เราทุกคนต้องเจอกับคนใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานที่ต้องร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานคนใหม่ หรือลูกค้า หรือการเจอเพื่อใหม่ ๆ ในชีวิตประจำวัน
ซึ่งการที่เราจะกลายเป็นคนรู้จักที่พูดคุยกันได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจก็ต้องเกิดจากการเริ่มต้นพูดคุยทำความรู้จักกันทั้งนั้น แต่ปัญหาที่หลายคนเจอก็คือ เราควรจะเริ่มต้นบทสนทนากับคนเหล่านั้นยังไงดี
แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะ JobThai มีวิธีฝึกสร้างบทสนทนากับคนที่เพิ่งรู้จักมาแนะนำ เพื่อช่วยให้คุณกล้าที่จะพูดคุยกับคนอื่น และเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ ๆ มากขึ้น
- ความกลัวที่จะผิดพลาด คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่กล้าเริ่มต้นบทสนทนา วิธีที่ดีที่สุดคือ เริ่มชวนคนรู้จักคุยก่อน โดยการเลือกหัวข้อสนทนาที่กลาง ๆ เพื่อลดความประหม่า และการกลัวที่จะผิดพลาด
- เริ่มต้นบทสนทนาด้วยเรื่องที่คุณสนใจ ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจมากขึ้น เพราะคุณมีข้อมูลในเรื่องนั้น
- อย่าเอาแต่พูดเรื่องของตัวเอง ให้ลองหยิบเอาเรื่องราวรอบตัวมาเป็นประเด็นในการคุยบ้าง
- อย่ายึดบทสนทนาไว้คนเดียว เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กับคุณด้วย
|
|
ทำไมเรามักจะคิดไม่ออกว่าจะพูดอะไรดี?
ก่อนจะไปดูวิธีการสร้างบทสนทนา อย่างแรกต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าอุปสรรคที่ขัดขวางเราคืออะไร
คำตอบก็คือ “ความคิด” ของเรานั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราไม่กล้าเริ่มต้นบทสนทนา และความคิดที่ส่งผลต่อการสร้างบทสนทนาคือ “ความกลัว” กลัวว่าเรื่องที่พูดออกไปจะผิดพลาด ทำให้เสียภาพลักษณ์ จนไม่พูดเรื่องอะไรออกไปจนกว่าจะไตร่ตรองดีแล้วว่าสิ่งที่จะพูดมันถูกต้อง และทำให้ดูดีในสายตาคนอื่น ๆ แต่กว่าเราจะมั่นใจได้ว่ามันถูกต้อง ก็อาจจะสายเกินกว่าจะเริ่มบทสนทนาแล้ว
1. เริ่มต้นด้วยหัวข้อกลาง ๆ และพูดออกไปเลย ไม่ต้องกลัวผิดพลาด
วิธีแรกที่ง่ายที่สุดก็คือลองฝึกกับคนที่เรารู้จักก่อน เช่น เริ่มชวนคนรู้จักพูดคุยก่อน โดยเลือกหัวข้อกลาง ๆ ขึ้นมาคุย เช่น หาร้านอาหารสำหรับมื้อกลางวัน หรือ สภาพอากาศ การฝึกกับคนรู้จักก่อนจะทำให้ไม่ประหม่าและไม่กลัวความผิดพลาด ที่สำคัญคือไม่ต้องห่วงภาพพจน์ของตัวเองด้วย
2. เริ่มต้นด้วยการพูดเกี่ยวกับสิ่งเราสนใจ
การเริ่มชวนคุยด้วยเรื่องที่เราสนใจเป็นอีกวิธีสำหรับคนที่อยากฝึกการเริ่มต้นบทสนทนา เพราะเราจะมีข้อมูลเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้ว และมากพอที่จะทำให้เราชวนคนอื่นคุยได้อย่างเต็มที่ และไม่ต้องมานั่งกังวลว่าสิ่งที่เราพูดออกไปจะผิดพลาด และการที่เราเริ่มแสดงออกว่าสนใจบางสิ่งบางอย่าง คนอื่น ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกันกับเราก็จะเข้ามาร่วมวงสนทนากับเราเอง
การฝึกในขั้นนี้จะยิ่งง่ายขึ้น ถ้าสถานการณ์ที่เราต้องเริ่มบทสนทนาเป็นสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจ เช่น เราสนใจเรื่องการทำขนม แล้วไปสมัครคอร์สเรียนทำขนมสั้น ๆ หนึ่งคอร์ส เมื่อเราต้องทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนใหม่นี้ เราก็สามารถนำหัวข้อคัพเค้กมาชวนคุยได้
3. เริ่มต้นได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
เวลาที่จะต้องเริ่มคุยกับคนที่ไม่รู้จัก คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะพูด “เรื่องของตัวเอง” ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องราวทั้งชีวิตของเรามาพูดให้คนอื่นฟังเพื่อดึงการสนทนาให้ยาวออกไป แต่เราสามารถหาหัวข้อสนทนาได้จากสิ่งรอบ ๆ ตัว เช่น เรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับคนรู้จัก เรื่องที่เคยดูหรือฟังจากวิทยุหรือโทรทัศน์ หรืออาจเลือกเรื่องที่เคยได้ยินอีกฝ่ายพูดถึง ที่สำคัญอย่ายึดบทสนทนาไว้ที่ตัวเองคนเดียว เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวบางอย่างกับเราบ้าง เทคนิคนี้จะทำให้เรากับเขาเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว
สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นบทสนทนาก็คือเราต้องเรียนรู้ที่จะหยิบหัวข้อบทสนทนามาใช้อย่างรวดเร็ว และอย่าสร้างบรรยากาศชวนอึดอัดด้วยความเงียบ ประโยชน์ของการฝึกบทสนทนานี้ นอกจากจะทำให้หาเพื่อนใหม่ได้ง่ายแล้วยังช่วยให้เราสร้าง Connection สำหรับการทำงานได้ดีอีกด้วย
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่
ที่มา
lifehack.org