สรุปประเด็นและเทรนด์ที่น่าสนใจจากงาน CTC2024

13/06/24   |   821   |  

 

 

 

งาน AP Thailand presents CREATIVE TALK CONFERENCE 2024 หรือ CTC2024 มหกรรมอัปเดตเทรนด์ความรู้ประจำปีสำหรับคนทำงานและคนทำธุรกิจกลับมาในธีม “Creative Generation” ที่จะพาทุกคนไปเจาะลึกการบริหารธุรกิจ การวางกลยุทธ์การตลาด การพัฒนาตัวเอง ไปจนถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้าง Creative Economy ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและ AI ซึ่งจัดขึ้น 2 วันเต็ม ณ ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 7-8 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา ภายในงานจะมีประเด็นหรือเทรนด์อะไรที่น่าสนใจบ้าง JobThai สรุปมาให้ทุกคนแล้วในบทความนี้!

 

ส่องเซสชันบรรยายที่น่าสนใจจากงาน CTC2024

จุใจกับเซสชันเสวนาและบรรยายเกี่ยวกับเทรนด์ที่คนทำงานและคนทำธุรกิจต้องรู้กว่า 60 เซสชัน นำทัพด้วยสปีกเกอร์ชั้นนำกว่า 100 ท่าน ทั้งวิทยากรไทยและต่างชาติ เซสชันไหนที่มีประเด็นน่าสนใจ JobThai สรุปเนื้อหามาให้แล้ว ไปดูกันเลย!

 

Creative Generation – คุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO & Founder จาก RGB72 และ CREATIVE TALK

ในเซสชันเปิดงาน คุณเก่ง คุณสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม ผู้ก่อตั้ง CREATIVE TALK ได้เล่าที่มาของ “Creative Generation” ธีมงานในปีนี้ให้เราฟังว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยเรามาตลอด สังเกตได้จากการทำแคมเปญหรือการทำคอนเทนต์ต่าง ๆ คนไทยมักมีไอเดียเจ๋ง ๆ หรือลูกเล่นใหม่ ๆ มานำเสนอและปรับใช้กับงานอยู่ตลอด ซึ่งการนำเอา Creativity มาใส่ในการทำงานและธุรกิจนี่แหละคือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้สิ่งที่เราทำได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ในยุคที่เรามีเทคโนโลยี AI และเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยแบ่งเบางานให้เรามากมาย อีกทั้งงานยังมีประสิทธิภาพจนบางคนอาจมองว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์เราหรือเปล่า แต่คุณเก่งก็มองว่าสิ่งหนึ่งที่แยกมนุษย์กับ AI ออกจากกันคือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ต่อให้เรามี AI ให้ใช้งาน แต่ถ้าเราไม่มีไอเดีย ไม่มี Input เอาไว้ป้อนให้กับเทคโนโลยีเหล่านี้ งานก็ออกมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุค Creative Generation แต่จะทำยังไงให้คนทำงานมี Creativity ล่ะ? คุณเก่งได้ฝากแนวทางเอาไว้ให้เรา 3 ข้อ

  • Create Engagement เราต้องทำให้คนในองค์กรมีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดีย สร้าง Psychological Safety หรือพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจให้เขารู้สึกกล้าที่จะพูดในสิ่งที่คิด กล้านำเสนอไอเดียต่าง ๆ

  • Open for Creativity เปิดรับความหลากหลายและความแตกต่างของทุกคนในองค์กรเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ

  • Embrace the Dreamer โอบรับและสนับสนุนคนที่เป็น ‘นักฝัน’ บางครั้งเวลาเราแชร์ไอเดียกันภายในองค์กร จะมีกลุ่มที่คอยขัดว่าทำไม่ได้หรอก ยากเกินไป ไม่เวิร์ก และกลุ่มที่ช่วยซัปพอร์ต ต่อให้ไอเดียดูเป็นไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ลองดูก่อน ช่วยกันหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะทำไอเดียนั้นให้เป็นจริงได้ยังไง เราต้องเพิ่มจำนวนของคนกลุ่มหลังให้มากขึ้นเพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้คนกล้าคิด กล้าทำ กล้าลองสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ

 

 

Half Year Trends

ในเซสชันนี้จะเป็นการพูดคุยอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และในอนาคตทิศทางของเทรนด์เหล่านี้มีแนวโน้มไปทางไหน โดยเทรนด์ที่หยิบมาเจาะลึกก็ครอบคลุมถึง 5 ด้าน ได้แก่ เทรนด์ความคิดสร้างสรรค์ เทรนด์การตลาด เทรนด์นวัตกรรม เทรนด์ธุรกิจและเศรษฐกิจ และเทรนด์การบริหารคน

จากการรวบรวมข้อมูลทั่วเอเชีย พบว่ามี 4 เทรนด์ที่น่าจับตา ได้แก่

  • AI-powered Dreamscapes การนำ Generative AI มาใช้สร้างสรรค์ผลงานครีเอทีฟที่มีสไตล์แฟนตาซี เหนือจินตนาการ หลุดจากความเป็นจริง
  • Sustainable Aesthetics การนำแนวคิดสนับสนุนความยั่งยืนมาใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน

  • Nostalgia with a Twist การนำไอเดีย สไตล์ หรือเทรนด์เก่า ๆ มาผสมผสานในการสร้างผลงานเพื่อดึงเอาความรู้สึก Nostalgia หรือการหวนรำลึกถึงวันวานขึ้นมาอีกครั้งในแบบที่ต่างไปจากเดิม

  • Social Fragmentation หรือการแบ่งกลุ่มแยกย่อยของสังคม ซึ่งถือเป็นเทรนด์ที่เรียกได้ว่าน่าโฟกัสมากที่สุดในช่วงนี้ โดยปกติแล้วเวลาทำการตลาด เราต้องมีการทำ Segmentation เพื่อแบ่งกลุ่มเป้าหมายว่าเราจะเจาะตลาดกลุ่มไหน และเรามักคิดว่าเราแบ่งกลุ่มโดยละเอียดแล้ว แต่ในความเป็นจริง สังคมมีการแบ่งกลุ่มยิบย่อยมากกว่าที่เราคิด โลกนี้มีตลาด Niche เยอะอย่างที่เราคาดไม่ถึง หรือแม้แต่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอง จากที่เคยมีแค่ไม่กี่แพลตฟอร์ม ตอนนี้ก็แตกแขนงออกไปอีกหลากหลาย การทำแคมเปญใหญ่ ๆ เพื่อเจาะกลุ่ม Mass จึงอาจไม่ได้ผลเสมอไปอีกแล้ว เราควรเริ่มหันมาสนใจทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่เป็น Niche หรือมีความชอบความสนใจเฉพาะตัวมากขึ้น

 

  • Marketing – คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร Chief Customer Officer จาก SCBX และ คุณเจนคณิต รุจิรโมรา Chief Strategy Officer จาก Leo Burnett Thailand Publicis Groupe Thailand

    • ในช่วงที่ผ่านมา เรามักให้ความสำคัญกับ Data-driven Marketing หรือการทำการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล มีการนำ MarTech มาใช้ มีการวิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ และปรับแนวทางให้เข้ากับอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มนั้น ๆ จนสุดท้ายแบรนด์ของเราก็กลมกลืนไปกับแบรนด์อื่น ๆ เนื่องจากทุกแบรนด์ต่างอ้างอิง Data ที่ได้มาจากแพลตฟอร์มเดียวกัน กลายเป็นว่าไม่มีแบรนด์ไหนที่แตกต่างหรือฉีกออกมา ทุกแบรนด์ทำอะไรไปในทางเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นเวลาทำการตลาด เราต้องระวังตกหล่มอัลกอริธึมและทำการตลาดแบบไหลตาม ๆ กัน

    • แบรนด์หันมาทำการตลาดแบบ D2C (Direct to Consumer) หรือการขายตรงไปที่ลูกค้ามากขึ้นเนื่องจากต้องการ First-party Data หรือข้อมูลของลูกค้าโดยตรงแทน เน้นการปิดการขายให้ไวจนนำไปสู่ Price War หรือการขายตัดราคากันในที่สุด เมื่อแต่ละแบรนด์ต่างเน้นไปที่การขายก็อาจมองข้ามเรื่องของการทำ Branding ไป ส่งผลให้ธุรกิจไม่ยั่งยืน ดังนั้นแบรนด์ต้องไม่มองข้ามการวางรากฐาน สร้าง Branding ให้กับแบรนด์ของตัวเองด้วย

 

 

  1. AI TRiSM การจัดการความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง และความปลอดภัยของ AI

  2. CTEM (Continuous Threat Exposure Management) การจัดการการคุกคามทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

  3. Sustainable Technology เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

  4. Platform Engineering การสร้าง Self-service Platform ให้กับนักพัฒนา

  5. AI-Augmented Development การใช้ AI เพื่อช่วยนักพัฒนาสร้างซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ

  6. Industry Cloud Platform ระบบคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม

  7. Intelligent Applications แอปพลิเคชันอัจฉริยะที่มีระบบ AI ปรับเปลี่ยนการใช้งานตาม User ได้

  8. Democratized Generative AI การใช้ AI สร้างคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และเป็นกระแสนิยม

  9. Augmented Connected Workforce การสร้างมูลค่าที่ได้มาจากแรงงานมนุษย์ให้เหมาะสมที่สุด

  10. Machine Customers ลูกค้าจะกลายเป็นระบบ AI มากขึ้น เช่น บอตกดบัตรคอนเสิร์ตหรือสินค้า Limited ต่าง ๆ

โดยสรุปแล้ว ภาพรวมของเทรนด์ด้านนวัตกรรมค่อนข้างหนักไปทางเทคโนโลยี AI และการจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้ AI เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์หรือข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากเทรนด์ด้าน AI แล้ว เทรนด์เรื่องความยั่งยืนก็ยังคงเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอยู่

 

  • Business and Economy – คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO & Co-Founder จาก Ookbee และ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ CEO จาก PaySolutions, Creden.co, Gash.ai

    • ในประเทศไทย ธุรกิจออนไลน์ไม่ใช่ธุรกิจทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นธุรกิจช่องทางหลัก ซึ่งใครที่ลงมาเล่นในสนามนี้ทีหลังถือว่าได้เปรียบ สามารถเข้ามาทำธุรกิจในช่องทางนี้ได้เลยโดยไม่ต้องใช้เงินในการลงทุนมาก เนื่องจากมีแบรนด์ที่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจออนไลน์ สร้างฐานลูกค้าและสร้างความคุ้นชินในการซื้อ-ขายผ่านช่องทางนี้ให้คนไทยก่อนแล้ว เช่น Shopee, Lazada

    • แบรนด์ไหนที่ยังไม่ลงมาทำธุรกิจออนไลน์ถือว่าเสี่ยงมาก ส่วนแบรนด์ไหนที่ทำธุรกิจออนไลน์อยู่แล้ว ให้ลองขยับขยายไปยังตลาดต่างประเทศดู เช่น ปกติขายสินค้าผ่าน Shopee ประเทศไทยก็อาจลองขยายไป Shopee มาเลเซียด้วย รวมถึงขยายกลยุทธ์มาทำ Affiliate Marketing ด้วยอีกทาง

    • ธุรกิจที่เป็นเทรนด์ในยุคนี้ ได้แก่ E-Commerce, Logistics, Food Delivery

    • การลงทุนในยุคนี้มีตัวเลือกหลากหลายมากขึ้น การลงทุนในต่างประเทศทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อน มีแพลตฟอร์มและช่องทางเยอะขึ้นกว่าเดิม

    • คนไทยใช้จ่ายกับบริการออนไลน์ต่างประเทศ เช่น Netflix, Spotify, iCloud, YouTube Premium สูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งพอมองในภาพกว้าง ถือว่าเม็ดเงินในไทยไหลออกไปนอกประเทศเยอะมาก ทำให้ประเทศเราขาดดุล ถึงเวลาที่เราต้องหันมาพัฒนาเทคโนโลยีสร้างแพลตฟอร์มของไทย หรือหาทางดึงให้บริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในไทยแทน เพื่อรักษาเม็ดเงินให้อยู่ในประเทศ ไม่ไหลออกไปภายนอก ไม่งั้นเศรษฐกิจไทยจะเปราะบางจนอยู่ในจุดอันตราย

    • แม้ยุคนี้จะเป็นยุคของเทคโนโลยี AI แต่ธุรกิจที่นำ AI เข้ามาใช้งานในระดับองค์กรจริง ๆ ยังมีอยู่น้อย เพียงแค่ 3-4% เท่านั้น ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาธุรกิจเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างที่คิด ต้องพยายามนำ AI มาช่วยในการทำงานวงกว้างมากขึ้น

    • ความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศไทยส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ซึ่งหากรอการเมืองนิ่งก็อาจไม่ทัน ภาคเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแทนรัฐ

 

 

  • People – คุณประสาน อิงคนันท์ Founder เพจมนุษย์ต่างวัย และ คุณโศรดา ศรประสิทธิ์ CEO จาก บริษัท ปับลิซิส กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

    • แม้จะผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ไปแล้ว แต่ Work Environment หรือสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ หลายบริษัทมีการปรับลดพื้นที่ให้เข้ากับการทำงานรูปแบบ Hybrid Working บางออฟฟิศพนักงานไม่ได้มีโต๊ะส่วนตัวเป็นของตัวเอง แต่เป็น Hot Desks ที่สามารถเลือกที่นั่งได้ตามใจชอบแบบ First come, first served

    • ปัจจุบัน Gen Z เข้ามาในโลกของการทำงานมากขึ้น ประเด็นความขัดแย้งระหว่างคนต่างวัยหรือปัญหาด้าน Generation Gap มีมาให้เห็นเรื่อย ๆ แต่อย่ามัวเสียเวลาทะเลาะกันเรื่องเจนเลย เพราะต่อให้เป็นคนต่างวัยกัน แต่จริง ๆ แล้วเราอาจจะมีมุมมองบางเรื่องที่เหมือนกัน มี Common Values แบบเดียวกันก็ได้

    • คนทำงานให้ความสำคัญกับ Career Journey มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่องค์กรต้องทำคือสื่อสารกับพนักงานให้ชัดเจน แสดงให้ Talent หรือคนทำงานที่มีความรู้ความสามารถเห็นคุณค่าในการทำงานกับองค์กรของเรา 

หัวใจในการรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ คือผลตอบแทนที่เหมาะสม (Fair Pay) สวัสดิการ และเรื่องของการเรียนรู้ ต้องมีการสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาความรู้และทักษะของตัวเองอยู่เสมอ

 

 

Essential Skills for the Future of Thailand – คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

“ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีอาชีพหรือทักษะอะไรบ้างที่เป็นที่ต้องการ?” เป็นคำถามที่ใครหลาย ๆ คนสงสัย เพราะในยุคนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมาไวไปไว ทักษะบางอย่างที่เคยเป็นเทรนด์ ใคร ๆ ก็มองหา ในอนาคตอาจกลายเป็นทักษะทั่วไปไม่ได้โดดเด่นก็ได้ สำหรับคำถามนี้ คุณพิธามองว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายและแผนในการพัฒนาประเทศ ต้องมี Framework ก่อนว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทยคืออะไร ความเสี่ยงและโอกาสมีอะไรบ้าง เมื่อได้แผนการพัฒนาประเทศที่สามารถยึดเป็นเค้าโครงหลักได้แล้วก็พัฒนาทักษะตัวเองโดยอิงจากแผนนั้น

 

 

ซึ่งหลังจากทำ SWOT Analysis วิเคราะห์ความเป็นไปได้จากสถานการณ์ของประเทศไทยและปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว คุณพิธาก็ได้แชร์ 30 อาชีพที่มองว่าจะเป็นที่ต้องการในอนาคตตามคอนเซปต์ ‘เศรษฐกิจ 3 สี’ ได้แก่

  1. Green Economy กลุ่มอาชีพที่ต่อยอดมาจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เช่น ไฟป่า น้ำท่วม

  2. Silver Economy กลุ่มอาชีพที่ต่อยอดมาจากปัญหาสังคมผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียง

  3. Blue Economy กลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำ เช่น ภาวะขาดแคลนน้ำในจังหวัดภูเก็ตหรือเกาะต่าง ๆ

 

 

ดูแลหัวใจไม่ให้ Toxic: เคล็ดลับการเอาตัวรอดและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่คนเป็นพิษ – พ.ญ.พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์นักแต่งเพลง ที่ปรึกษาด้าน people & mindful leadership

ในเซสชันนี้ พ.ญ.พิยะดา หรือหมอเอิ้นได้มาแชร์ 4R Framework หรือวิธีการรับมือสำหรับคนทำงานที่ต้องเผชิญหน้ากับ Toxic People หรือคนที่มีพฤติกรรมเป็นพิษต่อใจในที่ทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่

  1. Recognize (รู้เท่าทัน)

เราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ต่อให้โกรธหรือไม่พอใจก็ไม่ควรเอาอารมณ์ไปลงกับคนอื่น ไม่อย่างนั้นเราเองก็จะกลายเป็นคน Toxic ด้วยเช่นกัน นอกจากรู้ตัวเองแล้ว เราต้องรู้เขาและรู้สถานการณ์ด้วย พยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายแสดงออกมา และพิจารณาว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง จะได้หาทางรับมือได้ถูกต้อง

  1. Respond (ตอบสนองอย่างเหมาะสม)

มีสติในการตอบรับ ลองวิเคราะห์ดูว่าสถานการณ์ตรงหน้าเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ สามารถปล่อยได้มั้ย หรือต้องเผชิญหน้าจริงจัง ถ้าเผชิญหน้าจะใช้วิธีไหน ต้องเข้าหาแบบอ้อม ๆ หรือสามารถเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมาได้

  1. Refocus (เปลี่ยนโฟกัส)

เมื่อเจอคนที่มีพฤติกรรม Toxic ให้เราเรียนรู้จากเขาว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เราไม่ควรทำ จากนั้นย้ายมาสนใจในสิ่งที่เราควบคุมได้ อะไรที่เราควบคุมไม่ได้ก็ปล่อยวาง บอกตัวเองว่าช่างมัน

  1. Recharge (เติมพลัง)

พยายามมองหาดูว่ากิจกรรมอะไรบ้างที่ช่วยให้เรามีความสุข ทำแล้วสบายใจ รู้สึกสงบ จากนั้นก็เติมพลังตัวเองกับสิ่งเหล่านั้น

 

Decoding the Talent Magnet - How to make your organization sexy again through creative employer branding: กลยุทธ์สื่อสารอย่างไร ให้ได้คนเก่งมาทำงานด้วย – คุณอภิชาติ ขันธวิธิ CEO จาก QGEN Consultant

ในเซสชันนี้ คุณบี อภิชาติ ได้มาแชร์ 3 แนวทางในการทำให้องค์กรของเรากลายเป็นองค์กรที่เซ็กซี่ น่าดึงดูดในสายตาของ Talent ได้แก่

  1. องค์กรต้องระบุให้ได้ก่อนว่าอยากมีความสัมพันธ์แบบไหนกับพนักงาน ความสัมพันธ์ระยะสั้นหรือระยะยาว จากนั้นค่อยกำหนดสวัสดิการหรือเสนอ Offer ที่เหมาะสมให้กับเขา โดยความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกตำแหน่ง อย่างพนักงานขายเป็นตำแหน่งที่มีอัตราการลาออกสูง เหมาะกับความสัมพันธ์ระยะสั้น ถ้าเราเสนอการดูแลและสวัสดิการในระยะยาวให้ก็อาจไม่ตอบโจทย์เขา สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องมองว่าพนักงานคือลูกค้า และตำแหน่งงานในบริษัทคือสินค้า จากนั้นก็คิดหาวิธีต่อว่าจะทำยังไงให้ลูกค้า (พนักงาน) สนใจสินค้า (ตำแหน่งงานว่างหรือองค์กร) และอุดหนุนสินค้าของเราต่อเรื่อย ๆ (ไม่ลาออกจากบริษัท)

  2. องค์กรต้องทำความเข้าใจว่าลูกค้าคือใครและคู่แข่งคือใคร ลองดูว่าบริษัทอื่น ๆ เขาใช้วิธีไหนในการดึงดูด Talent เข้าองค์กร หรือลองพูดคุยสัมภาษณ์พนักงานเพื่อรวบรวมข้อมูล หา Insight ดูว่าอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรา จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาได้และการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานในข้อแรกมาวิเคราะห์รวมกันเพื่อหา Unique Selling Point หรือจุดขายขององค์กร (อย่าลืมเช็กด้วยว่าจุดแข็งที่เราหาเจอนี้ใช่จุดขายจริง ๆ หรือเปล่า)

  3. เมื่อเรารู้แล้วว่าอะไรคือจุดขายที่โดดเด่นขององค์กร ก็นำเสนอสิ่งนี้ออกไปภายนอก ถ้าเราเข้าใจลูกค้ามากพอและนำเสนอในสิ่งที่เขาอยากได้จริง ๆ เราก็จะดูเป็นองค์กรที่เซ็กซี่และน่าทำงานด้วยในสายตาของเขา

 

 

Business Next Chapter: Secret to define The Present and Design The Future – คุณแซม ตันสกุล Managing Director จาก Krungsri Finnovate และ คุณพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี Founder & CEO จาก ‘Smart ID Group’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘anitech’

ในเซสชันนี้คุณแซมและคุณพิชเยนทร์ได้มาแชร์ประเด็นที่น่าสนใจในการทำธุรกิจ ได้แก่

  • สิ่งที่คนทำธุรกิจควรสนใจ: สถานการณ์โลก เหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ อย่างการเลือกตั้งหรือสงคราม เพราะปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบมายังธุรกิจของเราต่ออีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ AI ด้วยที่ควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น เราต้องรู้จักเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้และนำมาใช้แบ่งเบาภาระ ลดเวลาในการทำงานและต้นทุนในการทำธุรกิจลง

  • สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำในช่วงนี้: อย่าเป็นเจ้าโปรเจกต์ที่ทำธุรกิจทุกอย่าง เลือกโฟกัสที่อย่างใดอย่างหนึ่งให้เต็มที่ หาให้เจอว่าเรามีดีตรงไหน แข็งแกร่งด้านไหน แล้วสู้ในการทำสิ่งนั้นต่อ อย่าจับปลาหลายมือ 

  • นิยามของ Business Next Chapter: ธุรกิจคือเกมยาว เป็นเกมชีวิต ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) พยายามมองสิ่งต่าง ๆ ในระยะยาว เราสามารถทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้แต่ต้องวางแผนจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ดี อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของ Sustainability ต้องรู้จักปรับตัว ออกแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดสนับสนุนความยั่งยืน

  • สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเลิกทำ: เลิกตัดสินใจจาก Gut Feeling หรือเซนส์ความรู้สึกส่วนตัว วิ่งด้วยความคิดตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดู Data ประกอบ เอาข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจด้วย

  • สิ่งที่คนทำธุรกิจต้องระวัง: ระวังตัวเอง อย่ามองว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการ อยู่จุดสูงสุดจนเผลอปิดกั้นความคิด ต้องมี Open Attitude รู้จักฟังเสียงลูกน้องและคนอื่น ๆ ด้วย

 

 

ใครที่สนใจฟังเนื้อหาในเซสชันอื่น ๆ หรือใครที่พลาดโอกาสเข้าร่วมงานนี้ไป สามารถซื้อบัตรเพื่อรับชมทุกเซสชันย้อนหลังในรูปแบบออนไลน์ได้ทาง https://www.zipeventapp.com/e/CTC2024 ตั้งแต่วันนี้ - 9 ธันวาคม 2024

tags : jobthai, ctc2024, creative talk conference 2024, economy, คนทำงาน, งาน, การทำงาน, what’s new, ctc, creative talk, creativity, innovation, business, marketing, people, leadership, trends, trend, สัมมนา, อัปเดตเทรนด์, เทรนด์การทำงาน, พัฒนาตัวเอง, บริหารองค์กร, บริหารคน, เคล็ดลับการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม