ทำไมบริษัทถึงไม่ระบุเงินเดือนในประกาศงาน

ทำไมบริษัทถึงไม่ระบุเงินเดือนในประกาศงาน
08/05/23   |   23.3k   |  

 

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คนทำงานที่กำลังมองหางานอยู่อาจเคยเห็นประกาศงานที่ลงรายอะเอียดครบถ้วนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติที่ต้องการ ภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ หรือช่องทางการสมัครงาน แต่ขาดอย่างเดียวคือไม่ระบุเงินเดือนของตำแหน่งงานนั้น ซึ่งหลายคนก็อาจเกิดข้อสงสัยว่าทำไมบริษัทถึงไม่ยอมระบุเงินเดือนในประกาศงานให้ชัดเจนไปเลย วันนี้ JobThai เลยจะมาไขข้อสงสัยให้ได้รู้กันว่าเพราะอะไร และคนหางานควรทำยังไงเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้

 

ทำไม HR ไม่ยอมแจ้งผลการสัมภาษณ์งาน

 

สาเหตุที่บริษัทไม่ระบุเงินเดือนในประกาศงาน

  • การระบุตัวเลขเงินเดือนที่ชัดเจนอาจทำให้มีคนสมัครงานน้อยลง
    ในการสมัครงาน แน่นอนว่าคนหางานย่อมมีตัวเลขเงินเดือนที่ตัวเองต้องการอยู่ภายในใจแล้ว ซึ่งถ้าจำนวนเงินเดือนที่บริษัทระบุลงไปในประกาศงานนั้นน้อยกว่าจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ ผู้หางานก็ย่อมเลื่อนผ่านประกาศงานนั้นไปและมองหางานใหม่แทน ดังนั้นบริษัทจึงหลีกเลี่ยงที่จะระบุเงินเดือนลงไปตรง ๆ เพื่อไม่เป็นการลดจำนวนผู้สมัครงานลงและปิดโอกาสที่จะได้เจอแคนดิเดตที่มีความสามารถ  เพราะถึงแม้บริษัทจะมีกรอบเงินเดือนสำหรับตำแหน่งงานนั้น ๆ อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกรณีที่บริษัทยินดีเพิ่มเงินเดือนให้มากกว่าตัวเลขที่ตั้งไว้เหมือนกันถ้าแคนดิเดตที่สมัครเข้ามาเป็นคนมีของ คุณสมบัติเป๊ะ หรือมีประสบการณ์เยอะจริง ๆ

 

  • บริษัทต้องการรักษาอำนาจในการต่อรองเงินเดือนกับผู้สมัคร
    การกำหนดเงินเดือนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานใด ๆ นอกจากดูหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครแล้ว บริษัทยังอาจต้องการพิจารณาวุฒิการศึกษา ทักษะ ประสบการณ์ และรายละเอียดอื่น ๆ ของผู้สมัครด้วยถึงค่อยกำหนดจำนวนเงินเดือนที่ชัดเจน เช่น หากผู้สมัครงานมีประสบการณ์ค่อนข้างน้อย บริษัทก็อาจมองว่าสามารถต่อรองเงินเดือนลงได้ ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงการระบุเงินเดือนลงไปในประกาศงานเพื่อรักษาอำนาจในการต่อรองตรงนี้ และใช้คำว่า “พิจารณาตามประสบการณ์” หรือ “พิจารณาตามความสามารถ” แทน

 

  • การกำหนดเงินเดือนต้องผ่านการพูดคุยกับหลายฝ่ายในบริษัท
    แม้คนตัดสินใจรับพนักงานจะเป็น Hiring Manager หรือผู้จัดการสายงานที่ดูแลเรื่องการรับคนในแผนกนั้น ๆ แต่การกำหนดเงินเดือนก็อาจต้องผ่านการหารือและพูดคุยเพื่อสรุปกับทาง HR ที่เป็นคนดูแลโครงสร้างฐานเงินเดือนของพนักงานทั้งหมดในบริษัทก่อน หรือในบางบริษัทที่มีขนาดเล็ก จำนวนพนักงานไม่ได้เยอะมาก ก็อาจต้องนำเรื่องเงินเดือนไปปรึกษาและผ่านความเห็นชอบจากทางผู้บริหารหรือ CEO ด้วย ทำให้ยังไม่สามารถสรุปเงินเดือนเป็นจำนวนตัวเลขที่แน่นอนได้

 

HR ไม่ได้ร้ายทั้งหมด คนทำงานโปรดเข้าใจ

 

  • ป้องกันไม่ให้เกิดการผิดใจกับพนักงานเดิม
    เงินเดือนของพนักงานถือเป็นความลับที่ห้ามบอกกัน เพราะถ้าพนักงานรับรู้เงินเดือนของคนอื่น ๆ ในบริษัทก็อาจเกิดการเปรียบเทียบระหว่างกัน หรือเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมทำงานในตำแหน่งเดียวกันแต่กลับได้เงินเดือนไม่เท่ากัน ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้จะทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็มีส่วนที่แตกต่างกันได้ รายละเอียดงานทั้งหมดอาจไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง ดังนั้นคุณสมบัติและประสบการณ์ของพนักงานแต่ละคนที่บริษัทมองหาก็อาจต่างกันไป ทำให้เงินเดือนต่างกันไปด้วย แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในองค์กร บริษัทจึงเลือกที่จะไม่ระบุเงินเดือนในประกาศงาน ถ้ามีพนักงานปัจจุบันผ่านมาเห็นประกาศรับสมัครคนก็จะเห็นเพียงแค่หน้าที่และคุณสมบัติของตำแหน่งงานนั้น ๆ ไม่เห็นตัวเลขเงินเดือนนั่นเอง

 

  • บริษัทต้องการหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับบริษัทอื่น
    ไม่ใช่แค่ฝั่งคนหางานเท่านั้นที่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะฝั่งบริษัทเองก็แข่งกันหาคนกันแบบดุเดือดไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในสายงานที่ขาดแคลนคนทำงานจนต้องเปิดศึกแย่งตัวผู้สมัคร แต่ละบริษัทก็ต้องงัดอาวุธของตัวเองออกมา เช่น วัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่น หรือสวัสดิการที่น่าสนใจ ซึ่งบางแห่งก็เลือกใช้เรื่องของเงินเดือนมาดึงดูดคนหางาน ดังนั้นหลายบริษัทจึงหลีกเลี่ยงการลดโอกาสตัวเองในสนามแข่งขันนี้ด้วยการไม่ระบุเงินเดือนในประกาศงาน แล้วรอไปเจรจาต่อรองกับผู้สมัครโดยตรงแทน เพราะการระบุเงินเดือนที่แน่ชัดลงไปก็อาจโดนผู้สมัครเอาไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นได้ง่าย หรือเกิดกรณีที่บริษัทอื่นรู้แล้วเสนอเงินเดือนที่สูงกว่าเพื่อดึงตัวแคนดิเดตที่มีความสามารถไปได้

 

  • บริษัทเปิดกว้างเรื่องเงินเดือน ยินดีให้ค่าตอบแทนตามที่เรียกมา
    บางบริษัทอาจให้ความสำคัญกับความสามารถของผู้สมัครมากกว่า โดยต้องการมองหาแคนดิเดตที่มีแพสชันกับงานหรือเชี่ยวชาญในงานด้านนั้นจริง ๆ ส่วนเรื่องเงินเดือนนั้นเป็นเรื่องรอง สามารถพูดคุยกันทีหลังได้ หากผู้สมัครมีทักษะและประสบการณ์ตรงตามคุณสมบัติที่บริษัทตั้งไว้ บริษัทก็ยินดีให้ค่าตอบแทนตามที่ผู้สมัครเรียกมา

 

เทคนิคเรียกเงินเดือน ขอเท่าไหร่ให้ดูสมเหตุสมผล

 

ผู้สมัครควรทำยังไงเมื่อบริษัทไม่ระบุเงินเดือน

การที่บริษัทไม่ระบุเงินเดือนในประกาศงานอาจทำให้ฝ่ายคนหางานรู้สึกหงุดหงิดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีสิทธิ์ได้เงินเดือนตามที่เราต้องการ เพราะยังไงก็ต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์และต่อรองเงินเดือนกันอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่ผู้สมัครควรทำเมื่อพบว่าบริษัทไม่ยอมระบุเงินเดือนคือถามตัวเองว่าอ่านประกาศงานแล้วรู้สึกสนใจงานนั้นจริง ๆ ไหม ถ้าโดนเรียกสัมภาษณ์แล้วยินดีที่จะเสียเงินและเวลาเพื่อไปสัมภาษณ์งานและพูดคุยเรื่องเงินเดือนหรือเปล่า เพราะในขั้นตอนนี้ สำหรับคนหางานบางคนที่ยังทำงานประจำอยู่ก็อาจต้องลางานมาเพื่อสัมภาษณ์ด้วย ซึ่งผลสุดท้ายก็อาจไม่เป็นตามที่คาดหวัง เช่น ฐานเงินเดือนของบริษัทน้อยกว่าที่คิด เจรจาเรื่องเงินเดือนแล้วทางบริษัทไม่สามารถให้ตามที่เรียกไปได้ หากถามตัวเองแล้วรู้สึกว่ายอมรับได้ก็ลองยื่นใบสมัครดู แต่ถ้าคิดว่าไม่อยากเสียเวลาไปเจรจาในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและไม่ได้สนใจงานมากขนาดนั้นก็อาจมองหางานอื่นที่ระบุเงินเดือนชัดเจนแทน

ส่วนคนที่ยื่นใบสมัครไป ระหว่างที่บริษัทพิจารณาใบสมัครก็อาจใช้เวลานี้ในการกำหนดตัวเลขขั้นต่ำของเงินเดือนที่ต้องการเอาไว้ในใจ เช่น เงินเดือนที่จะได้รับอย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่าเลขนี้ หากน้อยกว่านี้จะไม่คุ้มกับการย้ายงาน มองหางานในบริษัทอื่นดีกว่า และเตรียมเหตุผลในการเจรจาต่อรองกับบริษัทไปว่าทำไมเราถึงต้องการเงินเดือนจำนวนเท่านี้ เรามีทักษะและประสบการณ์อะไรบ้างถึงสมควรได้รับค่าตอบแทนตามที่เรียกไป แต่ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนสายงานแต่ไม่รู้ว่าควรเรียกเงินเดือนเท่าไหร่ ก็อาจทำการบ้านเรื่องเงินเดือนที่เหมาะสมจะได้รับโดยการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เว็บบอร์ด โซเชียลมีเดีย คอมมูนิตี้ของอาชีพต่าง ๆ หรือแม้แต่ในประกาศงานอื่น ๆ ในตำแหน่งเดียวกัน ดูว่า Range เงินเดือนของคนที่ทำงานในสายงานเดียวกันหรือตำแหน่งเดียวกันกับที่เราสนใจอยู่ที่เท่าไหร่ เมื่อรู้ตัวเลขคร่าว ๆ แล้วก็ประเมินดูว่าเรามีจุดเด่นอะไรที่สามารถใช้ในการเรียกเงินเดือนเพิ่มได้ไหม เช่น เกียรตินิยม คะแนนสอบวัดระดับทางภาษา หรือ Certificate รับรองความสามารถต่าง ๆ เพื่อกำหนดเป็นตัวเลขขึ้นมาเพื่อต่อรองกับทางบริษัทอีกที

 

5 เทคนิคสัมภาษณ์งานยังไงไม่ให้ถูกต่อเงินเดือน

 

การกำหนดเงินเดือนของพนักงานมีสิ่งที่ต้องใช้พิจารณามากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเงินเดือนของบริษัท คุณสมบัติของแคนดิเดต เช่น ทักษะและประสบการณ์ รวมถึงฐานเงินเดือนเดิมของผู้สมัคร ทำให้บางครั้งบริษัทก็ไม่สามารถระบุออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ หรือต่อให้บริษัทมีตัวเลขเงินเดือนของตำแหน่งงานนั้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้อีก เพราะสุดท้ายแล้วการกำหนดเงินเดือนก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันระหว่างผู้สมัครและบริษัท ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าพร้อมที่จะเจรจาต่อรองกับทางบริษัทไหม ถ้าไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและอาจทำให้ต้องเสียเวลา การเลือกสมัครงานที่ระบุเงินเดือนชัดเจนไปเลยก็อาจเป็นทางเลือกที่ใช่กว่า จะได้ไม่ต้องรอลุ้นทีหลัง

 

ถ้าอยากหางานที่ระบุเงินเดือนชัดเจน JobThai มีฟีเจอร์หางานตามเงินเดือนนะ

สมัครสมาชิก ที่นี่ แล้วเลือกสมัครงานที่ใช่พร้อมเงินเดือนที่ชอบได้เลย

 

วิธีหางานตามเงินเดือน อยากได้เงินเดือนเท่าไหร่ กำหนดได้ตามใจคุณ

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

flexjobs.comverifyrecruitment.commakeuseof.comprakal.com

tags : jobthai, caeer & tips, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, ต่อรองเงินเดือน, คนหางาน, เคล็ดลับสมัครงาน, เคล็ดลับหางาน, เงินเดือน, เรียกเงินเดือน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม