หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงโลกของการทำงานไปตั้งแต่ปี 2020 ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานให้พนักงาน Work from Home แทนการเข้าออฟฟิศ การเปลี่ยนวิธีสัมภาษณ์งานมาเป็นแบบออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการเอาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อให้การทำงานทางไกลสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น
เวลาผ่านมา 3 ปี สถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบาดก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายลง แต่แนวทางการทำงานที่เปลี่ยนแปลงนี้กลับกลายเป็น New Normal ที่ทำให้ชีวิตของคนทำงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แล้วในปี 2023 มีเทรนด์การทำงานอะไรบ้างที่ ต้องอัปเดตหรือเตรียมรับมือ JobThai รวบรวมเทรนด์ที่น่าสนใจมาฝาก
การ Work from Home ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงได้แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้ไม่ได้เข้าออฟฟิศไปเจอหน้ากัน งานก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ถึงจะมีติดขัดบ้างในช่วงแรก แต่หลาย ๆ บริษัทก็ได้นำเครื่องมือเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Communication Tools สำหรับติดต่อสื่อสารภายในองค์กร หรือ Task Management Tools ที่ช่วยในการติดตามและจัดการงานต่าง ๆ
เมื่อการทำงานทางไกลมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สะดวกขึ้น ประกอบกับความยืดหยุ่นที่ไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้าไปออฟฟิศและเสียเวลาเดินทางบนท้องถนนที่คาดเดาไม่ได้ พนักงานมีเวลาพักผ่อนและเวลาส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงบางคนยังอาจมี Productivity เพิ่มขึ้นอีกด้วย คนทำงานก็เลยหันมาให้ความสำคัญกับ Work-life Balance กันมากขึ้นและมองหาองค์กรที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน จนอาจเรียกได้ว่าจำนวนวันที่ต้องเข้าออฟฟิศได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คนใช้พิจารณาว่าจะทำงานกับบริษัทนั้น ๆ ดีหรือไม่
เมื่อความต้องการของคนทำงานเปลี่ยนไป ฝั่งองค์กรเองก็ต้องปรับตัวตาม อย่างที่เห็นว่าถึงแม้บริษัทหลาย ๆ แห่งจะมีนโยบายให้พนักงานทยอยกลับเข้าออฟฟิศหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่อนคลายลงแล้ว แต่ก็ไม่ได้ให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน ทว่าเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ Hybrid Working ที่ให้พนักงานเข้าออฟฟิศสลับกับการทำงานที่บ้านแทน ซึ่งนโยบายการทำงานในรูปแบบนี้ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทรนด์การทำงานแบบ Hybrid Working กำลังเป็นที่นิยมในองค์กรสมัยใหม่และหมู่คนทำงานจริง ๆ
เมื่อ Hybrid Working ได้กลายเป็น New Normal ของการทำงาน สิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาต่อไปก็คือลักษณะของออฟฟิศนั้นตอบโจทย์การใช้งานของพนักงานมากแค่ไหน และคุ้มค่ากับการลงทุนขององค์กรหรือไม่ เพราะการเช่าออฟฟิศไว้รองรับพนักงานย่อมมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าที่ ค่าไฟ และค่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เมื่อพนักงานไม่ได้เข้ามาใช้งานสถานที่ทุกคนและทุกวันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ก็อาจถึงเวลาที่องค์กรต้องคำนวณดูอย่างจริงจังว่าพนักงานในบริษัทเข้าออฟฟิศกันบ่อยแค่ไหน และในการเข้าออฟฟิศแต่ละครั้งมีพนักงานเข้าจำนวนกี่คน วัตถุประสงค์ในการเข้ามาใช้งานคืออะไร
หากวัตถุประสงค์ในการใช้งานออฟฟิศส่วนใหญ่คือการเข้ามาประชุมหรือทำงานร่วมกัน ก็ต้องดูต่อว่าออฟฟิศของเรามีห้องประชุมหรือพื้นที่ที่ตอบโจทย์การใช้งานในลักษณะนี้มากพอหรือยัง ถ้าปรับเปลี่ยนรูปแบบโต๊ะทำงานจากที่ประจำของใครของมันมาเป็นแบบ Hot Desk หรือการจัดวางโต๊ะเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนในบริษัทสามารถใช้งานได้ รวมถึงเพิ่มจำนวนห้อง Meeting Room และ Conference Room ที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการประชุมเพียบพร้อม เช่น จอภาพขนาดใหญ่ หรือกล้องสำหรับ Video Call จะเหมาะกว่ารึเปล่า
นอกจากการออกแบบลักษณะของออฟฟิศแล้ว องค์กรอาจต้องพิจารณาดูด้วยว่าขนาดของออฟฟิศในปัจจุบันใหญ่เกินความจำเป็นไหม ถ้าพนักงานไม่ได้เข้ามาใช้งานออฟฟิศเต็มที่ 100% ก็อาจถึงเวลามองหาสำนักงานที่มีพื้นที่เล็กลงเพื่อลดต้นทุนในการรองรับพนักงาน หรือถ้าขนาดเหมาะสมดีแล้วก็อาจลองพิจารณาเรื่องการรีโนเวทหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับการทำงานมากขึ้น
ในยุคที่องค์กรหลาย ๆ แห่งได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบ Hybrid Working หรือเปิดรับพนักงานทางไกลที่ทำงานแบบ Remote Working ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ โอกาสที่พนักงานจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมองค์กรก็ลดน้อยลงตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ สำหรับพนักงานเก่าที่ทำงานมานาน อยู่กับองค์กรมาตั้งแต่ยังทำงานแบบ On-site ก็อาจคุ้นเคยกับองค์กรดีอยู่แล้ว แต่สำหรับพนักงานที่เข้ามาใหม่และต้องพบเจอกับการทำงานแบบ Remote หรือ Hybrid ไม่ได้เข้าออฟฟิศบ่อย ๆ ก็อาจไม่มีโอกาสได้สัมผัสความเป็นองค์กรมากนัก รวมถึงอาจรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว ไม่สนิทสนมกับพนักงานคนอื่น ๆ ในบริษัท ส่งผลให้ Employee Engagement หรือการมีส่วนร่วมของพนักงานลดลงและรู้สึกผูกพันกับบริษัทน้อยลงไปด้วย
ดังนั้นเมื่อองค์กรเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน สิ่งที่ HR ต้องทำการบ้านคือการมองหาวิธีที่ช่วยให้พนักงานได้สัมผัสวัฒนธรรมขององค์กรผ่านการทำงานรูปแบบใหม่ เพื่อช่วยไม่ให้วัฒนธรรมองค์กรจางหายไป โดยอาจปรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการทำงานในรูปแบบนี้มากขึ้น เช่น การเตรียม Onboarding เพื่อต้อนรับพนักงานใหม่ในรูปแบบออนไลน์ การปรึกษากับหัวหน้าทีมต่าง ๆ เพื่อวางแผนการสร้างความสัมพันธ์ภายในทีม (Team Building) หรือการมองหากิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในบริษัททั้งภายในทีมและต่างทีม เพื่อช่วยให้พนักงานรู้สึกคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและความเป็นองค์กร รวมถึงรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่แปลกแยกกับคนอื่น ๆ ในบริษัท
สถานการณ์ของโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาบวกกับพิษเศรษฐกิจที่ทำให้เงินเฟ้อจนสินค้าต่าง ๆ พากันขึ้นราคาส่งผลให้คนทำงานหลาย ๆ คนเกิดความเครียดสะสมและรู้สึกเป็นกังวลกับความไม่แน่นอน เป็นห่วงความเป็นอยู่ของตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งในแง่สุขภาพกายและสุขภาพจิต ดังนั้น Well-being Program หรือการมีสวัสดิการที่ส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานที่นอกเหนือจากสวัสดิการด้านสุขภาพทั่ว ๆ ไป เช่น ประกันสุขภาพหรือการตรวจสุขภาพประจำปี จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่องค์กรควรให้ความสำคัญ
โดยองค์กรอาจสังเกตดูความต้องการของพนักงานในบริษัทหรือทำแบบสอบถามว่าอยากให้มีสวัสดิการในส่วนไหนเพิ่ม เช่น สวัสดิการปรึกษาจิตแพทย์หรือพูดคุยนักจิตบำบัดสำหรับพนักงานที่ซึมเศร้าหรือมีปัญหาด้านจิตใจ สวัสดิการยืมเก้าอี้หรือโต๊ะทำงานแบบ Ergonomicsที่ดีต่อสุขภาพ สวัสดิการค่าวัคซีนโควิด-19 หรือสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนการเงินในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การมีสวัสดิการที่ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของพนักงานนอกจากจะช่วยสร้างความรู้สึกดี ๆ ให้กับพนักงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน และทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร อยากทำงานกับองค์กรนานขึ้นอีกด้วย
ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด หลาย ๆ บริษัทได้มีนโยบายปลดพนักงานออก ทำให้คนทำงานต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ เพื่อหางานและสมัครงาน ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การทำงานหลาย ๆ อย่างถูก AI (Artificial Intelligence) หรือระบบ Automation เข้ามาแทนที่ การแข่งขันในตลาดแรงงานจึงทวีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมาตรฐานการคัดเลือกพนักงานเองก็สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะองค์กรย่อมต้องมองหาพนักงานที่มีทักษะโดดเด่น มาทำงานที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีทำงานแทนได้จริง ๆ ผลก็คือแม้กลุ่มคนหางานจะได้งานตามที่หวังแล้ว แต่หลาย ๆ คนก็ยังสัมผัสได้ถึงความไม่แน่นอนในอนาคต และพยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
ดังนั้นเรื่องของการพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และการเพิ่มทักษะใหม่ (Reskill) จึงกลายเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะปัจจัยหนึ่งที่พนักงานใช้พิจารณาเลือกบริษัทที่จะเข้าไปทำงานด้วยคือเมื่อเข้าไปทำงานที่นั้น ๆ แล้วมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน หากองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้ เช่น บริษัทมี Training Program ให้กับพนักงาน มีโครงการอบรม หรือมีงบสำหรับลงเรียนคอร์สต่าง ๆ ให้ ก็มีส่วนช่วยให้องค์กรดูน่าสนใจในสายตาพนักงานและดึงดูดให้คนอยากเข้ามาทำงานกับองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้การที่พนักงานเก่งขึ้น มีทักษะที่หลากหลายขึ้นก็ช่วยยกระดับการทำงานให้กับองค์กรได้อีกด้วย
เป็นธรรมดาที่พอช่วงเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่ก็ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานมากขึ้น สัดส่วนของพนักงานในแต่ละช่วงวัยจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน แม้คน Gen-Z หรือคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1997 – 2010 จะเริ่มเข้าสู่โลกของการทำงานมาสักพักแล้ว แต่ในปี 2023 ฝั่งองค์กรจะได้เห็นสัดส่วนของคนกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอีกแน่นอน โดยอายุของพนักงาน Gen-Z ที่มากที่สุดจะอยู่ที่ 26 ปี
ดังนั้นอีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรต้องเตรียมตัวในปีหน้าและปีถัด ๆ ไปคือการพยายามทำความเข้าใจและปรับวิธีการทำงานเพื่อรองรับพนักงาน Gen-Z ที่จะมีมากขึ้นในบริษัท มองหาสวัสดิการที่ดึงดูดและตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ รวมถึงเตรียมตัวรับมือกับ Multi-generation in Workplace หรือความหลากหลายทางช่วงวัยในที่ทำงาน เพราะคนแต่ละช่วงวัยก็มีพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และแนวทางการทำงานที่ต่างกัน เช่น คน Gen-X อาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีนานกว่าคนวัยอื่น ๆ คน Gen-Y อาจถนัดที่จะทำงานเป็นทีมมากกว่าและเมื่อมีปัญหาก็มักเลือกวิธีประนีประนอมอย่างสันติ ในขณะที่คน Gen-Z อาจชื่นชอบการทำงานคนเดียวและพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในความคิดเห็นของตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองเชื่อจนสุดทาง ซึ่งหน้าที่ขององค์กรก็คือการมองหาวิธีการทำงานที่จะทำให้พนักงานทุกวัยแฮปปี้กับการทำงานร่วมกันให้ได้
DEI ย่อมาจาก Diversity (ความหลากหลาย), Equity (ความเท่าเทียม) และ Inclusion (การรวมเข้ามา) คือแนวคิดในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนในองค์กรเพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่คนทำงานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มองหาจากองค์กรเองเช่นกัน เพราะไม่ว่าใครก็ต้องการทำงานในสถานที่ที่ตัวเองได้รับความเคารพและได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับพนักงานคนอื่น ๆ ไม่มีการนำอคติมาผลักไสหรือกีดกันใครออกไป
ดังนั้นองค์กรจึงต้องสร้างวัฒนธรรมแบบ DEI ที่เปิดรับความหลากหลาย (Diversity) ทั้งในเรื่องเพศ อายุ หรือชาติพันธุ์ รวมถึงปฏิบัติกับพนักงานทุกคนอย่างเสมอภาค (Equity) ไม่ลำเอียง และเปิดให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากร สวัสดิการ หรือโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม เมื่อพนักงานทุกคนรู้สึกว่าตัวเองได้รับการต้อนรับอย่างดีจากองค์กร ไม่มีการปฏิเสธความแตกต่าง ก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร หรือเรียกได้ว่าองค์กรได้รวมทุกคนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง (Inclusion) เมื่อสภาพแวดล้อมในการทำงานน่าอยู่ พนักงานก็ย่อมอยากอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ
จะเห็นได้ว่าเทรนด์ในการทำงานส่วนใหญ่ที่กำลังจะมาในปี 2023 นั้นเป็นผลลัพธ์ที่เกิดตามมาจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของพนักงานให้เข้ากับรูปแบบการทำงานใหม่ด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ การเพิ่มทักษะของตัวเองเพื่อแข่งขันในตลาดแรงงาน การมองหาองค์กรที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้ มี Work-life Balance และมีความเป็นอยู่ที่ดี
องค์กรจึงต้องหันมาใส่ใจกับความต้องการในส่วนนี้มากขึ้น โดยพิจารณามองหาสวัสดิการที่ตอบโจทย์พนักงานของตัวเอง เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพนักงาน ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะกับรูปแบบการทำงานอย่างการทำงานทางไกลหรือการทำงานแบบ Hybrid ที่กำลังเป็นที่นิยม รวมถึงเตรียมความพร้อมในการรองรับพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในอนาคตด้วย หากสามารถสร้างองค์กรที่ทำให้พนักงานมีความสุขและรู้สึกมั่นคงได้ ก็จะช่วยให้เกิด Employee Retention หรือการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ นั่นเอง
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
forbes.com, ismartrecruit.com, aihr.com, visier.com, gartner.com, devry.edu, timesofindia.indiatimes.com, thereceptionist.com, betterteam.com, businessnewsdaily.com, qualtrics.com