VIDEO
ในยุคนี้นักศึกษาจบใหม่จำนวนไม่น้อยรู้สึกกดดันในการหางาน เพราะต้องแข่งกับทั้งเด็กจบใหม่ด้วยกัน และคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน อีกทั้งยังมีปัญหาที่เจอบ่อย ๆ คือเรียนจบแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร รวมถึงไม่แน่ใจว่าในยุคที่งานหายากแบบนี้ พวกเขาควรเลือกงานที่ตัวเองชอบหรืองานที่ทำให้อยู่รอดกันแน่ ดังนั้นวันนี้ JobThai เลยจะพาไปไขข้อสงสัยพร้อมกับบอกเคล็ดลับดี ๆ จากผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาด้านอาชีพสำหรับคนรุ่นใหม่ พี่พลอย หรือ คุณวสุธร หาญนภาชีวิน Chief Knowledge Officer (CKO) และ Co-Founder ของ CareerVisa Thailand
ส่วนมากปัจจัยในการสมัครงาน เราจะมองแค่ตำเเหน่งงาน เงินเดือน หรือที่ทำงานใกล้บ้าน โดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นเลย แต่เมื่อทำงานไปได้สักพัก เราจะค้นพบว่าปัจจัยที่ทำให้อยากออกจากงานมักไม่ใช่ปัจจัยเดียวกับตอนแรกที่เลือกเข้าไป เช่น เราเลือกเข้าไปเพราะปัจจัยเรื่องเงินเดือน แต่กลับอยากลาออกเพราะทนหัวหน้างานไม่ไหว ดังนั้นเพื่อให้สามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น CareerVisa Thailand จึงมีหลักสูตรที่ชื่อว่า 5-Shade of Life หรือแบบประเมินอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยมี 5 ด้าน คือ
Skill and Interest ทักษะและความสนใจ เช่น งานอดิเรก สถานที่ท่องเที่ยว Podcast ช่องโปรด หรือเพจที่กดติดตาม
People and Personality สังคมที่เราเข้าไปเป็นแบบไหน ไม่ใช่แค่สังคมที่ทำให้มีความสุข แต่ต้องเข้าไปแล้วได้พัฒนาตัวเองด้วย
Working Condition เงื่อนไขในการทำงาน เรื่องของสถานที่ทำงาน เวลาเข้างาน หรือนโยบายของบริษัท เช่น คนตื่นสาย ก็ควรเลือกงานที่ไม่ต้องเข้าเช้ามาก หรือคนมีครอบครัวก็ไม่ควรเลือกงานกะดึก
Lifestyle รูปแบบการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตแบบไหนที่เราคุ้นเคยหรือต้องการ รวมถึงเรื่องของเงินเดือน เช่น ไลฟ์สไตล์เป็นคนติดหรูแต่เงินเดือนหมื่นห้าก็ไม่ตอบโจทย์
Personal Core Value สิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต เช่น บางคนให้ความสำคัญกับเงิน ชื่อเสียง หรือการช่วยเหลือสังคม ตัวนี้จะตัดสินว่างานไหนที่ตอบโจทย์สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด
รวมถึงการดู Core Value ขององค์กรนั้น ๆ ร่วมด้วย เพื่อที่จะได้เอามาเปรียบเทียบกับ Personal Core Value ของเราว่าเข้ากันไหม ดังนั้นไม่ใช่แค่เห็นตำแหน่งงานน่าสนใจ เงินเดือนสูง หรือที่ทำงานใกล้บ้าน ก็ส่งใบสมัครงานไป แต่จำเป็นต้องดูทั้ง 5 ด้านนี้ควบคู่กันด้วย
เมื่อ COVID-19 ส่งผลกระทบมากมายกับเราทุกคน เราควรเลือกงานที่ทำให้ชีวิตของเราอยู่รอดมากกว่างานที่เราแค่ชอบ เช่น เรามีค่าเช่าบ้านเท่านี้ แต่ไปสมัครงานที่ชอบแต่เงินเดือนไม่พอค่าเช่าบ้านก็ไม่รอดอยู่ดี แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน เราจะเลือกงานที่ชอบหรืองานที่รอดก็ได้ทั้งนั้น สำหรับคนที่อยากทำทั้งงานที่ชอบและงานที่รอดด้วย แนะนำให้ลองดีไซน์งานหรือตำเเหน่งงานที่คิดว่าทำได้ดีขึ้นมาเอง อาจจะเป็นตำเเหน่งที่ยังไม่มีในตลาด แต่คิดว่ามันน่าจะมีบริษัทที่ต้องการ เวลาไปสัมภาษณ์งาน ลองเสนอไอเดียของเราให้เขาดู ไม่แน่อาจจะมีบริษัท Startup สนใจ จนสุดท้ายเราอาจได้ทำงานที่ทั้งรอดและชอบเลยก็ได้
จากเหตุการณ์ COVID-19 ทำให้คนไทยตกงานแล้วประมาณ 3.3 ล้านคน และมีความสุ่มเสี่ยงจะตกงานอีก 8 ล้านคน ซึ่งเด็กจบใหม่เองก็คิดว่าตัวเองไม่มีทางเลือกนอกจากยอมรับชะตากรรมนี้ แต่ความจริงแล้วเด็กจบใหม่มีทางเลือก 4 ทางด้วยกัน คือ
ทำงานประจำ ควรมองหาสายงานที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากนัก และอย่าปิดกั้นโอกาสตัวเอง เช่น ตำแหน่งนี้ต้องการคนมีประสบการณ์ 1-2 ปี ถ้าเราไม่มีแต่มั่นใจว่าทำได้ก็ลองส่งไปก่อน แต่ควรเขียน Cover Letter ให้เขาเห็นด้วยว่าแม้เราจะมีประสบการณ์ไม่ถึง แต่ก็มีอะไรน่าสนใจที่สามารถต่อยอดได้ รวมถึงควรติดตามผลอย่างใกล้ชิดโดยส่งอีเมลหรือโทรไปสอบถาม
ฟรีเเลนซ์ ถ้ายังหางานประจำไม่ได้ลองรับงานฟรีแลนซ์เป็นโปรเจกต์ไปก่อน ข้อดีคือเราจะได้สะสม Portfolio ไปในตัว เพื่อเเก้ปัญหาเรื่องการขาดประสบการณ์ได้
เรียนต่อหรือเรียนออนไลน์ สมัยนี้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ เราสามารถเลือกเรียนต่อในสาขาที่สนใจหรือเรียนออนไลน์ก็สะดวกดี เพราะในปัจจุบันมีคอร์สออนไลน์ที่ได้ Certificate มากมาย และยิ่งไปกว่านั้นมีการเรียนปริญญาออนไลน์ด้วย
ทำธุรกิจของตัวเอง ถึงวิธีนี้อาจจะยาก แต่ถ้าเรามี Passion มากพอก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ลองหาสิ่งที่ชอบแล้วพัฒนาเป็นธุรกิจ ไม่แน่มันอาจจะทำเงินให้เราเยอะกว่างานประจำเลยก็ได้
ในมุมมองของ HR เด็กจบใหม่ถูกแบ่งออกเป็นสองแบบ โดยกลุ่มแรกคือ กลุ่มแรงงานราคาถูก หรือกลุ่มที่สามารถมาทำงานเล็ก ๆ โปรเจกต์ที่ไม่สำคัญไปก่อนได้ ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม Talent ขององค์กร หรือ กลุ่มที่มีความสามารถสูงกว่ากลุ่มแรก มีศักยภาพมากพอที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้างานเลย เพราะคนกลุ่มนี้จะมีไอเดียที่แปลกใหม่ กล้าพูด กล้าทำ มีความเป็นมืออาชีพในตัวสูง ซึ่งเด็กจบใหม่กลุ่มนี้จะถูกมองว่าไปได้ไกลกว่ากลุ่มแรก ดังนั้นเราต้องพิจารณาตัวเองแล้วล่ะว่าอยากเป็นเด็กจบใหม่ในกลุ่มไหน
เราสามารถแบ่งความมั่นใจของเด็กจบใหม่ออกมาได้ 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เก่งแต่ไม่มั่นใจ กลุ่มนี้ส่วนมากจะมีประสบการณ์แต่ขาดความมั่นใจ ดังนั้นต้องระบุปัญหาให้ได้ว่าอะไรทำให้เราไม่มั่นใจ พอรู้ตัวว่าไม่มั่นใจด้านไหนก็ไปเรียนเพิ่ม หรือปรึกษาคนที่ทำสายงานนั้นดูก็ได้ ต่อมากลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ไม่เก่งและไม่มั่นใจด้วย กลุ่มนี้อาจจะต้องพัฒนาทักษะให้หนักกว่ากลุ่มแรก และลองรับงานฟรีแลนซ์เพื่อหาประสบการณ์เพิ่ม ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ไม่เก่งแต่มั่นใจว่าตัวเองเก่ง กลุ่มนี้อาจจะลองปรับเปลี่ยนความมั่นใจให้น้อยลง ลองศึกษาหาข้อมูลจากคนที่รู้จริง แล้ววิเคราะห์ตัวเองว่าเราทำได้จริงแบบเขาไหม หรือให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ประเมินตัวเราด้วยก็ได้
เด็กจบใหม่ที่อยากทำงานข้ามสายจากที่ตัวเองจบมาแต่กลัวว่าจะหางานลำบาก สิ่งที่อยากแนะนำคืออย่ายึดติดกับข้อจำกัดว่าจบมาต้องทำแบบนี้ เพราะสมัยนี้โลกมันเปิดกว้าง ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราก็ยังคงต้องมองความเป็นไปได้ควบคู่ไปด้วย เช่น ถ้าเรียนสายศิลป์แต่อยากทำสายดิจิทัล การข้ามสายที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือ Digital Marketing ที่สามารถเรียนเองได้ เพราะสมัยนี้มีคอร์สออนไลน์ให้เลือกเรียนมากมาย รวมถึงการอัปเดตข่าวสารของแพลตฟอร์มต่าง ๆ อยู่เสมอก็ช่วยให้เราพัฒนาทักษะให้เพิ่มมากขึ้นได้
ความผิดพลาดของเด็กจบใหม่ที่เจอเกี่ยวกับการทำ Resume ที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ มีการก๊อปปี้ Resume ของเพื่อนมาเปลี่ยน ใส่เนื้อหา Resume สั้นเกินไป และไม่มีการทำ Customized Resume ให้สอดคล้องไปกับตำแหน่งงานที่สมัคร อยากให้จำไว้ว่า Resume เปรียบเสมือนใบโฆษณาตัวเอง เราควรทำให้ HR เห็นแล้วรู้สึกสนใจและอยากเรียกเราไปสัมภาษณ์ รวมถึงในส่วนของการนัดสัมภาษณ์ เด็กจบใหม่หลายคนชอบไม่ไปตามนัดหรือไปสายแล้วไม่เเจ้ง ถ้าจะไม่ไปหรือไปสายเราควรมีการแจ้งล่วงหน้า แต่ที่อยากแนะนำคือไม่ควรสมัครงานที่คิดว่าตัวเองไม่เอาแน่ ๆ เพราะนอกจากการผิดนัดจะทำให้เราถูก Blacklist แล้ว ยังทำให้เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย
สำหรับการตอบคำถามสัมภาษณ์งานนั้นไม่ควรตอบแบบถามคำตอบคำ ในการแนะนำตัวเองควรแนะนำตัวเองอย่างน้อย 3 นาที และเวลาถูกถามเรื่องข้อมูลของบริษัท บางคนมักจะตอบไม่ได้เพราะไม่มีการหาข้อมูลมาก่อนสัมภาษณ์ ดังนั้นก่อนไปสัมภาษณ์ควรหาข้อมูลก่อนว่าบริษัทเขาทำอะไร และตำแหน่งงานที่เราต้องการสมัครทำอะไรบ้างแบบคร่าว ๆ สุดท้ายเมื่อจบการสัมภาษณ์ควรส่งอีเมลไปขอบคุณเพื่อสร้างความประทับใจด้วย เพราะมีแคนดิเดตไม่กี่คนที่จะทำ และถ้าเราคือหนึ่งในนั้น เราจะกลายเป็นแคนดิเดตที่ดูโดดเด่น แม้สุดท้ายเราอาจจะยังไม่ผ่านสัมภาษณ์ แต่เชื่อว่าเขาจะจำเราได้ว่าคนนี้มีความตั้งใจและอยากได้ตำเเหน่งนี้จริง ๆ
CareerVisa Thailand เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเด็กจบใหม่อยู่แล้ว จึงต้องเข้าถึง Community ของเด็กมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด ดังนั้นเลยมีพนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่ค่อนข้างมาก รวมถึงมีน้อง ๆ ที่เป็นอาสาสมัครมาช่วยงานด้วย ซึ่งทำให้เห็นข้อดีของเด็กจบใหม่ว่าพวกเขาจะยังไม่เคยโดนตีกรอบมาก่อน ค่อนข้างเปิดกว้างในการรับสิ่งใหม่ ๆ เวลาได้โอกาสก็จะไม่ค่อยกลัวอะไร แต่สำหรับคนที่ผ่านการทำงานมาแล้ว ก็จะมีกรอบความคิดบางอย่างที่ติดตัวมาทำให้ปรับเปลี่ยนค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามก็มีสิ่งที่เด็กจบใหม่ต้องพัฒนาต่อไปเหมือนกัน นั่นก็คือเรื่องการวางตัว และประสบการณ์ที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม
เมื่อก่อนสวัสดิการเกิดจากการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น ทำงานจนสุขภาพเสียก็เลยต้องมีประกันสุขภาพ แต่สำหรับสมัยนี้เด็กรุ่นใหม่มองสวัสดิการที่เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุมากขึ้น เช่น มีสวัสดิการฟิตเนตให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล มี Work from Home ที่ทำให้ไม่ต้องออกไปเสี่ยงต่อ COVID-19 มีเวลาทำงานแบบ Flexible Hours มีสวัสดิการการฝึกอบรม หรือเทรนนิ่งต่าง ๆ ฟรี ซึ่งอาจจะทำเป็นวันลาพิเศษเพื่อไปอบรมคอร์สข้างนอก หรือเป็น Budget สำหรับเทคคอร์สที่ตัวเองสนใจก็ได้
ซึ่ง CareerVisa Thailand เองก็มีสวัสดิการที่น่าสนใจอย่างสวัสดิการวันลาแบบไม่จำกัด เพราะอยากให้อิสระพนักงานทุกคนในการบริหารจัดการตัวเอง รวมถึงมีการให้ดีไซน์กิจกรรมเองว่าอยากทำอะไร หรือไปเที่ยวที่ไหน ดังนั้นสิ่งที่อยากแนะนำสำหรับหลาย ๆ องค์กรคือ ลองทำแบบสอบถามคนในบริษัทว่ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน แล้วทำการจัดหาสวัสดิการที่พวกเขาสนใจ
สำหรับเด็กจบใหม่ที่อยากรู้ว่าทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นในการทำงานในยุคนี้ พี่พลอยก็ได้นำ 10 ทักษะที่คนทำงานต้องมีในปี 2025 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก World Economic Forum ที่เพิ่งออกล่าสุดมาบอก โดยส่วนใหญ่จะเป็น Soft Skills ที่มีการพูดถึงกันมาสักพักแล้ว ส่วนทักษะใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาก็จะเป็นทักษะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งทักษะทั้ง 10 อย่างนั้น ได้แก่
Analytical thinking and innovation การคิดเชิงวิเคราะห์ และการสร้างนวัตกรรม
Active learning and learning strategies การเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นและมีส่วนร่วม
Complex problem-solving ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
Critical thinking and analysis การคิดและวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ มีวิจารณญาณ
Creativity, originality and initiative ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
Leadership and social influence ความเป็นผู้นำ และการมีอิทธิพลต่อสังคม
Technology use, monitoring and control ความสามารถในการใช้และควบคุมเทคโนโลยี
Technology design and programming ความสามารถในการออกแบบเทคโนโลยี และเขียนโปรแกรม
Resilience, stress tolerance and flexibility การจัดการความเครียด สามารถยืดหยุ่นและรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ
Reasoning, problem-solving and ideation การคิดหาเหตุผล การแก้ปัญหา และทำให้ออกมาเป็นไอเดียใหม่ ๆ
เด็กจบใหม่หลายคนคงได้เคล็ดลับและความรู้ต่าง ๆ จากพี่พลอยไปไม่มากก็น้อย ยังไงก็อย่าลืมเอาเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ไปปรับใช้ รวมถึงเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองด้วย และอย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ให้คิดว่าเรายังมีโอกาสเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองก่อนที่จะเริ่มต้นหางานครั้งใหม่
ติดตามบทความอื่น ๆ จากรายการ Oh My Job! Podcast ได้ที่นี่
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 42,947 members