6 วิธีหยุดอาการหัวร้อนที่ใช้ได้ทั้งที่ทำงานและในชีวิตประจำวัน

19/01/22   |   22.1k   |  

 

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

อาการโกรธเป็นเรื่องคลาสสิคที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บางคนก็เกิดอาการหัวร้อนไปหมดทุกเรื่องถ้ามีอะไรไม่ได้ดั่งใจ ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมายตามข่าว ไม่ว่าจะเป็นขับรถบีบแตรใส่กันนิดเดียว ถึงกับชักปืนมายิงกัน หรือหนักว่านั้นแค่สั่งอาหารแล้วแม่ค้าทำมาผิดก็ทะเลาะกันยกใหญ่ รวมถึงในที่ทำงานเองก็มีเรื่องราวหัวร้อนมากมายที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ระหว่างเจ้านายและลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงจะมาบอกวิธีระงับอาการหัวร้อนที่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริงมาฝาก

 

อย่าหยุดความโกรธด้วยสมอง แต่ให้หยุดที่ร่างกาย

ความจริงแล้วอารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปอย่างกะทันหันได้ เป็นอารมณ์ที่แก้ง่ายที่สุดในบรรดาอารมณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์เศร้า เสียใจ กลัว ที่จะอยู่นานกว่า โดยอารมณ์โกรธจะเริ่มที่ร่างกาย จิตใจ และต่อไปที่สมอง เช่น เวลาโกรธส่วนใหญ่มันจะเริ่มจากช่วงท้อง ไล่ขึ้นมาอก ต่อมาที่หัวใจเต้นเร็ว สูบฉีดขึ้นมาที่ใบหน้า หน้ามืดคิดอะไรไม่ออก เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่า ”โกรธจนหน้ามืด”

 

มีทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่าเราจะโกรธหลังจากที่ร่างกายมันโกรธ นั่นก็คือทฤษฎี James-Lange ที่บอกว่าร่างกายจะส่งสารออกมาให้เราโกรธ เช่น อะดรีนาลีน, Cortisol หรือ สารแห่งความเครียด และสารอื่น ๆ อีกมากมาย หลั่งออกมาเป็นปฏิกริยาเข้าสู่สมองให้เรารู้สึกโกรธ ดังนั้นวิธีคืออย่าหยุดความโกรธด้วยสมองอย่างการคิดถึงภาพสวยงามในหัว แต่ให้เปลี่ยนร่างกายให้อยู่ในสภาวะเหมือนไม่ได้โกรธ หรือในสภาวะที่ผ่อนคลายแทน เช่น ถ้าคุณถูกหัวหน้าเรียกเข้าไปต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรงจนโกรธจัด สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือสูดหายใจเข้าลึก ๆ ทำยังไงก็ได้ให้หัวใจเต้นช้าลง หรือบีบนวดร่างกายให้กล้ามเนื้อไม่เกร็ง อาจจะลองฝืนยิ้มออกมาเล็กน้อย หรือหาคำพูดบอกตัวเองให้ใจเย็น ๆ เมื่อร่างกายสงบลง ร่างกายจะไม่หลั่งสารอะดรีนาลีน และสารแห่งความเครียด ทำให้เส้นประสาท Parasympathetic Nervous System หรือระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกิจกรรมใต้สำนึกต่าง ๆ ของร่างกายและอวัยวะผ่อนคลายและสบายขึ้น แม้อาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าลองฝืนหน่อย เราจะมีสติ ไม่ตอบโต้ และปล่อยผ่านไปได้

 

หยุดพูด หากิจกรรมทำ หรือเขียนระบายความในใจแล้วลบทิ้ง

เวลาที่คนเราโกรธจัด ความโกรธจะครอบงำจนทำให้คุณเผลอพูดในสิ่งที่ไม่ดีมากกว่าสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเวลาโกรธคือการไม่พูดหรือทำราวกับว่าปากของคุณถูกปิดไว้ด้วยกาวจนแนบสนิท เพราะการไม่พูดในเวลาที่โมโหจะสามารถทำให้คุณมีสติ มีเวลารวบรวมความคิดได้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงถ้าคุณกำลังจะโมโหใครขึ้นมา ลองเดินออกไปอยู่ในที่เงียบๆ คนเดียว หรือพาตัวเองออกไปหากิจกรรมอะไรก็ได้ทำ เช่น ถ้าคุณกำลังรู้สึกเครียดเพราะทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน และคิดว่ากำลังจะระเบิดอารมณ์ใส่เขา ลองหากิจกรรมอย่างอื่นทำ ฟังเพลงที่ชอบ หรือในกรณีอยากระบายมาก ๆ ก็ลองเขียนโน้ตหรืออีเมลระบายความอึดอัดและสิ่งที่อยากพูดกับคนที่เราโกรธ จากนั้นลบมันทิ้งไปซะ วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราเย็นลงได้เหมือนกัน

 

6 วิธีควบคุมอารมณ์โกรธในที่ทำงาน

 

ใช้คำว่า “ฉัน” แทน “คุณ” ในประโยคที่คิดจะพูดเวลาโมโห

ถ้าเรากำลังถึงจุดเดือด และกำลังจะใช้ถ้อยคำรุนแรงใส่อีกฝ่าย สิ่งที่ต้องทำคือพยายามหลีกเลี่ยงคำตำหนิที่รุนแรง หรือคำที่ไปเพิ่มความเดือดให้อีกฝ่าย ด้วยการใช้คำว่า “ฉัน” แทน “คุณ” ในประโยคเวลาโมโห ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังเดือดที่เพื่อนร่วมโปรเจกต์คนนึงไม่ช่วยงานอะไรเลย แทนที่คุณจะพูดกับเขาว่า "คุณไม่เคยช่วยทำงานเลยสักครั้ง!" คุณอาจจะเปลี่ยนเป็นการพูดกับตัวเองในใจว่า "ฉันไม่เคยช่วยทำงานเลยสักครั้ง!” เพื่อคิดกลับกันว่าถ้าเป็นเราที่ถูกพูดแบบนี้ด้วยน้ำเสียงแบบที่เราคิดจะพูดกับเขาเราจะรู้สึกยังไง? หรือแทนที่จะพูดกับอีกฝ่ายว่า "คุณไม่เคยช่วยทำงานเลยสักครั้ง!" ลองเปลี่ยนรูปประโยคเป็น ”ฉันรู้สึกไม่ดีที่คุณไม่มีเวลามาช่วยงานพวกเราเลย” การเปลี่ยนรูปประโยคให้ดูเบาลงก็จะช่วยลดการปะทะ หรือบางทีเขาอาจจะรู้สึกผิดกับเราแทนก็ได้

 

เลิกใช้อารมณ์เวลาอยากให้คนอื่นทำในแบบที่เราต้องการ

เป้าหมายนึงของการสื่อสารคืออยากให้อีกคนเข้าใจในสิ่งที่เราจะสื่อ หรือทำในสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งความโกรธก็เป็นอารมณ์ที่ทำให้เราทำหรือพูดอะไรออกไปโดยไร้สติหรือไม่ทันได้คิดถึงความรู้สึกของคนฟัง ทั้งที่ยังมีอีกหลายวิธีการสื่อสารที่ดีกว่า เช่น คุณโมโหเพื่อนร่วมงานมากที่ทิ้งปัญหาเรื่องงานไว้ให้คุณทำในขณะที่เขาหยุดไปเที่ยวและติดต่อไม่ได้เลย แทนที่คุณจะด่าออกไปด้วยถ้อยคำรุนแรง และบอกว่าต่อไปอย่าหายเงียบติดต่อไม่ได้แบบนี้อีก ลองใช้วิธีคิดดูว่าสุดท้ายเราก็ต้องทำงานออกมาให้เสร็จเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ต่อบริษัท แล้วคุยกับเขาแบบมีเหตุผลบอกให้เขารู้ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาเป็นยังไง ต่อไปเขาไม่ควรทำแบบนี้อีกดีไหม คุณและเขาสามารถหาจุดตรงกลางได้ยังไงบ้าง หรือเพื่อนร่วมงานทำงานด้วยวิธีที่ไม่ค่อยโอเคจนเกิดปัญหา แล้วคุณคิดว่าถ้าเปลี่ยนวิธีทำงานน่าจะดีกว่า แทนที่จะบอกให้เขาเปลี่ยนวิธีด้วยคำพูดที่เต็มไปด้วยอารมณ์เพราะโกรธที่งานมีปัญหา ให้เปลี่ยนเป็นอธิบายกับเขาด้วยเหตุและผลว่าทำไมควรเปลี่ยนวิธีการทำงาน มันดีกว่าวิธีที่เขาทำอยู่ยังไงบ้าง

 

ยังไงก็ตามสาเหตุที่คนส่วนมากไม่สามารถคิดแบบที่บอกได้เป็นเพราะการสื่อสารที่เบาหรือหลีกเลี่ยงการมีปากเสียงเป็นวิธีที่ยุ่งยาก ต้องมานั่งอธิบายเยอะ ซึ่งมันต้องใช้เวลามาก หลายคนจึงแพ้กับการใช้อารมณ์ เพราะคิดว่ามันเป็นวิธีที่ง่าย เร็ว และอาจจะได้สิ่งที่ต้องการเลยเพราะอีกฝ่ายอาจจะยอมเพื่อตัดรำคาญ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าถ้าเราโมโหได้ อีกฝ่ายก็โมโหได้เช่นกัน แล้วเรื่องก็จะยิ่งบานปลายหนัก ดังนั้นการสื่อสารออกไปด้วยอารมณ์อาจจะทำให้เราเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการได้เร็วก็จริง แต่มันก็มีการสื่อสารอีกหลายวิธี ที่ถึงจะช้ากว่าแต่ผลลัพธ์ดีกว่าแน่นอน

 

ถึงตัวจะโตแต่วุฒิภาวะของคุณโตแล้วหรือยัง?

 

สังเกตเหตุการณ์ที่มักทำให้เราโกรธ

คนเราจะอารมณ์เสียได้ต้องมีอะไรกระตุ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หรืออยากให้คนอื่นทำแบบที่เราหวัง ดังนั้นลองสังเกตว่าเรื่องอะไรบ้างที่จะทำให้เราโมโหอยู่เป็นประจำ และมีเหตุผลอะไรที่ซ่อนอยู่ เช่น เรามักหงุดหงิดและโมโหตัวเองที่คิดงานไม่ออก เหตุผลที่ซ่อนอยู่คือเราอยากคิดงานได้เร็วได้ไวอย่างที่ใจคิด ลองจับสังเกตถึงเหตุผลที่ทำให้โมโห แล้วพยายามหลีกเลี่ยงการใส่ใจเหตุผลที่ทำให้เราโมโห เช่น เลิกกดดันตัวเองว่าจะต้องคิดงานออกให้ได้ไว ๆ แล้วมาโฟกัสที่คุณภาพของเนื้องานที่ออกมาแทน

 

ถ้าคุณรู้ว่าเหตุผลอะไรทำให้คุณโมโหได้ คุณก็สามารถหยุดอาการโมโหได้ก่อนที่มันจะเกิด บางคนบอกว่าเอาเข้าจริงใครมันจะหยุดอารมณ์โมโหตัวเองได้ เราอยากบอกว่าคุณทำได้โดยที่ตัวเองอาจไม่เคยรู้มาก่อน ยกตัวอย่างสถานการณ์ง่าย ๆ เช่น เวลาที่คุณโมโหหัวหน้างานมาก ๆ แต่เมื่อมีสายเข้าจากลูกค้า คุณเคยด่าออกไปไหมว่าทำไมถึงโทรมาไม่รู้เวลา? หรือคุณเคยแต่สวิตซ์อารมณ์แล้วรับสายราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น? ดังนั้นเลิกเชื่อว่าการโมโหยับยั้งไม่ได้ เพราะจริง ๆ มันทำได้ถ้าเราคิดจะทำ

 

ตอบให้ได้ว่าความสัมพันธ์สำคัญกว่าสิ่งที่เสียไปไหม?

เมื่อโมโหแล้วเกิดปากเสียงกัน หลายคนอาจลืมคิดถึงผลที่ตามมาว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับอีกฝ่ายแย่ลง ดังนั้นเวลาจะโมโหใส่ใคร ลองถามตัวเองก่อนว่าเราจะเลือกอะไรระหว่าง “ความสัมพันธ์” กับ “สิ่งที่เสียไป” สิ่งที่เสียไปในที่นี้เป็นได้ทั้งสิ่งของ อารมณ์ ความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น ลูกน้องคนโปรดของคุณทำงานพลาดจนคุณถูกผู้บริหารต่อว่า ตอนนั้นคุณมีสองทางเลือก คือหนึ่งไม่สนใจความสัมพันธ์ โมโหและเรียกลูกน้องมาด่าเอาให้รู้สึกไปเลยว่าถ้าทำแบบนี้อีกผมไล่คุณออกแน่ หรือทางเลือกที่สองคือ เรียกลูกน้องคนนั้นเข้ามาพูดคุยถึงปัญหาและบอกเขาว่าไม่ต้องกังวล งานเสียไปมันกลับมาแก้อะไรไม่ได้แล้ว ให้ปรับปรุงและระมัดระวังในการทำงานครั้งต่อ ๆ ไป และไม่ด่าเขาต่อว่าเขาทำให้คุณโดนผู้บริหารต่อว่า ซึ่งคุณต้องถามตัวเองว่าให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน

สิ่งที่เราบอกไปอย่าฝึกทำเฉพาะเวลาโกรธจริงเท่านั้น แต่อยากให้ลองฝึกก่อนจะเจอสถานการณ์โกรธจัดจะได้ควบคุมตัวเองได้ทัน รวมถึงหลายคนชอบเข้าใจผิดว่าความโกรธหรือโมโหนั้นคือพลัง แต่ความจริงแล้วมันคือสิ่งที่ทำให้เราสูญเสียพลังต่างหาก เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่าเราจะมีโอกาสชนะก็ต่อเมื่อคู่ต่อสู้โกรธ เพราะเวลาที่เขาโกรธ เขาจะไม่มีสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้นอย่าลืมว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณโกรธจัดจนอยากทำลายหรือด่าทอใคร นั่นหมายความว่าคุณได้ทำลายตัวเองไปแล้ว

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group
Public group · 290,000 members
Join Group
 

 

ที่มา: youtube.comth.reoveme.commayoclinic.orghealthline.comthestandard.co

tags : jobthai, jobs, คนทำงาน, งาน, หางาน, วิธีหยุดความโกรธ, วิธีหยุดอาการหัวร้อน, career & tips, เพื่อนร่วมงาน, พนักงานออฟฟิศ, เคล็ดลับการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม