- อย่าเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองด้วยการลาออกก่อนได้งานใหม่ เพราะนายจ้างทั่วไปให้เครดิตกับผู้สมัครที่มีงานทำมากกว่า
- ทำเหมือนคนมีทางเลือก นายจ้างจะคิดว่าเราไม่ใช่ของตายที่สามารถกดเงินเดือนได้
- บอกเล่าที่มาของจำนวนเงิน โดยพูดถึงประสบการณ์การทำงานหรือความสามารถที่นำมาพัฒนาองค์กรได้
- ถ้าโดนต่อรองเงินเดือน ควรหนักแน่น และมองผลประโยชน์ตัวเองมาเป็นอันดับแรก
- ถ้าเงินที่ได้ไม่เหมาะสมกับค่าใช้จ่าย และความสามารถ ให้เลือกปฏิเสธออกไป แต่ถ้าอยากได้งานนี้จริง ๆ ก็ลองถามถึงโอกาสปรับเงินเดือนหลังผ่านโปร
|
|
คำถามที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องเจอในห้องสัมภาษณ์คือ “คุณคาดหวังเงินเดือนเท่าไหร่?” เชื่อว่าหลายคนบวกลบคูณหารในใจจากบ้านมาเสร็จสรรพ แต่เมื่อบอกเงินเดือนที่ต้องการออกไป สิ่งที่ตามมาคือการต่อรองเงินเดือนที่ทำเอาลำบากหัวใจอยู่ไม่น้อย
โดยส่วนมากคนไทยมีนิสัยขี้เกรงใจ เวลาถูกต่อเงินเดือนก็จะยอมเพราะคิดไปว่าถ้าไม่ยอมบริษัทอาจไม่จ้างเราหรือหาคนใหม่ที่เรียกเงินน้อยกว่า จนกลายเป็นว่าตัวเองเป็นเพียงตัวเลือกของบริษัททั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิ์เลือกกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้นวันนี้ JobThai เลยจะมาแนะนำ 5 เทคนิคสัมภาษณ์งาน ทำยังไงไม่ให้ถูกต่อเงินเดือน
อย่าลาออก ถ้ายังไม่ได้งาน
หลายคนเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองด้วยการลาออกก่อนได้งานใหม่ซะอย่างนั้น นายจ้างโดยทั่วไปมักให้เครดิตกับผู้สมัครที่มีงานทำมากกว่าผู้สมัครที่ว่างงาน เพราะเขาจะคลางแคลงใจว่าทำไมเราจึงรีบออกจากงานกะทันหัน หรือมั่นใจว่ายังไงเราก็ต้องตอบรับเข้าทำงานแม้จะถูกกดเงินเดือนเพราะไม่อยากว่างงานนาน ๆ ดังนั้นถ้าอยากถือไพ่เหนือกว่าในการต่อรองก็อย่าเพิ่งด่วนใจร้อน รีบลาออกจนเกินไป ให้คิดเสมอว่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเขาจะรับเราจนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถึงแม้ HR จะแจ้งว่าเราผ่านสัมภาษณ์แล้ว แต่ก็มีกรณีที่อยู่ดี ๆ ก็เงียบหายไป หรือมาบอกแคนเซิลทีหลังอยู่เหมือนกัน ดังนั้นอย่าลืมเซฟตัวเองด้วย
ทำตัวเหมือนคนมีทางเลือก
ไม่มีใครอยากเป็น “ตัวเลือก” ของใคร เราต้องทำตัวเองให้มีทางเลือกอยู่เสมอ ใช้วิชาแอคติ้งเข้าช่วยด้วยการคีปลุคให้ดูเป็นคนใจเย็น ประหนึ่งว่าเรามี Offer จากบริษัทชั้นนำมาให้เลือกเป็นสิบ แม้ความจริงเราอาจจะอยากได้งานนี้มากก็ตาม เพราะนายจ้างจะมองเราเป็นของตาย คิดว่าสามารถกดเงินเดือนให้ต่ำกว่าที่เราขอไว้ได้ไม่ยาก
อธิบายเหตุผลของตัวเลขที่ขอ
การเลือกคนเข้าทำงานก็เหมือนการเลือกซื้อของ แน่นอนว่าเราต้องเลือกซื้อของที่คุ้มค่ากับเงินที่เสีย นายจ้างก็เหมือนกัน เขาจะเลือกจ้างคนที่คิดว่าคุ้มค่ากับเงินเดือนที่จ่ายไปมากที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพยายามขายตัวเองให้เขาตัดสินใจเลือกเรา บอกเล่าที่มาของจำนวนเงินที่ขอไปผ่านการเล่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา หรืออธิบายว่าเรามีความรู้ความสามารถอะไรบ้างที่นำมาพัฒนาองค์กรได้
อย่ายอมในครั้งแรก
นิสัยขี้เกรงใจและห่วงใยความรู้สึกของคนอื่นมากเกินไปไม่ควรนำมาใช้ในการต่อรองเงินเดือน ขึ้นชื่อว่า “ธุรกิจ” ทุกอย่างล้วนมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ดังนั้นให้เราคิดเสมอว่าทุกอย่างคือธุรกิจและเราเป็นฟันเฟืองชิ้นหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้บริษัทได้ เราควรได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม เมื่อทางนายจ้างต่อรองเงินเดือนเข้ามาในครั้งแรก อยากให้เราทำใจให้หนักแน่นเข้าไว้ เพราะก่อนตัดสินใจเรียกเงินไป เราต้องคิดไตร่ตรองมาอย่างดีแล้วแหละว่ามันเหมาะสมมากแค่ไหนกับความรู้ความสามารถที่เรามี ดังนั้นอยากให้มั่นใจและมองผลประโยชน์ตัวเองมาเป็นอันดับแรก
ไม่ไหว อย่าฝืน
ถ้าใจลึก ๆ เราอยากได้งานนี้ ก็อาจลองถามบริษัทดูอีกทีว่ามีการปรับเงินเดือนหลังผ่านโปรไหม หรือถ้าเราทำผลงานดี จะมีโอกาสปรับขึ้นเงินเดือนรึเปล่า แต่หากผลสุดท้ายการเจรจาต่อรองไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็ต้องกลับมานั่งคิดวิเคราะห์ให้ดีอีกครั้งว่าสิ่งที่เขา Offer มานั้นเหมาะสมกับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบและความสามารถของเรา หรือเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันรึเปล่า ถ้าคำนวณทุกอย่างรวมกันแล้วรู้สึกไม่คุ้ม ให้เลือกปฏิเสธออกไปจะดีกว่า
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
tags :
งาน, หางาน, เทคนิคต่อรองเงินเดือน, ต่อเงินเดือน, สัมภาษณ์งาน, เงินเดือน, career & tips, คนทำงาน, jobthai, job interview, สมัครงาน, เคล็ดลับการสัมภาษณ์งาน, fresh graduate, fresh grad, เอกสารสมัครงาน, portfolio สมัครงาน, จบใหม่ต้องรู้