- การแนะนำตัวเอง: อย่าเอาแต่พูดถึงประวัติส่วนตัว แต่ควรทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ โดยการอธิบายว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นอย่างไร
- คำถามเกี่ยวกับองค์กร: หาข้อมูลเพื่อทำความรู้จักองค์กรให้ได้มากที่สุดก่อนไปสัมภาษณ์ เพื่อให้เขาเห็นว่าเรามีความกระตือรือร้น และอยากทำงานกับองค์กรเขาจริง ๆ
- คำถามเชิงลึกเกี่ยวกับงาน: ศึกษารายละเอียดการทำงานของตำแหน่งที่สมัครให้ดี อย่าตอบแต่ภาพกว้าง ๆ และหากเราไม่รู้จริง ๆ ก็อย่าโกหก ควรบอกเขาตรง ๆ และแสดงให้เขาเห็นว่าเราพร้อมจะเรียนรู้
- คำถามเกี่ยวกับความผิดพลาดในอดีต: อย่าพูดถึงแค่ผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้น คำถามนี้องค์กรต้องการรู้ว่าเราแก้ปัญหานั้นอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง และจะสามารถเอาประสบการณ์ไปสอนคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้จักตัวตนผู้สมัครมากขึ้น
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย
|
|
เชื่อว่ามีเด็กจบใหม่ (Fresh Graduate) ไม่น้อยที่ตอบคำถามเวลาถูกสัมภาษณ์ไม่ได้ ส่งผลให้โดนหักคะแนนไปดื้อ ๆ ยิ่งถ้าคำถามนั้นเป็นคำถามแรก ๆ ก็จะยิ่งทำให้ความมั่นใจหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้สมัครที่มีประสบการณ์กันมาแล้วหลายคนก็อาจจะตอบคำถามบางข้อได้ไม่น่าสนใจหรือไม่ค่อยดีนักเช่นกัน ส่วนสาเหตุก็มาจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งความตื่นเต้น หรือไม่มีการเตรียมตัวที่มากพอ จนทำให้พลาดโอกาสการได้งานไปอย่างน่าเสียดาย
JobThai เลยได้ทำการรวบรวมตัวอย่าง 4 คำถามสัมภาษณ์งานที่ผู้สมัครงานมักตอบไม่ได้ พร้อมเทคนิคการตอบให้โดนใจผู้สัมภาษณ์มาให้กับคนที่กำลังหางานอยู่ตอนนี้
การแนะนำตัวเอง
คำถามเปิดอย่าง “แนะนำตัวเองให้ฟังหน่อย” คำถามพื้นฐานที่ผู้สมัครทุกคนต้องเจอ ซึ่งการแนะนำตัวว่า ชื่อ-นามสกุลอะไร อายุเท่าไหร่ พ่อแม่ชื่ออะไร มีพี่น้องกี่คน เรียนจบคณะหรือมหาวิทยาลัยอะไรนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็คงไม่มีผลต่อการทำงานสักเท่าไหร่ ลองหาวิธีตอบให้โดดเด่นและแตกต่างโดยการการแนะนำตัวเองให้องค์กรเห็นว่าเราเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวอย่างไร รวมถึงยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้องค์กรมองเห็นภาพและรู้สึกสนใจในตัวเรามากขึ้นจะดีกว่า ที่สำคัญควรพูดให้กระชับและเข้าใจง่าย โดยทั่วไปควรใช้เวลาในการแนะนำตัวไม่เกิน 2 นาที
คำถามที่เกี่ยวข้องกับองค์กร
ผู้สมัครหลายคนจะเริ่มสนใจรายละเอียดขององค์กรก็ต่อเมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์งานแล้ว แต่การเตรียมตัวศึกษาข้อมูลขององค์กรที่สมัครไว้แต่เนิ่น ๆ จะทำให้เราได้เปรียบในการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เช่น วัฒนธรรมองค์กร การบริหารงาน โปรดักส์ หรือชื่อเสียงขององค์กร เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์ และแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด มีความกระตือรือร้นในการสมัครงานและอยากทำงานกับองค์กรนั้นจริง ๆ
คำถามเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน
เมื่อถูกถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับเนื้องาน ผู้สมัครหลายคนจะตอบว่าทราบข้อมูลเกี่ยวกับเนื้องานและสามารถทำงานนั้นได้แน่นอน แต่พอถามถึงรายละเอียดที่ลึกลงไปกลับตอบได้แต่ภาพกว้าง ๆ เท่านั้น ไม่สามารถตอบรายละเอียดเฉพาะเจาะจง หรือระบุเป็นขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนได้ จนจบลงด้วยการถูกหักคะแนน
สิ่งที่ควรทำเบื้องต้นคือ ศึกษาข้อมูลและอ่านรายละเอียดของตำแหน่งงานที่สมัคร พร้อมทำความเข้าใจให้มากที่สุด และไม่ควรโกหก หากทำได้ก็บอกได้ หากรู้สึกไม่มั่นใจหรือไม่เคยทำมาก่อนก็ควรบอกตรง ๆ และแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานตำแหน่งนี้ด้วยการบอกว่า เราพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ยังขาด หรือประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตำแหน่งงานที่สมัครได้ยังไง
คำถามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
ส่วนใหญ่ผู้สมัครมักจะบอกถึงผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร แต่จริง ๆ แล้ววัตถุประสงค์ของคำถามนี้เพียงอยากจะทราบว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง ก้าวผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ยังไง พร้อมที่จะพัฒนาปรับปรุง และถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผิดพลาดไปสอนคนอื่นได้ยังไงบ้าง ซึ่งคำถามสัมภาษณ์งานลักษณะนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ได้รู้จักตัวตนของเราดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความคิดและทัศนคติของผู้สมัคร
แนวคำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้สมัครงานทุกคนต้องพบเจอตอนสัมภาษณ์งาน ดังนั้นหากผู้สมัครงานได้เรียนรู้และมีการเตรียมตัวที่ดีก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการสัมภาษณ์งานมากยิ่งขึ้น
สัมภาษณ์งานว่ายากแล้ว หาบริษัทที่จะเรียกเราไปสัมภาษณ์ยากกว่า
|
|
ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 14 มีนาคม 2018 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai