- เช็กตัวเองว่ามีอาการ Brownout มากน้อยแค่ไหน จาก“เช็กลิสต์ 4 อาการ ‘Brownout’ ที่เราอาจจะเป็น”
- องค์กรที่มีพนักงานเข้าออกบ่อย ๆ ควรหันกลับมามองตัวเอง หรือหาเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงมีพนักงานลาออกบ่อยขนาดนี้
- อาการนี้เกินขึ้นโดยมีองค์กรที่เราทำงานเป็นเหตุ โดยมี 4 ปัจจัยที่เราย่อมาให้ เช่น กฎระเบียบที่จุกจิก ผลงานดีหรือไม่ก็ไม่มีผลอะไร, ทำงานแบบเครื่องจักร, จุดประสงค์ขององค์กรไม่ชัดเจน
|
|
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินอาการ "Burnout Syndrome" ที่เพิ่งถูกรับรองโดย WHO ให้เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เมื่อไม่นานมานี้ไปบ้างแล้ว โดยอาการนี้เป็นอาการที่พนักงานหมดไฟในการทำงาน จนเกิดผลกระทบกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต อาจจะเป็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ที่ต้องการการพักผ่อนหรือผ่อนคลาย
ส่วนอาการ “Brownout” คือ อาการที่ยังมีไฟทำงาน แต่หมดใจในองค์กร แม้จะรักงานนี้แค่ไหน แต่กฎเกณฑ์และเงื่อนไขในองค์กร เลยทำให้ต้องลาออกจากองค์กรไปในที่สุด อาการนี้อาจจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นอาการที่สังเกตด้วยตาได้ยาก จากผลสำรวจของ Corporate Balance Concepts บริษัทที่ให้คำปรึกษาในเรื่องของการ Coaching ผู้บริหาร พบว่าพนักงานระดับ Executive จะตัดสินใจลาออกจากอาการ Brownout นี้มากถึง 40% ในขณะที่การลาออกจากอาการ Burnout มีเพียงแค่ 5% เท่านั้น
สรุปความแตกต่างของอาการทั้ง 2
อาการ Burnout - “หมดไฟในการทำงาน”แต่ยังไม่ออกจากองค์กร
อาการ Brownout - “หมดใจในองค์กร”แต่รักงานที่ทำเหมือนเดิม
อย่างที่บอกว่าอาการ Brownout นี้สังเกตได้ยาก บางคนที่กำลังเหนื่อยล้าและเบื่องานอาจจะสงสัยว่าเป็นแค่เซ็งชั่วครั้งคราว หรือกำลังเกิดอาการนี้กับตัวเองอยู่ ลองไปเช็กอาการกันคร่าว ๆ ว่าคุณเข้าข่ายตกอยู่ในอาการนี้หรือยัง
เช็กลิสต์ 4 อาการ “Brownout” ที่เราอาจจะเป็น
-
นอกจากเรื่องงานก็ขาดความสนใจในเรื่องอื่น ๆ แม้ตอนเลิกงาน
-
รู้สึกเหมือนถูกเพ่งเล็ง บังคับ และถูกกดดัน (ตลอดเวลา)
-
รู้สึกเหนื่อยล้า ป่วยบ่อยครั้ง เหตุเพราะใส่ใจตัวเองน้อยลง
-
การปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดน้อยลง ออกห่างจากสังคม
“อาการ Brownout เกิดจากองค์กร ไม่ใช่อยู่ดี ๆ พนักงานก็จะเป็นกัน” แม้อาการนี้จะเกิดที่ใจของพนักงาน แต่ก็เพราะเป็นสิ่งที่พนักงานรู้สึกต่อองค์กร ถึงแม้การที่พนักงานเปลี่ยนหน้ากันเข้าออกอาจจะเกิดจากหลายปัจจัย แต่ถ้าการลาออกเกิดขึ้นบ่อยครั้งเกินไป องค์กรอาจจะต้องหันกลับมามองตัวเองว่าปัญหาอะไร ที่อาจเป็นส่วนทำให้พนักงานลาออกบ่อย ๆ
4 ปัญหาจากองค์กรที่ทำให้พนักงานเกิดอาการ Brownout
1. กฎระเบียบจุกจิกมากเกินความจำเป็น ที่ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด
ระเบียบเป็นเรื่องที่ดีต่อองค์กร แต่ถ้ามีกฎที่ออกมาเพื่อควบคุมบุคลากรเพียงไม่กี่คน แต่ดันกระทบไปทั้งองค์กร พอมีปัญหาใหม่ก็ออกกฎใหม่มากขึ้น องค์กรก็เลยมีข้อห้ามมากมายเกินความจำเป็น ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัดและไม่แฮปปี้ในการทำงานอยู่ในออฟฟิศ ทางที่ดีองค์กรควรตั้งกฎระเบียบที่เป็นกลาง และพอจะครอบคลุมระเบียบที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
2. ผลงานจะดี / แย่ก็ไม่มีความหมาย เพราะค่าตอบแทนเท่าเดิม
ไม่ว่าผลงานของแต่ละคนจะมีประสิทธิภาพดีหรือแย่ แต่ทางหัวหน้าก็ละเลยการประเมินหรือทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งพนักงานที่ทำดีหรือที่ทำแย่ก็ต่างได้ค่าตอบแทนเท่ากัน ไม่มีรางวัลให้ผลงานที่ดี และไม่มีบทลงโทษสำหรับผลงานที่ผิดพลาดหรือไม่น่าพอใจ และการที่องค์กรไม่แก้ไขสิ่งเหล่านี้ การทำงานภาพรวมของทีมและมาตรฐานของผลงานจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะไม่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาผลงาน
3. ทำงานแบบเครื่องจักร หัวหน้าสั่งการ - ลูกน้องทำตามคำสั่ง
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบไหน การสื่อสารภายในองค์กรและการเปิดรับความคิดสร้างสรรค์จากพนักงาน Gen ต่าง ๆ นับเป็นสิ่งที่องค์กรควรทำ เพื่อเป็นการดึงศักยภาพของพนักงานออกมาได้สุดความสามารถ แต่ถ้าไม่มีการสื่อสารที่ดีภายในองค์กร พนักงานก็จะเป็นแค่เครื่องจักรที่ไม่มีความผูกพันธ์ต่อองค์กร ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพื่อพัฒนา และไม่มีความสนุกในการทำงาน
4. องค์กรไม่มีเป้าหมาย และจุดประสงค์ที่ชัดเจน
เป้าหมายขององค์กรไม่ชัดเจน ทำให้พนักงานไม่รู้จุดประสงค์ในการทำงาน ไม่รู้ว่าองค์กรหรือตัวเองควรจะพัฒนาไปทางไหน และเพื่ออะไร นอกจากทำงานวันต่อวัน
เมื่อพนักงานเกิดอาการ “Brownout” องค์กรจะไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะพนักงานจะไม่แสดงอาการและไม่ส่งผลต่องาน ยังคงรับผิดชอบงานที่ถูกมอบหมายได้ดีจนองค์กรไม่ทันสังเกต จบลงด้วยการที่พนักงานแจ้งลาออกโดยที่ไร้สัญญานเตือนใด ๆ จึงเป็นภัยเงียบที่องค์กรต้องตระหนัก และถ้าถึงเวลาที่พนักงานที่มีอาการ Brownout ต้องการจะออก แม้องค์กรจะเพิ่มค่าตอบแทนให้เท่าไหร่ หรือเสนออะไรให้ ก็จะไม่สามารถรั้งพนักงานที่หมดใจได้ นอกจากจะแก้ไขและเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในองค์กรให้ทันเวลา ก่อนที่จะเสียบุคลากรดี ๆ ไป
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่