เชื่อว่าหลายคนต้องมีบัญชีเงินเก็บส่วนตัวที่ออมจากรายได้ไว้ใช้ในอนาคต แต่ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองควรมี "เงินเก็บ” เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าเพียงพอกับการใช้จ่ายในอนาคตข้างหน้า ใจนึงก็อยากเก็บเงินต่อเดือนให้ได้มาก ๆ แต่ก็กลัวเดือนนั้นจะต้องมานั่งกินมาม่าเพราะไม่เหลือเงินในบัญชีใช้จ่าย ฟังดูเหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ เพราะการเก็บเงินให้เยอะ ๆ ไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ดี แต่การเก็บเงินแบบไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย อาจจะทำให้สถานะการเงินในปัจจุบันเกิดความยากลำบาก และมันจะทำให้เราไม่รู้ด้วยว่าเมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่า “พอ”
หากเราวางแผนการเงินตั้งแต่เริ่มทำงานแรก ๆ ก็จะทำให้เรามีเวลาในการเก็บเงินนานขึ้น และมีเงินพอให้ใช้ในวัยเกษียณมากขึ้น มีชีวิตบั้นปลายที่สุขสบาย อย่าลืมว่าช่วงอายุวัยทำงานเป็นช่วงที่เรามีการใช้จ่ายเงินหลายทาง ทั้งการสร้างฐานะ สร้างครอบครัว และการใช้จ่ายอื่น ๆ รู้ตัวอีกทีเราอาจจะอายุปาเข้าไป 30 กว่าแล้ว ซึ่งหากมาเริ่มออมเงินอย่างจริงจังในตอนที่ห่างจากเวลาที่ต้องเกษียณเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น คุณคิดว่าจะเก็บเงินได้ทันไหม ดังนั้นเราถึงต้องวางแผนการเก็บเงินให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
บ่อยครั้งที่เราชอบได้ยินคนตั้งคำถามว่าอายุเท่านี้ควรมีเงินเก็บเท่าไหร่? ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคำถามที่คำตอบไม่เหมือนกันเลยสักคน เรื่องอายุกับเงินเก็บบางทีก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องแปรผันตรงกัน เพราะอายุน้อยไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินเก็บน้อย หรืออายุมากก็ไม่ได้แปลว่าต้องมีเงินเก็บมาก ปัจจัยของการเก็บเงิน หรือจำนวนเงินเก็บ ทรัพย์สินที่มี ก็เป็นเรื่องทัศนคติและความจำเป็นของแต่ละคน การเก็บเงินของทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่ที่เป้าหมายและภาระหน้าที่ของคน ๆ นั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องประเมินและพิจารณาให้เหมาะกับตัวเราเอง
สำหรับใครก็ตามที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ไม่แน่ใจว่าจำนวนเงินที่เก็บอยู่ตอนนี้โอเครึยัง นี่คือการคำนวณพื้นฐานแบบง่าย ๆ ซึ่งจะช่วยให้เราประเมินเงินเก็บที่ควรมี เพื่อเอาไปวางแผนการใช้เงินให้เหมาะกับตัวเอง ให้เงินเดือนที่เราได้มาพอใช้ไปทั้งเดือน แถมยังมีเหลือเก็บไว้สำหรับบั้นปลายชีวิตเมื่อเกษียณ
2 x (อายุปัจจุบัน – อายุเริ่มงาน) x (เงินเดือนปัจจุบัน + เงินเดือนที่เริ่มงาน) = จำนวนเงินที่ควรมีเก็บในตอนนี้
|
|
ตัวอย่าง เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุ 23 ปี เงินเดือนเริ่มต้นคือ 15,000 บาท ปัจจุบันอายุ 30 ปี มีเงินเดือนอยู่ที่ 40,000 บาท
ตอนนี้เราควรมีเงินเก็บ : 2 x (30 - 23) x (40,000 + 15,000) = 770,000 บาท
อย่างไรก็ตามเงินเก็บในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเงินสดทั้งหมด เป็นสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น บ้าน ที่ดิน ห้องคอนโดให้เช่า ทองคำ สลากออมสิน เงินฝากประจำ ตราสารหนี้ หุ้น หรือกองทุนรวม ก็ได้เหมือนกัน
ปัญหาของคนที่ยังไม่เคยวางแผนการเก็บเงิน มีทั้งแบบที่เก็บเยอะเกินไปและเก็บน้อยเกินไป เพราะคนเหล่านี้ไม่มีเป้าหมายในการเก็บเงินจึงไม่รู้ว่าแบบไหนถึงพอดีกับตัวเอง ดังนั้นเราควรมีเป้าหมายก่อน รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ในเวลาแค่ไหน และจำนวนเท่าไหร่ เช่น เราอยากมีเงินเพื่อดาวน์บ้านจำนวน 300,000 บาท ภายใน 5 ปี หรืออยากมีเงิน 7,200,000 บาท สำหรับเกษียณในอีก 30 ปี ซึ่งอาจจะมีเป้าหมายหลายข้อ และเป็นได้ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว
ถ้าเรามีหลายเป้าหมายในการเก็บเงิน เราควรจะเปิดบัญชีธนาคารแยกเงินเป็นส่วน ๆ ตามเป้าหมาย เช่น บัญชีแรกเปิดไว้สำหรับการดาวน์บ้านใหม่ภายในเวลา 5 ปี และบัญชีที่สองเปิดไว้สำหรับเงินเกษียณในอีก 30 ปี จากนั้นก็มาทำการคำนวณว่าแต่ละเดือนต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่เพื่อให้ครบในระยะเวลาที่เรากำหนด
ถ้าเราเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาทเพื่อซื้อบ้านราคาหลายล้าน เราคงได้อยู่บ้านตอนอายุราว ๆ 50-60 ปี ดังนั้นจึงเราต้องเรียนรู้ที่จะขอสินเชื่อหรือการกู้เงินจากธนาคาร เช่น หากเราอยากซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท เราต้องมีเงินเก็บด้วยตัวเองเพื่อดาวน์อย่างน้อย 10% หรือ 300,000 บาท ส่วนที่เหลือก็ทำเรื่องขอสินเชื่อกับธนาคาร ถ้าเรามีอายุไม่ถึง 40 ปี ก็อาจจะสามารถผ่อนได้นานถึง 30 ปี ซึ่งข้อดีของการขอสินเชื่อคือเราจะมีบ้านในระยะเวลาที่เร็วขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับการที่เราต้องทยอยจ่ายเงินทุกเดือน จนกว่าค่าบ้านจะหมดไปพร้อม ๆ กับดอกเบี้ยเงินกู้
ไม่มีใครรู้ว่าวันไหนเราจะเกิดเจ็บป่วย หรือถูกออกจากงานทำให้รายได้หดหาย มันคงจะดีกว่าถ้าเรามีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดบ้างไม่มากก็น้อย จะได้ไม่ต้องไปดึงเอาเงินเก็บที่เราตั้งใจไว้ใช้ตอนเกษียณมาใช้ อาจจะเก็บในรูปแบบการออมเงิน หรือการทำประกันเพิ่มเติมเผื่อสำหรับกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
สำหรับเงินเก็บที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือการออมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเงินที่นอนนิ่งอยู่ในบัญชีแบบไม่ได้นำมาใช้ทำอะไร เงินในส่วนนี้เหมาะสมมากกับการนำไปลงทุนทางการเงินเพื่อหารายได้เพิ่มอีกช่องทาง ดีกว่าปล่อยทิ้งเอาไว้เฉย ๆ เช่น อาจมองหากองทุนรวมที่มีประวัติดี ๆ แล้วลงทุนกันระยะยาว อย่างไรก็ตามการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เราต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าถ้าเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมา เงินก้อนนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับเราในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินในส่วนอื่น ๆ และถ้าเราไม่มีความรู้ในด้านการลงทุน ก็ต้องหาความรู้หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ดีจนแน่ใจก่อน
ใครที่ยังไม่วางแผนการเก็บเงินถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มเก็บเงินอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นอาจมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ นอกจากนี้เราควรเก็บเงินให้ได้ทุกเดือนโดยปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย หรือถ้าจำเป็นต้องยืมเงินเก็บไปใช้ก็อย่างลืมนำกลับมาคืน เพียงเท่านี้สถานภาพทางการเงินในวัยเกษียณอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอีกต่อไป
ฝากประวัติเพื่อหางานได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน |
Public group · 23,411 members |
|
|
|