HR ควรทำยังไงเมื่อพนักงานเพิ่งหายจากโควิด-19 และกำลังกลับมาทำงาน

23/02/22   |   4.5k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานที่ใช่ได้แล้วบนมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

วินาทีนี้ชาวไทยส่วนใหญ่เริ่มชินกับการใช้ชีวิตอยู่กับการระบาดของโควิด-19 มีหลาย ๆ คนที่อาจเคยตรวจพบเชื้อก็รักษาและพักฟื้นจนไม่พบเชื้อแล้ว เช่นเดียวกับในโลกการทำงานที่อาจมีพนักงานหลายคนหายจากโรคและพร้อมกลับมาลุยงานต่อ แล้วในมุมของคนทำงาน HR ล่ะ เราสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อพนักงานกำลังจะกลับมาทำงานต่อหลังจากที่หยุดไปนานเพื่อรักษาตัว วันนี้ JobThai ได้เอาไอเดียดี ๆ ที่สามารถเอาไปใช้จริงมาฝาก

 

นัดพูดคุยกับพนักงานที่เพิ่งหายป่วยถึงความเป็นไปในบริษัท

นอกจาก HR จะต้องติดตามอาการของพนักงานอยู่เรื่อย ๆ แล้ว เมื่อพนักงานคนนั้นพร้อมกลับมาทำงาน HR  ควรนัดคุยกับเจ้าตัวอย่างจริงจังสักครั้ง ซึ่งจะเลือกใช้วิธีการวิดีโอคอลหรือการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ก็ได้ตามความเหมาะสม โดยหลัก ๆ จะเป็นการนัดพูดคุยอัปเดตเรื่องที่ควรทราบเกี่ยวกับบริษัทในแง่ของขั้นตอนการกลับมาทำงานและมาตรการป้องกันโรคที่อาจเปลี่ยนไปในระหว่างที่พนักงานคนนั้น ๆ ไม่อยู่ และอาจรวมไปถึงการขอความเห็นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเชื้อในออฟฟิศจากพนักงานคนนั้นเพื่อหาจุดที่ควรเพิ่มความรัดกุมขึ้นไปอีก

 

ถามอาการพนักงานและดูความเหมาะสมของงาน

ถึงผลตรวจจะบอกว่าไม่พบเชื้ออีกต่อไป แต่สำหรับบางคนก็ยังต้องเจอกับอาการป่วยที่เรียกว่า “Long Covid” ซึ่งเป็นอาการที่ยังคงอยู่แม้จะไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม โดยตัวอย่างอาการมีตั้งแต่อาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หรือผลกระทบระยะยาวอย่างอาการปอดอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว ส่งผลให้เราไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ร่างกายหนัก ๆ ได้ในช่วงที่เพิ่งหาย หรือสำหรับบางรายก็ได้รับผลกระทบแบบถาวร

 

HR จะต้องถามถึงอาการของพนักงานที่หายป่วยว่าอาการป่วยได้สร้างเงื่อนไขอะไรกับร่างกายรึเปล่า ถ้าพนักงานคนนั้นเคยมีหน้าที่ต้องเดินตรวจตราในพื้นที่กว้าง พื้นที่ร้อนจัด หรือยกของหนักมาก่อน ก็ลองถามเพื่อความแน่ใจว่าเขายังทำหน้าที่เหมือนแต่ก่อนไหวไหม ถ้าไม่ไหว HR ควรคุยกับทีมว่าจะสามารถเปลี่ยนถ่ายงานในส่วนนั้น ๆ ไปให้คนอื่นในทีมได้ไหม โดยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบชั่วคราวหรือถาวรก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของพนักงาน หรือถ้าในช่วงแรกพนักงานยังเพลีย ๆ และยังไม่สบายใจจะเดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศ ก็อาจเสนอให้พนักงานทำงานแบบ Work from Home ไปก่อนจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น

 

Work from Home ยังไงให้งานออกมาดี แม้ไม่เข้าออฟฟิศ

 

เคลียร์เรื่องวันลาของพนักงาน

HR ต้องไม่ลืมย้ำเรื่องวันลาของพนักงานคนนั้น ๆ ให้ดี เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกับค่าจ้างของพนักงาน ซึ่งต้องคุยกันให้ลงตัวว่าจะทำเรื่องใช้สิทธิ์ลาในรูปแบบไหน โดยยึดตามข้อกำหนดจากกระทรวงแรงงาน (ข้อมูลวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564) ระบุว่าเมื่อลูกจ้างติดโควิด-19 และต้องกักตัว ให้ถือว่าลูกจ้างอยู่ในสถานะป่วย และสามารถใช้สิทธิลาป่วยและสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้) โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงเวลานี้ ทั้งนี้ หากต้องใช้เวลากักตัวมากกว่า 14 วัน ก็ยังถือเป็นการลาป่วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามภาวะของโรค และมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย

ในกรณีที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยในรอบปีครบ 30 วันแล้ว รวมทั้งลาหยุดพักผ่อนประจำปีครบแล้ว หากทางราชการมีคำสั่งให้หยุดเพื่อดูอาการ 14 วัน หรือบริษัทมีคำสั่งให้หยุดดูอาการถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วย โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างได้ แต่จะถือว่าขาดงานไม่ได้ ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิรับเงินทดแทนจากประกันสังคมตามสิทธิที่พึงได้ตามหลักเกณฑ์ที่ สปส. (สำนักงานประกันสังคม) กำหนด

 

กักตัวอยู่บ้านช่วง COVID-19 ระวังเสพติดน้ำตาล

 

สร้างความสบายใจให้คนที่ออฟฟิศ

ถ้าพนักงานที่เคยป่วยกำลังจะกลับมาทำงานในออฟฟิศก็มีความเป็นไปได้ที่เพื่อน ๆ ในที่ทำงานอาจยังรู้สึกไม่ค่อยโอเคถ้าจะต้องนั่งทำงานใกล้ ๆ กัน เพราะฉะนั้นเพื่อสร้างความสบายใจในที่ทำงาน HR ก็ควรอัปเดตข่าวสารให้กับพนักงานในบริษัทตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยอาจใช้เป็นอีเมลภายในประกาศว่าพนักงานที่ป่วยได้ตรวจดูอาการและไม่พบเชื้อตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ และพนักงานคนนั้นจะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศตั้งแต่วันที่เท่าไหร่เป็นต้นไป พร้อมทั้งยังต้องย้ำกับเพื่อนในทีมและหัวหน้าของเขา เพื่อให้ทีมเตรียมอัปเดตความคืบหน้าของงานให้กับเพื่อนที่หยุดไปนาน

 

ต้อนรับการกลับมาของพนักงานอย่างอบอุ่นและห่วงใย

การเอาชนะโควิด-19 มาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพนักงานรักษาตัวจนพร้อมกลับมาทำงานแล้ว การที่ HR มอบหรือส่งอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พนักงานก็สามารถสร้างกำลังใจการทำงานและความรู้สึกอบอุ่นให้กับพนักงานได้ โดยของที่จะมอบให้อาจเป็นผลไม้พร้อมกับการ์ด หรือจะส่งข้อความผ่านทางอีเมลส่วนตัวของพนักงานเพื่อต้อนรับการกลับมาและขอให้มีสุขภาพที่แข็งแรงก็ได้

 

ติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือตลอดเวลา

หน้าที่ของคนทำงานฝ่ายบุคคลคือการดูแลทรัพยากรบุคคลในบริษัทให้ดี และเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ เราควรติดตามข่าวการแพร่ระบาดอยู่เรื่อย ๆ ว่ามียอดตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นยังไง ช่วงนี้ระบาดในละแวกไหนเป็นพิเศษ เป็นย่านที่ใกล้ออฟฟิศรึเปล่า รวมถึงคอยอัปเดตจากทางภาครัฐเมื่อมีมาตรการใหม่ ๆ ออกมา เพื่อเตรียมแผนรับมือที่สอดคล้องกับตัวมาตรการของทางรัฐ

 

สิ่งที่คนเป็น HR จะต้องนึกถึงก็คือคนในองค์กร เราจะได้ใจพนักงานก็ต่อเมื่อเราใส่ใจพนักงาน พร้อมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดในทุก ๆ สถานการณ์ เพราะฉะนั้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ก็อย่าลืมแสดงความห่วงใยให้กับพนักงานแบบห่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ ล่ะ

 
JobThai Official Group
Public group · 300,000 members
Join Group
 

 

ที่มา:

fairygodboss.com / som.org.uk /

dailynews.co.th / youtube.com​​

tags : covid-19, long covid, hr, jobthai, work from home, wfh, คนทำงาน, โควิด-19, หายจากโควิด-19, กลับไปทำงาน, การดูแลพนักงาน, human resources, people management, ทรัพยากรบุคคล



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม