แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการทำงาน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘มนุษย์’ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร คุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO ของ CREATIVE TALK จึงได้จับมือกับ QGEN Consultant บริษัทที่ปรึกษาด้าน People & Organization ของไทยเพื่อจัดงาน ‘People Performance Conference 2024 พัฒนาคน พัฒนาตน พัฒนาองค์กร’ หรือ PPC2024 ขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ในวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ภายในงานจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง JobThai สรุปมาให้ทุกคนแล้วในบทความนี้!
เต็มอิ่มกับการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์คนทำงาน ทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกอนาคต ความเป็นผู้นำ การบริหารคน ไปจนถึงจิตวิทยาในการพัฒนาองค์กร จากสปีกเกอร์ที่น่าสนใจถึง 10 เซสชัน แต่ละเซสชันจะมีประเด็นอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ในเซสชันนี้ คุณบีได้สรุปทิศทางของการทำงานในปี 2030 ให้เราฟังว่า
-
จะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นมากถึง 69 ล้านตำแหน่ง อย่างที่เราเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาก็มีตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีในอดีตมาก่อน เช่น พนักงานไลฟ์บนโซเชียลมีเดีย Youtuber หรือ TikToker ในอนาคตก็จะมีตำแหน่งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก แต่ตำแหน่งงานที่เคยมีในปัจจุบันก็จะหายไปด้วย 83 ล้านตำแหน่ง
-
คนทำงานทุก ๆ 16 คนจะมี 1 คนที่ต้องเปลี่ยนสายงาน
-
สายงานด้านสุขภาพ การศึกษา พลังงานสะอาด และ E-commerce จะยังมีพื้นที่ให้คนทำงานอยู่ แต่สายงานอื่น ๆ เช่น งานบริการ เกษตรกรรม และตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะน้อย (Low-skilled Labor) จะมีความเสี่ยงถูกทดแทนหรือมีความต้องการคนน้อยลง
-
AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น และการจัดการแรงงาน (Workforce Management) จะไม่ได้โฟกัสแค่แรงงานที่เป็นคนอีกต่อไป แต่จะรวมไปถึงแรงงานที่เป็นเทคโนโลยีด้วย
-
คนทำงานที่มีทักษะด้าน AI มีโอกาสได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 41%
-
การนำ AI มาช่วยในการทำงานจะแพร่หลายมากขึ้น แต่องค์กรก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม (Ethics) ในการใช้ AI ด้วย
-
อีก 5 ปี คนทำงานวัย Gen X จะมีจำนวนน้อยลง Gen Y จะขึ้นไปทำงานในส่วนของ Top Management และ Gen Z จะมีบทบาทมากขึ้นตามจำนวนที่เพิ่มเข้ามาในตลาดแรงงาน
ประเด็นเรื่อง Generation Gap หรือปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากช่องว่างระหว่างรุ่นกลายเป็นสิ่งที่เราพบเจอกันได้บ่อย ๆ ในโลกของการทำงานปัจจุบัน ดังนั้นทักษะ Intergenerational Literacy หรือทักษะการทำงานร่วมกับคนต่างรุ่นจึงเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรุ่นใหญ่หรือคนทำงานรุ่นใหม่ ต่างฝ่ายต่างต้องมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน พยายามเปิดใจและทำความเข้าใจอีกฝ่าย ไม่อย่างนั้นจาก Generation Gap จะกลายเป็น Generation War หรือสงครามระหว่างรุ่นเอาได้ นอกจากนี้คุณไอติมยังได้ฝาก 7 เช็กลิสต์คุณสมบัติของผู้นำที่ดีในยุคนี้เอาไว้ด้วย ได้แก่
-
ฟังให้กว้าง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม ๆ
-
พูดให้ชัด สื่อสารให้ชัดเจน ให้ผู้ฟังทุกคนเข้าใจสิ่งที่เราพูดในทิศทางเดียวกัน
-
ทำให้ดู การลงมือทำจะช่วยแสดงให้เห็นว่าเรามีการทำการบ้านมา สามารถปฏิบัติได้จริง
-
ยืดหยุ่นให้ได้ ในยุคที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผู้นำต้องรู้จักปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
-
ตามให้ทัน ทำตัวเองให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ จะได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตามกระแสโลกทัน
-
นำให้เป็น คนเป็นผู้นำต้องมีความรอบคอบ ไตร่ตรองสถานการณ์และตัดสินใจให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและถูกต้องจริง ๆ จากนั้นก็โน้มน้าวให้คนเห็นเหมือนเราให้ได้
-
ลุกให้เร็ว ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือเมื่อเราล้ม เราต้องรู้จักลุกขึ้นมาให้ไวแล้วเดินต่อไปข้างหน้า
Employee Value Proposition (EVP) คือสิ่งที่ทำให้พนักงานเลือกทำงานกับองค์กรปัจจุบัน โดยสิ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรอื่นไม่สามารถมอบให้กับพวกเขาได้ มีแค่องค์กรนี้เท่านั้นที่ทำให้เขาได้รับในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นถ้าองค์กรอยากรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ องค์กรก็ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรคือ EVP ของตัวเอง เช่น พนักงานมองว่าองค์กรของเราเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้คนได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ มีพื้นที่ให้ปล่อยของ ไม่ว่าจะเสนอไอเดียหรือโปรเจกต์อะไรไปก็ได้รับการตอบรับและซัปพอร์ตเสมอ ในขณะที่องค์กรอื่นไม่มีพื้นที่ตรงนี้ให้เขา เขาจึงเลือกทำงานกับเรา เมื่อองค์กรรู้แล้วว่าอะไรคือ EVP ก็ต้องรักษาจุดแข็งของตัวเองเอาไว้ และพยายามนำเสนอสิ่งนี้ออกไป สร้าง Employer Branding ให้คนภายนอกรับรู้ว่าองค์กรเรามีสิ่งนี้ จะได้ดึงดูดให้คนที่ให้คุณค่าในสิ่งเดียวกันอยากเข้ามาทำงานร่วมกับเราด้วย
ในเซสชันนี้จะเป็นการอัปเดตเทรนด์ของการทำงานโดยโฟกัสไปที่ทักษะของคนทำงาน ซึ่งคุณแท็ปสรุปให้เราฟังว่าในปี 2027 ทักษะกว่า 44% จะใช้ไม่ได้อีก และปี 2030 งานประเภท Text-task จำนวน 70% จะถูกทดแทนโดย AI ดังนั้นคนทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะมากขึ้น เน้นไปที่ 10 ทักษะสำคัญ ได้แก่
-
Analytical Thinking ทักษะการวิเคราะห์
-
Creative Thinking ทักษะการคิดนอกกรอบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
-
Self Awareness มีความตระหนักรู้และเข้าใจตัวเอง
-
Leadership ทักษะการเป็นผู้นำ
-
Lifelong Learning ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่หยุดเรียนรู้
-
Resilience ทักษะในการฟื้นตัวจากความล้มเหลว ล้มได้ แต่ต้องลุกให้ไว
-
Empathy มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
-
Design and User Experience ทักษะในการออกแบบ และความเข้าใจเรื่อง UX
-
AI & Big Data ทักษะด้าน AI และ Big Data
-
Technological Literacy ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี
ในเซสชันนี้ คุณจอมทรัพย์และคุณสุนทรได้มาอัปเดตเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคน (People) หรือที่ทำงาน (Place)
-
Place
คนทำงานมองหาออฟฟิศแบบ Smart & Sustainable Workplace ที่มีเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เช่น สามารถจองห้องประชุมและเชิญแขกได้ผ่านการแชตกับ AI, มีการนำเทคโนโลยี XR เข้ามาใช้ สามารถประชุมงานในระบบ Virtual Reality ได้, ออฟฟิศมีระบบซัปพอร์ตการทำงานแบบ Hybrid Workplace เช่น มี Hot Desks ให้พนักงานสามารถนั่งทำงานได้อย่างอิสระ
Imposter Syndrome คือภาวะที่เรารู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ดีไม่พอ หรือไม่ได้มีศักยภาพมากอย่างที่คนอื่นคิด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับคนทำงานหลาย ๆ คน คุณเล้งมองว่าภาวะนี้เกิดขึ้นจากความไม่สมดุลภายใน ซึ่งถ้าอิงตามหลักหยิน-หยาง เมื่อมีพลังลบมากเกินไป ก็ต้องแก้ไขด้วยการเติมพลังบวกเพื่อสร้างความสมดุลอีกครั้ง ดังนั้นแนวทางในการเอาชนะ Imposter Syndrome ก็คือการทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Routine เดิมของเรา เมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่เก่ง เรามีพลังลบ เราก็ต้องเติมพลังบวกเข้ามา หมั่นชมตัวเอง สร้างความมั่นใจให้ตัวเองบ่อย ๆ จะได้สร้างบาลานซ์ให้ใจเรากลับมาสมดุลเหมือนเดิม
ทุกวันในการทำงานมีความสำคัญ แต่การสร้างองค์กรให้แข็งแกร่งจะมี 3 วันที่คนเป็นผู้นำต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ได้แก่
-
Day 1 หรือวันแรกในการทำงาน เพราะเป็นวันที่ผู้บริหารใหม่ต้องเข้าไปเรียนรู้งานจริงและเริ่มต้นทำความรู้จักกับคนในทีมเพื่อสร้างความไว้วางใจ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักฟังและสำรวจความต้องการของพนักงาน มองปัญหาให้ออกว่าอะไรจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
-
Day 30 เป็นช่วงที่ผู้บริหารมีข้อมูลมากในระดับหนึ่งแล้วหลังจากผ่านการเรียนรู้งานมา 30 วัน เมื่อเริ่มเห็นภาพรวมในการทำงานแล้วก็ถึงเวลาที่ผู้บริหารจะต้องกำหนดเป้าหมาย วางแผนในการทำงาน รวมถึงตั้ง OKRs (Objective Key Results) ให้กับพนักงาน จากนั้นก็สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าองค์กรกำลังจะทำอะไร ก้าวไปทางไหน
-
Day 100 เมื่อเข้าสู่วันที่ 100 ซึ่งเป็นช่วงที่การทำงานต่าง ๆ เริ่มลงตัวแล้ว ก็ถึงเวลาขยับไปที่การสร้างวัฒนธรรมในการทำงาน เพื่อให้รูปแบบการทำงานกลายเป็น Way of Work ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว
Psychological Safety คือพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจที่ทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถพูดสิ่งต่าง ๆ ออกมาได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาต่อว่าหรือโจมตีเรา สาเหตุที่องค์กรย่ำอยู่กับที่ ไม่พัฒนาไปข้างหน้า คนเก่ง ๆ ลาออก อาจเป็นเพราะขาดพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานไม่กล้าเสนอไอเดียอะไรที่แตกต่างออกไป พอไป Workshop เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มาก็ไม่กล้านำมาใช้จริงเพราะไม่อยากทำอะไรที่ขัดแย้งกับแนวทางเดิมขององค์กร กลัวจะไปทำให้ใครไม่พอใจเข้า ดังนั้นถ้าองค์กรอยากเดินหน้าต่อก็ต้องเปลี่ยนวิธีการตอบสนองกับปัญหา เลิกโทษกันเวลาทำงานผิดพลาด แล้วเปลี่ยนมาขอบคุณที่เรามองเห็นปัญหาตรงหน้า ขอบคุณคนที่กล้าชี้ให้เห็นว่าตอนนี้การทำงานมีปัญหาอะไรอยู่ จะได้เข้าไปแก้ไขได้ถูกจุด เมื่อองค์กรมี Psychological Safety ให้พนักงาน ทุกคนกล้าที่จะลุกขึ้นพูด กล้าริเริ่มทดลองอะไรใหม่ ๆ องค์กรก็จะเดินหน้าต่อไปได้
วิกฤตเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยแล้วจะวนกลับมาทุก 10 ปี เมื่อเราไม่สามารถหนีวิกฤตเศรษฐกิจพ้น เราก็ควรหันมาวางแผนการเงิน และเตรียมรับมือให้พร้อมอยู่เสมอ โดยคุณถนอมและคุณโอมศิริแนะนำว่าคนทำงานควรมีรายรับมากกว่ารายจ่าย และควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน หากจะก่อหนี้ก็ควรก่อหนี้ดีที่ให้ผลประโยชน์กับเรา เช่น อสังหาริมทรัพย์ และไม่ควรมีหนี้เกิน 40-50% ของรายรับ เมื่อเริ่มออมเงินได้ประมาณนึงแล้วก็ควรรู้จักวางแผนเก็บเงินสำหรับการเกษียณ จะได้รู้ว่าเราต้องเก็บเงินเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ และสุดท้ายต้องรู้จักมองหาทางสร้างรายได้เพิ่มด้วย โดยอาจเลือกลงทุนในรูปแบบที่เราสนใจ
ในเซสชันนี้ คุณทอยได้ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ Stoic ปรัชญาที่จะช่วยพัฒนาให้เราเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยหลักการของ Stoic แบ่งเป็น 3 แกน ได้แก่
-
Live with Virtue หรือการใช้ชีวิตด้วยความดีงาม ซึ่งความดีงามประกอบไปด้วยความเฉลียวฉลาด (Wisdom), ความกล้าหาญ (Courage), ความยุติธรรม (Justice), และความพอประมาณ (Moderation)
-
Focus on Control หรือการโฟกัสกับสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 อย่าง นั่นคือสิ่งที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ปัจจัยภายนอกถือเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่มันจะไม่มีผลอะไรกับเราเลยถ้าจิตใจของเราเข้มแข็ง
-
Take a Responsibility หรือการรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ให้ยอมรับมัน อย่าโทษปัจจัยภายนอก แต่ให้มองว่าเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง ชีวิตของเรา เราต้องจัดการด้วยตัวเอง
นอกจากเซสชันบรรยายแบบจัดเต็ม 10 เซสชันแล้ว ภายในงาน PPC2024 ยังมี 3 Workshop เสริมความรู้และเทคนิคในการทำงานอีกด้วย ได้แก่
-
How to Brand Yourself as A Leader – คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ Founder และ Executive Coach จาก River Mersey Co., Ltd. ซึ่งเป็น Workshop ที่จะช่วยผู้บริหารค้นหาความเป็นผู้นำและสร้างจุดแข็งในรูปแบบของตัวเอง
-
Pomodoro Training จัดการงานกองโต แค่โฟกัสเพียง 25 นาที! – ดร. ชูศิลป์ เมธีไชยพงศ์ Pomodoro Technique Licensed Trainer คนแรกและคนเดียวของไทยและ ผู้เรียบเรียงหนังสือ Pomodoro Technique โดยใน Workshop นี้จะเป็นการสอนวิธีการบริหารเวลาด้วยเทคนิค Pomodoro หรือเทคนิคจับเวลาโฟกัสงาน 25 นาทีตามการทำงานของสมอง ซึ่งจะช่วยให้เรามีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
-
From Vision to Target Setting Workshop ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้ทำได้จริง – คุณอัครินทร์ เทพประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบกลยุทธ์จากบริษัทที่ปรึกษา MVP Consultant ใน Workshop นี้ ทุกคนจะได้เรียนรู้เทคนิคในการตั้งเป้าหมายให้สามารถทำได้จริงและ Framework ที่ช่วยในการวางแผน
นอกจากนี้ภายในงาน PPC2024 ยังมีการจัดกิจกรรมแจกรางวัลและกิจกรรมอื่น ๆ จากบูธต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น TCP, Benz, Gofive, Conicle, Tigersoft, ส.ขอนแก่น, Globish, HumenOS (IT-Cat), Urbanize, AIA, Mobile Connect, Phothalai Bangkok, At U Dental, 9 net, Solutions Impact และ Empathy sauce
ใครที่สนใจอยากฟังการบรรยายแต่พลาดงานนี้ไปก็ไม่เป็นไร เพราะ PPC2024 เปิดให้รับชมการบรรยายย้อนหลังในรูปแบบออนไลน์ได้ โดยสามารถเข้าไปซื้อบัตรเพื่อรับชมคลิปในราคา 990 บาทได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/PPC2024#WatchLater