5 ประสบการณ์เข้าไปทำงานจริงแล้ว ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา

28/03/22   |   14.3k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อ HR โทรมาแจ้งผลสัมภาษณ์ว่าเราผ่านและได้รับเข้าทำงาน หลังจากลุ้นผลอยู่นาน เป็นเรื่องธรรมดาที่คนหางานหลายคนดีใจและคาดหวังถึงการทำงานที่ใหม่ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หลายคนอาจเริ่มวางแผนการเงิน วางแผนการเดินทาง ไปจนถึงการวางมัดจำเพื่อเช่าที่อยู่ แต่สุดท้ายก็ต้องมาอกหัก เพราะสิ่งที่บริษัทเคยพูดกับสิ่งที่ได้เมื่อเข้าไปทำงานจริงมัน “ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา” JobThai เลยอยากมาแชร์ประสบการณ์การเข้าไปทำงานจริงแล้วไม่ตรงปกที่คนทำงานหลายคนเจอ

 

ทำยังไงถ้างานใหม่ไม่ได้เป็นตามคาด

 

เวลาในการทำงานต่อวันเกินและไม่ได้ OT

เรื่องเวลาในทำงานงาน เวลาเดินทาง หรือเวลาส่วนตัว ล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งสิ่งที่คนทำงานหลายคนเจอคือ การเลิกงานเลทไปหลายชั่วโมงโดยไม่มีเงิน OT หรือค่าทำงานนอกเวลา การต้องปิดยอดลูกค้าให้ได้ตามเป้าก่อนเลิกงาน ลามไปถึงการทำงานในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ซึ่งบางครั้งการทำงานที่เกินเวลามันอาจส่งผลต่อกิจกรรมส่วนตัวของเรา ทำให้เวลาที่ได้ใช้ในการพักผ่อนน้อยลง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราได้ในระยะยาว 

 

จริง ๆ แล้วการทำงานเกินเวลาบ้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมหรือมีการพูดคุยกันก่อนว่าเราสะดวกใจในการทำงานเกินเวลาตรงนี้มั้ย เพราะปกติแล้วการทำงานไม่ควรเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ถ้าเกินเราควรต้องได้เงินค่า OT ซึ่งถ้าเราทำงานเกินที่กฎหมายกำหนดโดยที่ไม่ได้ยินยอม ไม่ได้เป็นงานที่เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน และไม่ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมจนรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เราอาจต้องหาวิธีเข้าไปคุยกับผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายบุคคลเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถหาข้อสรุปได้ การปรึกษากับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อขอคำแนะนำหรือให้เข้ามาช่วยเหลือก็เป็นอีกวิธีที่เราสามารถทำได้

 

เงินเดือนไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

แน่นอนว่าก่อนที่จะตอบรับเข้าทำงาน ทั้งเราและ HR ก็จะมีรายละเอียดของการตกลงเงินเดือนกัน ซึ่งการต่อรองเรื่องเงินเดือนก็จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ข้อสรุปที่พอใจกันทั้งคู่ แต่เมื่อเข้าทำงานจริงกลับถูกลดเงินเดือนให้น้อยกว่าที่คุยกันไว้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ยังไม่ผ่านทดลองงาน (Probation)หรือให้เงินตามตกลงแต่เป็นการรวมรายได้ต่าง ๆ โดยฐานเงินเดือนที่ได้รับจริง ๆ น้อยลงจากที่คุยกันไว้ เช่น ตกลงเงินเดือนกันไว้ที่ 18,000 บาท แต่ได้เงินเดือนจริง ๆ 15,000 บาท โดยให้ค่าเบี้ยขยัน1,000 บาท ค่าเสื่อมอุปกรณ์ 1,000 บาท และค่าโทรศัพท์อีก 1,000 บาท กรณีนี้อาจจะดูเหมือนเราได้เงินครบ 18,000 บาท แต่จริง ๆ แล้วมันอาจส่งผลต่อเราในการหางานใหม่ เพราะบริษัทใหม่จะยึดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาทของเรา หรือหากเราได้โบนัสตามจำนวนเดือน จำนวนเงินที่ได้ก็จะลดลง เพราะบริษัทคำนวณจากฐานเงินเดือน ไม่รวมรายได้อื่น ๆ นอกจากนั้นยังอาจส่งผลต่อการกู้เงินในอนาคตของเราอีกด้วย

 

ในกรณีที่ไม่ได้เงินเดือนตามที่ตกลงกันไว้ด้วยเหตุผลว่ายังไม่ผ่าน ตรงนี้เราอาจต่อรองกับหัวหน้าแผนกว่า หากผ่านโปรจะขอเงินเดือนเป็นตามที่คุยไว้ได้ไหม หรือในกรณีที่ฐานเงินเดือนลดแต่ได้เงินพิเศษส่วนอื่น ๆ มารวมจนได้จำนวนเงินตามที่คุยกันไว้ เราอาจต้องกลับไปดูสัญญาที่เราทำกับบริษัทไว้ว่ามีรายละเอียดเป็นยังไง ซึ่งถ้ายังไม่เซ็นสัญญาก็เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้พิจารณาบริษัทนี้ใหม่อีกครั้ง ว่าเรายังอยากร่วมงานอยู่มั้ย

สวัสดิการไม่ครบ

สวัสดิการเป็นสิ่งที่คนทำงานหลายคนให้ความสำคัญ และเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกบริษัทที่ตัวเองอยากร่วมงานด้วย แต่บางครั้งสวัสดิการที่ทำให้เราตัดสินใจร่วมงานกลับไม่มีอยู่จริง ซึ่งสิ่งที่คนทำงานส่วนมากเจอก็คือ เบี้ยขยันที่บริษัทเคยตกลงไว้หายไป ไม่มีโบนัส ค่าคอมมิชชัน ค่าวิชาชีพ หรือวันลาต่าง ๆ ไม่ครบตามที่แจ้งไว้ ด้วยเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือนโยบายใหม่ของบริษัทที่เพิ่งออกมาในวันที่เราเข้าทำงานไปแล้ว ทำให้การทำงานของเราในระยะยาวอาจไม่ตอบโจทย์มากเท่าไหร่ เพราะเราอาจต้องเจอกับเหตุการณ์ฉุกเฉินในอนาคตที่จำเป็นต้องใช้เงินหรือวันลาก็ได้

 

จริง ๆ แล้ว สวัสดิการบางอย่างไม่ได้มีกฎหมายบังคับ เป็นสิ่งที่บริษัทเสนอให้กับพนักงานเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดทั้งพนักงานเก่าและใหม่ให้อยากทำงานกับองค์กรต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกบริษัทควรมี อย่างต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 1 วัน เมื่อทำงานครบ 1 ปี สามารถลาพักร้อนได้ปีละไม่น้อยกว่า 6 วัน โดยที่ยังได้ค่าจ้างอยู่ หรือวันหยุดตามประเพณี 13 วันต่อปี เป็นต้น แต่ถ้าเราจำเป็นต้องมาทำงานในวันหยุดตามประเพณี เราต้องได้ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลา ถ้าไม่เป็นไปตามพื้นฐานที่เราควรได้รับ ก็สามารถไปแจ้งกับกรมแรงงานได้เช่นกัน

 

รายละเอียดงานมากกว่าที่คุยกันไว้

ในการสมัครงานหนึ่งครั้ง เชื่อว่าคนหางานหลายคนต้องพยายามอ่านรายละเอียดงานหรือ JD (Job Description) อย่างละเอียดก่อนที่จะส่งใบสมัคร เพราะตำแหน่งงานและรายละเอียดงานที่เหมาะสมจะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่คนทำงานหลายคนเจอคือ เมื่อเข้ามาทำงานจริงทำให้รู้ว่างานที่ตัวเองได้รับมอบหมายเกินกว่ารายละเอียดที่คุยกันไว้ เลยไปถึงงานที่ห่างไกลจากตำแหน่งตัวเองมาก อย่างสมัครกราฟิกดีไซน์แต่ต้องไปตัดต่อวิดีโอ ซึ่งหลายครั้งที่คนทำงานเจอสถานการณ์นี้ก็มักจะเป็นองค์กรที่มีขนาดไม่ใหญ่มากหรือเป็น Home Office เพราะมีพนักงานน้อยและหลาย ๆ คนต้องช่วยกันทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง

 

ถ้ากำลังเจอสถานการณ์นี้อยู่ ก็อยากให้ลองถามตัวเองว่ามีทัศนคติในการทำงานครั้งนี้เป็นยังไง หากเราทำเพื่อสะสมประสบการณ์ การได้มีโอกาสทำงานหลาย ๆ รูปแบบก็อาจเป็นการสะสมประสบการณ์ที่ดีก็ได้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มทักษะในด้านงานนั้น ๆ แล้ว ในการสมัครงานครั้งต่อไปมันก็ยังสามารถบอกได้ว่าเราเป็นคนที่สามารถปรับตัวในการทำงานได้หลายตำแหน่งและหลายหน้าที่ แต่ไม่ว่ายังไงก็ยังมีคนทำงานที่ไม่ได้อยากทำได้ทุกตำแหน่ง ซึ่งเราอาจลองไปคุยกับหัวหน้าได้ว่าเราไม่ถนัดงานในด้านไหน แต่ก็ต้องอธิบายให้เขาฟังด้วยว่ามันเป็นเพราะอะไร

 

องค์กรขนาดเล็กกับขนาดใหญ่ ทำงานในองค์กรไหนดีกว่ากัน

 

อยู่กันแบบครอบครัว

ครอบครัวเป็นอีกสถาบันหลักที่ใครหลายคนให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่หนึ่งปัญหาที่คนหางานมักเจอกันบ่อยที่สุดคือคำพูดจากเจ้าของบริษัทหรือหัวหน้างานว่า บริษัทนี้อยู่เหมือนครอบครัว ซึ่งคนทำงานก็อาจจะคาดหวังว่าต้องเป็นครอบครัวที่คอยช่วยเหลือกันแน่นอน แต่เมื่อมาทำงานจริงกลับเป็นครอบครัวที่มีแต่คนคอยแย่งสมบัติกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหามากมายอย่างการใส่ร้าย นินทาลับหลัง หรือกลั่นแกล้งกันในที่ทำงานด้วยซ้ำ 

 

การจะทำงานที่นี่ต่อได้ อยู่ที่ความอดทนและทัศนคติเป็นหลัก เราอาจลองค้นไปถึงต้นตอของปัญหาก่อน ว่ามีที่มาเป็นยังไงอาจเป็นเพราะเพื่อนร่วมงานเพียงไม่กี่คน หรือมีปัญหาแค่ในแผนกเรา เมื่อเจอต้นตอของปัญหา การไปปรึกษากับฝ่ายบุคคลก็เป็นเรื่องที่ต้องทำหากต้องการทำงานที่นี่ต่อไป เพราะบางครั้งสภาพแวดล้อมการทำงานที่แย่ ก็ไม่ได้แปลว่าตัวเนื้องานที่เราทำอยู่จะแย่ตามไปด้วย หากตัวเนื้องานเป็นสิ่งที่เราชอบทำจริง ๆ เราอาจลองชั่งน้ำหนักดูเอาว่า เราสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในบริษัทนี้ก่อนได้หรือเปล่า และค่อย ๆ ตัดสินใจอีกครั้ง

 

6 สัญญาณที่บ่งบอกว่างานที่ทำอยู่ เป็นงานที่คุณชอบและเหมาะสมกับคุณจริง ๆ

 

หลายครั้ง เมื่อคนงานเจอปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน หนึ่งวิธีแก้ที่หลายคนมักจะทำคือ “การลาออก” ซึ่งจริง ๆ แล้ว การลาออกควรเป็นวิธีแก้สุดท้าย เพราะคนทำงานแต่ละคนก็มีภาระที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ การลาออกจึงทำให้รายได้ที่เราควรจะได้ประจำทุกเดือนไปหายไปเลย 100% ทางที่ดี เราควรคิดหลาย ๆ มุม และไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน เพื่อที่เราจะได้ไม่พลาดโอกาสที่มีอยู่ไป

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์อีกมากมายที่คนทำงานหลายคนเข้ามาแชร์กันใน JobThai Official Group กลุ่มที่สร้างมาเพื่อการหางาน หางาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน ถ้าคุณมีประสบการณ์ที่อยากแชร์ อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรืออุปสรรคในการทำงานที่อยากได้ทางออก เข้ามา Join กันได้เลย!

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งาน แม้ไม่ได้ส่งใบสมัคร

 

 
JobThai Official Group
Public group · 350,000 members
Join Group
 

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2022 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

Source:

tamrongsakk.blogspot

thanulaw

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ประสบการณ์การทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม