Recognition วัฒนธรรมที่สร้างพลังบวกในการทำงาน

30/08/23   |   17.3k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานที่ใช่ แค่ปลายนิ้ว!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

นอกจากเรื่องรายได้และสวัสดิการแล้ว สิ่งที่จะดึงพนักงานให้ยังอยู่กับองค์กรต่อไปคือความรู้สึกดี ๆ ที่ได้ตอบแทนความตั้งใจในการลงมือลงแรงทำงาน ไม่ว่าจะได้รับจากผู้บริหาร หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อองค์กรมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า “Recognition”

 

Recognition คือการที่คนในองค์กรมองเห็นถึงศักยภาพการทำงานของพนักงาน จดจำเมื่อมีพนักงานสร้างสรรค์ชิ้นงานที่โดดเด่นออกมา และแสดงออกให้พนักงานคนนั้น ๆ สัมผัสได้ว่าหัวหน้าและคนในองค์กรรับรู้ ชื่นชม และพร้อมจะตอบแทนให้กับความทุ่มเทของเขา

 

วันนี้ JobThai จะพาคุณไปรู้จักกับวัฒนธรรมนี้ให้มากขึ้น พร้อมกับตัวอย่างวิธีแสดงออกถึงการรับรู้และชื่นชมที่จะช่วยสร้างพลังบวกในกับคนทำงาน

 

Recognition ช่วยสร้างแรงใจ ทำให้ผลงานที่ออกมามีคุณภาพ

พอทำงานไปนาน ๆ พนักงานก็จะเริ่มชินกับค่าตอบแทนและงานที่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ไฟในการทำงานและคุณภาพงานที่ได้ก็อาจมอดลงไปตาม ๆ กัน เพราะฉะนั้นการแสดงออกว่าหัวหน้าจำได้ว่าพนักงานคนนี้ทำงานชิ้นไหนออกมาได้ดีและออกปากชม หรือให้อะไรบางอย่างกับพนักงานตอบแทนความตั้งใจ ก็จะทำให้ตัวพนักงานมีแรงจูงใจในการทำผลงานให้ออกมาดีเทียบเท่าเดิมหรืออาจจะดีมากขึ้นกว่าเดิม

 

หัวหน้าต้องทำยังไง ถ้าอยากให้พนักงานกลับมามีไฟอีกครั้ง

 

องค์กรที่ไร้วัฒนธรรม Recognition อาจนำไปสู่ภาวะไร้ตัวตนและการลาออกของพนักงาน

สงสัยไหมว่าถ้าบริษัทไม่มีวัฒนธรรมนี้อยู่เลยจะเป็นยังไงบ้าง?

ทาง BambooHR ได้ทำแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คนในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วพบว่ามีพนักงานถึง 82% ที่รู้สึกว่าผลงานและตัวตนของตัวเองไม่ได้ถูกจดจำเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ และมีแรงจูงใจในการทำงานลดลงเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความสำคัญจากหัวหน้าจนสุดท้ายกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่คนตัดสินใจลาออกจากงาน

 

รักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ด้วย 6 วิธีง่าย ๆ

 

Recognition จะมีประสิทธิภาพ ต้องโฟกัสที่ผลงานที่ไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายองค์กร

การเลือกโอกาสแสดง Recognition ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี คนเป็นหัวหน้าหรือ HR จะต้องเลือกและพิจารณาจากผลงานหรือความสำเร็จที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ขององค์กร เช่น ถ้าบริษัทมีเป้าหมายต้องการเป็นที่จดจำว่าขายสินค้าคุณภาพดีราคาถูก แล้วพนักงานสามารถทำแคมเปญเพื่อเน้นย้ำจุดนี้กับลูกค้าและได้ผลตอบรับที่ดี ก็จะนับว่าพนักงานคนนี้สร้างผลงานที่ส่งเสริมไปกับเป้าหมายที่องค์กรตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก

 

กล่าวชมไม่บ่อย ฉลองน้อยครั้ง คนทำงานใจแห้งเหี่ยว

จำนวนครั้งในการแสดง Recognition หรือการฉลองให้กับความสำเร็จเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อกำลังใจของคนทำงาน บางคนอาจคิดว่าการแสดง Recognition มีไว้เฉพาะเวลาที่ทีมทำงานหรือพนักงานทำโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ได้สำเร็จ ผลที่ตามมาคือเจ้านายจัดฉลองหรือกล่าวชื่นชมพนักงานแค่ปีละครั้งสองครั้งเท่านั้น ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่น่าห่อเหี่ยวใจมากสำหรับคนที่ทำงานอย่างทุ่มเทมาตลอด ถ้าไปถึงจุดที่พนักงานหมดกำลังใจจะทำงานแล้วบังเอิญมีโปรเจกต์ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเข้ามา คุณภาพงานที่ได้ก็อาจจะลดลงไปพร้อม ๆ กับประสิทธิภาพในการทำงานก็ได้

 

คนเป็นหัวหน้าควรหาโอกาสแสดง Recognition กับความสำเร็จเล็ก ๆ ของลูกทีมอยู่เสมอ จะหาโอกาสเลี้ยงฉลองให้บ่อยขึ้นหรือใช้วิธีแสดง Recognition แบบอื่น ๆ สลับกันไปบ้างก็ได้ บางครั้งแค่คนในทีมทำงานผ่านจุดที่ยากที่สุดของโปรเจกต์มาได้มันก็น่าฉลองแล้ว

4 รูปแบบของ Recognition ที่น่าจดจำที่สุด

จริง ๆ แล้วการให้รางวัลหรือแสดงออกว่าองค์กรรับรู้และชื่นชมการทำงาน ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว เพราะมีปัจจัยหลายข้อที่ต้องเอามาประกอบในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ จำนวนพนักงาน ค่านิยมองค์กร หรือวัฒนธรรมบริษัท โดยสามารถแยกประเภทการแสดง Recognition ออกมาได้ถึง 4 แบบที่คุณสามารถเอาไปเลือกใช้ได้ตามโอกาสที่เหมาะสม

 

  1. Public Recognition: การแสดงความชื่นชมหรือให้รางวัลแบบสาธารณะ ให้คนอื่น ๆ ในบริษัทรับรู้ไปด้วย อย่างการมอบรางวัลพร้อมกล่าวชมเชย การเขียนคำชื่นชมผลงานลงบนโซเชียลมีเดียหรืออีเมลของบริษัท หรือการเลี้ยงฉลอง
  2. Private Recognition: การกล่าวชม ขอบคุณ หรือตอบแทนแบบเป็นการส่วนตัว จากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า เช่น การเรียกพบลูกทีมเป็นการส่วนตัวเพื่อกล่าวชมเชย การเขียนคำขอบคุณแล้ววางโน้ตไว้ที่โต๊ะพนักงาน หรืออาจจะเป็นการให้ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ แทนคำขอบคุณ
  3. Promotion: การเลื่อนตำแหน่ง หรือเพิ่มขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบเพื่อแสดงถึงความไว้ใจ รวมไปถึงอาจจะเชิญพนักงานคนนั้น ๆ เข้าร่วมประชุมสำคัญกับผู้บริหารของบริษัท หรือให้รับผิดชอบโปรเจกต์สำคัญ และเป็นตัวแทนของบริษัทในการเข้าร่วมงานบางอย่างเป็นกรณีพิเศษ
  4. Monetary Award: การให้รางวัลตอบแทนความทุ่มเทแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้ อย่างเงินค่าจ้างที่มากกว่าเดิม เงินโบนัส วันหยุดพักร้อนที่เพิ่มขึ้น ทริปท่องเที่ยว ตั๋วพิเศษสำหรับเข้าร่วมงานที่บริษัทเป็นผู้สนับสนุน หรือทุนในการเรียนคอร์สต่าง ๆ

 

Recognition ที่ได้ผลดีที่สุดคือการแสดงออกในรูปแบบที่เหมาะสมกับพนักงานของตัวเอง ถ้าอยากรู้ว่าพนักงานในบริษัทชอบการแสดง Recognition แบบไหนมากที่สุด จะลองทำเซอร์เวย์ภายในบริษัทดูก็ได้ เพียงทำลิสต์รายการรางวัลขึ้นมาแล้วให้พนักงานโหวตดูว่าชอบอันไหนมากที่สุด หรือคุณจะใส่ช่องว่างไว้ในแบบสอบถามเพื่อให้พนักงานเสนอเพิ่มเติมด้วยก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจเหมือนกัน

 

การแสดงความใส่ใจและชื่นชมกันในออฟฟิศจะทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น เพราะมีพนักงานหลายคนที่ใช้พลังบวกในการขับเคลื่อนผลงานให้ออกมาดี สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้เขารู้สึกได้ว่ามีคนมองเห็นคุณค่าในตัวเขาและผลงานของเขามีความหมาย สำหรับบริษัทที่ให้พนักงานทำงานที่บ้านก็สามารถปรับใช้วิธีการเหล่านี้ให้มาอยู่บนช่องทางออนไลน์แทนก็ได้เหมือนกัน

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

hrmonline.com.au

talentlyft.com

prakal.com

inc.com

tags : hr, recognition, people management, human resources, การเป็นที่ยอมรับ, การลาออก, หัวหน้างาน, วัฒนธรรมองค์กร, คนทำงาน, จิตวิทยา, การแสดง recognition, คำชม, การดูแลพนักงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม