- ความต้องการแรงงานในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 คิดเป็น 24% โดยสายงานที่เปิดรับสมัครมากที่สุดคือสายงานขาย ส่วนสายงานท่องเที่ยวและโรงแรมที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564
- แม้ความต้องการแรงงานจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย องค์กรต่าง ๆ ได้รับใบสมัครที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่เปิดรับมากกว่าที่ผ่านมา รวมถึงได้ใบสมัครจากนักศึกษาจบใหม่ ผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน และผู้ย้ายสายงานเพิ่มขึ้น
- 80.36% ของกลุ่มคนทำงานประจำและสัญญาจ้างเลือกที่จะมองหางานใหม่ ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ได้มองหางานใหม่ 14.58% ของคนกลุ่มนี้บอกว่าถ้าได้รับการเสนองานให้ก็จะพิจารณามีเพียง 5.05% เท่านั้นที่บอกว่าจะไม่หางานใหม่อย่างแน่นอน
- บริษัทอาจต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและรักษาพนักงานเดิมมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์นายจ้าง (Employer Branding) เพื่อดึงดูดให้คนทำงานอยากร่วมงานด้วย
- สถานการณ์โรคระบาดทำให้การทำงานที่ออฟฟิศอาจไม่ใช่รูปแบบการทำงานหลักอีกต่อไป เพราะหลาย ๆ องค์กรได้ปรับนโยบายการทำงานเป็นแบบ Work from Home และ Hybrid Working
|
|
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่หายไป แต่องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงคนทำงานก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดแรงงานในปี 2564 เติบโตและฟื้นฟูขึ้นกว่าปี 2563 ที่สถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งตลอดปี 2564 นั้นมีผู้เข้ามาใช้บริการหางานและรับสมัครงานบนแพลตฟอร์ม JobThai จำนวนมาก เราจึงได้รวบรวมข้อมูลจากในแพลตฟอร์มและจากการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานที่มีต่อการสมัครงานและการหาคนในยุคโควิด-19 มาสรุปแบบเจาะลึกให้ได้อ่านกันในบทความนี้
แม้โควิดจะทำพิษหนัก แต่ความต้องการแรงงานกลับโตขึ้น
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ทำให้กลุ่มธุรกิจและบริษัทน้อยใหญ่ต้องปรับตัวกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนวิธีการรับสมัครคนเข้าทำงาน เพิ่มหรือลดจำนวนพนักงาน ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน แต่ภาพรวมของการสมัครงานในปี 2564 กลับเติบโตขึ้น อ้างอิงจากฐานข้อมูล พบว่ามีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มหางาน JobThai ในปี 2564 มากกว่า 18.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 12.38%) และมีการสมัครงานมากถึง 17,161,667 ครั้ง ส่วนข้อมูลด้านความต้องการแรงงานขององค์กรใน JobThai พบว่าปี 2564 องค์กรมีความต้องการแรงงานทั้งหมด602,436 อัตรา (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 คิดเป็น 24%) โดย 5 สายงานที่เปิดรับคนมากที่สุด ได้แก่
ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมที่ได้ผลกระทบทางลบโดยตรงจากสถานการณ์โรคระบาดตั้งแต่ปี 2563 เองก็เริ่มกลับมามีความต้องการของแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 และมีแนวโน้มดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน นับเป็นข่าวดีของกลุ่มคนทำงานที่กำลังมองหางานในแวดวงธุรกิจนี้
5 องค์กรยอดฮิตที่มีคนสมัครงานมากที่สุดปี 2564
หลังจากส่องดูสายงานมาแรงที่เปิดรับคนมากที่สุดในปี 2564 กันไปแล้ว คราวนี้เรามาดูองค์กรชั้นนำที่มีคนสมัครงานมากที่สุดในปีที่ผ่านมา 5 อันดับแรกกันบ้าง
บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์อย่าง สุรา เบียร์ โซดา และน้ำดื่ม รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธุรกิจศูนย์การค้าส่งเพื่อผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค แบบครบวงจร มีคุณภาพ ราคาย่อมเยา มีร้านสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ
บริษัทในกลุ่มธุรกิจเคอรี่ โลจิสติกส์ เน็ตเวิร์ค ผู้นำด้านการจัดส่งพัสดุที่รวดเร็วทันใจ บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้การบริหารงานด้วยวิธีการทำงานที่ทันสมัย มีมาตรฐาน และมุ่งมั่นการให้บริการด้วยใจ
บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น
ผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจรในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก ครอบคลุมประเภทของสัตว์บกและสัตว์น้ำ โดยมีประเภทสัตว์หลัก ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด กุ้ง และปลา
จะเห็นได้ว่าองค์กรที่มีคนสมัครงานมากที่สุดทั้ง 5 อันดับนั้นเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสวัสดิการรองรับพนักงานและเปิดรับสมัครงานหลายตำแหน่งและอัตรา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานผลิต บัญชี ธุรการ วิศวกร ฯลฯ ทำให้มีผู้สนใจสมัครงานด้วยจำนวนมาก
รับสมัครเยอะ แต่อุปสรรคในการรับคนก็เยอะเช่นเดียวกัน
ถึงแม้อัตราความต้องการแรงงานจะเพิ่มขึ้น แต่อิงจากการสำรวจความคิดเห็นขององค์กรทั่วประเทศจำนวน 1,178 คน องค์กรต่าง ๆ ให้ความเห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการสมัครงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับใบสมัครจากนักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ได้รับใบสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ หรือได้รับใบสมัครงานที่มาจากผู้สมัครที่ทำการย้ายสายงาน ทำให้ขั้นตอนการรับคนเข้าทำงานนั้นซับซ้อนและกินเวลาขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องใช้เวลาในการคัดเลือกคนนานขึ้น
นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรหลาย ๆ องค์กรจำเป็นต้องยกเลิกสวัสดิการบางอย่างไป เนื่องด้วยมาตรการป้องกันโรคและผลประกอบการที่อาจลดน้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการยกเลิกสวัสดิการก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงจูงใจในการเลือกทำงานกับบริษัทนั้น ๆ ของผู้สมัครลดน้อยลงด้วย เพราะสวัสดิการของบริษัทเองก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คนทำงานใช้พิจารณาบริษัท ดังนั้นเมื่อสวัสดิการลดน้อยลง ผู้สมัครงานก็อาจเปลี่ยนใจและปฏิเสธที่จะร่วมทำงานกับองค์กร นำไปสู่ขั้นตอนการคัดเลือกคนเข้าทำงานที่ใช้เวลานานขึ้นในท้ายที่สุด
TOP 5 สวัสดิการที่ถูกยกเลิกมากที่สุด
- อันดับที่ 1 กิจกรรมสันทนาการ เช่น งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ท่องเที่ยวประจำปี
- อันดับที่ 2 จัดคอร์สอบรมและพัฒนาความรู้ภายในองค์กร
- อันดับที่ 3 โบนัส
- อันดับที่ 4 ตรวจสุขภาพประจำปี
- อันดับที่ 5 เงินรางวัลประจำปี / รางวัลพนักงานดีเด่น
TOP 5 ปัญหาที่ HR มักพบในการสมัครงาน
- อันดับที่ 1 ผู้สมัครงานไม่มาสัมภาษณ์งานโดยไม่แจ้งให้ทราบ (72.92%)
- อันดับที่ 2 ผู้สมัครงานเรียกเงินเดือนสูงกว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมี (42.11%)
- อันดับที่ 3 ทักษะของผู้สมัครงานไม่ตรงหรือมีไม่มากเท่าที่ระบุไว้ในประกาศงาน (39.39%)
- อันดับที่ 4 ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกแต่ไม่มาเริ่มงานตามกำหนด (33.11%)
- อันดับที่ 5 ผู้สมัครงานไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร (30.05%)
TOP 5 สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานมากที่สุด
- อันดับที่ 1 ทักษะของผู้สมัครที่ตรงกับตำแหน่งงาน
- อันดับที่ 2 คุณสมบัติของผู้สมัครที่ตรงกับประกาศงาน
- อันดับที่ 3 ประสบการณ์เดิมจากที่ทำงานเก่า
- อันดับที่ 4 ทักษะอื่น ๆ ที่ส่งเสริมกับตำแหน่งงาน
- อันดับที่ 5 ความถูกผิดของการสะกดต่าง ๆ ในใบสมัครงาน
TOP 5 สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานน้อยที่สุด
- อันดับที่ 1 ศาสนาของผู้สมัคร
- อันดับที่ 2 เพศของผู้สมัคร
- อันดับที่ 3 ตัวตนในโลกออนไลน์
- อันดับที่ 4 สถาบันที่จบการศึกษา
- อันดับที่ 5 ความสวยงามของ Resume
TOP 5 ทักษะที่ HR มองหานอกจากทักษะเฉพาะทาง
- อันดับที่ 1 ทักษะการรับมือกับปัญหา สามารถปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตัวเองเมื่อเจอกับปัญหาหรือความล้มเหลว (Resilience and Adaptability)
- อันดับที่ 2 ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
- อันดับที่ 3 ทักษะการคิดเชิงเหตุผลและตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
- อันดับที่ 4 ทักษะในการรับมือและจัดการกับความเครียด เมื่อเจอกับปัญหา หรือความเปลี่ยนแปลง
- อันดับที่ 5 ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยตนเอง (Active Learning)
งานมองหาคน คนก็มองหางาน หากมีโอกาสที่ดีกว่าก็พร้อมพิจารณา
นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้มีอุปสรรคในการรับคนเข้าทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้บริษัทต้องมองหาวิธีการดูแลและรักษาพนักงานเดิมให้ทำงานต่อกับบริษัทเพิ่มขึ้นอีกด้วย อิงจากผลสำรวจเรื่องการหางานและสมัครงานจากคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 12,511 คน พบว่าในครึ่งปีแรกของปี 2565 นั้น 80.36% ของกลุ่มคนทำงานประจำและสัญญาจ้างเลือกที่จะมองหางานใหม่ โดย 53.60% ของคนกลุ่มนี้จะยังไม่จริงจังกับการหางานใหม่มาก แต่เป็นการเปิดโอกาสไว้และถ้ามีงานน่าสนใจก็จะลองสมัครงานนั้นดู ส่วนอีก 26.76% นั้นจะมองหางานใหม่อย่างจริงจัง
สำหรับ 19.63% ที่เหลือนั้นจะเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่ได้มองหางานใหม่ โดย 14.58% ของคนกลุ่มนี้ถ้าได้รับการเสนองานให้ก็จะพิจารณา มีเพียง 5.05% เท่านั้นที่บอกว่าจะไม่หางานใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งถ้านับรวมตัวเลขของคนทำงานที่พร้อมพิจารณางานใหม่หากได้รับโอกาส ไม่ว่าจะกำลังมองหางานใหม่อยู่หรือไม่ได้มองหา จะคิดเป็นจำนวน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้นบริษัทอาจต้องสำรวจความต้องการของพนักงานว่าคิดเห็นอย่างไรกับการทำงานในบริษัท และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน รวมถึงสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในบริษัทด้วยเพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ
TOP 5 ปัจจัยที่คนทำงานใช้พิจารณาเลือกย้ายงานหรือทำงานในองค์กรเดิมต่อ
- อันดับที่ 1 เงินเดือน
- อันดับที่ 2 สวัสดิการ
- อันดับที่ 3 โบนัส
- อันดับที่ 4 ความก้าวหน้าในอาชีพ
- อันดับที่ 5 การเดินทางที่สะดวก
TOP 3 ช่องทางที่คนทำงานใช้ในการหาข้อมูลสมัครงาน
- อันดับที่ 1 เว็บไซต์หางาน สมัครงาน
- อันดับที่ 2 เว็บไซต์บริษัท
- อันดับที่ 3 โซเชียลมีเดียขององค์กร
TOP 5 สิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่อยากสมัครงานกับองค์กรหากมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในขั้นตอนสมัครงาน
- อันดับที่ 1 ต้องมีผู้ค้ำประกัน
- อันดับที่ 2 ค้นหาข้อมูลบริษัทได้น้อย เช่น ค้นหาไม่เจอบน Maps
- อันดับที่ 3 มีการสัมภาษณ์งานมากกว่า 2 รอบขึ้นไป
- อันดับที่ 4 ไม่มีความเคลื่อนไหวบน Social Media ของบริษัท
- อันดับที่ 5 ต้องมีบุคคลรับรอง
TOP 5 ทักษะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าตัวเองมี
- อันดับที่ 1 ทักษะการรับมือกับปัญหา สามารถปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตัวเองเมื่อเจอกับปัญหาหรือความล้มเหลว (Resilience and Adaptability)
- อันดับที่ 2 ทักษะในการรับมือและจัดการกับความเครียด เมื่อเจอกับปัญหา หรือความเปลี่ยนแปลง
- อันดับที่ 3 ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยตนเอง (Active Learning)
- อันดับที่ 4 ความสามารถในการเข้าใจคนอื่น (Empathy)
- อันดับที่ 5 การควบคุมตนเองให้ทำตามกฎระเบียบโดยไม่ต้องมีใครบังคับ
ข้อมูลขององค์กร อีกหนึ่งปัจจัยที่คนหางานให้ความสำคัญ
นอกจากการให้ความสำคัญกับพนักงานแล้ว ข้อมูลขององค์กรเองก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บริษัทควรให้ความสำคัญ เพราะจากผลสำรวจเรื่องการสมัครงาน จะเห็นได้ว่า 2 ใน 5 สิ่งที่ทำให้คนหางานรู้สึกไม่อยากสมัครงานกับองค์กรนั้นเป็นเรื่องของข้อมูลองค์กร หากไม่สามารถค้นหาข้อมูลของบริษัทได้ หรือโซเชียลมีเดียของบริษัทไร้การเคลื่อนไหว ความรู้สึกในการอยากสมัครงานก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ยิ่งในยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้าม ดังนั้นฝั่งองค์กรควรทำเรื่องภาพลักษณ์นายจ้าง (Employer Branding) ให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดให้คนอยากร่วมงานด้วยโดยการสร้างตัวตนให้คนสามารถค้นหาเจอบนออนไลน์ และต้องสื่อสารเรื่องราวขององค์กรในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร บรรยากาศในการทำงาน สวัสดิการที่น่าสนใจ อัปเดตข่าวสารและผลงาน รวมไปถึงกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร
การแข่งขันในตลาดสูง คนทำงานต้องเพิ่มทักษะ เด็กจบใหม่ต้องเตรียมความพร้อม
จากการทำแบบสำรวจในครั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) ที่คนทำงานมีทักษะในการทำงานน้อยกว่าที่นายจ้างคาดหวัง หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหางานนั้นไม่ได้งานตามที่ต้องการ ดังนั้นคนทำงานต้องเร่งพัฒนาทักษะให้ทันกับความต้องการของตลาด เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานให้ได้
ด้านนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานในช่วงโควิด-19 เองก็ต้องเจอกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นนักศึกษาจบใหม่ต้องเตรียมพร้อมในการสมัครงานให้ดี พยายามให้ความสำคัญกับการทำเรซูเม่โดยเน้นไปที่เนื้อหาที่ต้องนำเสนอเพื่อให้องค์กรสนใจ และดึงจุดเด่นทักษะที่ตรงกับประกาศงานออกมานำเสนอให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์กับตำแหน่งงานที่สมัครและศึกษาข้อมูลขององค์กรที่สมัคร รวมถึงเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์งานด้วยการศึกษาวิธีการสัมภาษณ์และฝึกซ้อมสัมภาษณ์ จะได้ช่วยลดความประหม่าและเพิ่มโอกาสในการได้งานให้มากขึ้น
การเข้าออฟฟิศอาจไม่ใช่รูปแบบการทำงานหลักอีกต่อไป
นอกจากความเปลี่ยนแปลงในการสมัครงานแล้ว รูปแบบการทำงานในยุคโควิด-19 เองก็ปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง หลาย ๆ บริษัทได้หันมาใช้นโยบายการทำงานแบบ Work from Home ที่ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ จนเมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายลง บางบริษัทจึงเริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศดังเดิม แต่บางองค์กรก็ได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่อีกครั้งเป็นแบบ Hybrid Working ที่ให้พนักงานเดินทางเข้าออฟฟิศสลับกับ Work from Home ทำงานที่บ้านหรือจากสถานที่ที่พนักงานสะดวก และมีบางส่วนที่ยังคงให้พนักงาน Work from Home ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยยังไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศ
โดยสัดส่วนรูปแบบการทำงาน อิงจากผลสำรวจ พบว่า 56.65% ของคนทำงานนั้นไม่ได้ทำงานแบบ Work from Home 32.84% ทำงานด้วยรูปแบบ Hybrid Working และ 9.21% ทำงานแบบ Work from Home ส่วนอีก 1.30% ที่เหลือนั้นทำงานรูปแบบ Work from Home มาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว
ทางด้านคนทำงานที่ได้ Work from Home ให้ความคิดเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับการทำงานในรูปแบบนี้ว่า ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะเป็นการทำงานคนเดียวที่บ้าน ติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ ผ่านทางออนไลน์ แต่ก็เป็นรูปแบบการทำงานที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเมืองในองค์กรได้ ทำให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุขภาพจิตและสุขภาพกายดีขึ้น ส่วนในอนาคต คนที่ได้ทำงานแบบ Work from Home คาดหวังว่าจะได้ทำงานในรูปแบบ Hybrid Working ที่ไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศทุกวัน ดังนั้นในอนาคตทางองค์กรเองก็อาจต้องพิจารณาปรับนโยบายและรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงาน เพื่อดึงดูดคนเก่งและรักษาพนักงานให้ทำงานด้วย
จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตลาดแรงงานมากมาย ทำให้คนทำงานและองค์กรต้องปรับตัวกันทุกด้าน ทั้งวิธีการสมัครงาน แนวทางการดูแลพนักงาน หรือกระทั่งรูปแบบการทำงาน จนอาจทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกตึงเครียดและเหน็ดเหนื่อยที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่หลังจากเผชิญกับความลำบากของพิษโควิด-19 มายาวนาน ภาพรวมของตลาดแรงงานก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้นในปี 2564 ที่ผ่านมา ถึงแม้การแข่งขันในตลาดแรงงานจะสูงขึ้น และในอนาคตเราอาจต้องปรับตัวหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อีก แต่ JobThai ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานและองค์กรต่าง ๆ ในการฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ และหวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 400,000 members |
|
|
|