ทำไมการทำงานแบบ Work Smart ถึงดีกว่า Work Hard

 

 

ในสังคมการทำงาน คำว่า Work Smart กับ Work Hard น่าจะเป็นคำที่ทุกคนเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจจริง ๆ ว่าแนวทางการทำงานทั้งสองรูปแบบนั้นแตกต่างกันอย่างไร และแบบไหนควรนำมาปรับใช้กับการทำงานของตัวเอง วันนี้ JobThai เลยจะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงรูปแบบการทำงานทั้งสองแบบ พร้อมแนะนำ 5 วิธีทำงานแบบ Work Smart ที่จะช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

Work Hard กับ Work Smart ต่างกันอย่างไร

 

การทำงานหนักหรือ Work Hard และการทำงานอย่างชาญฉลาดหรือ Work Smart มีแนวคิดและวิธีการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยแต่ละแบบก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพชีวิตของผู้ทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับใครที่ยังนึกภาพไม่ออก เราจะพามาดูตัวอย่างกันว่าการทำงานทั้งสองแบบนี้ต่างกันอย่างไร

 

ตัวอย่างการทำงานแบบ Work Hard

  • ทำงานเป็นเวลานาน มักมาทำงานแต่เช้า และกลับดึกเป็นประจำ
  • รับงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยงงอน แม้จะเกินความสามารถหรือเวลาที่มี
  • พยายามทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่กระจายงาน หรือขอความช่วยเหลือ
  • ทุ่มเทความพยายามกับงานมากจนอาจใช้เวลานานเกินไปโดยไม่จำเป็น
  • ทำงานแบบไม่มีการวางแผน หรือจัดลำดับความสำคัญ
  • มักเสียสละเวลาส่วนตัว และชีวิตครอบครัวเพื่อการทำงานจนเกิดอาการ Burn Out

 

ตัวอย่างการทำงานแบบ Work Smart

  • วางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น
  • รู้จักกระจายงานออก และให้ความสำคัญของการทำงานเป็นทีม
  • โฟกัสกับงานที่สำคัญ และสร้างผลกระทบสูงให้เสร็จลุล่วงไปก่อน
  • หาวิธีการหรือเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ ๆ ให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • รักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้อย่างลงตัว 

 

สรุปข้อดี-ข้อเสียของการทำงานแบบ Work Hard และ Work Smart

การทำงานแบบ Work Hard

ข้อดี

  • แสดงถึงความทุ่มเทและความมุ่งมั่นในการทำงาน
  • อาจได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากการทำงาน

ข้อเสีย

  • เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout)
  • ขาดประสิทธิภาพในการทำงานเนื่องจากไม่มีการวางแผนหรือจัดลำดับความสำคัญ
  • อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัว
  • อาจทำให้คุณภาพงานลดลงเนื่องจากทำงานหนักเกินไป
  • ขาดการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
     

การทำงานแบบ Work Smart

ข้อดี

  • เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญ
  • ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
  • พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและการกระจายงาน
  • มุ่งเน้นงานที่สำคัญและสร้างผลกระทบสูง
  • มีการพัฒนาทักษะและวิธีการทำงานอย่างต่อเนื่อง
  • สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

ข้อเสีย

  • อาจถูกมองว่าไม่ทุ่มเทเท่ากับการทำงานแบบ Work Hard
  • ต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จึงอาจไม่เหมาะกับทุกคน

 

ทำงานให้มีประสิทธิภาพด้วยวิธี 1-3-5

 

5 วิธีทำงานแบบ Work Smart เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

 

เมื่อเปรียบเทียบการทำงานทั้งสองรูปแบบแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำงานแบบ Work Smart นั้นส่งผลดีกว่าในหลาย ๆ ด้าน เนื่องจากการทำงานแบบ Work Smart ไม่ได้หมายถึงการทำงานน้อยลง แต่เป็นการทำงานอย่างชาญฉลาดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในเวลาที่มี ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และคุณภาพชีวิตของเราไปพร้อม ๆ กัน และทั้ง 5 วิธีนี้ คือการทำงานแบบ Work Smart ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้กันได้

 

1. จัดลำดับความสำคัญของงาน

สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเริ่มต้นวันทำงาน คือการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละงาน ด้วยการลองแบ่งงานออกเป็นกลุ่มตามความสำคัญ เช่น งานนี้มีกำหนดส่งแบบเร่งด่วน ก็อาจจะเลือกทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จก่อนลำดับแรก ส่วนงานที่ไม่ได้รีบมาก หรือยังพอมีระยะเวลาให้จัดการอยู่ ก็ย้ายไปทำในวันถัด ๆ ไปแทน

 

2. กำหนดกรอบเวลาทำงานให้ชัดเจน

การมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการทำงานจะช่วยให้เราสามารถเคลียร์งานได้ไวขึ้น เช่น งานชิ้นนี้ควรทำเสร็จภายใน 1-2 ชั่วโมง ก็ตั้งเวลาในการจบงานนั้นให้กับตัวเองไปเลย เพื่อสร้างเป้าหมายให้ตัวเองมีสมาธิกับงาน และทำให้เสร็จลุล่วงตามกำหนด ต่างจากการกำหนดเพียงคร่าว ๆ ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง แต่ไม่วางกรอบเวลาต่อชิ้นงานให้ชัดเจน

 

3. ปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง

หากอยากทำงานแบบ Work Smart ลองสังเกตดูว่าเรามีสไตล์การทำงานเป็นแบบไหนแล้วลองปรับใช้กับการทำงานดู เช่น เราถนัดทำงานที่ใช้ความคิดในช่วงบ่าย ก็อาจใช้เวลาในช่วงเช้าจัดการงานอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดมากไปก่อน แล้วค่อยลงมือทำงานที่ต้องใช้สมองทีหลัง วิธีนี้จะช่วยให้เราเคลียร์งานได้เร็วขึ้น

 

4. แบ่งเวลาพักระหว่างทำงานบ้าง

ความเครียดคือศัตรูในการทำงาน เพราะฉะนั้นไม่ว่างานเราจะหนักหรือเยอะแค่ไหนก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาพักให้กับตัวเองบ้าง โดยเราอาจหาเวลาพักเบรก 5-10 นาทีหลังจากทำงานทุก ๆ 2 ชั่วโมงก็ยังดี เพื่อให้สายตาได้ละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือกองงานที่วางอยู่ตรงหน้าบ้าง ซึ่งในช่วงที่พัก เราก็อาจจะออกไปหาน้ำดื่มหรือล้างหน้าล้างตาสักหน่อย เพื่อกระตุ้นสมอง และร่างกายให้กลับมาพร้อมทำงานอีกครั้ง

 

5. โฟกัสกับงานเป็นอย่าง ๆ

หลายคนน่าจะรู้กันดีว่า ปัญหาในการทำงานนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานไหนก็ตาม บางครั้งก็มีปัญหาเข้ามาให้แก้ในขณะที่เรากำลังทำงานอื่นอยู่ จนสุดท้ายกลายเป็นทำไม่เสร็จสักงานเพราะมัวแต่แก้ไปแก้มา วิธีที่ถูกต้องคือการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป เช่น หากเรากำลังทำงานชิ้นหนึ่งอยู่แล้วมีงานแทรกเข้ามา ก็ลองพิจารณาก่อนว่างานแทรกชิ้นนั้นเป็นงานเร่งด่วนหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เร่งมาก สามารถรอได้ เราก็ควรทำงานชิ้นเดิมให้เสร็จก่อน แล้วค่อยโฟกัสงานใหม่ เพราะการสลับชิ้นงานไปมาอาจทำให้เราทำงานไม่เสร็จสักงานได้

 

ทั้ง 5 วิธีที่กล่าวมาคือแนวทางในการทำงานแบบ Work Smart ที่ทุกคนสามารถเอาไปปรับใช้กันได้หากอยากทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เสียเวลาส่วนตัวมากเกินไปจากการเลิกงานดึก เพราะต้องไม่ลืมว่าสุขภาพก็มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องงาน

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, เคล็ดลับการทำงาน, work smart, career & tips, คนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, วิธีทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม