กุลนารี เสือโรจน์: ผู้ช่วยเปิดโลกการรับชมโทรทัศน์ให้คนพิการทางการเห็น

กุลนารี เสือโรจน์: ผู้ช่วยเปิดโลกการรับชมโทรทัศน์ให้คนพิการทางการเห็น
12/11/16   |   12.2k   |  

"คนตาบอดดูโทรทัศน์หรือไม่ ทำไมจึงต้องมีบริการเพื่อการเข้าถึงสำหรับคนกลุ่มนี้ คำถามนี้อาจจะไม่ต้องการคำตอบ เพราะไม่ว่าคนตาบอดจะดูโทรทัศน์หรือไม่ หรือดูมากน้อยเพียงใด แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคม …

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ ผู้ถูกสัมภาษณ์พยายามสื่อให้รู้ว่าคนพิการทางการเห็นในไทยได้รับผลกระทบแค่ไหนจากการไม่ได้รับสื่อที่เหมือนกับคนปกติทั่วไป

เมื่อพูดถึงสื่อโทรทัศน์สำหรับคนพิการ คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับการให้บริการสำหรับกลุ่มคนพิการที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เช่น การให้บริการล่ามภาษามือหรือขึ้นคำบรรยายแทนเสียงในรายการโทรทัศน์ แต่สำหรับคนพิการทางการเห็นบริการเพื่อการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์มีน้อยกว่ามาก วันนี้ JobThai จึงจะพาไปทำความรู้จักอาชีพ "นักเขียนบทเสียงบรรยายภาพ หรือ Audio Description (AD)" อาชีพใหม่ในประเทศไทยที่จะช่วยให้โลกการรับชมโทรทัศน์ของคนพิการทางการเห็นถูกเติมเต็มให้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปในสังคมอีกครั้งผ่านการสนทนาแบบเจาะลึกทุกรายละเอียดของอาชีพนี้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กุลนารี  เสือโรจน์ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมผู้เขียนบทและวิจัยเสียงบรรยายโครงการผลิตสื่อเสียงบรรยายภาพเพื่อการเข้าถึงกลุ่มคนพิการทางการเห็น  คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

  • Audio Description (AD) คือ สื่อเสียงบรรยายภาพ เป็นการเพิ่มคำบรรยายเพื่อให้คนที่มีปัญหาด้านการมองเห็นเข้าใจเนื้อหาของสื่อต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับคนที่มองเห็น
  • ปัจจุบันมีประกาศจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2559 ออกมาบังคับใช้ สถานีโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องมีการให้บริการ 3 อย่างสำหรับคนพิการคือ บริการล่ามภาษามือ (Sign Language หรือ SL ) บริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption หรือ CC) บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description หรือ AD) รวมกัน 60 นาทีต่อวัน
  • คุณสมบัติของนักเขียนบทเสียงบรรยายภาพ คือ ต้องเป็นคนที่ถอดรหัสและเข้าใจความหมายสำคัญของภาพและเสียงที่ปรากฏได้ และต้องเป็นคนที่มีคลังคำศัพท์เยอะ นอกจากนี้ต้องเข้าใจลักษณะของสื่อ AD ว่ามีลักษณะของการบรรยายอย่างไรและต้องเข้าใจธรรมชาติของคนพิการทางการเห็นด้วย



อยากให้อาจารย์กุลนารีอธิบายให้ฟังหน่อยว่า AD คืออะไร
"Audio Description หรือ AD นิยามภาษาไทยคือสื่อเสียงบรรยายภาพ เป็นลักษณะที่เราเขียนคำบรรยายเพิ่มเติมเพื่อให้คนที่มีปัญหาด้านการมองเห็นเข้าใจเนื้อหาของสื่อต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับคนที่มองเห็น แต่ในการทำงานเขียนบทเสียงบรรยายภาพหลายครั้งจะพบว่า เสียงบางเสียงถ้าเราไม่ดูภาพประกอบไปด้วย เราจะไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ก็จำเป็นจะต้องบรรยายเสียงนั้นด้วย ดังนั้นถ้าพูดโดยรวม AD มันคือเสียงที่เสริมให้คนพิการทางการเห็นเข้าใจสื่อโทรทัศน์ได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไป AD ทำได้หลายสื่อ ทั้งในภาพยนตร์ซึ่งที่ไทยก็ทำแต่จะเป็นการทำภายหลังภาพยนตร์ฉายในโรงภาพยนตร์ไปแล้ว นอกจากนี้ก็มีการทำ AD ในโรงละครเพราะต่างประเทศละครเวทีค่อนข้างแพร่หลาย คนพิการทางการเห็นก็จะเข้าถึงสื่อพวกนี้ได้ด้วย ในพิพิธภัณฑ์ก็มี AD เป็นเสียงบรรยายแบบจำลองขณะให้คนพิการทางการเห็นได้สัมผัส แล้วก็จะมี AD ที่ใช้เป็นสื่อการสอน แต่ในไทยที่จะมีการขับเคลื่อนทางกฎหมายก่อน คือ AD ในสื่อโทรทัศน์"

 


 

 

ทำไมโทรทัศน์ในไทยต้องมีช่องเสียง AD
"คนทั่วไปหลายๆ คนใช้ทีวีเป็นสื่อในการเรียนรู้หลายๆ อย่าง บางคนชอบคิดว่าต้องนำเสนอข่าวให้คนพิการรับรู้แต่จริงๆ ในโทรทัศน์สิ่งที่คนพิการสนใจไม่ใช่แค่ข่าว ยังมีสารคดีที่ช่วยในการเปิดโลกและการใช้ชีวิต หรือแม้แต่รายการบันเทิงต่างๆ ที่ช่วยผ่อนคลาย  คนตาบอดดูโทรทัศน์หรือไม่ ทำไมจึงต้องมีบริการเพื่อการเข้าถึงสำหรับคนกลุ่มนี้ คำถามนี้อาจจะไม่ต้องการคำตอบ เพราะไม่ว่าคนตาบอดจะดูโทรทัศน์หรือไม่ หรือดูมากน้อยเพียงใด แต่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางโทรทัศน์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคม การดูทีวีมันคือการเชื่อมต่อกับคนในสังคม คนพิการอยู่กับคุณทุกที่ในสังคม เราอยู่ในสังคมใหญ่เดียวกันแต่เรายังให้เขาไปอยู่กับคนของเขา เราก็อยู่กับคนของเราถ้ามีคนบอกว่าก็มันไม่เห็นจำเป็นก็อยู่กันได้เราว่าเป็นวิธีคิดที่อาจจะคับแคบเกินไป


ในต่างประเทศจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่อง สิทธิมนุษยชน (Human Rights) ของการอยู่ในสังคมร่วมกันแต่ในสังคมของเราเรื่องบริการเพื่อการเข้าถึงสื่อโทรทัศน์เป็นสิ่งใหม่และบางคนอาจมองว่าเหมือนเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเกิน บางคนก็ตั้งคำถามกลับมาว่าจริงๆ แล้วคนพิการทางการเห็นเขาดูทีวีรึเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วคนพิการทางการเห็นมีทั้งคนที่ดูและไม่ดูทีวี แล้วถ้าถามว่าดูไม่ดูสำคัญไหม คน Generation Z ดูทีวีน้อยมากแต่เมื่อไหร่ที่ต้องการดูทีวีคุณมีสิทธิ์ที่จะกดรีโมตเพื่อดูทีวี เช่นเดียวกันกับคนพิการไม่สำคัญว่าเขาดูหรือไม่ แต่เมื่อไหร่ที่เขาอยากดูเขาควรมีสิทธิ์ที่จะได้ดู อันนี้เป็นเรื่องของทัศนคติที่ต้องค่อยๆ ปรับ
 

นอกจากนี้ยังเป็นเพราะว่ามีประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2559 ออกมาบังคับใช้ ในช่วงปีแรกสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องมีการให้บริการ 3 อย่างสำหรับคนพิการคือ บริการล่ามภาษามือ (Sign Language หรือ SL ) บริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption หรือ CC) บริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description หรือ AD) รวมกัน 60 นาทีต่อวันด้วย"


ทำไมอาจารย์กุลนารีถึงสนใจที่จะศึกษาเรื่องการเขียนบท AD
"ก่อนหน้านี้มีโอกาสได้ไปทำกิจกรรมกับเพื่อนอาจารย์ที่ทำโครงการสำหรับคนพิการอยู่แล้ว เขาให้คนพิการทางการได้ยินสร้างหนัง ต่อมาก็ให้คนพิการทางการเห็นผลิตรายการทีวี คือเขาพยายามทำเรื่องที่ก้าวข้ามกำแพงการสื่อสารออกมา เมื่อก่อนเวลามีคนพาไปเกี่ยวข้องกับคนพิการจะเป็นความรู้สึกของความสงสาร แต่ในกิจกรรมที่ได้เข้าร่วม เราไปแชร์ว่าถ้าเราอยากผลิตรายการทีวีคุณคิดยังไง เรารู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะภาพคนพิการที่ปรากฏในทีวีทุกวันนี้มีอยู่ 2 ภาพ คือไม่ทำให้น่าสงสารก็ทำให้ชีวิตเขาดูมหัศจรรย์ไปเลย ซึ่งไม่ได้อยู่บนฐานของการที่เราอยู่ด้วยกัน กิจกรรมตรงนั้นทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ร่วมกันได้ 


หลังจากนั้นได้ไปอบรมกับนักเขียนบท AD ชื่อดังของอเมริกาแล้วรู้สึกว่าสนุก เราเคยเขียนบทมาเยอะมาก แต่เรารู้สึกว่าบท AD มันยากสุดเลยตั้งแต่เขียนมา ท้าทายมาก แล้วพอกลับมามองเรื่องสิทธิคนพิการในไทย เรื่องใหญ่ๆ มีคนพูดถึงเยอะพอสมควรแล้ว แต่ในสายอาชีพสื่อสารมวลชนยังไม่ถูกพูดถึงเลย ดังนั้นเลยคิดว่าน่าจะเริ่มได้


ส่วนในเชิงความเป็นอาจารย์ปกติเราทำงานวิจัยอยู่แล้ว เมื่อก่อนจะเป็นงานวิจัยเชิง Academic แต่ตอนนี้ที่เราทำคืองานวิจัยที่เราไปลงเคสแล้วทำจริงได้เห็นดอกเห็นผลของงาน ตอนนี้เรากำลังสนุกที่หลายคนกำลังบุกเบิกและลงมาร่วมกันทำร่วมกันผลักดัน หลายๆ ประเทศใช้เวลานานมากที่จะทำให้ผู้ผลิตเข้าใจเพราะมีประกาศบังคับใช้ยังไงก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่ทำแล้วทำอย่างไรทำให้มันมีหรือทำให้มันดีก็เป็นอีกเรื่อง"

 


 

หน้าที่คนเขียน AD มีอะไรบ้าง
"ขั้นแรกสุดคือต้องทำความเข้าใจกับเรื่องก่อนต้องดูให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร หลังจากนั้นกำหนด Sound Gap ซึ่งก็คือช่วงเวลาในรายการโทรทัศน์ที่ไม่มีเสียงบรรยายหรือเสียงพูดของผู้ดำเนินรายการ แล้วทำความเข้าใจฉากนั้น อะไรที่หลับตาฟังแล้วไม่เข้าใจก็ต้องพูดถึง 


เมื่อเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดแล้วก็ลงมือเขียนขั้นตอนนี้ต้องใช้คลังคำศัพท์ถ้าเป็นคนที่เข้าใจเรื่องนั้นอยู่แล้วก็จะเขียนได้เร็ว ในการเขียนสิ่งที่จะช้าคือการค้นหาข้อมูล เช่น ต้นฉบับส่งมาว่ามักกะโรนีแต่เราทำอาหารอิตาลีจะรู้ว่าเส้นกลมๆ หัวปาดไม่ได้เรียกว่ามักกะโรนีทั้งหมด ในรายการทำอาหารวัตถุดิบที่มีรายละเอียดต่างกันมันมีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นคนทำ AD ต้องรู้และหาข้อมูล นอกจากนี้คำอ่านและการออกเสียงก็เป็นความรับผิดชอบของคนเขียนบทด้วย ต้องเขียนบทให้ขนานกันไปกับในเรื่องชื่อที่อ่านยากๆ เราเป็นคนหาข้อมูลจะสะกดให้เลยว่าอ่านอย่างไรคนลงเสียงจะได้ทำงานง่าย
 

พอเขียนเสร็จต้องอ่านทวนอีกครั้งหนึ่งว่าความเร็วพอดีไหมลองคะเนดูว่าคนลงเสียงเค้าจะอ่านทันไหม เพราะ AD จะพูดในช่วงที่เป็น Sound Gap ในรายการต้องคิดเผื่อคนลงเสียง 1 - 2 วินาทีเพื่อให้เค้าก้มลงอ่านได้พอดี บางทีเราก็บอกด้วยว่าประโยคนี้ต้องอ่านเร็วเพื่อให้เค้าจัดการเวลาได้ การออกอากาศทางโทรทัศน์ คนเขียนบท AD ทำงานหนักมาก เพราะทุกอย่างมันต้องพอดีกับเวลา มันใช้เทคนิคช่วยได้แต่จะเป็นเสียงที่ฟังไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นทางที่ดี คือ คนเขียนบทต้องรับผิดชอบงานของตัวเองให้ดี"
 

ความยากของการเป็นนักเขียน AD คืออะไร
"ต้องทำความเข้าใจภาพที่เกิดขึ้นแต่เรามีแค่ 5 วินาทีที่จะสื่อสารออกไป ดังนั้นต้องพยายามเลือกคำที่ทั้งถูกต้อง และกระชับ เพราะการบรรยายภาพยนตร์หรือรายการทีวี เราคือปลายทาง ไปเปลี่ยนอะไรเขาไม่ได้แล้ว เขามีเสียงแบบนี้มีช่องว่างแค่นี้ และหลักการของการทำ AD คือ อะไรที่ขึ้นมาบนหน้าจอต้องอ่านให้หมด ต้องเล่นกับ Sound Gap และสื่อความหมายที่อยู่ในภาพให้ได้เพราะเวลามันมีจำกัด


อีกอย่างหนึ่ง คือการอ่านความหมายในฉากให้ได้ เช่น รายการทำอาหารถ่ายภาพร้านขายกะปิ หมุนกล้องช้าๆ ไปที่กะละมังกะปิที่ตั้งเรียงราย นั่นหมายความว่าเขาต้องการให้รู้ว่ากะปิจากแต่ละแหล่งให้สีที่แตกต่างกัน ดังนั้นฉากนี้ต้องพูดเฉดสีและบอกชื่อแหล่งที่มา อันนี้เป็นเรื่องของความเข้าใจในฉาก นอกจากนี้ประเภทรายการก็เป็นความยาก เช่น ถ้าเขียน AD ให้ภาพยนตร์ ในฉากแรกจำเป็นต้องพูดถึงเสื้อผ้าหน้าผมเพราะมันบอกคาแรคเตอร์ แต่ถ้าในรายการทำกับข้าวเรื่องการแต่งกายไม่ใช่สิ่งหลักไม่จำเป็นต้องพูดถึงก็ได้


ถ้าถามว่าสรุปเลยได้ไหมว่าต้องทำสิ่งนี้ไม่ทำสิ่งนั้น ตอบได้เลยว่าไม่ได้มันอยู่ที่คนเขียนบทเองต้องอ่านความหมายที่คนผลิตรายการต้องการจะสื่อ และเอามาเรียงลำดับความสำคัญ AD มันมีความยากของแต่ละงาน การเขียนบท AD ภาพยนตร์ต้องดูทั้งเรื่อง บางอย่างเห็นอยู่แต่บอกตอนนี้ไม่ได้เพราะมีผลสำคัญต่อเรื่อง ส่วนสารคดีก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง จะค่อนข้างตรงไปตรงมาแต่จะยากตรงหาข้อมูล เพราะฉะนั้นความยากมันคนละแบบ"


ดูทุกขั้นตอนเป็นเรื่องยากหมดเลยแล้วความสนุกที่ทำให้อาจารย์ชอบอาชีพนักเขียนบท AD คืออะไร
"ความยากนี่แหละคือความสนุกความยากไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ อย่างเด็กๆ ที่เรียนวิชาสื่อผลิตสื่อเฉพาะกลุ่มอยู่ก็มีการให้ทำ AD ด้วย เด็กหลายคนก็ทำออกมาได้ดี ดังนั้นมันไม่ใช่ข้อจำกัดว่าคุณคือใครแล้วคุณจะเขียนได้หรือไม่ได้อยู่ที่คุณเข้าใจหรือพยายามกับมันมากแค่ไหน ถ้าคุณเขียนบทธรรมดาคุณก็เขียนบทธรรมดาเราสามารถอธิบายได้เต็มที่เพราะเราเป็นคนผลิตต้นทางแต่ AD คุณมีแค่ 5 วินาทีคุณจะพูดอะไรและต้องพูดในระดับที่เป็นความเร็วปกติที่ทำให้คนฟังเข้าใจได้เราว่ามันคือความท้าทาย มันเหมือนเล่นเกมลองใช้คำให้น้อยที่สุดเพื่อบอกให้รู้ว่าภาพคืออะไร


ที่เหนือไปกว่านั้นมันเป็นงานที่มีประโยชน์ไม่ใช่งานอื่นไม่มีประโยชน์นะ โดยส่วนตัวคือทำแล้วเห็นประโยชน์เป็นรูปธรรมเห็นว่ากำลังขับเคลื่อนไปเหมือนคุณเกิดมากับมันเห็นไปทีละก้าว เราว่ามันเจ๋ง เหมือนการปลูกต้นไม้ไม่ใช่เราปลูกคนเดียวแต่เดี๋ยวคนนั้นเดินมาใส่ปุ๋ยคนนี้เดินมารดน้ำแล้วมันก็กำลังโตขึ้นมา"

 


คนที่จะมาเป็นนักเขียนบท AD ควรจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
"ต้องเป็นคนที่ถอดรหัสและเข้าใจความหมายสำคัญของภาพและเสียงที่ปรากฏได้ เพราะคุณต้องถอดรหัสว่าเขาต้องการจะสื่อสารอะไรและเข้ารหัสใหม่ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีกำแพงในเรื่องประสาทสัมผัสในการรับสารอีกครั้งหนึ่ง และต้องเป็นคนที่มีคลังคำศัพท์เยอะยิ่งถ้าเป็นคนรอบรู้จะทำให้คุณเป็นคนเขียนบท AD ได้เร็วขึ้น เพราะในงานทีวีเขาคิดไว้หมดแล้วตั้งแต่การเคลื่อนกล้อง การวางตำแหน่งคน ทุกอย่างมีความหมายหมดแต่คุณบอกทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นคุณอ่านออกหรือไม่ว่าอะไรสำคัญ เพราะ AD ไม่มีสูตรตายตัว ส่วนตัวคิดว่าคนที่ผลิตรายการอยู่แล้วมาทำบท AD เองอาจจะง่าย เพราะมีต้นทุนเป็นความเข้าใจในเนื้อหารายการอยู่แล้ว


นอกจากนี้คุณต้องเข้าใจลักษณะของสื่อ AD ว่ามีลักษณะของการบรรยายอย่างไรและต้องเข้าใจธรรมชาติของคนพิการทางการเห็น เช่น เราจะไม่ใช้คำว่าภาพหรือคำว่าเห็น เรื่องตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ร่วมหรือความเข้าใจในคนพิการซึ่งสำคัญมาก ถ้าเราไม่คุ้นเคยกับคนพิการเลย การเรียงลำดับบางอย่างอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ เราจึงต้องทำความเข้าใจว่าคนพิการทางการเห็นมีวัฒนธรรมในการเสพสื่อ หรือการเข้าใจอย่างไรบ้าง"


หมายความว่าคนที่ทำงานหรือเรียนในสายงานโทรทัศน์อยู่แล้วก็จะได้เปรียบมากกว่า
"เรื่องต้นทุนที่มีมาจะทำให้การเป็นนักเขียนบท AD วนกลับไปอยู่ในสายงานโทรทัศน์หรือไม่นั้น เราว่าไม่จำเป็น เพราะบางคนสามารถที่จะดูและเข้าใจข้อความที่ต้องการสื่อสารได้ก็เขียนได้ จริงๆ แล้วใครก็เขียนได้แต่ต้องมีการ Training มันต้องฝึกเพื่อให้เกิดประสบการณ์กับตัวเอง

 


อยากให้อาจารย์แนะนำหรือฝากถึงคนที่อยากมาเป็นนักเขียนบท AD หน่อยค่ะ
ในระยะเริ่มต้นอาชีพนักเขียนบท AD มันเป็นงานอาสาสมัคร แต่ในอนาคตมันเป็นอาชีพได้แน่นอน มันมีโอกาสเติบโต เพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งเฉพาะกิจที่เราจะทำเป็นครั้งๆ อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสิ่งที่จะทำระยะยาว ไม่อยากให้มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำมันอาจจะยังไม่ใช่อาชีพที่คนรู้จักมากนัก แต่สิ่งที่คุณภูมิใจได้คือมันเป็นอาชีพที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ เราไม่ได้ทำด้วยความสงสารใคร แต่ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ดี และถ้าพูดในเชิงที่เป็นงานของสื่อสารมวลชน มันเป็นความท้าทายสำหรับคนที่ชอบงานเขียน เพราะเป็นงานเขียนอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องใช้ทักษะทางภาษา ทักษะในการเข้าใจผู้รับสารอย่างเต็มที่และเต็มประสิทธิภาพ ถ้าคุณไม่มีคุณไม่สามารถทำงานนี้ได้

         

ส่วนการเตรียมตัว คือ 3 เรื่องที่คุยกันไปแล้ว คือ 1. ทำความเข้าใจสื่อ AD 2. ทำความเข้าใจคนพิการทางการเห็น ไม่ใช่แค่รู้จักแต่ต้องเข้าใจ และ 3. มีคลังคำศัพท์ทางภาษาที่ดี ถ้าไม่มีหรือมีน้อยก็ไม่ใช่ว่าคุณจะทำไม่ได้แค่คุณต้องขวนขวายเท่านั้นเอง ที่เราพูดมันดูเหมือนยาก ก็เพราะมันก็ไม่ง่ายนั่นแหละ แต่มันทำได้"

 

สิ่งที่ได้จากบทสนทนาระหว่าง JobThai กับอาจารย์กุลนารี เสือโรจน์ในวันนี้ ไม่ใช่แค่การพาผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอาชีพใหม่เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความเข้าใจช่องว่างระหว่างคนทั่วไปและคนพิการให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย ระหว่างที่รอให้มีการรับสมัครอาชีพนี้ในองค์กรสื่อต่างๆ ลองเข้าไปทำความรู้จักกับสื่อ Audio Description และคนพิการผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Youtube, Facebook หรืองานอาสาสมัครเพื่อสะสมประสบการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ไม่แน่ว่าการเรียนรู้ที่คุณเลือกในครั้งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับตัวคุณเองก็ได้

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

tags : งาน, อาชีพ, การทำงาน, career & tips, เคล็ดลับการทำงาน, career focus, สื่อสารมวลชน, บทพากย์, แรงบันดาลใจ, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม