Crunch Culture วัฒนธรรมชวนปวดหัวของคนทำงาน

Crunch Culture วัฒนธรรมชวนปวดหัวของคนทำงาน
24/01/24   |   2.5k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ทุกวันนี้คนทำงานต้องเจอกับสารพัดปัญหาที่เข้ามากระทบชีวิตการทำงานของเรา ตั้งแต่หางานยาก ไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์งาน หรือสัมภาษณ์งานไม่ผ่านสักที จนเมื่อได้งานแล้วก็ยังต้องลุ้นว่าที่ทำงานจะ Toxic ไหม สภาพแวดล้อมการทำงานจะเป็นยังไง หากทำงานไม่มีความสุข ก็ต้องหางานใหม่วนไป วันนี้ JobThai เลยอยากจะชวนคนทำงานมาพูดคุยในประเด็นที่ไม่ว่าจะทำงานสายไหนก็อาจจะเคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันมาบ้าง ซึ่งก็คือ Crunch Culture วัฒนธรรมการทำงานสุดเร่งรีบ ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน เจอที่ทำงานที่มีวัฒนธรรมแบบนี้เข้าไปก็คงปวดหัวไปตาม ๆ กัน  

 

Crunch Culture คืออะไร

คำว่า “Crunch” หมายความว่าสภาวะหรือสถานการณ์วิกฤติ ส่วนคำว่า Culture ในบริบทที่เราจะพูดถึงก็คือวัฒนธรรมในการทำงาน เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกันก็จะหมายถึง วัฒนธรรมการทำงานที่เร่งรีบภายใต้สถานการณ์วิกฤติ บางครั้งก็มีการพูดถึงการทำงานในลักษณะนี้ว่า Crunch Time ที่แปลว่าช่วงเวลาเร่งรีบที่จะต้องทำงานให้เสร็จ เมื่อบริษัทไหนที่ต้องทำงานกันแบบรีบ ๆ บ่อย ๆ ก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปโดยปริยาย

 

Crunch Culture เริ่มเป็นคำฮิตจนเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างจากอุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบริษัทเกมที่ต้องเข็นเกมออกวางขายให้ทันกำหนดที่เคยประกาศไว้ บรรทัดฐานที่หลายบริษัททำกัน ได้แก่ การให้ทำงานเพิ่มจาก 40 ชั่วโมงเป็น 50-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (บางครั้ง 100 ชั่วโมงก็มี การมีชั่วโมงการทำงานมากขึ้นหมายความว่าพนักงานเจียดเวลาพักผ่อนมาทำงานมากขึ้นซึ่งอาจรวมถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย) สาเหตุของ Crunch Culture นั้นก็มาจากหลายปัจจัย เช่น บริษัทมักมี Project ด่วนที่ต้องรีบทำให้เสร็จอยู่บ่อย ๆ  การประเมินศักยภาพในการทำงานของพนักงานไว้สูงเกินไป รวมถึงมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขเพิ่มเติมงานเดิมส่งผลให้งานกินเวลามากกว่าที่เคยวางแผนไว้ บริษัทจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะขอความร่วมมือหรือบังคับให้พนักงานปั่นงานให้ทันเส้นตายและเป็นไปตามมาตราฐานที่ลูกค้าคาดหวัง คนที่ตกที่นั่งลำบากจึงกลายเป็นคนในองค์กรมากกว่าที่จะยอมเลื่อนกำหนดส่งออกไปแล้วทำให้บริษัทเสียความเชื่อมั่นจากบุคคลภายนอก

 

อาชีพอะไรต้องเจอกับ Crunch Culture แบบไหนบ้าง

  • อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์
    อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ว่าจะเป็น Application เพื่อการใช้งานต่าง ๆ  หรือ เกมที่เราเล่นเพื่อความบันเทิง เบื้องหลังคนทำงานสายนี้มักต้องเจอกับตารางงานที่เร่งรีบอยู่เสมอ ต้องแก้ไข Bug จนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนซอฟต์แวร์จะวางตลาด เมื่อออนไลน์ไปแล้ว หรือมีการบริการแบบ Live-Service ก็ต้องมีทีมที่คอยดูแลระบบ อัปเดตเนื้อหาข้อมูลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เรื่อย ๆ ด้วย
     
  • อาชีพสายครีเอทีฟ 
    คนทำงานสายครีเอทีฟต้องผลิตสื่อผ่านกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน กว่าจะออกมาเป็นผลงานสักชิ้นต้องอาศัยคนทำงานจากหลายแผนก คนในสายอาชีพนี้จึงมีโอกาสที่จะเจอกับ Crunch Culture ได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่น ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนักเขียนบท นักวาดการ์ตูน Graphic Designer ช่างภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว นักตัดต่อ คนคิดงานครีเอทีฟโฆษณา ตลอดจนทีมงาน Post-Production อย่างคนทำฉาก CGI (Computer-Generated Imagery) และ Visual Effects ต่าง ๆ ในวงการภาพยนตร์และAnimation ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเจอกับตารางงานที่ไม่แน่ไม่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
     
  • อาชีพด้านสาธารณสุข 
    แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้าข่าย Crunch Culture เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องให้บริการผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่พวกเขาต้องเจอนั้นยิ่งกว่าความกดดันในการส่งงานให้ทันตามเวลาแบบพนักงานออฟฟิศทั่วไป นอกจากจะต้องเข้าเวรรอบละหลายชั่วโมงแล้วยังต้องรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของผู้คนอีกด้วย
     
  • อาชีพเกี่ยวกับงานก่อสร้าง 
    สถาปนิก วิศวกรที่คุมงาน และแรงงานฝีมือต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดเพราะอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความซับซ้อนในการทำงานและมีตารางการทำงานที่เร่งรีบ แถมยังมีขั้นตอนการตรวจรับ-ส่งมอบโครงการที่หากล่าช้าก็จะเกิดความเสียหายทั้งเรื่องการเงินและความน่าเชื่อถือ ยิ่งการก่อสร้างขนาดใหญ่มีหลายจุดที่ต้องคอยกังวล หากเกิดปัญหาแม้เพียงเล็กน้อยแต่เกี่ยวพันถึงเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อความปลอดภัยและความพึงพอใจของลูกค้า ก็ต้องรีบแก้ไขปัญหาและมักจะทำให้ต้องทำงานเลยเวลาอยู่บ่อยครั้ง
     
  • อาชีพผู้ให้บริการโรงแรมและร้านอาหาร
    ในช่วง High Season ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก หรือวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ สายอาชีพที่ต้องให้บริการลูกค้าไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรม หรือ พ่อครัว แม่ครัว และบริกร ต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม ยังดีที่ระบบการทำงานเป็นกะ หรือการสลับวันทำงานแลกเวรกันกับเพื่อนร่วมงานสามารถทำได้ และพนักงานมักจะได้ค่าตอบแทนในอัตราที่มากกว่าเดิมหลายเท่า เพราะในช่วงเวลานั้นสถานประกอบกันจะทำกำไรได้มากเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน
     
  • สาขาอาชีพสื่อสารมวลชน
    ข่าวเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สื่อหรืออาชีพนักข่าวก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเจอกับการทำงานแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวภาคสนามที่ต้องลงพื้นที่หาข่าว ทีมงานตากล้อง ผู้ประกาศข่าว หรือคนเขียน Script ข่าวเพื่อรายงานสดในช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงานเหมือนพนักงานธรรมดา ยิ่งถ้ามีข่าวเด่นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของประชาชนก็อาจจะต้องทำงานล่วงเวลามากขึ้นไปอีก เพราะต้องแข่งขันกับสำนักข่าวอื่น ๆ รีบทำสกู๊ปพิเศษเพื่อนำเสนอต่อผู้ชมเป็นรายแรก
     
  • สาขาอาชีพอื่น ๆ
    พนักงานสายงานการผลิตที่ต้องเปิดเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง พนักงานขายที่ต้องรีบปิดยอดลูกค้า พนักงานบัญชีที่ต้องสรุปงบประมาณ เจ้าหน้าที่จัดงาน Event ที่ต้องเตรียมงานใหญ่ ทุก ๆ บริษัทจะต้องมีบางแผนกหรือบางตำแหน่งที่ต้องทำงานใหญ่ หรืองานด่วนเพื่อให้ทันตามกำหนดการ ยิ่งบริษัทขนาดเล็กหรือมีจำนวนคนไม่มาก พนักงานหนึ่งคนอาจต้องรับผิดชอบหลายหน้าที่ จากที่เครียดกับงานปกติอยู่แล้ว ยิ่งต้องพยายามอีกเท่าตัวเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้
     

แม้แรกเริ่มเดิมทีจะ Crunch Culture จะมีที่มาจากวงการซอฟต์แวร์ แต่ถ้ามองลึก ๆ แล้วจะเห็นว่าธุรกิจหลายประเภทก็มีงานที่ต้องทำงานด่วนอยู่บ่อย ๆ คนที่ทำงานในบางแผนกก็มีโอกาสเจอกับวัฒนธรรมการทำงานหนักแบบนี้ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการของผู้บริหาร และแน่นอนว่าผลกระทบนั้นย่อมตกอยู่กับคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ พนักงานสัญญาจ้าง หรือคนทำงานฟรีแลนซ์ก็มีสิทธิ์ติดอยู่ในวังวนนี้ไม่ต่างกัน อยู่ที่ว่าบริษัทจะมีวิธีไหนในการจูงใจให้คนยอมทำงานหนัก เช่น บางที่อาจจะเพิ่มสวัสดิการโบนัสหรือวันหยุดหลังจบงานให้ หรือบางที่อาจจะไม่มีอะไรตอบแทนเลยก็เป็นได้

 

ผลกระทบของ Crunch Culture ต่อคนทำงาน

การทำงานกับบริษัทที่มี Crunch Time ยังพอทนเพราะอาจมี Project ด่วนเข้ามาบ้างนาน ๆ ครั้ง แต่ถ้าบริษัทนั้นมีวัฒนธรรมการทำงานแบบ Crunch Culture แล้วละก็ คุณจะต้องเตรียมรับมือกับอะไรที่มากกว่าการปวดหัวแน่นอน โดยปกติแล้วการทำงานแบบที่ต้องอดหลับอดนอนทำงานข้ามวันข้ามคืนเพื่อให้งานเสร็จทันเส้นตายทำให้เราเสียสุขภาพก็จริง แต่เมื่อได้พักหลังจากจบงานร่างกายก็จะฟื้นฟูกลับมาได้ภายในเวลาไม่นาน แต่การทำงานแบบนี้ในระยะยาวย่อมส่งผลกระทบต่อคนทำงานทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการโฟกัสกับการทำงานมากเกินไปจนทำให้ไม่มีเวลาใส่ใจกับอาหารการกิน ต้องรีบกินรีบทำงานต่อ หรืออาจนำไปสู่นิสัยการกินที่ไม่ตรงเวลา จนโรคกระเพาะถามหา ส่วนการอดนอนบ่อย ๆ จะทำให้เราอ่อนเพลีย ในขณะเดียวกันจิตใจที่จดจ่อแต่เรื่องงานและการเปลี่ยนเวลานอนก็อาจทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ได้เช่นกัน รวมถึงผลกระทบทางสุขภาพจิตจากความเครียดที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา นี่ยังไม่นับเรื่องการเสียสละเวลาส่วนตัว บางคนถึงขั้นกระทบความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเพราะมัวทุ่มเทให้กับงานเพียงอย่างเดียว ถ้าเราต้องทำอะไรแบบนี้ซ้ำกันทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือเป็นปี ๆ ร่างกายและจิตใจของเราจะเป็นยังไง ทุกคนคงพอนึกออก 

 

4 ช่วงเวลาชีวิตสู้กลับที่คนสู้ชีวิตอาจต้องเจอ

 

รู้ทั้งรู้ว่า Crunch Culture ไม่ดี แต่ทำไมคนยังยอมอยู่ในองค์กรที่ทำงานแบบนี้

อย่างไรก็ตามแม้ข้อเสียของ Crunch Culture จะมีนับไม่ถ้วน แต่หลายคนก็ยังยอมทนทำงานภายใต้วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ สาเหตุของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป เช่น บางคนตอนสมัครเข้ามาทำงานตอนแรกไม่รู้ว่างานหนักขนาดนี้ จะเปลี่ยนงานก็อาจจะติดภาระทางการเงิน ต้องการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือปัจจัยอื่น ๆ ในที่ทำงานก็ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด Crunch Culture จึงอาจเป็นเพียงข้อเสียเดียวของบริษัทและยังไม่ใช่ Red Flag สำหรับพวกเขา ในทางตรงกันข้ามหลายคนที่สมัครใจทำงานด่วนเพราะมองว่าCrunch Culture เป็นหนทางไปสู่ความก้าวหน้า โดยเฉพาะในบริษัทที่มีค่านิยมว่าการทำงานหนักคือวิธีที่ทำให้ก้าวหน้าได้ไว เพราะแสดงถึงความขยันและทำในสิ่งที่ท้าทายได้สำเร็จอยู่เสมอ ๆ การทำงานที่ดูเป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นความจริงอาจทำให้พวกเขาได้รับการยอมรับจากผู้บริหารและได้รับความไว้วางใจใน Project ที่ใหญ่กว่าเดิม รวมถึงการได้เลื่อนตำแหน่งในอนาคต

 

6 วิธีที่จะช่วยให้คนทำงานมีความสุขมากขึ้น

 

ตัวอย่างปัญหา Crunch Culture ในวงการเกมและสื่อบันเทิง

อุตสาหกรรมเกม:

จะเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานหนักของสาย Tech ได้ เราอาจจะต้องรู้จักธรรมชาติของอุตสาหกรรมนี้กันอีกสักนิด เราขอยกตัวอย่างของวงการเกมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน การที่บริษัทหนึ่งจะผลิตเกมหนึ่งเกมออกมาได้ แน่นอนว่านอกจะมี Passion และมีไอเดียที่ดีจากทีมสร้างแล้ว บริษัทยังต้องคำนึงถึงคนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท นักลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เมื่อทีมงานในการพัฒนามี Conceptที่เป็นรูปเป็นร่าง พวกเขาก็จะทดลองสร้าง Demo (ตัวอย่างเกมที่สามารถเล่นได้จริง) ของเกมขึ้นมาแล้วประกาศเปิดตัวต่อสาธารณชน ถ้าผลลัพธ์ออกมาน่าประทับใจก็จะได้รับความคาดหวังจากลูกค้าและนักลงทุนหน้าใหม่ที่เห็นศักยภาพของการพัฒนา Project นี้ และเฝ้ารอคอยการวางจำหน่ายจริง แต่ระหว่างทางก็ต้องมีการปรับปรุงอย่าง ผ่านขั้นตอนการทดสอบจาก Game Tester (คนทดสอบเกมเพื่อหาข้อผิดพลาด) และ Feedback จากผู้เล่นทั่วไปที่เข้ามาทดลองเล่น ขัดเกลาจนมาเป็นเกมที่ดีที่สุดก่อนขาย

 

การเป็นพนักงานของบริษัทเกมจึงถูกคาดหวังให้ต้องรับแรงกดดันแบบนี้ให้ได้ ยิ่งบริษัทใหญ่และเกมก่อนหน้าที่เคยทำมาดังเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็ยิ่งคาดหวังมากเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทเกมชื่อดังหลายค่ายมักตกเป็นเป้าของการรายงานข่าวเรื่อง Crunch Culture อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกมใกล้ออก ตัวอย่างมีให้เห็นทั้ง Rockstar Games ผู้พัฒนาเกม GTA บริษัท Naughty Dog เจ้าของผลงานเกม The Last of US และ CD Projekt Red ที่สร้างชื่อจากเกม The Witcher โดยเฉพาะรายหลังนั้นมีรายงานว่าบริษัทเข้าตาจนต้องออกประกาศขอให้ทีมงานที่ทำเกมล่าสุดอย่าง Cyberpunk 2077 ทำงาน 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงสุดท้ายของ Project เพื่อให้เกมทันวางขายหลังจากเลื่อนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็เคยออกโรงสนับสนุนการป้องกันไม่ให้เกิด Crunch Culture ขึ้นภายในองค์กร 

 

เล่นเกมแนวไหนเสริมทักษะอะไรให้คนทำงานได้บ้าง

 

อุตสาหกรรม Animation

ขณะเดียวกันวงการผลิตสื่อบันเทิงก็มีการพูดถึงการทำงานหนักจนเกินไปทั้งในอเมริกาและญี่ปุ่น เราขอหยิบยกตัวอย่างจาก Animation ฝั่งอเมริกาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปี 2023 อย่าง Spider-man: Across the Spider-Verse ที่นอกจากเนื้อเรื่องจะสนุกแล้ว ทุกคนต่างยอมรับว่างานภาพนั้นสุดจัดด้วยรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละฉาก และมีงานศิลป์โดดเด่นและแตกต่างกันไปตามแต่ละตัวละคร งานระดับนี้ต้องอาศัยทีมงานศิลปินหลายร้อยคน แม้จะได้รับคำวิจารณ์ที่ดีและสร้างรายได้ให้ค่ายหนังของ Sony เป็นกอบเป็นกำขนาดไหน แต่เบื้องหลังผลิตนั้นพนักงานต้องเจอกับเรื่องชวนปวดหัวไม่น้อย

 

มีข่าวรายงานว่าทีมงานกว่า 100 ขอลาออกหลังจบ Project นี้ แหล่งข่าวที่เคยทำงานเล่าว่าพวกเขาถูกจ้างตั้งแต่ปี 2021 แต่กว่าจะได้ทำงานจริงก็ต้องรอคิวนานถึง 3-6 เดือนเพราะติดปัญหาในบางขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งทำให้งานต้องมาเร่งในช่วงท้าย ส่งผลให้ Animators (นักวาดภาพเพื่อทำเป็นภาพเคลื่อนไหว) บางคนต้องทำงานกัน 11 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ กินเวลามากกว่า 1 ปี กว่างานจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมฉายก็ต้องแก้งานกันถึง 5 ครั้ง และงานของศิลปินบางคนก็ถูกตัดทิ้งในเวอร์ชั่นสุดท้าย นอกจากนั้นหนังที่มีความยาว 140 นาทีเรื่องนี้ ทุกฉากต้องผ่านการอนุมัติจากโปรดิวเซอร์โดยตรงทุกครั้ง การรักในความสมบูรณ์แบบอาจเป็นเรื่องที่ดีในการผลิตผลงานครีเอทีฟ แต่การเปลี่ยนแปลงบทแม้เพียงเล็กน้อยกลับส่งผลต่อการทำงานของทีมงานอย่างมหาศาล เพราะทุกครั้งที่มีการปรับบท เนื้อเรื่องเปลี่ยน Storyboard และการทำภาพเคลื่อนไหวก็ต้องเปลี่ยนตามทั้งหมด และสุดท้ายทีมงานในแผนกอื่น ๆ เช่น ทีมปั้นโมเดล ลงสี จัดแสง ใส่ Efffect ประกอบก็ต้องทำงานกันใหม่ตั้งแต่ต้น การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงานบ่อย ๆ จึงเป็นสาเหตุของ Crunch Culture ในเคสนี้นั่นเอง

 

5 Project Management Tools น่าสนใจสำหรับการบริหารงานในแต่ละวัน

 

ข้ามฟากมาที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นเบอร์หนึ่งด้าน Anime ก็เจอปัญหาที่คล้ายกัน ความจริงแล้ว Crunch Culture ในวงการ Anime ถือเป็นเรื่องที่เป็นปัญหากันมายาวนาน แม้จะมีความพยายามแต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ โดยผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่มักจะเป็น Animators โดยเฉพาะคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ที่นอกจากจะได้รับค่าตอบแทนน้อยแล้ว ยังถูกมอบหมายงานที่ยากเกินความสามารถเนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรและการไม่มีแผนการอบรมคนทำงานใหม่ที่ดี Anime ญี่ปุ่นได้รับการยกย่องเรื่องงานภาพที่มีคุณภาพสูงมากมาแต่ไหนแต่ไร กว่าจะได้ภาพเคลื่อนไหวแต่ละฉาก Animator ต้องทำงานกันหนักมากอยู่แล้ว การอยู่ในบริษัทที่มี Crunch Culture จึงเป็นเคราะห์ร้ายที่ซ้ำเติมชีวิตคนทำงานในสายงานนี้ แทนที่พวกเขาจะมีความสุขกับการได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักกลับต้องเจอประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดีและการเอาเปรียบจากนายจ้างอีกต่อหนึ่ง

 

ล่าสุด ก็มีประเด็นเกิดขึ้นกับ Studio Mappa ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิต Anime สุตฮิตอย่าง Attack On Titan: The Final Season, Chainsaw Man และ Jujutsu Kaisen หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อมหาเวทย์ผนึกมาร โดยมีรายงานว่าทาง Studio ขาดการวางแผนงานที่ดี ด้วยตารางการออกฉายที่เร่งด่วนเกินไปและการบริหารเวลาที่ไม่เหมาะสมทำให้บริษัทต้องสั่งให้ทีมงานทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้ทันฉายตามการรอคอยของแฟน ๆ แต่ผลงานก็ออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควรจนถูกวิจารณ์จากผู้ชม ปัญหายังไม่หมดเพียงเท่านี้ นอกจาก Animator จะต้องทำงานล่วงเวลาแล้ว ยังถูกกดค่าแรง (อยู่ในเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำแต่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับผลงานที่ผลิตได้) แถมยังมีสภาพแวดล้อมการทำงานสุด Toxic เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย Animators หลายคนที่ทนไม่ไหว ถึงกับต้องโพสต์บอกให้ชาวโลกรู้ว่าคนทำงานแบบพวกเขาต้องทนอยู่กับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ขนาดไหน โชคยังดีที่คนทำงานเหล่านี้รู้จักใช้ Social Media เพื่อลุกขึ้นสู้กับความไม่ยุติธรรมในการทำงาน อย่างไรก็ตาม Animators ในบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับ Project Anime เรื่องดัง ๆ แบบนี้ ก็คงไม่กล้าคิดจะเรียกร้องสิทธิในการทำงานที่ดีของตัวเอง และอาจตกเป็นเหยื่อของบริษัทที่เอาเปรียบโดยไม่มีสิทธิ์ได้ลืมตาอ้าปากเลย

 

10 สัญญาณที่บ่งบอกว่าที่ทำงานของเราเป็นพิษ (Toxic Workplace)

 

รับมือ Crunch Culture อย่างไรดี

Crunch Culture คือวัฒนธรรมขององค์กรที่มีวิธีการทำงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของพนักงาน ทำให้คนทำงานต้องเจอกับสภาวะกดดันด้วยเงื่อนไขในการทำงานที่เร่งรีบ เนื่องมาจากนโยบายหรือวิธีการบริหารจัดการขององค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เราคงเห็นแล้วว่าปัญหาCrunch Culture เกิดขึ้นมาได้ยังไง และทำไมจึงกลายเป็นประเด็นในสังคมของคนทำงานทั่วโลก ผู้ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลยก็คือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ แต่ปัจจุบันหลายบริษัทหันมาออกนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน เรื่องWork-Life Balance ตลอดจนการปรับปรุงสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การมีช่องทางพิเศษเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ หรือบริการจัดการความเครียดให้กับพนักงานทุกคนที่ต้องทุ่มเทกายและใจในช่วงเวลาที่ต้องทำงานอย่างหนัก ปัจจัยสำคัญที่สุดในการหลุดจากวงจรนี้จึงควรเป็นการบริหารกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับศักยภาพของทีมงานและสอดคล้องกับตารางเวลาที่ต้องทำงานให้สำเร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบเร่งรีบและต้องมาโหมงานหนักกันในช่วงโค้งสุดท้าย ในขณะเดียวกันคนทำงานก็ไม่ควรก้มหน้ายอมรับชะตากรรม หลับหูหลับตาทำงานและทำให้วัฒนธรรมการโหมงานหนักกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” 

 

สุดท้ายนี้เราอยากทิ้งทายให้คนทำงานลองขบคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้กันสักหน่อย แน่นอนว่าการทำงานหนักและไม่มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมอย่างค่าล่วงเวลาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากทำ แต่สำหรับองค์กรที่มีแนวโน้มให้เราทำงานหนัก โดยมีค่าตอบแทนให้อย่างสมน้ำสมเนื้อ บางคนอาจจะมองว่าก็ยุติธรรมดี Win-Win กันทั้งองค์กรทั้งพนักงาน แม้จะยังคงหลีกเลี่ยงผลกระทบเรื่องสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในช่วงเวลาเร่งงานแบบนั้นไม่ได้ แต่บางคนอาจเห็นต่างว่าการยอมทำงานแบบนี้จะยิ่งส่งเสริมให้บริษัทมีค่านิยมที่เอาเปรียบคนทำงานมากขึ้นหรือเปล่า

 

ถ้าเป็นตัวคุณเอง จะเลือกทำงานในองค์กรแบบนี้ต่อไปไหม จะลุกขึ้นต่อสู้ หรือจะยอมถอยออกมา หางานใหม่ที่ตอบโจทย์สไตล์การทำงานและให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากกว่า?

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

ที่มา:

ign.com, polygon.com, makeuseof.com, washingtonpost.com, bloomberg.com, gamingbible.com, yahoo.com, vulture.com, screenrant.com, gizmodo.com, pcgamer.com, kotaku.com    

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, crunch culture, วัฒนธรรมการทำงาน, คนทำงาน, career & tips, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, วิธีทำงาน, ทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม