- People Pleaser หมายถึงคนที่มักจะให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่น ก่อนความต้องการของตัวเอง ยอมช่วยเหลือหรือทำในสิ่งที่บางครั้งตัวเองก็ไม่ได้อยากทำเพียงเพื่อให้คนอื่นพอใจ เป็นที่ยอมรับ และเลี่ยงการมีปัญหา
- พฤติกรรมของคนเป็น People Pleaser สามารถส่งผลกระทบได้อย่างมากเมื่อเราขึ้นมาเป็นหัวหน้าคน เพราะมันอาจทำให้เรารู้สึกแย่ ทำให้คนในทีมไม่ได้เป็นตัวเอง และอาจทำให้ลูกทีมหมดความเชื่อถือในตัวเรา
- เราสามารถเอาชนะนิสัย People Pleaser ได้ด้วยการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของนิสัยนี้ การตระหนักรู้ในความสามารถของตัวเอง การขีดเส้นให้ชัดเจน การสื่อสารที่ดี การโอบรับความขัดแย้ง และการรู้จักสังเกตสไตล์การนำทีมของตัวเองและโฟกัสเป้าหมายให้ถูกจุด
|
|
เคยได้ยินคำว่า "People Pleaser" ไหม?
คำนี้กล่าวถึงลักษณะนิสัยของคนที่คอยเอาใจใส่หรือตามใจคนอื่นเป็นอย่างมาก จนบางครั้งมากกว่าการฟังเสียงของตัวเองซะอีก ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ก็มีโอกาสได้ขยับขึ้นมาเป็นหัวหน้า นิสัยที่ว่าก็อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานได้ วันนี้ JobThai เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก People Pleaser พร้อมพาไปดูวิธีปรับ Mindset เพื่อให้หัวหน้าที่เป็น People Pleaser สามารถนำทีมไปถึงเป้าหมายได้อย่างราบรื่น
People Pleaser คืออะไร?
People Pleaser คือ คนที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่น ก่อนความต้องการของตัวเอง มักตอบรับข้อเสนอต่าง ๆ ว่า “ได้” อยู่เสมอ ทั้งที่บางครั้งก็ไม่ได้ต้องการจะทำหรือไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยจริง ๆ แต่ทำเพื่อให้ตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกคนและหลีกเลี่ยงการสนทนาที่น่าอึดอัดและปัญหา จึงมักถูกมองว่าเป็นคนที่น่าคบ เข้ากับผู้อื่นได้ดี เพราะชอบช่วยเหลือคน แต่ก็เป็นลักษณะนิสัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของตัวเองได้ และยิ่งถ้าอยู่ในตำแหน่งที่เป็นหัวหน้า มันก็สามารถบั่นทอนทั้งเราและภาพรวมของการทำงานได้ในหลาย ๆ ด้าน
มาเช็กตัวเองดูว่าเรามีแนวโน้มเป็น People Pleaser ไหม
คิดว่าการช่วยเหลือคนอื่นจะนำมาซึ่งการเป็นที่ยอมรับรึเปล่า?
People Pleaser มักจะพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้คน และอาจมากเกินจำเป็นในบางครั้งจนทำให้ตัวเองต้องเหนื่อย ทั้งหมดก็เพื่อให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ แต่จริง ๆ แล้วคุณค่าในตัวเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเอาใจใครเป็นพิเศษเลย ตัวเราจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเราเคารพตัวเองและยอมรับตัวตนของตัวเอง
ขุ่นข้องใจไหมเวลาคนในทีมไม่เห็นความสำคัญต่อสิ่งที่เราทำ อย่างที่เราคาดหวังไว้?
People Pleaser อาจรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญ หรือรู้สึกขุ่นข้องใจได้ เมื่อความตั้งใจของพวกเขาไม่ถูกมองเห็น ไม่มีใครรับรู้ ซึ่งความรู้สึกนี้ก่อเกิดมาจากที่เราคาดหวังว่าคนอื่น ๆ จะรู้สึกขอบคุณและจดจำการกระทำของเราได้ ในความเป็นจริงแล้ว แรงจูงใจหลักของเราที่เป็นหัวหน้าควรเป็นเรื่องความเป็นอยู่อันดีและความสำเร็จของทีมมากกว่า ไม่ควรโฟกัสแต่การเป็นที่ยอมรับ เพราะฉะนั้นลองปรับจูนเรื่องความคาดหวังและทัศนคติดูใหม่เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ด้วยดีและไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่
พยายามอ่านสีหน้า ตีความการกระทำ น้ำเสียง ภาษากายของคนอื่นมากเกินไหม?
ถึงทักษะเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราปวดหัวได้ ถ้าเราพยายามใช้มันมากเกินไปเพื่อให้คนอื่นมองว่าตัวเองเป็นคนจริงใจและเอาใจใส่ ดังนั้นเราควรปรับใช้ทักษะนี้เพื่อ “ทำความเข้าใจคนอื่นอย่างถ่องแท้และซัปพอร์ตพวกเขา” มากกว่าการทำเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับ
มองตัวเองเป็นผู้เสียสละ ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้นำมาซึ่งความสงบสุขรึเปล่า?
People Pleaser มักมองตัวเองอยู่ในบทบาทเหล่านี้ และเสนอตัวจะทำอะไร ๆ มากเกินจำเป็น นำมาซึ่งความเครียดทั้งกับเราและกับลูกทีมของเราเอง เพราะเราก็รู้สึกว่าอะไร ๆ เราก็ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย ส่วนคนในทีมก็รู้สึกอึดอัดเพราะทำอะไรเองไม่ค่อยได้ ดังนั้นเราควรขีดเส้นให้ชัด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเอง Burnout จากความรู้สึกว่าเราต้องทำให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีเพื่อทุกคน เราควรเป็นหัวหน้าที่กล้าฝากงานให้ลูกทีมและเชื่อใจว่าพวกเขาจะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
เรามีปัญหากับการออกความเห็นหรือรับ Feedback ไหม?
ความกลัวต่อการถูกปฏิเสธและกลัวความขัดแย้ง ทำให้คนเป็น People Pleaser มีปัญหาต่อการให้ Feedback แต่ถ้าเราไม่กล้าคอมเมนต์อย่างตรงไปตรงมา คนในทีมก็จะไม่มีวันเข้าใจความคาดหวังที่แท้จริงของเรา หรือสิ่งที่เขาควรต้องพัฒนา ดังนั้นเราก็ควรฝึกพูด Feedback ให้ชัดเจน ฝึกให้ความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์หรือการติเพื่อก่อ ซึ่งมันก็จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทุกคนสามารถสื่อสารกันได้อย่างเปิดกว้าง นอกจากนี้หัวหน้ายังสามารถคุยกับทีมเรื่องความคาดหวังเกี่ยวกับการทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และช่วยให้ลูกทีมเข้าใจว่าตัวเองควรทำอะไรเพื่อให้เติบโตและพาทีมไปถึงเป้าหมาย
ผลเสียจากการที่หัวหน้าเป็น People Pleaser
ความเป็น People Pleaser ส่งผลกับคนทำงานได้ ซึ่งสำหรับคนเป็นหัวหน้างาน การกระทำและการตัดสินใจของเรามีผลต่อความเป็นไปภายในทีม ลองไปดูกันว่าถ้าหัวหน้าเป็น People Pleaser มันจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง
กัดกินความน่าเชื่อถือของคนเป็นหัวหน้า
อย่าคิดว่าการที่เราวางตัวเป็นหัวหน้าที่ “Nice” จะทำให้ลูกทีมรู้สึกดีกับเราเสมอไป บางคนคิดว่าถ้าทำตัวให้ถูกใจลูกทีม ลูกทีมก็จะอยากอยู่ด้วยไปนาน ๆ และตั้งใจทำงาน แต่จริง ๆ แล้ว คนเป็นหัวหน้าควรเป็นคนจัดแจงสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกทีมอย่างชัดเจน ดูว่าเขาขาดเหลืออะไร ช่วยเหลือในสิ่งที่เกินขอบเขตความสามารถของเขา เพื่อให้เขาทำหน้าที่ของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
พฤติกรรม People Pleaser รวมถึงการพูดสนับสนุน พูดชมว่าคนนั้นคนนี้เก่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้เก่งหรือยังทำงานได้ไม่ดี เพียงเพราะเราติดนิสัยชมไปอย่างนั้นทั้งที่เห็นกันอยู่ชัดเจนว่าไม่ใช่เรื่องจริง เป็นอะไรที่ทำให้คำพูดของเราไม่น่าเชื่อถือ และเมื่อวันไหนที่เราต้องการจะพูดชมจากใจ ลูกทีมก็อาจจะไม่เชื่อเราแล้วก็ได้
ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่
บางคนรับปากว่าจะทำโปรเจกต์ใดโปรเจกต์นึงเพียงเพราะอยากหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่อยากปะทะกับอีกทีม หรือไม่อยากบอกปัดคนอื่น จนสุดท้ายก็รับงานมาทำ และกลายเป็นงานของคนทั้งทีมไปเลย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ลองถามตัวเองดูว่าพอรับงานหรือรับหน้าที่นั้น ๆ มาทำแล้ว เราเสียใจทีหลังไหม ถ้าเสียใจ ก็คงถึงเวลาที่เราต้องเริ่มปฏิเสธคนบ้างแล้ว ถึงมันจะยากที่ต้องเริ่มปฏิเสธ แต่ต้องฝึกเอาไว้บ้าง เพราะการปฏิเสธจะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ในมือและสิ่งที่ควรจะทำต่อไปได้
ทำให้คนอื่น ๆ ไม่ได้เป็นตัวเอง
ในฐานะหัวหน้า เราเป็นคนเซ็ตบรรยากาศและคาแรกเตอร์ของของทีม ถ้าเราเป็นคนหลีกเลี่ยงการปะทะและการเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา ทีมเราก็มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน มันอาจทำให้คนในทีมไม่กล้าเป็นตัวเอง ไม่กล้าแชร์ความคิด ความกังวล และความรู้สึกที่แท้จริง เพราะเกรงใจเราที่เป็นหัวหน้า
วิธีเอาชนะนิสัย People Pleaser
ทำความเข้าใจที่มาของการเป็น People Pleaser
หาคำตอบดูว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีนิสัยเป็น People Pleaser มองย้อนกลับไปในอดีตหรือสิ่งที่เคยทำในอดีตที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่จัดลำดับความสำคัญให้คนอื่นก่อน เพราะว่าเราเคยได้รับคำชม คำขอบคุณที่ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่บ่งชี้คุณค่าของตัวเองรึเปล่า ลองมองดูว่าเรามีพฤติกรรมอะไรที่เข้าข่ายการเป็น People Pleaser บ้าง
ไม่ลืมว่าตัวเองมีความสามารถและมีคุณค่า
การที่เราจะกลายเป็นคนกล้าออกปากออกเสียงได้ เราต้องไม่ลืมจุดยืนและให้คุณค่าต่อตัวเองก่อน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ทำงาน เราต้องย้ำเตือนตัวเองว่าเรามีความสามารถอะไรที่มีความเฉพาะตัว มีทักษะในการทำงานและเชื่อว่าตัวเองทำมันได้ดี รวมถึงเชื่อว่าเสียงของเรามีความหมายและควรค่าต่อการได้ยิน และเมื่อเราจดจำสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
ขีดเส้นให้ชัดเจน
การขีดเส้นในที่นี้หมายถึงการปกป้องรักษาทรัพยากรการทำงาน ทั้งกำลัง เวลา และความเป็นอยู่ที่ดีของเราและคนในทีมเอาไว้ โดยรู้ว่าเราและทีมสะดวกกับอะไรบ้าง และรู้จักสื่อสารออกไปอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับขอบเขตของตัวเอง เมื่อไหร่ที่ถูกเสนอให้ทำในสิ่งที่จะเผาผลาญพลังและเวลาของคนในทีม โดยที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราโดยตรง หรือมีวิธีอื่นที่ดีกว่า เราก็ต้องรู้จักปฏิเสธ เพื่อรักษา Work-Life Balance และหลีกเลี่ยงความเครียดโดยไม่จำเป็น ซึ่งการปฏิเสธคนไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนขี้เกียจหรือไม่อยากช่วยเหลือผู้อื่น เราสามารถบอกปัดด้วยการสื่อสารอย่างมีเหตุมีผลได้
ฝึกการสื่อสาร
การสื่อสารคือทักษะที่สำคัญสำหรับการเป็นหัวหน้า ถ้าสื่อสารอย่างถูกต้อง เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นใหญ่ก็สามารถคลี่คลายได้ง่ายขึ้น การสื่อสารมีประโยชน์ในหลาย ๆ สถานการณ์ เช่น การแสดงความคิดเห็น การเสนอไอเดีย ไปจนถึงการโต้แย้งในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย โดยเราต้องพูดอย่างใจเย็นและมีเหตุผล นอกจากนั้น สิ่งที่จะช่วยเราได้อย่างมากอีกอย่างคือการที่เรารู้จักสังเกตภาษากายและน้ำเสียงของผู้อื่นเพื่อทำความเข้าใจว่าคู่สนทนาอยู่ในสภาวะแบบไหน อีกทั้งการตั้งใจฟังคนอื่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันจะช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายจริง ๆ และสะท้อนว่าเราเป็นคนที่เคารพมุมมองของผู้อื่น
โอบรับความขัดแย้ง หากมันจะนำมาซึ่งการพัฒนา
เราต้องทำใจยอมรับว่าบางครั้งความขัดแย้งก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งมันก็สามารถนำไปสู่การพัฒนาให้องค์กรเติบโตต่อไปในอนาคตได้ ดังนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงมัน เพียงแต่ต้องจัดการมันอย่างสร้างสรรค์ กล้าที่จะพูดในมุมตัวเองและรับฟังความเห็นของคนอื่น นำมาซึ่งทางออกที่ดี และอาจช่วยให้ความสัมพันธ์ในการทำงานกับคนอื่น ๆ ดีขึ้น
สังเกตสไตล์การนำทีมของตัวเอง และปรับโฟกัสของเป้าหมาย
ลองสังเกตดูว่าเราตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในที่ทำงานยังไง สังเกตอารมณ์และความคิดของตัวเอง และดูว่ามันมีผลต่อการกระทำของเรายังไงบ้าง เคยมีการตัดสินใจครั้งไหนที่กระทบกับตัวเราหรือทีมไหม เช่น ตกลงรับงานจากแผนกอื่นมาทำเพิ่ม ทั้งที่งานในทีมก็ล้นมือมากแล้ว เพียงอยากให้คนอื่นยอมรับว่าเราและทีมมีสปิริต คนเป็นหัวหน้าควรโฟกัสไปที่เป้าหมายระยะยาวของทีมและองค์กรมากกว่าการได้รับการยอมรับเพียงชั่วครู่ การที่เราปรับโฟกัสใหม่จะช่วยให้เราตัดสินใจอะไรได้เฉียบขาดและนำไปสู่เป้าหมายได้ และเติบโตขึ้นในฐานะผู้นำ นอกจากนั้นเมื่อเรารู้จักจัดลำดับความสำคัญให้กับสิ่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จของทีม เราจะได้รับความเชื่อถือจากคนในทีม เพราะพวกเขารู้แล้วว่าเรากำลังสร้างสภาวะที่จะพาทุกคนไปสู่ความสำเร็จได้ โดยไม่ละเลยพวกเขา
การเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก People Pleaser ให้เป็นคนที่กล้าพูดกล้าขัดคนอื่นนั้นนับว่าเป็นการเติบโต เราในฐานะหัวหน้าต้องหาบาลานซ์ดูว่าเราจะทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความพอใจได้ยังไง และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเด็ดขาดก็ต้องเด็ดขาด อย่าลืมว่าทุกการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาและความอดทน เพราะฉะนั้นลองเริ่มต้นดูตั้งแต่วันนี้ และรอดูความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน