ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร อยู่ในสายงานไหน หรือว่ามีตำแหน่งอะไรก็ตาม “การโน้มน้าวใจ” ถือเป็นทักษะสำคัญที่ควรมีติดตัวเอาไว้ เพราะในหลาย ๆ ครั้ง การมีวาทศิลป์ในการพูดที่ดี หรือรู้จักวิธีการพูดโน้มน้าวใจก็สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ในหลาย ๆ ด้านจากการพูดคุย
การพูดโน้มน้าวใจ คือพฤติกรรมการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนความคิดของผู้ฟัง ให้เปลี่ยนไปหรือคล้อยตามไปในทิศทางที่ผู้พูดต้องการ ทำให้ผู้ฟังเปิดใจในการรับฟังมากขึ้น โดยจะเป็นการใช้ภาษาที่มีน้ำเสียงในเชิงของการเสนอแนะ การขอร้อง การวิงวอน และการเร้าอารมณ์ให้ผู้ฟังมีความรู้สึกร่วมกับสิ่งที่เราพูด ในแง่มุมของการทำงานแล้ว การพูดในลักษณะนี้สามารถใช้ต่อรองกับลูกค้า หรือใช้ต่อรองในที่ประชุมได้ อีกทั้งยังช่วยลดแรงปะทะเมื่อเกิดปัญหาในการทำงานได้อีกด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการโน้มน้าวใจถึงเป็นทักษะติดตัวที่ควรมีและควรให้ความสำคัญ
สำหรับใครที่ต้องการมีทักษะโน้มน้าวใจผู้อื่นติดตัวไว้ ไม่ว่าจะเอาไปใช้สำหรับการคุยงาน การประชุม การต่อรองเงินเดือนหรือเอาไปใช้สำหรับสถานการณ์ใดก็ตาม เรามี 6 เทคนิคที่ช่วยฝึกทักษะนี้ให้กับคุณง่าย ๆ ดังนี้
หากต้องการให้ผู้ฟังเปิดใจรับฟังในสิ่งที่คุณกำลังสื่อสาร อย่างแรกคือคุณต้องมีบุคลิกเปิดเผย แสดงให้ผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตรและความจริงใจ เพราะผู้พูดที่มีบุคลิกลักษณะเช่นนี้ อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อใจและคล้อยตามได้ง่ายนั่นเอง
การโน้มน้าวใจที่ดี ผู้พูดต้องพูดให้ตรงประเด็น ต้องมีการสื่อสารถึงสิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจน ไม่อ้อมค้อม เพราะยิ่งพูดจาอ้อมค้อมมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีโอกาสในการสื่อสารผิดพลาด และทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้มากเท่านั้น
การพูดโน้มน้าวใจจะต้องเลือกใช้ระดับภาษาให้ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการพูดโน้มน้าวใจลูกค้าที่มาซื้อของที่ตลาดนัด การเลือกใช้คำที่ฟังเข้าใจง่าย แทนการใช้ศัพท์เฉพาะจะทำให้โน้มน้าวใจลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายกว่า
หากต้องการเพิ่มโอกาสในการโน้มน้าวใจให้สำเร็จ ผู้พูดต้องหาจุดร่วมเดียวกันกับผู้ฟังให้เจอ เพราะไม่ว่าจะเป็นการพูดเจรจาต่อรองธุรกิจ หรือการนำเสนองานอะไรก็แล้วแต่ การพูดในสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นด้วยเหมือนกัน แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ก็ช่วยทำให้อีกฝ่ายคล้อยตามเราได้ง่ายขึ้น
ในการพูดคุยร่วมกัน นอกจากคุณจะต้องเป็นผู้พูดที่ดีแล้ว คุณต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย และในขณะที่ฟังอีกฝ่ายพูด คุณอาจต้องยิงคำถามโต้ตอบบ้างเป็นระยะ เพราะการกระทำในรูปแบบนี้ นอกจากจะทำให้คุณได้ข้อมูลเพื่อเอามาโน้มน้าวใจต่อแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณสนใจ และให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เขาพูดออกมาด้วย
การเปิดโอกาสให้ผู้ฟังตั้งคำถาม นับเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้ฟังคล้อยตามเราได้อีกหนึ่งอย่าง แต่คุณต้องมั่นใจด้วยว่าหากผู้ฟังถามอะไรมา คำตอบที่คุณควรตอบกลับจะต้องเป็นคำตอบที่ทำให้ผู้ฟังได้ข้อมูลที่ตรงประเด็นกลับไป และคำตอบที่ว่านั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจนทำให้ผู้ฟังคล้อยตามคุณในที่สุด
และนี่คือ 6 เทคนิคการพูดโน้มน้าวใจ ที่ทำให้คุณมีทักษะติดตัวสำหรับการทำงาน หากคุณรู้สึกว่าตัวคุณขาดคุณสมบัติในเรื่องของการพูดเพื่อโน้มน้าวใจคนอื่น และต้องการฝึกทักษะนี้ติดตัวเอาไว้ใช้ คุณสามารถนำเอาเทคนิคที่ทาง JobThai ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดไปฝึกกับตัวเองได้ โดยคุณอาจใช้วิธีการฝึกพูดคนเดียวหน้ากระจก หรือลองพูดจาโน้มน้าวคนใกล้ตัวในเรื่องง่าย ๆ ก่อนก็ได้ ยิ่งคุณฝึกบ่อยมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่ต้องโน้มน้าวในผู้อื่นในเรื่องที่สำคัญจริง ๆ คุณจะยิ่งทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน