บรรยากาศปีใหม่ เป็นบรรยากาศที่ทำให้เรานึกถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้านี้ ผู้คนก็เริ่มมองสะท้อนดูว่าตัวเองอยู่จุดไหนของชีวิตแล้วนะ เริ่มกลับมาทบทวนว่าตัวเองอยากไปทางไหนต่อ ซึ่งก็รวมทั้งการทบทวนเรื่องหน้าที่การงาน มีคนทำงานหลายคนที่รอจังหวะเปลี่ยนงานในช่วงปีใหม่หลังจากที่รับโบนัสแล้ว หลายคนแน่ใจมาก ๆ ว่ายังไงปีนี้เราก็ต้องหางานใหม่ให้ได้ แต่สำหรับบางคนก็อยู่ในจุดที่กำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ในเมื่อคนรอบข้างเริ่มหางานกัน แล้วฉันควรต้องหางานบ้างรึเปล่า?” วันนี้ JobThai จะพาไปดูว่าทำไมคนหางานถึงอยากหางานในช่วงปีใหม่ แล้วเรา “จำเป็น” ต้องหางานใหม่หรือไม่
เราเริ่มมองดูตัวเองว่าในตอนนี้เรามาไกลแค่ไหน ดูว่าตั้งแต่มาอยู่ในตำแหน่งนี้เราโตขึ้นบ้างไหม งานนี้ยังคงเติมเต็มเราอยู่ไหม แล้วบริษัทนี้คือที่ที่เราเห็นตัวเองในอนาคตไหม รวมทั้งยังกลับมาทบทวนเป้าหมายทางอาชีพของตัวเองใหม่และดูว่างานในตอนนี้ยังพาเราไปถึงเป้าหมายได้ไหม ซึ่งการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้คนเราตัดสินใจเรื่องการเปลี่ยนงาน
ใคร ๆ ก็อยากมีชีวิตที่มี Work-Life Balance ดี ๆ และเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ บางคนก็เริ่มกลับมามองดูงานที่ทำอยู่ว่ามันเปิดโอกาสให้เรามี Work-Life Balance มากน้อยแค่ไหน บางคนอาจพอใจกับสมดุลที่มีแล้ว แต่กับบางคน ลำพังแค่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างที่พักกับออฟฟิศก็กินเวลาส่วนตัวไปเยอะมากจนพาลทำให้หมดไฟ ก็อาจจะเริ่มเกิดความคิดว่า Balance นี้มันคงยังไม่ตอบโจทย์สำหรับเรา
ต้นปีเป็นช่วงที่คนทำงานเริ่มกลับมาวางแผนการใช้เงินกันอีกครั้งและดูว่ารายได้ที่มียังคงสมเหตุสมผลกับสิ่งที่ต้องจ่ายในชีวิตประจำวัน และครอบคลุมถึงภาระหน้าที่ส่วนตัวอยู่รึเปล่า หรือบางคนที่ทำงานมาจนมีประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม แถมยังเก่งขึ้น เชี่ยวชาญในเนื้องานมากขึ้น รับผิดชอบงานในขอบเขตที่กว้างกว่าเดิม ก็จะอยากได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นถ้าพวกเขาคิดว่ารายได้ในตอนนี้ยังไม่ตรงกับที่ตัวเองต้องการ เขาก็อาจจะเริ่มมีไอเดียอยากขอต่อรองเงินเดือนหรืออาจมองหางานใหม่ที่เสนอเงินเดือนที่มากกว่าเดิม
เมื่อโลกยังคงหมุนอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเทคโนโลยีที่ยังคงก้าวหน้า โลกธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่ไม่หยุดอยู่นิ่ง อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่มีผลต่อความมั่นคงของงานและความพอใจในงานของคนทำงานด้วย โดยการที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็สามารถส่งผลให้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น มี Tools เกิดใหม่ ทำให้ตลาดแรงงานต้องการคนที่มีทักษะใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์โลกธุรกิจในยุคสมัยนี้ และบางครั้งก็อาจกลายเป็นตำแหน่งงานใหม่ ๆ ไปเลยก็ได้ ในมุมของคนทำงาน ถ้าใครเป็นคนที่ตื่นเต้นไปกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เป็นคนทันเทรนด์ และรู้จักฝึกฝนตัวเองให้ใช้ Tools ใหม่ ๆ เป็น เขาก็อาจเริ่มมองหาตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะอยากทำในสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากเดิม
วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการตัดสินใจเปลี่ยนงาน คนทำงานหลายคนเริ่มมานั่งดูว่าตัวเองยึดถือคุณค่าอะไรเป็นหลัก ตัวเองชอบบรรยากาศการทำงานแบบไหน และกลับมาดูว่าที่ที่อยู่ตอนนี้ตรงกับความต้องการของตัวเองรึเปล่า ถ้าไม่ตรงขนาดนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่องค์กรที่ Toxic แต่พวกเขาก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวกกับคนอื่นอยู่ดี ส่งผลให้หลายคนเริ่มทำการศึกษาทำความรู้จักบริษัทอื่น ๆ เพื่อหาดูว่าองค์กรไหนมีวัฒนธรรมองค์กรและยึดถือคุณค่าในแบบที่ตรงใจตัวเองมากที่สุด
เมื่อเราเริ่มมีความคิดอยากหางานใหม่ บางคนหางานด้วยความคิดที่ว่า “งานไหนก็คงดีกว่างานนี้ที่ทำอยู่ทั้งนั้นแหละ” แต่การเอาความคิดนี้เป็นที่ตั้งอาจจะยังไม่ชัดเจนพอสำหรับการตัดสินใจเรื่องอาชีพ เพราะถ้าเราไม่ได้รู้แน่ชัดว่างานที่ตัวเองทำอยู่นั้นไม่ตอบโจทย์ตรงไหนและยังไม่รู้ว่าเรามีเป้าหมายที่จะพาตัวเองไปให้ถึงจุดไหน การย้ายงานครั้งนี้ก็อาจจะไม่ต่างจากการย้ายจากงานที่ไม่ตอบโจทย์งานนึง ไปทำงานที่ไม่ตอบโจทย์อีกงานก็ได้ เพราะจุดประสงค์ทางอาชีพของเรายังคงพร่าเลือน ไม่ชัดเจน
บางครั้งเราโฟกัสแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราจนลืมมองภาพกว้าง เพราะว่าสภาวะต่าง ๆ ส่งผลต่อธุรกิจและการเปิดรับคนเข้าทำงานเสมอ ถึงแม้ว่าโลกธุรกิจที่เราสนใจนั้นจะอาจอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้มาแรงในขณะนั้น หรืออาจถึงขั้นเรียกว่าหางานยาก แต่บางครั้งเราก็ยังเห็นคนใกล้ตัวได้งานใหม่ ทำให้เราก็เกิดความคิดว่า “ฉันก็ต้องทำได้เหมือนกันสิ!” ซึ่งแน่นอนว่าทุก ๆ อย่างเป็นไปได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าบางครั้งตำแหน่งงานเหล่านี้เปิดขึ้นด้วยเหตุผลบางอย่าง ไม่แน่ว่ามันอาจเป็นตำแหน่งงานที่มีอัตราการ Turnover สูง คนเข้าและออกบ่อย หรืออาจเป็นงานที่ต้องการคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงมากจริง ๆ ซึ่งต้องดูว่าแล้วเรามีทักษะและคุณสมบัติอย่างที่ว่าไหม การสังเกตและศึกษาข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก่อนตัดสินใจย้ายงาน
การแนะนำกันแบบปากต่อปากยังเป็นสิ่งที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นการที่เรารู้จักเพื่อนร่วมสายงานหรือเพื่อนร่วมธุรกิจก็มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้เราเจองานที่ใช่ โดยเขาอาจช่วย Recommend เราได้ในเวลาที่องค์กรของเขากำลังต้องการคน หรือช่วยให้ข้อมูล Insights ต่าง ๆ เกี่ยวกับงานที่เราสนใจและมองหาได้ ทำให้เรามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจจากคนที่อยู่ในแวดวงนั้นจริง ๆ ว่ามันเป็นงานในแบบที่เราคิดจริงไหม แต่ถ้าเรายังไม่มี Connection เหล่านี้ เราก็ต้องมาเน้นหางานผ่านการหาข้อมูลและสมัครงานด้วยตนเองเป็นหลักแทน
ถึงชื่อตำแหน่งงานจะเหมือนเดิม ก็ไม่ได้แปลว่าเนื้องานจะเป็นเหมือนเดิม 100% แต่ละองค์กรมีความต้องการและความคาดหวังจากพนักงานที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เราอาจต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เมื่อเข้าไปแล้วเราอาจต้องมีการเรียนรู้ Tools ใหม่ ๆ หรือต้องจดจำข้อมูลจำนวนมาก ๆ เพื่อเอาไปปรับใช้กับการทำงาน ดังนั้นอย่าลืมถามตัวเองดูว่า “เราพร้อมรับสิ่งเหล่านั้นไหม?” และต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนแปลงอาจมาพร้อมกับความกดดัน เพราะเราจะต้องพิสูจน์ความสามารถตัวเองภายในช่วงทดลองงาน เราพร้อมจะเผชิญกับความท้าทายนี้หรือไม่ ถ้ายังไม่ได้รู้สึกว่าพร้อมรับต่อสิ่งเหล่านั้น และสภาวะที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นพิษต่อใจ บางทีการทำงานเดิมก็ไม่ใช่ไอเดียที่แย่นัก
อย่างที่เรารู้กันดีว่าการหางานมีขั้นตอนมากมายและต้องใช้เวลา ขั้นตอนการหางานอาจจะใช้เวลาหลักเดือน นับตั้งแต่วันที่ส่งใบสมัคร ไปจนถึงวันที่เซ็นสัญญา แถมบางครั้งได้งานแล้ว บางคนก็อยากทำงานที่เก่าให้ครบ 30 วันก่อนค่อยออกด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากจะเริ่มทำงานที่ใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคมด้วยไอเดีย New Year, New Job ก็แปลว่าจริง ๆ เราควรเริ่มหางานล่วงหน้าก่อนหน้านั้นอย่างน้อยประมาณ 1-2 เดือน หรือช่วงปลายปี ซึ่งก็ต้องลองมาดูอีกว่าช่วงนั้นมีตำแหน่งงานที่น่าสนใจเปิดรับน้อยแค่ไหน เพราะเป็นช่วงปิดไตรมาส 4 และสิ้นปีงบประมาณ ลองดูว่าเราควรรอดูตำแหน่งงานที่น่าสนใจในช่วงไตรมาสแรกของปีแทนไหม
บางคนอาจอยากรอให้โบนัสออกก่อนค่อยลาออก ซึ่งเราก็ต้องไม่ลืมดูว่าปกติแล้วบริษัทเราจะให้โบนัสช่วงไหนของปี เพราะแต่ละบริษัทให้โบนัสไม่ตรงกัน บางที่ให้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บางที่เป็นช่วงสงกรานต์ บางที่เป็นช่วงกลางปี หรือบางที่ก็เป็นช่วงเดือนธันวาคมไปเลย เมื่อเรารู้จุดนี้แล้ว เราจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าเราควรจะเริ่มหางานใหม่จริง ๆ เมื่อไหร่
มีหลายคนตั้งเป้าหมายว่า New Year, New Me และอยากเริ่มลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ ๆ รวมถึงการหา New Job หรือว่างานใหม่ แต่เราก็ควรที่จะควรพิจารณาให้ดีว่ามันคือ “ความจำเป็น” หรือ “ความอยาก” หรือเป็นเพียง “ไอเดีย” แล้วการเปลี่ยนงานมันจะส่งผลให้เราดีขึ้น เติบโตขึ้น ก้าวหน้าขึ้นได้จริง ๆ ไหม
บางคนคิดว่าถ้าจะเก่งขึ้นได้ก็ต้องไปทำงานในตำแหน่งใหม่ ๆ เราถึงจะได้เรียนรู้ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ เราควรพิจารณาจากจุดตัวเองอยู่ก่อนว่า ตำแหน่งที่ทำในตอนนี้สามารถผลักดันเราไปได้อีกไหม เราเชี่ยวชาญเนื้องานที่ทำอย่างแท้จริงหรือยัง ถ้าจริง ๆ แล้วเรายังแฮปปี้กับงานเดิมแต่ก็อยากเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ เรายังสามารถท้าทายตัวเองได้ด้วยการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ได้ เช่น ลองหาโอกาสรับบทผู้นำ เพิ่มทักษะด้วยการเรียน หรือหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในองค์กรหรือนอกองค์กร
ที่มา:
forbes.com
independent.co.uk
linkedin.com
linkedin.com
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน