ส่วนใหญ่คนเราจะตัดสินใจเลือกงานงานนึงก็คงจะหนีไม่พ้นปัจจัยหลักอย่างเรื่องเงินเดือน ตำแหน่ง หรือชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งบางครั้งเราเลือกให้ความสำคัญกับมันเป็นอันดับหนึ่ง จนลืมหรือลดความสำคัญของปัจจัยอื่น ๆ ไปเลย เช่น เราเอาเงินเดือนเป็นที่ตั้งมากกว่าความชอบหรือความถนัด เราเลือกแต่ตำแหน่งสูง ๆ จนลืมคิดว่างานนั้นไม่ได้เหมาะกับ Personality ของตัวเอง หรือเรามองชื่อเสียงของบริษัท มากกว่าระยะทางไป-กลับจากบ้านและที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยที่เรามองข้ามหรือลดความสำคัญพวกนี้แหละที่สามารถส่งผลให้เราทนทำงานได้ไม่นาน ดังนั้น JobThai จึงมีเคล็ดลับเลือกงานยังไงให้อยู่ได้นานมาฝากเด็กจบใหม่หรือคนทำงานที่กำลังหางานอยู่ตอนนี้
เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะชอบถูกคนที่บ้านตั้งความหวังเอาไว้เสมอ อยากให้เราเป็นนั่นเป็นนี่ อยากให้ทำตำแหน่งดี ๆ เงินเดือนเยอะ ๆ ได้อาชีพมั่นคง จนบางทีเราทำตามความพอใจของพวกเขาจนลืมถามตัวเองว่าเรากำลังเลือกงานให้ใคร ดังนั้นต้องกลับมามองว่าถ้าเราเลือกงานให้ตัวเอง เราก็ต้องเลือกงานที่จะทำให้เรามีความสุข และตอบโจทย์ในมุมต่าง ๆ ของเราเป็นอันดับแรก ซึ่งนั่นก็คืองานที่เรารักที่จะทำ เพราะงานที่เรารักมันพิเศษตรงที่มันจะมีแรงขับเคลื่อนบางอย่างที่สามารถทำให้เราทำมันได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
รวมถึงถ้าเราได้ทำงานที่ถนัดด้วยแล้ว เราจะรู้สึกว่าชีวิตการทำงานมันง่ายกว่าที่คิด หรือถ้ามันยาก แต่ถ้าเรารัก เราก็จะอยากทำมันให้สำเร็จ แต่ถ้าเราเลือกงานเงินเดือนเยอะ ตำแหน่งสูง บริษัทดัง แต่ไม่ได้รักหรือไม่ถนัดงานนั้นเลย ทุกอย่างจะดูยากสำหรับเราไปหมด เราจะเครียดกับงานทุกวัน กดดันตัวเองทุกวัน จนสุดท้ายก็กลายเป็นสาเหตุให้เราลาออกในที่สุด
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอคนอื่นทักว่า “บุคลิกแบบนี้ ทำไมไม่ไปเป็น…” หรือ “นิสัยแบบนี้ ทำด้านนี้น่าจะรุ่งนะ” ซึ่งรู้ไหมว่าคำพูดหรือคำแนะนำจากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เราเลือกงานที่เหมาะกับตัวเองได้เหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สังเกตหรอกว่าตัวเองเป็นคนยังไง จนกระทั่งมีคนอื่นมาทัก มาแนะนำ ซึ่งมีนักจิตวิทยาชาวอเมริกันคนนึงชื่อว่า จอห์น แอล ฮอลแลนด์ (John L. Holland) เขาคิดค้นทฤษฎีการเลือกอาชีพจากบุคลิกออกมา เป็นทฤษฎีที่ชื่อว่า John Holland's Theory of Career Choice (RIASEC) โดยเขาได้บอกว่าอาชีพกับบุคลิกมีความสอดคล้องกัน เขาเชื่อว่าคนเราจะมีความสุขและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อพวกเขาเลือกอาชีพที่ตรงกับบุคลิกและนิสัยของตัวเอง โดยเขาได้ทำแบบสำรวจแบ่งบุคลิกคนออกเป็น 6 ประเภท มาดูดีกว่าว่าบุคลิกอย่างเราคือประเภทไหนและเหมาะกับอาชีพอะไร
Realistic: ชอบลงมือทำ มุ่งมั่น ทำงานกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ดี ชอบทำงานนอกสถานที่หรืองานกลางแจ้ง
อาชีพที่เหมาะสม: วิศวกร งานช่างเทนิค นักกีฬา นักประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เกษตรกร นักบิน งานสายเกี่ยวกับเทคโนโลยี
Investigative: ชอบตั้งคำถาม หาข้อมูล คิดค้น วิเคราะห์ และแก้ปัญหา
อาชีพที่เหมาะสม: แพทย์ นักวิจัย นักเคมี นักสถิติ นักเศรษฐศาสตร์ ครูสอนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักวางแผน นักสืบ นักโบราณคดี นักมานุษวิทยา
Artistic: ชอบศิลปะ รักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง
อาชีพที่เหมาะสม: กราฟิกดีไซน์เนอร์ นักออกแบบ ครูสอนศิลปะ ครูสอนภาษา ผู้กำกับ นักแสดง นักร้อง นักดนตรี สถาปนิก ช่างภาพ นักแต่งเพลง นักข่าว นักเขียน
Social: ชอบทำงานกับคน มีจิตอาสา ชอบดูแล ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ และเข้าใจผู้อื่น
อาชีพที่เหมาะสม: นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ ครู บรรณารักษ์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา ตำรวจ ล่าม มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับ พนักงานบริการลูกค้า ทูต เลขานุการ ที่ปรึกษา
Enterprising: เป็นผู้นำ ชอบพบปะผู้คน โน้มน้าวคนเก่ง
อาชีพที่เหมาะสม: พนักงานขาย นักธุรกิจ นักการตลาด ผู้บริหาร ทนายความ ผู้พิพากษา นักการเมือง ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ พิธีกร
Conventional: ชอบตัวเลขและข้อมูล มีระเบียบ มีความรับผิดชอบ ชอบทำงานที่มีการจัดการเป็นขั้นเป็นตอน
อาชีพที่เหมาะสม: นักบัญชี ผู้ตรวจบัญชี นักสถิติ ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่ธุรการ เลขานุการ คนดูแลสต็อกสินค้า
ปัจจัยลำดับต้น ๆ ที่เราใช้เลือกงานอย่างเงินเดือน ตำแหน่ง หรือชื่อเสียงบริษัท อาจจะส่งผลให้เรารู้สึกไม่แฮปปี้กับงานอย่างที่คิด เพราะการเลือกงานโดยยึดแค่ปัจจัยเดียวที่เราคิดว่ามันดีโดยไม่มองปัจจัยอื่นร่วมด้วย มีผลต่อความสุขและอาจทำให้รู้สึกฝืนทนในการทำงาน เช่น เรามองปัจจัยหลักคือเงิน ได้เงินเดือนเยอะจริงแต่ต้องทนกับการตื่นตีห้าเพื่อนั่งรถมาที่ทำงานหลายชั่วโมง หรือเรามองปัจจัยหลักคือตำแหน่งงานสูง ๆ เราได้ทำตำแหน่งสูงจริง แต่มันสูงเกินความสามารถ จนเรากดดันถึงขนาดเครียดลงกระเพาะ ดังนั้นอยากให้คิดว่าการยึดปัจจัยเดียวเป็นหลักโดยไม่มองปัจจัยอื่น ๆ เลย เราอาจจะฝืนตัวเองได้แค่ช่วงแรกเท่านั้น แต่ต่อมาเราจะรู้สึกทรมานตัวเอง และไม่มีความสุขกับการไปทำงานเลย
วัฒนธรรมองค์กรก็เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการทำงานไม่น้อย ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อที่ทุกคนในองค์กรมี ต้องไม่ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก รวมถึงบรรยากาศการทำงานหรือไลฟ์สไตล์ในออฟฟิศต้องเหมาะกับเรา ซึ่งหลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงในเมื่อยังไม่ได้เข้าไปทำงาน วิธีง่าย ๆ คือ ก่อนไปสัมภาษณ์งาน เราสามารถศึกษาข้อมูลบริษัทคร่าว ๆ ในอินเตอร์เน็ตก่อน ไม่ว่าจะเป็นในประกาศงาน เว็บไซต์และ Social Media ของบริษัท หรือข่าวสารต่าง ๆ พอได้ไปสัมภาษณ์ก็อาจจะลองถามเพิ่มเติมว่าเขาทำงานกันยังไง ซึ่งตอนเข้าไปสัมภาษณ์ที่บริษัท ก็จะได้เห็นภาพบรรยากาศคร่าว ๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร ลองดูว่าชอบไลฟ์สไตล์พวกเขาไหม หรือถ้าหัวหน้าเป็นคนมาสัมภาษณ์เราเอง ก็ดูว่าเราชอบทัศนคติเขาไหม ถ้าได้ทำงานด้วยกันจะเข้ากันได้รึเปล่า ถ้าเราได้ทำงานในบริษัทที่เหมาะกับเรา มีเพื่อนร่วมงานสไตล์เดียวกัน สภาพแวดล้อมน่าอยู่ มันจะไม่ค่อยมีความคิดเรื่องลาออกเข้ามาในหัวหรอก เพราะความท้าทายที่เกิดจากงาน ไม่ปวดหัวเท่าปัญหาที่เกิดจากคน
คำว่าเลือกงานที่ก้าวหน้า ไม่ได้หมายความแค่ว่าได้เลื่อนตำแหน่ง หรือเงินเดือนขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงงานที่ทำให้เราก้าวหน้าในเรื่องของความสามารถด้วย ตอนไปสัมภาษณ์ ถ้าได้สัมภาษณ์กับหัวหน้างานก็ให้ดูทัศนคติของเขาว่าเป็นยังไง เขาดูเป็นคนเปิดกว้าง เปิดโอกาสมากแค่ไหน และดูด้วยว่างานนี้ ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายที่คิดไว้ไหม จะทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะและได้รับประสบการณ์อะไรไปใช้ได้ในอนาคตรึเปล่า หรือลองนึกดูเล่น ๆ ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าเรายังเห็นตัวเองทำงานอยู่ที่นี่ไหม
นอกจากนั้นเราก็ต้องเลือกบริษัทที่มั่นคงหรือมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคตด้วย วิธีง่าย ๆ ในการเลือกคือให้ลองศึกษาข้อมูลบริษัทว่าบริษัทนี้มีทิศทางการเติบโตยังไง หาข้อมูลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่าเขาพัฒนาองค์กรไปไกลแค่ไหน และยังไง มันจะทำให้เราเห็นว่าเขามีการปรับตัว รับมือ หรือแก้ไขปัญหายังไงเพื่อให้บริษัทเจริญก้าวหน้า ถ้าเขาผ่านปัญหาต่าง ๆ มาได้และมีการจัดการที่ดี ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตหากมีสถานการณ์ต่าง ๆ เข้ามาเขาก็จะสามารถรับมือและพาบริษัทให้ก้าวผ่านวิกฤติไปได้อีกเช่นกัน ซึ่งมันก็จะช่วยลดความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการถูก ให้ออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน หรือบริษัทปิดตัวลงได้
การที่เราทำอะไรสักอย่างโดยรู้ว่าเราทำเพื่อใครหรือเพื่ออะไรนั้นสำคัญมาก การเลือกงานก็เช่นกัน ถ้าเราเลือกงานที่สร้างคุณค่าให้กับคนอื่น หรือสร้างคุณค่าให้ตัวเองเราจะรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ มันจะทำให้ในทุก ๆ วันที่เราทำงานมีความหมาย ทั้งกับเราและกับคนอื่น ๆ ไม่ใช่แค่งานที่ทำไปวัน ๆ โดยไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์อะไรกับสังคมหรือตัวเองเลย ดังนั้นงานไหนก็ตามที่ทำให้เราภูมิใจได้นั้น เราจะอยู่กับมันได้นานโดยที่ไม่เบื่อ
ใคร ๆ ก็อยากมีเวลาทำสิ่งที่ตัวเองชอบทั้งนั้น การเลือกงานที่มีเวลาให้เราได้ใช้ชีวิต หรือมี Work-Life Balance ที่ดีสำคัญมาก โดยมีผลสำรวจนึงของชาวอเมริกันพบว่าเหตุผลอันดับแรกในการเปลี่ยนงานของพวกเขาไม่ใช่เรื่องเงินเดือน แต่เป็นการอยากมี Work-Life Balance ที่ดีขึ้น หลายคนอยากทำงานกับบริษัทที่มีแนวคิดให้ความสำคัญทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว ไม่ใช่ต้องอุทิศชีวิตให้แต่กับงานจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง ซึ่งการเลือกงานหรือบริษัทที่มีแนวคิดที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตทั้งสองด้านให้สมดุลกัน ทั้งด้านการทำงาน และ การใช้ชีวิตพักผ่อน ทำกิจกรรมที่ชอบ จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างแฮปปี้ และไม่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” จนต้องลาออกในที่สุด
เราไม่ได้บอกว่าการเลือกงานโดยยึดปัจจัยเรื่องเงินเดือน ตำแหน่งงาน หรือชื่อเสียงของบริษัทนั้นไม่ดี แต่แค่ไม่อยากให้เทน้ำหนักไปที่ปัจจัยใดปัจจัยนึงมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เพราะทุกปัจจัยล้วนที่มีผลต่อความสุขของเราทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจเลือกงานงานนึง อยากให้เอาหลาย ๆ ปัจจัยมาลองชั่งน้ำหนักหาข้อดีข้อเสียก่อน เพราะการเลือกงานก็เหมือนการเลือกบ้านดี ๆ สักหลัง ถ้าเราคิดและรอบคอบในการเลือกมากที่สุด สุดท้ายเราจะมีความสุขและอยู่กับมันได้นาน
ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่
|
|
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
iofficecorp.com, careers.govt.nz, krungsri.com, youtube.com,thestandard.co
pantip.com, cnbc.com, advisor.visualcapitalist.com