันต้องมีทั้งคนที่เป็นผู้นำและผู้ตามอยู่แล้ว เพียงแต่เรากล้าที่จะพูดเมื่อถึงเวลาที่ต้องพูด รวมถึงต้องโชว์ทักษะ แนวคิด และวิธีการทำงานของเราของเราออกมาให้คนสัมภาษณ์ได้เห็น

 

บางคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแชร์ว่าตัวเองมีประสบการณ์ด้านไหน มีทักษะอะไรบ้าง เพราะไม่มั่นใจว่าจะสู้คนอื่นไหวไหม แต่การที่เราได้เข้ามานั่งในห้องสัมภาษณ์นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เราถูกคัดมาแล้วระดับนึงผ่านเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอ ดังนั้นอย่ากังขาในความสามารถของตัวเอง

 

สัมภาษณ์งานแบบ Introvert พูดน้อยได้แต่ต้องต่อยให้เข้าเป้า

 

หลายอย่างเกิดขึ้นได้ใน Group Interview เพราะเป็นการรวมคนหลาย ๆ แบบให้มาอยู่ในห้องเดียวกัน บางครั้งก็อาจมีคนที่ไม่ถนัดพูดคุยกับคนอื่น มีคนพูดเก่งที่พยายามพูดตัดจบคนอื่น มีคนที่รู้จักรอให้ผู้อื่นพูดจบและกล้าที่จะพูดความคิดของตัวเองออกมา เชื่อสิว่าผู้สัมภาษณ์มองออกว่าใครพยายามทำตัวเด่นกว่าเพื่อน ใครกำลังรับมือปัญหาด้วยความใจเย็น และใครกำลังรู้สึกอึดอัดกับการพูดคุยร่วมกันผู้อื่น

 

บางคนอาจรู้สึกว่าการสัมภาษณ์แบบกลุ่มเป็นอะไรที่ไม่แฟร์ เพราะเราก็มีความสามารถ แต่เราไม่ถนัดที่จะพูดคุย แต่อันที่จริง Group Interview วัดได้มากกว่าแค่เรื่องความสามารถ การพูดคุยครั้งเดียวสามารถสะท้อนไหวพริบ ทักษะการสื่อสาร บุคลิก ตัวตน ทัศนคติ และประสบการณ์ของแคนดิเดตได้ เพราะยังไงองค์กรก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกคนที่มีความพร้อมและครบเครื่องมากที่สุด เหมือนที่เราเองในฐานะแคนดิเดตก็มีสิทธิ์เลือกองค์กรที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเหมือนกัน

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

YouTube: 5 Tips For Standing Out In Group Interviews

YouTube: How to Ace Your Group Interview | Mock Job Interview | Indeed Career Tips

YouTube: 4 A's for Acing The Group Interview

airswift.com

introvertdear.com

tags : career & tips, group interview, job interview, สัมภาษณ์งานแบบกลุ่ม, สัมภาษณ์งาน, เทคนิคการสัมภาษณ์งาน, คนหางาน, สมัครงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม