Soft Skills สำคัญที่องค์กรมองหาจากคนทำงาน

18/10/21   |   115.4k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Hard Skill และ Soft Skill ซึ่งความหมายของ Hard Skill คือ ความรู้ ความสามารถ และทักษะเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับสายงานอยู่แล้ว ซึ่งเป็นทักษะที่จะทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในตำแหน่งงานหรืออาชีพนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่แค่มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานโดยตรงมันยังไม่พอ เพราะเราต้องมี “Soft Skills” หรือ ทักษะที่ค่อย ๆ พัฒนาจากการใช้ชีวิต การเข้าสังคม และการทำงาน ซึ่งเป็นทักษะที่เอาไปปรับใช้ได้กับทุกสายงานไปพร้อม ๆ กันด้วย

 

ดังนั้น JobThai จึงพามาดูว่าในปัจจุบันมี Soft Skills อะไรบ้างที่องค์กรมองหาในตัวคนทำงาน

 

1. การบริหารเวลา (Time Management)

ถึงเราจะเคยได้ยินเรื่องการบริหารเวลากันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่าย โดยเฉพาะคนทำงานในยุคนี้ที่นอกจากจะต้องเร่งรีบเพื่อแข่งกับเวลาแล้ว ยังต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันอีกด้วย เราจึงต้องวางแผน ควบคุม กำหนดระยะเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานให้ชัดเจน รวมถึงควบคุมตัวเองให้มีวินัยจนทำตามแผนที่วางไว้ได้ด้วย

 

ลองเริ่มจากลิสต์งานที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราทั้งหมด ดูว่าแต่ละงานมีเดดไลน์เมื่อไหร่ อาจจะเขียนลง Post It แปะไว้ให้เห็นชัด ๆ หรือว่าเขียนลงปฏิทินไว้เลยก็ได้ จากนั้นก็วางแผนเป็นภาพรวมว่างานไหนสำคัญและต้องรีบทำให้เสร็จก่อน แล้วในแต่ละวันที่มาทำงานก็ตั้งเป้าเอาไว้ด้วยว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง และพยายามทำตามให้ได้มากที่สุด

 

2. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

ในยุคนี้เทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดอาชีพใหม่ ๆ และทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไป จนการมีความรู้ในสาขาวิชาเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว คนทำงานอย่างเราจึงต้องมีการเตรียมพร้อมและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งคนที่มี Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโต จะเป็นคนที่มีวิธีคิดแบบ Life-Long Learning ชอบพัฒนาตัวเองตลอดเวลา มีแรงผลักดันและจูงใจให้ตัวเองประสบความสำเร็จ มีชุดความคิดที่ทำให้ก้าวหน้าพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เต็มใจที่จะเรียนรู้ ปรับปรุงทักษะที่ตัวเองขาด เอาความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน และหาแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงาน เช่น เป็น HR แผนกสรรหาว่าจ้าง แต่พอเกิดโควิด-19 ระบาด คนไม่สามารถออกจากบ้านได้ ก็ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี หรือ Social Media ต่าง ๆ เพื่อปรับใช้ในกระบวนการคัดเลือกพนักงาน

 

นอกจากนั้นเราต้องสามารถอ่านจับใจความสำคัญ สรุปประเด็น และเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งวิเคราะห์ความเหมือนและความแตกต่างจากสิ่งที่เรียนรู้มาได้ด้วย ซึ่งทักษะนี้จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้

 

5 ขั้นตอนปรับ Mindset สำหรับคนทำงานที่อยากพัฒนาตัวเอง

 

3. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทหรือ Freelance เราก็ต้องติดต่อสื่อสารหรือประสานงานกับคนอื่น ๆ ทั้งนั้น Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์จึงสำคัญและส่งผลอย่างมากต่อการทำงาน เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ คือคนที่มีความสามารถในการสังเกต ทำความเข้าใจ จัดการ และแสดงออกทางอารมณ์ของตัวเองได้อย่างดี รวมถึงสังเกตและทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

 

รวมไปถึงการบริหารจัดการกับความเครียด ที่จะส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาได้อย่างมีคุณภาพด้วย เช่น เมื่อมีปัญหาในการทำงานและรู้สึกไม่พอใจ เราก็จะไม่รีบไม่เหวี่ยงวีน แต่จะพยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น วิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา มากกว่าจะระเบิดอารมณ์ออกไปจนกลายเป็นเพิ่มปัญหากับเพื่อนร่วมงานเข้าไปอีก

 

ถึงตัวจะโตแต่วุฒิภาวะของคุณโตแล้วหรือยัง?

 

4. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)

เราอาศัยอยู่บนโลกที่มีความแตกต่างทั้งชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และยังเป็นยุคที่ความรู้ ข่าวสารแทบไม่เคยหยุดนิ่ง มีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงให้เราต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา เราจึงต้องมีทักษะในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นทางความคิด เพื่อที่จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และพลิกแพลงหาวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้

 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ คือเวลาที่เราได้รับมอบหมายให้ทำโปรเจกต์ใหม่ที่เราไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นมาก่อน บางคนอาจเลือกที่จะไม่รับงานนี้ แต่ถ้าเรามีทักษะเรื่องการการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นทางความคิด เราจะลองศึกษาหาความรู้ดูก่อน แล้วเอาความรู้ที่เรามีมาปรับใช้กับความรู้ใหม่ ๆ ที่เราศึกษาเพื่อนำมาสร้างสรรค์งานร่วมกัน หรือถ้าเป็นการทำงานเป็นทีมที่แต่ละคนมีแนวความคิด หรือวิธีทำงานที่แตกต่างกันไป เราจะไม่ยึดติดว่าความคิดหรือวิธีของเราดีที่สุด แต่เราจะศึกษาหาข้อดี ข้อเสีย จุดแข็ง และจุดอ่อนของแต่ละความคิด แต่ละวิธีการนำมาปรับใช้ด้วยกันได้นั่นเอง

 

5. การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)

ทุกวันนี้เราต้องทำงานร่วมกับคนที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของสายงาน ช่วงวัย หรือรูปแบบการทำงาน องค์กรต่าง ๆ จึงต้องการคนทำงานที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในทีมตัวเองหรือการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ รวมไปถึงทักษะในการบริหารคนที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคนทำงานระดับหัวหน้าอีกต่อไป แต่จำเป็นสำหรับคนทำงานในทุกระดับ

 

ลองคิดถึงเวลาที่เรามีโปรเจกต์หนึ่งอยู่ในมือ และต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ เราก็จะต้องรู้ว่าคนไหนเหมาะที่จะให้เราปรึกษาเรื่องอะไร หรือใครคือคนที่จะช่วยเราได้ แล้วเราจะใช้วิธีไหนในการทำงานกับเขา รวมไปถึงรู้ว่าเวลาไหนที่เราควรจะนำ หรือเวลาไหนที่เราควรจะถอยเมื่อต้องทำงานเป็นทีมด้วย

 

4 วิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

 

6. การสื่อสาร (Communication)

ไม่ว่าจะทำงานอะไร ล้วนต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน ทั้งกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า ซึ่งการสื่อสารที่ถูกต้อง ตรงประเด็น และมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดความร่วมมือในการทำงาน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเราต้องรู้ว่าเรื่องที่ต้องการจะสื่อสารออกไปนั้นใจความสำคัญคืออะไร ใครเป็นผู้รับสาร ควรใช้วิธีและภาษาแบบไหนในการสื่อสาร เช่น ถ้าเราเป็น HR ที่จะต้องประกาศให้พนักงานใส่เสื้อบริษัทในวันครบรอบบริษัท เราก็อาจจะส่งเป็นอีเมลถึงพนักงานทุกคน โดยใช้ภาษาที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังขอความร่วมมือ ไม่ใช่ถูกสั่งให้ทำ

 

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงทักษะการประสานงานและการเจรจาต่อรองด้วย ว่าจะใช้การเจรจาอย่างไรเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีทางออกแบบ Win-Win Situation หรือสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

 

ขั้นตอนการเจรจาต่อรองที่ต้องรู้ เพื่อเข้าสู่สนามจริงอย่างมั่นใจ

 

7. การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

นอกจากการเป็นผู้สื่อสารที่ดีแล้ว คุณยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังคนอื่น ๆ อย่างตั้งใจด้วย เพราะองค์กรไม่ได้ต้องการแค่คนที่จะมาสื่อสารความคิดให้พวกเขาเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันที่การทำงานมีแต่การประชุมออนไลน์ มีการเจอหน้ากันน้อยมาก การรับฟังกันมากขึ้นจึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก โดยการรับฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) มันไม่ใช่แค่การตั้งใจฟังเฉย ๆ แต่เป็นต้องสามารถรับฟังผู้อื่นอย่างเข้าใจ (Empathic Listening) ได้ด้วย รวมทั้งแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมกับบทสนทนานั้นด้วยการโต้ตอบเล็กน้อย เช่น ตอบรับว่าโอเค ฉันเข้าใจ หรือการพยักหน้า

 

ซึ่งการฟังก็เป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากในงานหลาย ๆ อย่าง เพราะมันคือความสามารถในการรับสารและตีความหมายของสารออกมาได้ รวมถึงถ้าเรามีทักษะการฟังที่ดี เราก็จะสามารถรับสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ได้มาก และได้รับไอเดียใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

 

8. การแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex Problem Solving)

ยุคนี้แค่ทักษะการแก้ไขปัญหาธรรมดาไม่พอแล้ว แต่ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน เพราะองค์กรต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกับหลายธุรกิจ มีการทำงานที่ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น การแก้ปัญหาหนึ่งจุดอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ การทำงานจึงต้องคิดอย่างรอบ อย่างเช่นกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ที่เมื่อก่อนจะเป็นการใช้แรงงานคน แต่ตอนนี้ก็เริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้อัลกอริทึ่มต่าง ๆ มาควบคุมการทำงานของเครื่องจักร ผสมผสานกับระบบเครือข่าย หรือระบบ Cyber ต่าง ๆ มากขึ้น องค์กรจึงต้องอาศัยคนที่มองเห็นและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านั้นได้

 

โดยทักษะนี้ต้องอาศัยหลายทักษะย่อย ๆ เริ่มจากเมื่อเรารู้แล้วว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ต้องเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ เพื่อระบุปัญหาและความต้องการว่าอยากจะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบไหน แล้วหาวิธีที่จะแก้ปัญหา ซึ่งอาจต้องแยกปัญหาออกเป็นปัญหาย่อย ๆ ก่อน แล้วแก้ไปทีละจุด โดยประเมินว่าวิธีที่คิดนี้ได้ผลลัพธ์ออกมาประมาณไหน จากนั้นก็ต้องติดตามผลการแก้ไขปัญหาด้วย

9. การคิดเชิงวิเคราะห์และเลือกตัดสินใจ (Critical Thinking and Decision-making)

โลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล หรือ Big Data แบบทุกวันนี้ ทักษะการคิดวิเคราะห์จะช่วยให้เราย่อยข้อมูลจำนวนมากได้ ด้วยการเอามาวิเคราะห์ ตีความ จนทำให้สามารถรู้ลึกเบื้องหลังของข้อมูลที่ได้มา แล้วตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำกว่าเดิม

 

ถึงแม้ AI จะเริ่มถูกนำมาใช้ในการทำงานมากขึ้นในหลายส่วน รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Big Data ที่ทำได้แม่นยำและเร็วกว่ามนุษย์ แต่ AI ก็ยังทำได้แค่วิเคราะห์ข้อเท็จจริงและความน่าจะเป็น ซึ่งทั้งหมดที่ AI ทำได้ก็เกิดจากการป้อนข้อมูลของมนุษย์ และยังไม่มีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์มากเท่ามนุษย์อยู่ดี นอกจากนั้นในโลกที่สิ่งต่าง ๆ รวมถึงผู้คนเต็มไปด้วยความซับซ้อน และปัญหามีหลายแง่มุม แค่ข้อเท็จจริงและความน่าจะเป็นมันไม่พอ ยังต้องอาศัยความเข้าใจบริบทของปัญหา และความเหมาะสมของวิธีการต่าง ๆ ในแต่ละสถานการณ์ เพื่อให้ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาได้อย่างดีด้วย ซึ่งเรื่องพวกนี้ AI ยังสู้มนุษย์อย่างเราไม่ได้

 

10. ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ความคิดสร้างสรรค์ถือว่าเป็นทักษะที่มีคุณค่ามากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะไม่มีหลักสูตรตายตัวในการเรียนการสอน ซึ่งการที่เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น เราต้องช่างสังเกต อยากรู้อยากเห็น และเปิดใจกว้าง รวมถึงเสพข้อมูลต่าง ๆ อย่างหลากหลาย มีไหวพริบที่จะแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วย

 

ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ที่พูดถึงนี้ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์งานศิลปะเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าด้วย บริษัทต่าง ๆ จึงต้องการคนที่มีทักษะนี้มาร่วมงาน เพราะพวกเขาจะสามารถหยิบเทคโนโลยี หรือความรู้ใหม่ ๆ มาพลิกแพลง ต่อยอด และสร้างสรรค์ไอเดียดี ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทนั้นแปลกใหม่ โดดเด่น และน่าสนใจได้

 

คิดงานจนหัวตัน หาไอเดียใหม่ ๆ จากไหนดี

 

11. ความเป็นผู้นำ (Leadership)

การมีทักษะความเป็นผู้นำที่ดีได้นั้นต้องมีความรับผิดชอบ มีความยุติธรรม เปิดใจรับฟังความคิดเห็นคนอื่น อีกทั้งต้องมีความสามารถในการสอนงาน ติดตาม ให้กำลังใจ และผลักดันคนอื่น ๆ รวมถึงต้องเป็นต้นแบบหรือเป็นตัวหลักในการคิดริเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ซึ่งการเป็นผู้นำอาจไม่จำเป็นต้องมาพร้อมตำแหน่งเท่านั้น แต่เป็นความคิดและทัศนคติที่จะสามารถพาทีมไปสู่เป้าหมายได้  

 

ซึ่งการสร้างทักษะการเป็นผู้นำนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เราอาจจะเริ่มจากการสร้างเป้าหมายให้ใหญ่ ทำตัวเองให้พึ่งพาได้เพื่อที่คนอื่นจะได้ไว้วางใจ และเมื่อเขาไว้ใจเราแล้วก็จะสามารถโน้มน้าวให้พวกเขาเกิดความร่วมมือเพื่อไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้ พยายามหาและดึงศักยภาพของแต่ละคนในทีมออกมาให้ได้ ทุกอย่างที่ทำต้องมีสติ พร้อมรับมือกับความกดดันหรือปัญหาต่าง ๆ รวมถึงกล้าที่จะตัดสินใจและลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องด้วย

 

12. รับมือกับสภาวะกดดัน (Perform Under Pressure)

การแข่งขันของตลาดทำให้หลายองค์กรมีความกดดันในการผลิตสินค้าหรือบริการ ทั้งในแง่ของสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่และการผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้ทันเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้องค์กรต้องสูญเสียโอกาสให้กับคู่แข่ง การรับมือและทำงานภายใต้ความกดดันจึงเป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลักที่หลายองค์กรมองหาจากคนทำงาน พวกเขาจะคาดหวังให้เราทำงานสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและไม่ผิดพลาด รวมถึงต้องทำงานในระยะเวลาจำกัดด้วย ดังนั้นเราควรต้องฝึกวางแผนการทำงานในระยะเวลาหรือสถานการณ์ที่จำกัด รวมทั้งเอาเครื่องมืออื่น ๆ มาช่วยลดเวลาทำงาน และฝึกจิตใจให้มีสติเสมอเวลาต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง

 

นอกจาก Soft Skills ที่บอกไปแล้ว อีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยก็คือจรรยาบรรณในการทำงาน ซึ่งในโลกของการทำงานสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า Hard Skills ถ้าคนทำงานอย่างเราสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเองได้ ก็จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group
Public group · 200,000 members
Join Group
 

 

tags : career & tips, การทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, soft skills, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, ทักษะในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม