- การสื่อสารระหว่างบุคคลคือการพูดคุยกันแบบซึ่งหน้าที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป
- พัฒนามารยาทพื้นฐานสำหรับการสนทนา เช่น ยิ้มแย้มขณะพูดคุย เลือกเวลาและสังเกตอารมณ์ของผู้ร่วมสนทนา
- เป็นผู้ฟังที่ดีที่ให้ความสนใจกับผู้พูด จะทำให้เราเป็นคู่สนทนาที่ดีเช่นกัน
- สื่อสารตรงประเด็น เพื่อให้ผู้ร่วมสนทนาเข้าใจจุดประสงค์ของเรา
|
|
“การสื่อสาร” คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เราเคยชิน แต่เพราะความเคยชินนี้ส่งผลให้หลายคนคนมองข้ามความสำคัญของมันไป แต่หากเราทำความเข้าใจและใช้ทักษะนี้ได้อย่างเชี่ยวชาญ เราก็จะใช้มันสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้ ดังนั้นวันนี้ JobThai เลยจะพาไปเรียนรู้ “การสื่อสารระหว่างบุคคล” หรือ Interpersonal Communication Skill ซึ่งเป็นประเภทการสื่อสารที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นของทุกการสื่อสารให้มากขึ้น
การสื่อสารระหว่างบุคคลคืออะไร?
การสื่อสารระหว่างบุคคลคือการสื่อสารแบบซึ่งหน้า (Face to Face) เช่น การพูดคุยทั่วไป, การติดต่อประสานงาน, การสั่งงานระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง รวมถึงการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์และวิดีโอคอลต่าง ๆ โดยลักษณะเฉพาะของการสื่อสารระหว่างบุคคลคือมีการโต้ตอบระหว่างกันอย่างชัดเจน จึงมีความผิดพลาดน้อยกว่าการสื่อสารประเภทอื่น ดังนั้นหากเราใช้การสื่อสารระหว่างบุคคลได้อย่างดี ก็จะทำให้การทำงานของเราง่าย มีโอกาสสำเร็จได้เร็วขึ้น และการสื่อสารประเภทนี้ยังใช้สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีด้วย
อยากพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารระหว่างบุคคลต้องทำอย่างไร?
รู้มารยาทพื้นฐานในการสนทนา
มารยาทพื้นฐานในการสนทนาเป็นสิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมารยาทการร่วมวงสนทนาที่ดีจะช่วยสร้างความประทับใจต่อผู้พบเห็นได้ เช่น การยิ้มแย้มขณะพูดคุย, การรู้จักเลือกเวลาและเลือกสังเกตอารมณ์ของคนที่เราอยากจะพูดคุยด้วย, การไม่พูดแทรกในขณะที่ผู้อื่นพูดคุยกัน หรือการเปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้แสดงความคิดเห็นบ้าง รายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการสื่อสารและเป็นบุคคลที่ผู้อื่นยินดีที่จะสนทนาด้วยเสมอ
เป็นผู้ฟังที่ดี
หลายคนไม่คิดว่าการฟังสำคัญ แต่ที่จริงแล้วเราใช้เวลาในการฟังไปมากกว่า 45% ของการสนทนาทั้งหมดและการฟังที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้เราเป็นคู่สนทนาที่ดีเช่นกัน ก่อนจะเป็นผู้ฟังที่ดีต้องรู้ก่อนว่า “การฟังกับการได้ยินไม่ใช่สิ่งเดียวกัน” การฟังคือการตั้งใจทำความเข้าใจเรื่องที่อีกฝ่ายพูดเพื่อเชื่อมโยงความรู้ที่มีเข้ากับข้อมูลใหม่ นอกจากนี้การตั้งใจฟังก็ ช่วยป้องกันการเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นด้วย และในขณะที่ฟังอยู่ก็ควรแสดงออกว่าเรากำลังตั้งใจฟังอยู่ เช่น มองไปที่ผู้พูด พยักหน้าแสดงอาการเข้าใจบ้างเป็นครั้งคราว หรือยิ้มเมื่อผู้พูดพูดเรื่องราวที่สนุกสนาน
สื่อสารอย่างตรงประเด็น
เราคงเคยเจอคนที่พูดวนไปวนมาแบบที่เราไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร ดังนั้นการสื่อสารอย่างตรงประเด็นจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจจุดประสงค์ที่เราต้องการได้เร็วกว่า ซึ่งจะทำให้การสื่อสารของเราบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น หากหัวข้อที่ต้องการพูดมีความซับซ้อน เราควรเรียบเรียงความคิดว่าจะพูดอะไรก่อน – หลัง เลือกใช้คำที่เหมาะสม สุภาพและแปลความหมายได้ชัดเจนโดยไม่ทำให้ผู้ฟังสับสน
การสื่อสารที่ดีจะทำให้บรรยากาศในทีมหรือที่ทำงานมีความเข้าใจกัน และส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าการทำงานนั้นจะมาในรูปแบบเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม ดังนั้นต่อไปก่อนที่เราจะประสานงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือคุยงานกับหัวหน้า ก็อย่าลืมใช้ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลเพื่อให้การทำงานของเราง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 102,000 members |
|
|
|
ที่มา :
skillsyouneed.com
hubpages.com