จรัณวัต เมาฬีกุลไพโรจน์ และ พจนฤทธิ์ นิมิตรกุล: สถาปนิก อาชีพที่เปลี่ยนความคิดให้เป็นความจริง

10/02/17   |   10.6k   |  

จรัณวัต เมาฬีกุลไพโรจน์ (ทีค) และพจนฤทธิ์ นิมิตรกุล (พจ) 2 เพื่อนซี้จากบริษัท MUN Architects จะมาเล่าให้เราฟังว่า ที่มาที่ไปที่ทำให้พวกเขาอยากเป็นสถาปนิกคืออะไร อาชีพนี้มีหน้าที่หลักอะไร และการจะเป็นสถาปนิกที่ดีได้จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง อย่ารอช้า เราไปฟังจากเรื่องราวจากสถาปนิกตัวจริงกันเลยดีกว่า  

 

  • อาชีพสถาปนิกไม่ได้เขียนแบบเท่านั้น แต่ต้องเป็นตัวกลางประสานงานกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ก่อนก่อสร้าง ไปจนกระทั่งอาคารเสร็จ
  • อาชีพสถาปนิก มีแยกสาขาเฉพาะทางตั้งแต่ในขั้นตอนการเรียน เช่น ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทย มัณฑนากร ฯลฯ
  • สถาปนิกที่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่จะได้ทำงานที่เฉพาะเจาะจงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ในขณะที่สถาปนิกในองค์กรขนาดเล็ก หรือการเป็นเจ้าของเองจะมีโอกาสได้ทำงานที่รอบด้านมากกว่า เช่น การติดต่อลูกค้า การประสานงาน การค้นหาวัตถุดิบ
  • คุณสมบัติของสถาปนิกที่ควรมีนอกเหนือจากความสามารถด้านการออกแบบ คือ การพูดโน้มน้าวใจคน การประนีประนอม และควรมีความรับผิดชอบสูง เพราะแต่ละงานที่ทำจะเป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
  • โอกาสเติบโตในสายงานสถาปนิก มีตั้งแต่ระดับ Senior Architect ไปจนถึง Project Director หรือหากฝีมือดีมีความสามารถมาก บางบริษัทก็จะชักชวนให้มาเป็น Partner ของบริษัทด้วย

 

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเป็น “สถาปนิก” คืออะไร            

พจ: ตอนเด็กๆ ที่บ้านปลูกฝังมาว่าผู้ชายก็ควรเรียนวิศวะฯ ไม่ก็หมอ แต่ในใจคิดว่าวิชาเลขก็ไม่ใช่วิชาที่ชอบ ส่วนวิชาที่ชอบเป็นพิเศษ คือวิชาศิลปะ ประกอบกับมีคุณน้าที่ทำอาชีพสถาปนิก เวลาไปบ้านคุณน้า ได้เห็นเขาสเก็ตช์รูป วาดรูปการ์ตูนแบทแมน ซูเปอร์แมน วาดรูปตึก อาคารบ้านเรือน เราก็ชอบ อยากเป็นแบบเขา เลยทำให้เราซึมซับมาเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว พอโตขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มชอบต่อโมเดลรถถัง ทั้งประกอบเอง พ่นสีตกแต่งเอง แม้จะเลอะเทอะ ไม่ได้ออกมาสวยสักเท่าไหร่ แต่ก็ชอบที่จะทำ มันสำคัญตรงที่เราชอบอะไรมากกว่า จนมาถึงช่วง ม.3-4 เราก็รู้อยู่แล้วว่ามีคณะนี้อยู่ เราอยากเข้า ก็เลยไปลองไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่ พวกท่านก็ไม่ได้ติดอะไร ก็เลยได้เข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อย่างที่ตั้งใจ

ทีค: สำหรับผมก็คล้ายๆ กัน สมัยเด็กๆ ก็ชอบเล่นตัวต่อเลโก้ แทนที่จะประกอบตามแบบ ก็แกะ แล้วก็สร้างใหม่ในแบบของตัวเอง และก็เป็นคนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่ผมไม่ใช่คนวาดรูปเก่ง ผมแค่ชอบในการที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ หรือลองคิดอะไรแปลกๆ 

 

คำนิยามของคำว่า สถาปนิก คืออะไร

ทีค: สถาปนิกคือผู้ที่เป็นศูนย์กลางในการดูแลการสร้างอาคารขึ้นมาอาคารหนึ่ง อย่าเรียกสถาปนิกว่าเป็นอาชีพเขียนแบบ เพราะสถาปนิกเป็นตัวกลางในการประสานงานทุกฝ่ายและทุกขั้นตอนในการสร้างอาคาร เราต้องคุยกับทุกฝ่ายตั้งแต่เจ้าของโครงการ วิศวกร Supplier เราต้องดูรายละเอียดทุกอย่างที่อยู่ในตัวอาคาร ทั้งวัสดุ พื้น กระจก ตั้งแต่เริ่มต้นเสนอไอเดียจนอาคารถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ 

 

หากจะเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ทีค: สมัยก่อนคนจะเรียนสถาปัตย์ฯ จะต้องเรียนสายวิทย์ฯ เท่านั้น สายศิลป์ฯ เข้าไม่ได้ เขาไม่รับ (สมัยนี้รุ่นน้องบอกว่าสายศิลป์น่าจะสอบได้แล้ว) เพราะสิ่งที่จะต้องเจอตอนเรียนคือ ความรู้เรื่องของโครงสร้าง ต้องไปสอบความถนัดวาดรูป (ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์) ซึ่งไม่ได้เน้นความสวยงาม แต่เน้นการสื่อสาร เน้นทำข้อสอบให้ทันเพราะข้อสอบมีเยอะมาก ซึ่งข้อสอบมีทั้งวาดรูปและช้อยส์ ส่วนโจทย์คำถามก็จะถามไอเดียของเรา เช่น ถ้าน้ำท่วมกรุงเทพ ภาพในจินตนาการของเราจะเป็นอย่างไร ให้เราวาดลงบนกระดาษเปล่า ซึ่งตอนที่ทำข้อสอบก็คิดว่าเราต้องวาดออกมาให้สวย แต่พอเวลาผ่านไปก็เข้าใจว่า โจทย์ที่ถามเรา เขาไม่ได้ต้องการความสวยงาม แต่เขาต้องการไอเดียจากเรา ว่าเราสามารถสื่อความหมายผ่านภาพที่เราวาดได้ชัดเจนขนาดไหน ความถูกต้องของสัดส่วน โครงสร้าง มิติของภาพตามมุมมองแบบ Perspective ซึ่งการจะทำข้อสอบให้ได้ทุกคนต้องไปติวข้อสอบความถนัดก่อน เพื่อให้รู้ว่าข้อสอบจะออกประมาณไหน คนที่ไม่ติวก็อาจจะมีบ้างแต่ต้องเก่งจริงๆ โดยส่วนมากก็จะติวกันหมด

 

การทำงาน สถาปนิก career focus

 

ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เขาเรียนอะไรกันบ้าง

พจ: สาขาวิชาที่เลือกสอบเข้าได้ หลักๆ ก็คือ สถาปัตยกรรม (โครงสร้างอาคาร) สถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture) ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape เรื่องภูมิทัศน์ภายนอกตัวอาคาร) อีกสาขาที่แตกต่างชัดเจนคือสถาปัตยกรรมไทย แต่อาจจะมีสาขาอื่นๆ อีก เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ (บางมหาวิทยาลัยอาจไปรวมกับคณะอื่นที่ไม่ใช่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร  การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการออกแบบภายในจะแยกออกมาอยู่เป็นคณะมัณฑนศิลป์เลยต่างหาก)

 

เมื่อจบมาแล้ว ทำอาชีพอะไรได้บ้าง

ทีคและพจ: หลักๆ ก็คือ สถาปนิกและมัณฑนากร นอกเหนือจากสถาปนิกทั่วไปที่ดูเฉพาะตัวโครงสร้างอาคารเป็นหลัก ก็จะมีภูมิสถาปนิกจะทำหน้าที่ออกแบบภูมิทัศน์นอกอาคารซึ่งดูแลคนละส่วนงานกัน ส่วนสถาปนิกภายใน หรือ มัณฑนากรก็จะดูแลการตกแต่ง ดูเรื่องดีไซน์ภายในตัวอาคารเพียงอย่างเดียว เช่น ในการสร้างอาคารสักที่หนึ่ง เฉพาะตัวตึก เจ้าของอาจจ้างสถาปนิกถึง 4 บริษัทและจ้างภูมิสถาปนิกอีก 1 บริษัทให้ดูภูมิทัศน์ภายนอกอาคาร เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น อย่างการสร้างโรงแรมตัวตึก ห้องพัก กับล็อบบี้ อาจจะเป็นคนละบริษัทกันเลยก็ได้  นอกจากนี้ยังมีสถาปนิกเฉพาะทางตามสาขาที่ได้เรียนมา เช่น สถาปนิกผังเมืองที่ดูแลการออกแบบโครงสร้างโดยรวมของเมืองให้ตอบรับกับการขยายตัวของเมือง 

 

ชีวิตการเรียนในคณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ทีคและพจ: พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เหมือนเราหลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง จากตอนมัธยมจะมีแต่สอบอย่างเดียว  แต่การเรียนสถาปัตย์ฯจะมีสอบน้อยมาก คณะอื่นอาจมีอ่านหนังสือสอบหนัก ส่วนคณะของเราอย่างน้อยก็ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ ไม่ต้องมานั่งท่องจำ ข้อดีคือวิชาที่เรียนท่องน้อยมาก มีแต่วิชาทำความเข้าใจ และส่วนมากอาจารย์จะให้โจทย์มา เราจะต้องทำ assignment ส่งเป็นโปรเจกต์ๆ ไป อาจจะมีบางคนบ่นว่าไม่ได้นอนบ้าง อดนอนบ้าง แต่ส่วนใหญ่เด็กที่อยากเข้าคณะนี้จะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเรียนหนักเพราะวิชาที่เราเรียนนั้นเกี่ยวของกับสร้างอาคารที่มีความทนทาน เราต่างจากอาชีพอื่นๆ ตรงที่เราเป็นอาชีพควบคุม ต้องคุยกับฝ่ายอื่นๆ ในการสร้างอาคารให้รู้เรื่อง เพราะจบไปเวลาทำงานจริง เราจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างด้านดีไซน์และด้านโครงสร้าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเชื่อมต่อกันได้ เราจึงต้องมีพื้นฐานแน่นไว้ก่อนตั้งแต่ตอนเรียน  

 

เรียนหนักไหม

ทีค: ตอนเรียนก็ไม่ได้คิดว่ามันหนัก อาจารย์เขาก็ให้งานมา ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม เพื่อนบางคนที่ขยันก็รีบทำงานส่งก่อน เขาก็ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนดึก อยู่ที่การบริหารเวลาและความรับผิดชอบมากกว่า ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะบางคน พอคิดงานไม่ออกจริงๆ ก็จะคิดไปเรื่อยๆ ถ้าเราบริหารเวลาวันแรกๆ ไม่ดี ก็จะส่งผลไปถึงวันสุดท้ายก่อนส่งงาน ตรงนี้แหละที่ทำให้บางคนต้องอดหลับอดนอนทำงานส่งให้ทัน ส่วนตอนทำงานส่งไม่ได้ต้องต่อโมเดลส่งอาจารย์ให้ได้เนี๊ยบๆ แบบ โมเดลโครงการหมู่บ้านหรือคอนโดฯสวยๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ  สถาปนิกไม่จำเป็นต้องต่อให้ได้แบบนั้น ตอนเรียนที่อาจารย์สอนก็คือการเอากระดาษมาต่อเป็นกล่อง ง่ายๆ เราแค่ต่อเพื่อจำลองให้เห็นพื้นที่จริงของตัวอาคาร และให้ได้เห็นภาพสัดส่วนที่ชัดเจนเท่านั้น

 

การทำงาน สถาปนิก career focus

จรัณวัต เมาฬีกุลไพโรจน์ (ทีค)


สิ่งที่ได้เรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แตกต่างจากสิ่งที่เราคิดไว้ตอนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยไหม

พจ: สิ่งที่แตกต่างคือ เรื่องของอารมณ์ที่ไม่เหมือนจากตอนเด็กที่เราคิดไว้ว่าจะได้วาดได้เขียน ตอนที่เราเรียนจริง ต้องทำงานส่งอาจารย์ มันมีอารมณ์คิดไม่ออก มันเร่ง โดนกดดัน มีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นในการทำ project เราก็มีท้อบ้าง

ทีค: แต่มันก็ต้องสู้ จะเรียนคณะไหน ทำอาชีพไหนก็เหนื่อยเหมือนกันหมด แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สนุก เข้าเรียนมหาวิทยาลัยช่วงแรกๆ เขาให้ออกแบบแปลกๆใหม่ๆ เช่นบ้านยอดมนุษย์ concept งานมันจะสนุกโดยตัวมันเอง

 

เล่าถึงความรู้สึกแรกหลังจากเรียนจบมาและได้มาสัมผัสกับงานให้ฟังหน่อย

พจ: ผมจะไปทำงานบริษัทมาก่อน ส่วนทีคจะทำเองตั้งแต่ต้น ช่วงวันแรกๆ ที่เริ่มทำงาน สิ่งที่ได้ทำ ก็คือการหารูป reference แบบอาคาร หลังจากนั้นเราก็ได้ทำอะไรที่มันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ประมาณช่วงปีแรกเราจะยังไม่ได้แตะงานดีไซน์ ยิ่งบริษัทใหญ่ยิ่งนานกว่าจะได้ทำงานใหญ่ ส่วนงานใหญ่ที่ได้ทำจริงๆ จังๆ ครั้งแรกคือการออกแบบส่วนต่อเติมของโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งจะมีทั้ง ห้องประชุม ห้องเรียน ตึกเรียน ทางเชื่อมอาคาร สนามบาสฯ สนามฟุตบอล ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเป็นงานใหญ่มาก แต่เราก็ดูแลแค่แบบ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่บริษัทจะปล่อยเราออกไปคุมงาน การทำงานในระดับ Junior มีโอกาสจะไปเยี่ยมไซต์ก่อสร้างบ้างถ้าเราได้รับมอบหมายให้ไปประชุม แต่เราจะยังไม่ได้ดูแลในส่วนการติดต่อประสานงานผู้รับเหมาหรือฝ่ายต่างๆ     

ทีค: ส่วนผมไปช่วยงานคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ ประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ผมก็ออกมาทำเอง  ช่วงแรกๆ ก็รู้สึกว่ายาก เพราะยังไม่รู้อะไรเลย งานครั้งแรกที่ได้ทำคือ ได้ไปทำบ้านให้เพื่อน ซึ่งเป็นงาน renovate บ้านหนึ่งหลัง โชคดีตรงที่เพื่อนเขาไว้ใจเรา เจ้าของบ้านก็ช่วยเราเยอะ ได้วิศวะฯ กับผู้รับเหมาดี งานเลยออกมาราบรื่นมาก ไม่มีปัญหาอะไรเลย

พจ: นี่คือปัจจัยสำคัญในการทำงานสถาปนิก ถ้าลูกค้าดี ผู้รับเหมาดี อะไรๆ ก็จะดีตามไปด้วย ปัญหามันจะน้อยมาก ถ้ามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ พวกเขาก็จะเข้าใจเรา

 

หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนการทำงาน ของสถาปนิกหลักๆ มีอะไรบ้าง

ทีค: ลูกค้าหรือเจ้าของโครงการ จะเป็นคนเดินมาบอกเราว่าเขาอยากได้อาคารหนึ่ง เราต้องติดต่องานระบบ (น้ำประปาและไฟฟ้า) กับวิศวกร ต้องทำภาพคุยกับ Owner ให้เขาตกลงกับแบบที่เราจะสร้าง ต้องไปยื่นสำนักงานเขต (เจ้าของหรือเรายื่นก็ได้) ต่อมาอาจจะมีการแก้ไขแบบ ต้องทำแบบสำหรับการประมูลราคากับผู้รับเหมาก่อสร้าง พอได้ผู้รับเหมาเสร็จ เราก็ต้องตามไปคุมงานเรื่อยๆ ประมาณเดือนละครั้ง เราจะได้เห็นพัฒนาการของอาคาร งานของสถาปนิกค่อนข้างกินเวลายาวนาน เพราะฉะนั้นแค่แบบอย่างเดียวไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดที่จะสร้างได้เลย แบบอาคารต้องมีการแก้ไขอยู่เรื่อยๆ ตามสถานการณ์เป็นเรื่องปกติ บางทีพอจะสร้างเจ้าของเห็นแล้วไม่ชอบก็ต้องโดนแก้งานของสถาปนิกจะจบก็ต่อเมื่ออาคารเสร็จเท่านั้น

 

การทำงาน สถาปนิก career focus

 

ความก้าวหน้าของอาชีพนี้เป็นอย่างไร  ตำแหน่งแรกสุดไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดของสายงานนี้คืออะไร

ทีค: ตำแหน่งแรกๆ ของสถาปนิก ชื่อเรียกก็อาจจะแตกต่างออกไปตามแต่ละบริษัท อาจจะเป็น Junior Designer หรือ Architect Assistant แต่การทำงานก็จะคล้ายๆกันหมด พอโตขึ้นก็จะได้เป็น Architect เต็มตัว ซึ่งจะเรียกลำดับตามประสบการณ์การทำงาน ตั้งแต่ Junior Architect Senior Architect ไปจนถึง Project Director และถ้าโตกว่านี้ก็มีโอกาสเป็น Partner ของบริษัท หรือ แม้แต่ได้เป็นเจ้าของบริษัทเลยก็มี เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่รับคนใหม่เข้ามาทำงานในตำแหน่งบริหารเหมือน Corporate อื่นๆ ไม่ได้ สมมติถ้าเราเป็นสถาปนิกเจ้าของบริษัท เราก็จะให้ลูกน้องเก่งๆ ที่เราอยากให้รับช่วงต่อมาเป็น Partner กับเรา ส่วนใหญ่บริษัทสถาปนิกจะมือชื่อต่อท้ายว่า & Associates ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เป็นหุ้นส่วนกัน แต่ท้ายที่สุดก็แล้วแต่ความชอบว่า อยากจะเป็นนายตัวเอง หรืออยากทำงานอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ

พจ: ส่วนเรื่องอายุงาน การเป็นสถาปนิกนั้นไม่มีอายุเกษียณ มีหัวหน้าเก่าๆ อายุ 70 กว่าๆ ก็ยังทำงานอยู่ ถ้ายังไหวก็ยังทำได้เรื่อยๆ

 

เป็นสถาปนิกในบริษัทกับเป็นเจ้าของเองแตกต่างกันอย่างไร

ทีค: ด้วยความที่ Corporate จะมีโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่อยู่แล้ว จะมีคนในแผนกต่างๆ ทำงานให้เรา เช่น มีคนทำงานใน Material Room คอยเลือกวัสดุอุปกรณ์ให้เรา มีคน Render ภาพ 3 มิติให้เรา มีคนร่างแบบให้เรา การเป็นสถาปนิกในบริษัทใหญ่กับการออกมาเปิดบริษัทเองก็จะมีความแตกต่างกันมาก การทำงานบริษัทใหญ่ เขาจะมีระบบของเขา สถาปนิกก็จะได้รับงานที่เฉพาะเจาะจงในด้านเดียว เช่น ถ้าคนนี้เก่งการร่างแบบ ก็จะได้งานทำแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว แยกตามความถนัดของแต่ละคน ข้อดีของการทำงานในบริษัทคือ เขาจะมี pattern เดิมให้ปฏิบัติตาม พวกเขาจะมีความชำนาญเฉพาะเรื่องจากงานเก่าๆ ที่บริษัทได้ทำมา พวกเขาอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนั้น แต่ถ้าเราทำเอง เราก็จะได้เรียนรู้จากเคสจริง จากปัญหาที่เราเจอ

พจ: เนื้องานต่างกันเยอะ ตอนอยู่บริษัทเราแทบไม่ได้ดูแลการประสานงานเลย แต่พอออกมาทำเองเราต้องออกไปดูงานจริงบ่อยๆ เราต้องเจอลูกค้าเอง เราต้องรู้จักวิธีการพูด การสื่อสาร ต้องจัดตารางเวลาเอง ความรับผิดชอบจะเพิ่มมากขึ้น จากระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผันตัวเองจากลูกจ้าง มาทำงานเอง ทุกวันนี้ก็ยังปรับตัวอยู่เรื่อยๆ 

 

สรุปแล้วการทำงานจริงต่างจากสิ่งที่คิดไว้ตอนเรียนเยอะไหม

พจ: มีส่วนคล้ายกัน คือ เราทำเพื่อไปนำเสนอเขาให้เขาเข้าใจ ถ้าเราทำงานแทบตายแต่เราเสนอผลงานไม่เป็น ก็ไม่มีประโยชน์ การเรียนกับการทำงานจึงคล้ายกันตรงนี้ แต่การทำงานจริงนั้นมีความยากมากกว่า

ทีค: พอทำงานจริง เราต้องในฐานะสถาปนิกต้องเข้าใจเจ้าของโครงการ และวิศวกร ต้องอาศัยหลายปัจจัยในการทำงานหนึ่งโครงการ เช่น เรื่องที่ดิน กฎหมาย ต้องดีลหลายฝ่าย ดูหลายแง่มุม ทั้งเรื่อง Supplier ความเป็นไปได้ของโครงการ แต่ตอนเราเรียน มีแค่ 2 ฝ่าย คือ อาจารย์ กับตัวเราเอง  อาจารย์จะปล่อยให้เราทำงาน ให้เราสนุกกับดีไซน์ ให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง ส่วน  Owner เขาก็จะมีภาพในหัวที่เขาคิดไว้ เราต้องทำตามโจทย์ของเขา เช่นเรื่องความคุ้มทุน การเงิน  หรือเรื่องอื่นที่เขาต้องตัดสินใจ

 

สิ่งที่ชอบที่สุดของอาชีพนี้คืออะไร

ทีค: เราได้มีโอกาสทำให้ไอเดียของคนอื่นกลายเป็นจริง และได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำหรือไม่มีโอกาสทำด้วยทุนของตัวเอง

พจ: สำหรับผมข้อดีคืองานจะไม่มีความเหมือนกันในแต่ละวัน แต่ละงาน มันไม่มีคำว่าซ้ำแน่นอนในชีวิตการทำงานของสถาปนิก จะมีเรื่องใหม่ๆ ให้เราได้ทำตลอด ทุกอย่างมันใหม่ไปเรื่อยๆไม่มีวันจบ เลยคิดว่ามันเป็นงานที่สนุก

 

การทำงาน สถาปนิก career focus

พจนฤทธิ์ นิมิตรกุล (พจ)

 

ความยากของอาชีพสถาปนิกคืออะไร

ทีค: สิ่งที่ยากคือ การจะดูแลโครงการหนึ่งให้ออกมาดีได้มันมีหลายปัจจัยมาก ไม่ใช่ตัวเราคนเดียว เคยทำบ้านหลังหนึ่ง เจอผู้รับเหมาหนีงาน ก่อสร้างไม่ตรงตามแบบ ลูกค้าก็ไม่อยากแก้ เพราะต้องจ่ายเงินเพิ่ม บางครั้ง Supplier ผิดทำให้หลังคารั่ว ถึงเราจะไม่ใช่คนผิด เราก็ต้องเข้าไปดูแลแก้ปัญหาให้ ทุกครั้งที่มีปัญหาเขาไม่โทรหาผู้รับเหมา เขาจะโทรหาสถาปนิกก่อน เราก็ต้องเข้าไปรับหน้า อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับคน เราต้องคอยจัดการให้คนโน้นคนนี้ทำตามหน้าที่ให้เรา เพื่อให้ตึกออกมาเสร็จสมบูรณ์

 

ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง

พจ: ก็มีแก้งานไปเรื่อย ขอเปลี่ยนแบบประตู ทั้งๆ ที่ควรจะจบเรื่องนี้นานแล้ว ไม่ควรแก้แล้ว ช่างเขากำลังก่อสร้างอยู่ เราก็ต้องประนีประนอมให้ลูกค้าเขาพอใจ เราต้องเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมระหว่างความต้องการของลูกค้ากับสถานะการก่อสร้างในช่วงเวลานั้น นี่คือความยากที่ต้องเจอ

ทีค: เคยเจอลูกค้าที่เป็นผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน ที่เขาไม่เข้าใจผัง ดูภาพ3 มิติในคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่เข้าใจ ต้องพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจมากขึ้น เราเลยต้องต่อโมเดล ให้เขาดู  ซึ่งปกติเราจะต้องต่อโมเดลเพื่อดูเองอยู่แล้ว  เพื่อสัดส่วนจริงๆของตัวแบบอาคาร  แต่การต่อโมเดลให้ลูกค้าดูนั้นแล้วแต่กรณี บางครั้งเราก็ต้องต่อขึ้นมาเผื่อลูกค้าบางคนไม่เข้าใจ ถ้าบางคนดูแปลนผังพื้นเข้าใจ (มีความรู้พื้นฐานอยู่แล้ว) ก็ไม่มีความจำเป็น แต่ด้วยความที่อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพสื่อสาร เราก็ต้องสื่อสารกับเขาให้ดีที่สุด

 

คุณสมบัติของสถาปนิกที่ดีมีอะไรบ้าง

ทีค: ต้องพูดเก่งนำเสนอเก่ง ถ้าจะออกมาทำเองต้องหาคอนเน็คชันดีๆให้ได้ นอกจากงานจะต้องดีแล้ว ยังต้องชักจูงคนเป็น โน้มน้าวใจคนเก่ง ทำให้ลูกค้าเข้าใจงานให้ได้ ประนีประนอมคนหลายฝ่ายให้เป็น จนทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ เชื่อว่าคนจบสถาปนิกก็เก่งทุกคน ส่วนเรื่องดีไซน์ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีความรับผิดชอบเพราะงานมันค่อนข้างระยะยาวและมีผลกับชื่อเสียงของเราเอง    

 

การทำงาน สถาปนิก career focus

 

ฝากทิ้งท้ายถึงคนที่สนใจอาชีพนี้ ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ทีค: ถ้าอยากทำอาชีพสถาปนิกจริงๆ อย่าไปคิดว่ามันจะหนัก อยากทำจริงๆก็ลองดู ตอนที่เราเรียนแรกๆ ก็บ่นว่าเหนื่อย ก็เห็นบ่นกันทุกคน ซึ่งจริงๆแล้ว มันไม่ได้เหนื่อยกว่าคณะอื่น อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สนุก concept ในการทำงานของสถาปนิกจะได้เจออะไรๆ ที่ท้าทายอยู่ตลอด

พจ: มันหนักเพราะไปคิดว่ามันหนัก ไม่คิดว่ามันสนุก

ทีค: ใช่ครับ ตอนผมเรียนผมก็บ่น คนเราไม่สามารถคิด Project ดีๆ ได้ตลอดเวลา พอต้องคิดงานหลายวิชา เจอหนักๆ เด็กก็จะเอือม ช่วงหนักที่สุดก็คือช่วงที่คิดงานไม่ออกนั่นแหละ เรื่องหลักการทำงานจริงๆแล้วก็เบากว่าหลายๆ อาชีพเยอะ

พจ: น้องๆ ต้องศึกษาหาข้อมูลเยอะๆ หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา มันมีเทรนด์ใหม่ๆให้เราอัพเดทตลอด เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ทีค: ถ้าชอบงานสถาปนิกจริงๆ อยากให้ลองเข้ามาทำ เข้ามาศึกษา ถ้าเรียนไปแล้วก็อยากให้สู้ให้ถึงที่สุด ให้เห็นบ้านของเราสักหลังหนึ่ง ให้เห็นสิ่งที่เราเรียนหนึ่งหลัง หรือว่าสิ่งที่เราทำออกมาเป็น 20-30 โมเดลตอนเรียน เราก็อยากให้สู้จนเห็นงานจริงของตัวเอง อย่าท้อเพราะว่ามันเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาว ด้วยระยะเวลาการเรียน 5 ปี เด็กก็จะท้อบ่อย

 

ได้ฟังเรื่องราวของ 2 หนุ่มสถาปนิกตัวจริงแบบนี้แล้ว น้องๆ ที่สนใจอาชีพสถาปนิกก็น่าจะเห็นภาพรวมของอาชีพนี้ได้ชัดมากขึ้น ได้เข้าใจบทบาทในการทำงานจริงของคนที่ทำอาชีพนี้ว่าพวกเขาไม่ได้มีหน้าที่แค่เขียนแบบบ้าน แต่เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคารให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้  หวังว่าบทความนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้หลายๆ คนตัดสินใจเลือกคณะและสายอาชีพที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, สถาปนิก, เคล็ดลับการทำงาน, career & tips, การทำงาน, เทคนิคการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม