ในยุคนี้ “ความมั่นคงทางการเงิน” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนมองหา ไม่ใช่แค่คนที่มีอายุ หรือคนที่ทำงานมานานแล้วเท่านั้น แต่ตอนนี้แม้แต่ First Jobber หรือคนที่เพิ่งเรียนจบ เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานเองก็เริ่มวางแผนเกี่ยวกับการลงทุนกันแล้ว และหากคุณเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เริ่มสนใจเกี่ยวกับการลงทุน อยากเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน วันนี้ JobThai มีเทคนิคลงทุนที่เอาไปปรับใช้ได้มาฝาก
ก่อนจะไปดูในเรื่องของการลงทุน เราอยากให้คุณผู้อ่านทำความเข้าใจก่อนว่าการลงทุนมีแบบไหนบ้าง เพื่อให้คุณพร้อมสำหรับการลงทุน นอกจากนี้คุณยังสามารถดูบทความ วิธีออมเงิน เพื่อนำเอาไปใช้ลงทุน ทำอย่างไรให้มีเงินมาลงทุน โดยที่ไม่กระทบกับเงินใช้ในชีวิตประจำวัน
สิ่งที่ First Jobber ต้องรู้ก่อนลือกลงทุน คือ การลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ การลงทุนระยะสั้น การลงทุนระยะกลาง และการลงทุนระยะยาว
- การลงทุนระยะสั้น: เป็นการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว เช่น การลงทุนเพื่อนำเงินไปใช้สำหรับการท่องเที่ยว หรือเพื่อเก็บเงินไว้ใช้สำหรับการดาวน์รถยนต์ การลงทุนรูปแบบนี้เป็นการจัดพอร์ตลงทุนให้อยู่ในช่วงระยะเวลา 1 - 3 ปี
- การลงทุนระยะกลาง: เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิต หรือเป็นการลงทุนเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีมากขึ้น เช่น การซื้อบ้านเดี่ยว การลงทุนรูปแบบนี้เป็นการจัดพอร์ตลงทุนให้อยู่ในช่วงระยะเวลา 3 - 7 ปี
- การลงทุนระยะยาว: เป็นการลงทุนเพื่อวางแผนเกษียณโดยระยะเวลาที่เหมาะสมกับการลงทุน ขึ้นอยู่กับความต้องการเกษียณของแต่ละคน เช่น ปัจจุบันมีอายุ 30 ปี หากต้องการเกษียณตอนอายุ 50 ปี เท่ากับว่ามีเวลาเก็บเงินและลงทุนอยู่ที่ 20 ปี
สินทรัพย์เพื่อการลงทุนมีหลายประเภท สำหรับ First Jobber ที่กำลังสนใจเรื่องของการลงทุน นี่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมของสินทรัพย์ลงทุนที่เราอยากให้คุณทำความรู้จักเอาไว้เบื้องต้น
- เงินฝากที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ ได้แก่ เงินฝากประจำที่มีค่าตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.30 - 1.20% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ฝาก) และเงินฝากดิจิทัลที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.10 - 2.00% ต่อปี เงินฝากทั้ง 2 ประเภทมีรอบการจ่ายดอกเบี้ยรายเดือน หรือเมื่อครบกำหนดจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญา เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง
- ตราสารหนี้ภาครัฐบาล เป็นเอกสารที่ออกโดยกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการกู้ยืมเงินจากนักลงทุน มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.40 - 2.00% ต่อปี เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้เล็กน้อย
- ตราสารทุน (หุ้น) ตราสารที่กิจการออกให้แก่ผู้ถือ โดยผู้ถือตราสารทุนจะมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” และมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีสิทธิ์ในทรัพย์สิน รวมถึงรายได้ของกิจการ ผู้ถือจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล หรือจะเลือกเป็นหุ้นก็ได้ สามารถซื้อ-ขาย เปลี่ยนมือได้ในตลาดหลักทรัพย์ มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 8 - 12% ต่อปี เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงสูงได้
- ทองคำ เป็นการลงทุนกับสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก สามารถลงทุนได้หลายรูปแบบ เช่น ทองคำแท่งและตั๋วสัญญา มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 - 5% ต่อปี เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง
- อสังหาริมทรัพย์ เป็นการลงทุนอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ เช่น ซื้อมาเพื่อขายต่อทำกำไร ให้เช่า รีโนเวตเพื่อขายทำกำไร รวมถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ผลตอบแทนจะมาในรูปแบบค่าเช่า และส่วนต่างราคา สำหรับกองทุนจะมาในรูปแบบเงินปันผล เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง
สำหรับคนที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้น การเลือกประเภทกองทุนรวมและหุ้นที่ตอบโจทย์ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากกองทุนรวมและหุ้นมีทั้งแบบปันผลและแบบไม่จ่ายปันผล ซึ่งทั้ง 2 แบบล้วนมีข้อดีและข้อควรระวังที่แตกต่างกัน
กองทุนรวมหรือหุ้นแบบปันผล
คือกองทุนหรือหุ้นที่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักลงทุนที่มาร่วมลงทุนในกองทุนหรือหุ้นนั้น ๆ โดยเงินปันผลที่ได้จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ลงทุน รวมถึงผลประกอบการของกองทุนหรือหุ้น ในส่วนของความถี่ของการจ่ายปันผลก็ขึ้นอยู่กับประเภทและนโยบายของกองทุนและหุ้นที่เลือกลงทุน
ข้อดี: สร้างผลตอบแทนประจำได้ ทำให้มีกระแสเงินสดไปใช้จ่ายหรือนำไปต่อยอดลงทุนทางอื่นได้
ข้อควรระวัง: เมื่อมีการจ่ายปันผลเรียบร้อยแล้ว มูลค่าหน่วยการลงทุนอาจลดลงได้เช่นกัน
กองทุนรวมหรือหุ้นแบบไม่จ่ายปันผล
คือกองทุนหรือหุ้นที่ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับนักลงทุน แต่จะนำเอากำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ ทำให้มูลค่าการลงทุนมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นกว่ากองทุนหรือหุ้นอีกรูปแบบ
ข้อดี: ไม่เสียเวลาในการนำกำไรกลับไปลงทุนเอง เนื่องจากกำไรที่ได้จะถูกเอาไปลงทุนต่อ ทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้เรื่อย ๆ แบบอัตโนมัติ
ข้อควรระวัง: ไม่มีกระแสเงินสดให้นักลงทุนนำเอามาใช้หมุนเวียน
ก่อนลงทุนในกองทุนรวม ต้องรู้ก่อนว่าผู้จัดการกองทุนมีแนวทางกลยุทธ์อย่างไร โดยกลยุทธ์ของผู้จัดการกองทุนจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ Active และ Passive ต่างกันดังนี้
การลงทุนแบบ Active: คือการลงทุนในรูปแบบการบริหารเชิงรุก โดยมีเป้าหมายให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีอ้างอิง ซึ่งการลงทุนรูปแบบ Active เหมาะกับนักลงทุน ที่มั่นใจว่าตัวเองมีผู้จัดการกองทุนที่เก่ง และบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดี สามารถชนตลาดได้ในระยะยาว
การลงทุนแบบ Passive: คือการลงทุนเพื่อการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เช่น SET, SET100, SET50 และ SETHD เป็นต้น การลงทุนแบบนี้ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเทียบกับบรรดาการลงทุนรูปแบบอื่น ทำให้เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดระยะยาว หรือนักลงทุนที่ไม่พร้อมรับความเสี่ยงสูง
เมื่อรู้แล้วว่าการลงทุนแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร ขั้นต่อไปมาดูเทคนิคการลงทุนที่เหมาะกับ First Jobber กันบ้าง โดยเราได้นำเทคนิคลงทุนที่น่าสนใจมาฝาก คุณผู้อ่านสามารถนำเอาไปปรับใช้ตามสไตล์ของตัวเองได้เลย
1. วางเป้าหมายในการลงทุน
เทคนิคแรกคือการวางเป้าหมายในการลงทุน คุณต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายในการลงทุนของคุณคืออะไร ต้องการลงทุนไปเพื่ออะไร ต้องเริ่มใช้เงินทุนเท่าไหร่ ผลตอบแทนที่คาดหวังมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เห็นเป้าหมายในการลงทุนชัดเจนมากขึ้น
2. ศึกษาหาแผนลงทุนที่ยืดหยุ่น
การลงทุนที่ยืดหยุ่นสามารถทำได้ด้วยการกระจายสินทรัพย์ อย่างเช่นการมีสินทรัพย์ที่เป็น Safe Zone ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอเก็บเอาไว้ในพอร์ตระยะยาว และสร้างสินทรัพย์ในพอร์ตให้มีความหลากหลาย ไม่เน้นเจาะจงไปที่สินทรัพย์ประเภทใดประเภทเดียว เพราะข้อดีของการใช้แผนลงทุนนี้ มีส่วนช่วยให้คุณสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอได้ในทุกสถานการณ์ ลดความเสี่ยงจากการผันผวน ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขาดทุน คุณจะยังมีกำไรที่ได้จากการลงทุนอื่น ๆ มาเฉลี่ยกันด้วย
3. แบ่งเงินออมไว้ลงทุนตามสัดส่วน
เทคนิคที่นักลงทุนหลายท่านชอบใช้ คือการแบ่งเงินออมไว้ลงทุนตามสัดส่วน เนื่องจากการลงทุนนอกจากกำไรแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการขาดทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง หากลงทุนด้วยเงินออมที่แบ่งเอาไว้แทนการลงทุนด้วยเงินทั้งหมดที่มี ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องทางการเงินก็จะลดลง และยังมีเงินเก็บส่วนอื่น ๆ เอาไว้สำรองยามฉุกเฉินด้วย
4. เลือกสินทรัพย์ที่ถนัดเพื่อลงทุน
เทคนิคลงทุนต่อมา คือการเลือกสินทรัพย์ที่ถนัดเพื่อการลงทุน ถึงแม้ในบทความนี้จะกล่าวถึงการลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมเป็นส่วนใหญ่ แต่รูปแบบการลงทุนในปัจจุบันก็มีอีกหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนทอง การลงทุนตราสารหนี้ หรือการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ หากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ถนัด คุณจะได้เปรียบในเรื่องของความเข้าใจ ช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนได้มาก
5. ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
การลงทุนอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยสร้างวินัยในการออม และสร้างวินัยในการลงทุนได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการลดความผันผวนราคา ทำให้ต้นทุนของการลงทุนนั้นเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าการลงทุนเพียงครั้งเดียว อีกทั้งยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตามหลักของการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน
เป็นอย่างไรบ้างกับ 5 เทคนิคลงทุนที่เราได้นำเอามาฝากเหล่า First Jobber ในวันนี้ อย่างไรก็ตามหากต้องการเริ่มลงทุน อย่าลืมสำรวจความพร้อมของตัวเองและหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนก่อน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เริ่มสนใจเกี่ยวกับการลงทุนได้ไม่มากก็น้อย หากคุณอยากได้แนวทางเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม JobThai ยังมีอีกหลายบทความดี ๆ ให้เลือกอ่าน
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน