กลับมาอีกครั้งกับ People Performance Conference 2025 หรือ PPC 2025 งานสัมมนาอัปเดตเทรนด์สำหรับการพัฒนาตนเอง การจัดการคน และบริหารองค์กร ที่คนทำงานสาย HR คนเป็นหัวหน้า และผู้นำองค์กรไม่ควรพลาด ซึ่งคราวนี้ทาง CREATIVE TALK ก็ได้จับมือกับ QGEN Consultant ร่วมกันจัดงานในธีม ‘Year of Management จัดการคน จัดการตน จัดการองค์กร’ ขึ้นที่ BITEC Bangna เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา ภายในงานจะมีเซสชันอะไรที่น่าสนใจบ้าง JobThai สรุปมาให้แล้วในบทความนี้
เต็มอิ่มกับการบรรยายให้ความรู้และอัปเดตเทรนด์การบริหารจัดการคนและพัฒนาองค์กรในยุคปัจจุบันโดยสปีกเกอร์ชั้นนำมากถึง 10 เซสชันบนเวทีใหญ่ JobThai สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาแล้ว ไปดูกันเลย!
Opening Session: 2025 Year of Management
ในเซสชันนี้ คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO ของ CREATIVE TALK และคุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ CEO จาก QGEN Consultant ได้มาร่วมกล่าวเปิดงานและพูดถึงที่มาของ ‘Year of Management จัดการคน จัดการตน จัดการองค์กร’ ซึ่งเป็นธีมของงาน PPC 2025
คุณเก่งได้เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไวมาก ตั้งแต่เหตุการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เราต้องปรับรูปแบบการทำงาน ถัดมาเจอ AI Disruption ที่ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อตามเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ทัน ไปจนถึงการปรับตัวและเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกับคน Gen ต่าง ๆ ในยุคสมัยที่สัดส่วนของคนทำงานเริ่มมีพื้นที่ของคน Gen Z มากขึ้น ซึ่งวิธีการที่เราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้งนี้ได้คือ ‘การจัดการ’ ที่ดี โดยต้องจัดการให้ได้ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่
-
จัดการ ‘คน’ ที่เราทำงานด้วย
-
จัดการ ‘ตน’ หรือตัวของเราเอง
-
จัดการ ‘องค์กร’ หรือระบบการทำงาน
หากเราสามารถวางแผนจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ครบ เราก็จะกลายเป็น Best Version และสามารถดึง Best Performance ที่ดีที่สุดออกมาได้
ส่วนคุณบีเสริมต่อในเรื่อง 4Ts หรือ 4 สิ่งที่องค์กรต้องโฟกัสหากอยากดึงศักยภาพที่ดีที่สุดออกมา ผลักดันให้เกิด Best Performance ได้แก่
- Talent อย่าให้ความสำคัญกับการมองหาคนเก่งหน้าใหม่อย่างเดียว แต่ต้องหันมาพัฒนาและปลดล็อกความสามารถของคนทำงานปัจจุบันด้วย
- Trust ยิ่งองค์กรสร้างความเชื่อมั่นให้คนทำงานได้ มี Trust Index สูง ยิ่งมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้น
- Transformation ผลักดันให้คนทำงานในองค์กรมีทักษะการรับมือสิ่งต่าง ๆ ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- Technology ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคนทำงานของเรา ไม่ใช่นำเข้ามาแทนที่

ในเซสชัน ‘พัฒนาคนอย่างไร ในวันที่โลกไร้ทิศทาง How to Empower People in Fragmented World’ คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘นิ้วกลม’ ได้มาแนะนำวิธีการพัฒนาคนในยุคที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม โดยคุณนิ้วกลมชี้ให้เห็นปัญหาของโลกปัจจุบันว่า
-
เรามีข้อมูลมากขึ้น แต่ปัญญาไม่เพิ่มตาม เราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ความหมายในการมีชีวิต ไม่รู้วิธีที่จะสร้างความสุขให้กับตัวเอง
-
โลกไม่มีเป้าหมายร่วมกันอีกต่อไป แต่ละประเทศมีแนวทางแตกต่างกัน เมื่อโลกไร้เป้าหมาย ปัจเจกย่อมสับสนตาม
-
แต่ละคนมีความเชื่อต่างกัน เราไม่มี Grand Narrative หรือ ‘เรื่องเล่าใหญ่’ ที่ทุกคนยึดมั่นร่วมกัน เราเสพสื่อคนละแบบ นับถือคนละศาสนา
-
พลังในการกำหนดอนาคตอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน เราเป็นคนตัวเล็กที่ไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลก
-
ความเร็วของโลกในปัจจุบันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์ตามทัน เราเอาแต่มุ่งไปข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่าต้องไปทางไหน
ด้วยปัญหาเหล่านี้ คนเลยหลงทางได้ง่ายและมักเกิดความรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาช้าเกินไป อยู่ผิดที่ เหนื่อยล้าและอยากยอมแพ้ ซึ่งคุณนิ้วกลมก็ได้ให้ข้อคิดว่าจริง ๆ แล้วความเร็วในการพัฒนาไม่สำคัญเท่าการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากการมี Skillset ที่โลกต้องการและมี Mindset ที่ดีแล้ว เราจำเป็นต้องมี Heartset หรือแนวคิดและทักษะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจอีกด้วย ก่อนจะมองไปที่ปลายทาง เราต้องกลับมาตั้งต้นก่อนว่าเราจะพัฒนาตัวเองไปทำไม และเสริมสร้าง Inner Awareness พัฒนาหัวใจตัวเองให้เกิดความแข็งแกร่งจากภายใน มี EQ สามารถรับรู้อารมณ์ของตัวเองได้ ล้มแล้วลุกได้ไว ไม่อย่างนั้นก็จะเสี่ยงกับการ Burnout หรือหมดไฟและยอมแพ้กับโลกไป ซึ่งองค์กรเองก็ต้องช่วยส่งเสริมให้คนทำงานมีทักษะในด้านนี้ด้วย
5 แนวทางในการพัฒนาคนให้มี Inner Awareness
-
สร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อการเป็นมนุษย์ ให้โอกาสคนในการเปิดเผยความรู้สึก สามารถบอกได้ว่าตัวเองเหนื่อย ตัวเองล้า ตัวเองเศร้า
-
สะท้อน-ถาม-ทบทวน รู้จักแสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อคนอื่น ๆ เพราะบางคนหากไม่ถามก็ไม่ยอมเล่าหรือเผยความรู้สึกของตัวเองออกมา
-
ให้รางวัลคนที่รองรับความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน บางคนอาจไม่ได้มี Performance ในการทำงานที่สูงมาก แต่เขามีฟังก์ชันในการเป็นเบาะให้กับเพื่อนร่วมงาน คอยดูแลจิตใจคนอื่น ๆ หากไม่มีเขา ทีมก็อาจจะล้มได้ เพราะฉะนั้นเราควรให้ความสำคัญและเชิดชูคนที่มีคุณลักษณะนี้ด้วย
-
อย่าวัดแค่ประสิทธิภาพ แต่วัดสภาพจิตใจด้วย ในการประเมินผลงาน องค์กรอย่าประเมินแค่ Performance ของคนทำงาน แต่ประเมินความกดดันและสภาวะจิตใจด้วยว่าตอนนี้เขาโอเคไหม
-
ผู้นำต้องกล้าแสดงความรู้สึก หัวหน้าทีมเปรียบเสมือน Role Model ของคนในทีม หากอยากให้ลูกน้องกล้าแสดงความรู้สึกออกมาตรง ๆ หัวหน้าเองก็ต้องทำให้เห็น

ในเซสชัน ‘สูตรสำเร็จสร้างแบรนด์นายจ้างชนะใจคนเก่งจาก SC ASSET – Building an Employer Brand that Wins: The SC Asset Formula for Top Talent’ คุณจูน โฉมชฎา กุลดิลก Senior Executive Vice President - Corporate Brand & Communications จาก SC ASSET และคุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ CEO จาก QGEN Consultant ได้ขึ้นมาแชร์แนวทางในการดึงดูดคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานด้วยผ่านการทำ Employer Branding หรือการทำแบรนด์องค์กร
คุณจูนและคุณบีได้อธิบายให้เราฟังว่าหลักในการทำ Employer Branding นั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้ต่างจากการทำ Branding ในแง่ของการตลาดเลย เพียงแต่เราเปลี่ยน ‘ผลิตภัณฑ์’ เป็น 'องค์กร' และมอง ‘ลูกค้า’ เป็น ‘พนักงาน’ แทน ซึ่งถ้าเราต้องการขายองค์กรให้พนักงานซื้อ เราก็ต้องรู้ก่อนว่าองค์กรของเรามีอะไรดีและดึงดูดคนแบบไหน ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้เรารู้ว่าจุดขายหรือ Selling Point ขององค์กรคืออะไรก็คือการหา Employee Value Preposition (EVP)
Employee Value Preposition (EVP) คือคุณค่าที่องค์กรมอบให้พนักงานและเป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานเลือกอยู่กับองค์กร เราต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่าง ‘สิ่งที่เรามี’ กับ ‘สิ่งที่คนมองหา’ ให้เจอ เพราะสิ่งนั้นคือจุดแข็งขององค์กรที่ดึงดูดให้คนอยากร่วมงานกับเรา ซึ่ง EVP ของ SC ASSET คือความอิสระ เท่าเทียม และไม่มีข้อจำกัดเยอะ ดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง ทาง SC ASSET เลยนำสิ่งนี้มาใช้ในการสร้าง Employer Branding ต่อผ่านการออกแบบสวัสดิการที่สนับสนุนความอิสระและเปิดกว้างให้กับพนักงาน เช่น สวัสดิการ 10-day Workation Leave ที่อนุญาตให้ทำงานพร้อมกับท่องเที่ยวไปด้วยได้ สวัสดิการสมรสเท่าเทียม สวัสดิการ Work from Home สำหรับคุณพ่อที่เพิ่งมีลูก สวัสดิการมอบเงินสนับสนุนคนโสด ส่งผลให้คนประทับใจในองค์กรและอยากทำงานอยู่ด้วยนาน ๆ ดังนั้นหากต้องการดึงดูดคน เราต้องถอดรหัส หา Employee Value Preposition (EVP) ของตัวเองให้เจอ

ในเซสชัน ‘ทักษะสำคัญเพื่อรับมือกับธุรกิจที่ผันผวน The Capability Shift: Propmt your Future with Key Skills’ ดร.ชนนิกานต์ จิรา Head of True Digital Academy ได้พูดถึงการปรับตัวในยุค AI Disruption เนื่องจากปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นมาก เกิดเป็นสถิติดังนี้
-
33% ขององค์กรใช้ AI ในการดำเนินงานพาร์ท Service Operation
-
61% ของคนทำงานใช้ Gen AI ช่วยในการทำงาน
-
40% ของทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญในตอนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในปี 2030
-
77% ขององค์กรต่าง ๆ กำลังพิจารณาว่าจะต้อง Upskill / Reskill คนทำงานเพื่อตามเทคโนโลยีให้ทัน
ดร.ชนนิกานต์จึงได้แนะนำ PROMPT Framework สำหรับรับมือความเปลี่ยนแปลงยุค AI Disruption หากเราต้องการยืนหยัดในยุคนี้อย่างมั่นคง เราต้องมีทักษะ 6 อย่างนี้
-
People Intelligence มีความสามารถในการเข้าใจคนอื่น ๆ สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น (Interpersonal Skills) มีทักษะในการฟังอย่างตั้งใจ (Active Learning) และมีความเห็นอกเห็นใจต่อคนรอบข้าง (Empathy)
-
Resilience มีความสามารถในการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ เครียดได้แต่ต้องไม่สติแตก เจอปัญหาแล้วสามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวเพื่อเดินต่อไปข้างหน้าได้
-
Outcome Orientation มีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปยังเป้าหมาย ระบุได้ว่าความสำเร็จคืออะไร ต้องการมุ่งหน้าไปทางไหน และจะใช้กลยุทธ์ไหนเพื่อให้ไปถึงสิ่งนั้น รวมถึงต้องมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย สามารถยอมรับผลได้ทุกรูปแบบ
-
Mastery of Technologies มีความสามารถในการเข้าใจและปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ Tools ทุกอย่างได้อย่างเชี่ยวชาญ แต่ต้องเข้าใจการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็น รู้ว่า Tools ไหนบ้างที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของเรา
-
Proactive Learning มีนิสัยเรียนรู้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ใฝ่หาความรู้และหมั่นเติมทักษะใหม่ ๆ โดยไม่รอให้ใครมาบอก
-
Thinking Acumen มีทักษะการคิดที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่
-
Critical Thinking ทักษะในการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีตรรกะ
-
Problem Solving ทักษะในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อนได้
-
Creativity ทักษะการคิดสร้างสรรค์นอกกรอบ ริเริ่มไอเดียใหม่ ๆ
-
Adaptability ทักษะในการปรับตัว ยืดหยุ่น รับมือความเปลี่ยนแปลงได้ดี

ในเซสชัน ‘พลิกกลยุทธ์บริหารคนเพื่อองค์กรแห่งอนาคต – ‘HR is Dead’ Reinvent People Strategy for the Next Decade’ คุณบี อภิชาต ขันธวิธิ CEO จาก QGEN Consultant ได้นำสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทรนด์การทำงานในประเทศไทยจาก World Economic Forum มานำเสนอให้เราได้รู้ว่า
-
62% ขององค์กรมีปัญหาในการหาคนที่เหมาะสมมาทำงาน
-
46% ขององค์กรมีปัญหาในการดึงดูดคนเข้ามาทำงานกับบริษัท
-
62% ขององค์กรกำลังเผชิญกับปัญหา Skill Gap ในตลาดแรงงาน โดยทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดในตอนนี้ ได้แก่
-
64% นำแนวคิดเรื่องความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (DEI) เข้ามาใช้เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงาน หากองค์กรของเรายังไม่สนับสนุนประเด็นนี้ก็จะตกขบวนและถูกผู้สมัครปัดตก
-
35% วัฒนธรรมองค์กรไม่สนับสนุนการเติบโตและความเปลี่ยนแปลง หลายองค์กรอยากก้าวไปข้างหน้า แต่ Culture ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่อยากให้เป็น
ข้อสรุปที่ตามมาจากสถิติเหล่านี้คือ HR ไม่สามารถทำงานในรูปแบบเดิมได้อีกแล้ว เพราะหากยังทำแบบเดิมก็ไม่สามารถเอาชนะปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ได้ คุณบีได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของ HR ได้แก่
-
Performance Management System ขาดความยืดหยุ่น ใช้ระบบประเมินผลที่แข็งทื่อ ตัวชี้วัดไม่สะท้อนการทำงานจริง
-
Employee Engagement ไม่สะท้อนความเป็นจริง หลายองค์ใช้แบบสำรวจชุดเดียวกันในการสอบถามพนักงานทุกคน ซึ่งบางคำถาม เขาอาจไม่สามารถให้ข้อมูลเราได้ เช่น ถามเรื่องการเติบโตกับเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน
-
Talent Management System ไม่สามารถดึงดูด พัฒนา รักษาและส่งเสริมคนเก่งได้ วิธีการดึงดูดพนักงานไม่น่าสนใจ ไม่มีเว็บไซต์นำเสนอข้อมูลบริษัท นำเสนอข้อมูลขององค์กรเพียงบางส่วน วิธีการดูแลพนักงานไม่มีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้น HR ในยุคปัจจุบันต้องเปลี่ยนบทบาทจาก HR admin ที่คอยดูแลแค่ส่วนเอกสารมาเป็น HR Strategist คอยวางกลยุทธ์ในการดูแลและพัฒนาคนเพื่อผลักดันองค์กรไปข้างหน้า เริ่มจากการโฟกัสที่ 4 Pillars of People Strategy นี้
-
High Value Work Design ออกแบบงานที่มีคุณค่ากับพนักงาน เมื่อพนักงานรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำมีคุณค่า ธุรกิจก็จะขับเคลื่อนและเติบโต
-
Culture & Leadership Alignment วัฒนธรรมและผู้นำที่แข็งแกร่งจะช่วยดึงดูดและคัดกรองคนเก่ง องค์กรมีเป้าหมายแบบไหน ก็ต้องผลักดันให้วัฒนธรรมและผู้นำสอดคล้องไปด้วยกันด้วย เพราะผู้นำคือ Role Model ของคนในองค์กร
-
Continuous Performance & Growth แก้ระบบการวัดผลพนักงานให้นำไปสู่การเติบโตจริง ๆ ต้องมีการฟีดแบ็กให้กับพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ
-
Employee Experience Driven มอบประสบการณ์ในการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน คอยสนุบสนุนพนักงานนทุก ๆ ด้าน ทั้งอุปกรณ์ จิตใจ คุณค่า และการมีตัวตน

นอกจาก 5 เซสชันที่ JobThai สรุปมาฝากแล้ว ยังมีเซสชันให้ความรู้ดี ๆ อีกมากภายในงาน ใครที่พลาด PPC 2025 ไปแต่อยากฟังเซสชันบรรยายทั้งหมด สามารถซื้อตั๋วรับชมการบรรยายย้อนหลังรูปแบบออนไลน์ในราคา 1,990 บาทได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/PPC2025/ โดยสามารถรับชมคลิปได้นาน 6เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน – 3 ตุลาคม 2025