เวสารัช เขียวขจี: เส้นทางของความพยายามที่แม้จบไม่ตรงสายก็เป็นนักการทูตได้

26/02/18   |   53.6k   |  

 “อยากจะบอกน้อง ๆ ว่าพยายามค้นหาตัวเองให้เจอก่อนสอบเข้าปริญญาตรีก็ดีนะ”

 

นี่เป็นคำแนะนำจากนักการทูตหนุ่ม ที่ฝากทีมงาน JobThai สื่อสารออกไปถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพราะเขาเองก็คือคนหนึ่งที่เคยเกิดคำถามกับตัวเองว่าอาชีพที่เขากำลังจะก้าวเข้าไปทำหลังจากเรียนจบปริญญาตรี คือสิ่งที่เขาอยากจะทำจริง ๆ หรือไม่
 

วันนี้ JobThai ขอพานักการทูตอนาคตไกล คุณเวสารัช เขียวขจี หรือที่เราจะเรียกกันสั้น ๆ ตลอดบทสัมภาษณ์นี้ว่าคุณตาว มาพูดคุยกันอย่างหมดเปลือกเกี่ยวกับวิธีที่ทำให้เขาก้าวเข้ามาอยู่ในสายอาชีพนักการทูต พร้อมบอกเล่าประสบการณ์การทำงานจริงให้ใครที่กำลังฝันและเคยฝันอยากจะเป็นนักการทูตได้เห็นภาพกันมากขึ้น

 

  • การสอบเข้าเป็นนักการทูต สามารถเรียนจบในสาขาใดมาก็ได้ แต่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ
  • นักการทูตปฎิบัติการ เป็นตำแหน่งงานข้าราชการประจำกระทรวงการต่างประเทศ อัตราเงินเดือนที่ได้รับจึงเป็นอัตราเดียวกับที่ข้าราชการในกระทรวงอื่น ๆ ได้รับ แต่จะได้รับ “เงินเพื่อค่าครองชีพ” เพิ่มเติมเมื่อไปประจำการที่ต่างประเทศ
  • นักการทูตเมื่อไปประจำการที่ต่างประเทศในช่วงแรก ๆ จะมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของเอกอัครราชทูต
  • งานของนักการทูต นอกจากจะต้องออกงานสังสรรค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนจำนวนมากแล้ว ยังต้องรับผิดชอบภารกิจสนับสนุนการต่างประเทศ งานบริหาร งานการเงิน รวมไปถึงการทำสารนิเทศ และทำภารกิจดูแลคนไทยในต่างประเทศอีกด้วย

 

 

เล่าถึง Background ด้านการศึกษาของตัวเองหน่อย

ผมจบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นะครับ หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ลอนดอน จบเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา และเศรษฐกิจระหว่างประเทศมา จากนั้นก็จบเนติบัณฑิตเหมือนกับที่ทุกคนต้องไปเรียนก่อนจะไปสอบเป็นผู้พิพากษา

 

ได้ยินมาว่าจุดเริ่มต้นของอาชีพนักการทูต มาจากความกล้าที่จะฝืนกฎ เล่าความคิดตอนนั้นให้ฟังหน่อยค่ะ

ตอนจบปริญญาตรี คนจบกฎหมายส่วนใหญ่ก็จะไปสอบเนติบัณฑิตกัน เพื่อที่จะเป็นทนายความหรือไปสอบเป็นผู้พิพากษา แต่ผมเกิดคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่มันใช่จริง ๆ เหรอ ก็เลยลองฝืนทุกกฎเกณฑ์ที่มันควรจะเป็นสำหรับคนคนที่เรียนด้านกฎหมายมา  ตอนนั้นคนแห่สมัครการบินไทยกันเยอะ ผมก็ไปสมัครเป็นสจ๊วต หลังจากนั้นก็ไปทำงานเป็น Consulting Firm ทำเกี่ยวกับการให้คำปรึกษากฎหมายภาษี แต่พอทำแล้วก็รู้สึกได้ว่าสิ่งที่เราพยายามที่จะฝืนออกมามันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะเป็น มันเหมือนเป็นการตามกระแส ก็เลยกลับมาทบทวนว่า เห้ย…เรามีพื้นกฎหมายแล้วเราควรจะทำอะไร
 

กฎหมายมันมีสองอย่างมีกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน ในกฎหมายมหาชนมันมีกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ผมสนใจ ผมสนใจว่าคนหลาย ๆ ล้านคนจะอยู่กันอย่างไรให้ไม่มีการก่อการร้าย ไม่ให้มีการเอาเปรียบทางการค้าซึ่งกันและกัน แล้วผมก็รู้ว่ากระทรวงการต่างประเทศมีภารกิจการทำงานส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับตรงนั้น ก็เลยสอบเข้ามาทั้ง ๆ ที่ไม่มีความรู้ด้านรัฐศาสตร์เลย

 

จบไม่ตรงสาย พื้นฐานรัฐศาสตร์ก็ไม่มี คุณตาวเตรียมตัวอย่างไร

ต้องบอกก่อนว่ากระทรวงนี้มีมาตรฐานข้อสอบค่อนข้างสูงมาก จะไม่ใช้ข้อสอบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ทั่วไป แต่จะเป็นข้อสอบของกระทรวงการต่างประเทศโดยเฉพาะ ตอนนั้นต้องปิด Social Media ทุกอันไปเลย 6 เดือน พยายามอ่านหนังสือให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง เพื่อที่จะเก็บทุกอย่างให้ได้มากที่สุด
 

เนื่องจากความรู้ด้านรัฐศาสตร์ของผมเป็นศูนย์ ก็จะต้องไปโกยหนังสือพื้นฐานความรู้รัฐศาสตร์มาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ บ้าง ศูนย์หนังสือที่อื่นบ้าง เพื่อมาปูพื้นฐานรัฐศาสตร์ใหม่ทั้งหมด เพราะตรงนี้เป็นพื้นที่ของเด็กรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  (International Relation) เขาแข่งกัน แล้วเราต้องมาแข่งกับเขา ต้องติดตามข่าวย้อนหลังไป 6 เดือน เพื่อที่จะมาสอบ รวมถึงกลับไปทบทวนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเพราะเป็นหนึ่งในข้อสอบ
 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่ความจำ เพราะเรื่องความจำต้องมีเยอะอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กระทรวงต้องการ คือ ความสามารถในการวิเคราะห์เอาความรู้ที่เรามีมาใช้ตอบคำถาม เพราะการทำงานของนักการทูตคือการเอานโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่น ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์

 

 

ในฐานะที่วันนี้ได้เป็นนักการทูตแล้ว คุณตาวคิดว่าคนที่จะเป็นนักการทูตควรจะต้องมีคุณสมบัติอะไร

Friendly Personality คือ ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่อยู่ในขั้นสูงมาก ๆ ที่ต้องใช้คำว่าขั้นสูงมาก ๆ  เพราะว่าคุณไม่มีทางรู้เลยว่าชีวิตการเป็นนักการทูตเราจะถูกจับไปอยู่ตรงไหนของโลกนี้ คนที่มี Friendly Personality มักจะมากับลักษณะของการเป็นคนที่มีใจเปิดกว้าง เปิดใจยอมรับความแตกต่าง ยอมรับสิ่งที่ไม่เหมือนเรา ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น เพราะภารกิจหลัก 3 อย่างที่นักการทูตต้องทำคือ ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ  เจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ และเผยแผ่วัฒนธรรม ซึ่งการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศจะต้องหาคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีและมีจุดยืนที่แข็งแรง

 

เล่าเกี่ยวกับการสอบเข้าเป็นนักการทูตในกระทรวงการต่างประเทศหน่อย

การสอบมี 3 ภาค ภาคแรกคือข้อสอบทั่วไป ข้อสอบทั่วไปต้องอ่านเยอะมาก แนะนำให้อ่านข่าวย้อนหลังไปเลย 6 เดือน ชื่อเมืองหลวง ชื่อประเทศ ชื่อผู้นำและระบอบการปกครองต้องจำให้แม่น เช่น เมืองหลวงประเทศมาดากัสการ์ชื่ออะไร การมอบกุญแจเมืองระหว่างที่มีพระราชอาคันตุกะมาเยือนประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะมอบที่ไหน แม้แต่คำถามว่าผู้ชนะในรายการเดอะสตาร์ชื่ออะไรก็ยังมี คำถามพวกนี้เป็นคำถามในปีที่ผมสอบ มันคือความรู้รอบตัว ซึ่งข้อสอบภาคความรู้ทั่วไป 100 คะแนนต้องได้ 60 คะแนนขึ้นไป ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการตรวจข้อสอบภาคที่ 2
 

ภาคที่ 2 จะเป็นการสอบเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ที่เป็นระหว่างประเทศทั้งหมด ถ้าผ่านภาคที่ 2 ก็จะเหลือ Final list 50-70 คนเข้ารอบสัมภาษณ์ภาคที่ 3
 

ภาคที่ 3 ในภาคนี้จะมีท่านราชเลขาธิการมาเป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการก็จะมีปลัดกระทรวง อธิบดีจากทุกกรม รวมถึงหน่วยงานภายนอกด้วย อย่างเช่น การบินไทย โอสถสภา ในรอบนี้จะเป็นการสอบแบบ Group Discussion โดยให้ผู้สมัคร 5 คนมานั่งคุยกัน เพื่อดูว่าสามารถยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นและแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างไร และโน้มน้าวใจคนอื่นได้ไหม สุดท้ายก็จะมีการสอบ Incognito Speech คือ การพูดต่อหน้าคณะกรรมการและผู้สมัครคนอื่น ๆ ในหัวข้อที่เราไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน โดยจะมีเวลาให้เตรียมตัวก่อนพูดประมาณ 3 นาที ซึ่งเราต้องพูดนานถึง 5 นาที โดยจะมีกรรมการที่คอยขานเวลาให้เราทราบเป็นระยะ เมื่อสอบภาคนี้เสร็จก็เป็นอันจบการคัดเลือก แล้วก็รอประกาศผลครับ

 

งานของนักการทูตคืออะไรบ้าง

ขั้นแรกพอเราสอบเข้าไปได้ เราจะเป็นนักการทูตปฏิบัติการในกระทรวงการต่างประเทศ ต้องอยู่ให้ครบ 4 ปี ก็จะได้รับการคัดเลือกออกไปประจำการในสถานทูตต่างประเทศ
 

การออกไปประจำการต่างประเทศ เขาเรียกว่าไปเป็นเลขานุการท่านเอกอัครราชทูตเพื่อสั่งสมประสบการณ์ก่อน ไปดูว่าผู้ใหญ่เขาทำยังไง สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำจะมีผู้ใหญ่หลายท่านคอยให้คำแนะนำอยู่ เช่น การใช้ทักษะการเจรจากับต่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการรักษาความสัมพันธ์ทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด รอบคอบที่สุด
 

คนข้างนอกคิดว่าการเป็นนักการทูตเป็นภาพที่ค่อนข้างจะดูดี ดูเก๋ อย่างน้อยที่สุดได้ไปต่างประเทศแน่นอน ได้เจอคนต่างชาติ ได้พบปะสังสรรค์ จิบไวน์ เยอะแยะไปหมด เรื่องพวกนี้เป็นภารกิจหลักก็จริงแต่มันมีแค่ 30% ของการเป็นนักการทูต ส่วนอีก 70% คือการเตรียมการก่อนที่เราจะไปถึงคู่ค้า คู่สัมพันธ์ ของเรา เรียกว่าภารกิจสนับสนุนการต่างประเทศ ได้แก่ พิธีการทูต  การจัดขบวนรถ การจัดผังที่นั่ง ผังที่นั่งในโต๊ะอาหาร โรงแรม รวมถึงการเตรียมข้อมูลสำคัญอย่างข้อมูลของผู้นำต่างประเทศ ว่าทานอะไรได้หรือไม่ได้ ชอบและไม่ชอบอะไร เพราะถ้าเรารู้จักเขามากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เขาประทับใจประเทศไทยและคนไทยมากเท่านั้น พอขออะไรก็จะได้ง่ายมากขึ้น อันนี้เป็นศิลปะ
 

นอกจากนี้เราจะต้องทำงานบริหาร ทำงานการเงิน เป็นงานเกี่ยวกับการคลัง ระเบียบการคลัง การโอนงบประมาณ เพราะใช้ระบบราชการเบิกจ่ายตามระเบียบราชการทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าการเป็นนักการทูตปฏิบัติการคือการเป็นเลขาของท่านทูต สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการ ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับข้อมูลประเทศ ความรู้เกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศก็ต้องมีในหัวด้วย
 

งานของนักการทูตยังรวมไปถึงการทำสารนิเทศด้วย ก็จะมีกรมสารนิเทศโดยเฉพาะเพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่าน Social Media ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ และเราก็ยังมีภารกิจเกี่ยวกับการกงสุล ภารกิจหลักที่สถานทูตมีคือการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งข้อนี้เป็นหนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ของกระทรวง เพราะว่าเวลาคนไทยมีปัญหา ก็จะเข้ามาที่สถานทูต นี่คือภารกิจคุ้มครองคนไทย นักการทูตก็ต้องทำหมด ทำทุกอย่าง

การไปประจำการต่างประเทศมีการคัดเลือกประเทศที่ไปอย่างไร

การออกประจำการครั้งแรก กระทรวงมีนโยบายให้คนที่ออกประจำการครั้งแรกไปประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่นนะ (หัวเราะ) ก็ให้เลือกเอง ทุกคนก็เลือกประเทศที่ตัวเองชอบอย่างตัวผมเองก็เลือกประเทศสิงคโปร์และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้  แต่ก็อย่าลืมว่าประเทศที่เราเลือกอาจจะเป็นประเทศยอดนิยมที่คนอื่นก็เลือกเหมือนกัน และก็ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่ไม่มีคนเลือกด้วย ดังนั้นการแข่งขันที่จะได้ไปในประเทศที่เลือกก็สูง

 

 

ภาพนักการทูตที่คิดไว้กับหลังจากได้มาทำงานแล้วต่างกันเยอะไหม

ก่อนหน้านี้คิดว่าอาชีพนักการทูต เป็นอาชีพที่น่าจะมีรายได้ดี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องพูดก่อนสำหรับน้อง ๆ หรือคนที่อยากเข้ามาเป็น การมาเป็นนักการทูตสังกัดกระทรวงการต่างประเทศก็คือการเป็นข้าราชการ ต้องรับอัตราเงินเดือนตามอัตรา ก.พ. เราเป็นนักการทูตปฏิบัติการก็เหมือนเราเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เราก็รับเงินเดือนเท่ากัน แต่การเป็นนักการทูตเมื่อได้ไปออกประจำการจะมีสิ่งที่เรียกว่าเงินเพื่อค่าครองชีพ ซึ่งเมื่อไปประจำการต่างประเทศแล้ว มันก็จะอยู่ในปริมาณที่ทำให้เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้และเหลือเก็บด้วย

 

นักการทูตมีโอกาสเติบโตอย่างไร

จะมีในแง่ของการเติบโตว่าเราเลือกจะอยู่ในประเทศหรืออยู่ต่างประเทศ ถ้าเราเป็นนักการทูตปฏิบัติการในกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะเติบโตในระบบข้าราชการทั่วไป เช่น เป็นนักการทูตปฏิบัติการ เป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้อำนวยการกอง เป็นอธิบดีกรม เป็นรองปลัด เป็นปลัด ก็เหมือนกับกระทรวงอื่น ๆ ส่วนการเติบโตนอกประเทศ ก็จะเป็น เลขานุการตรี เลขานุการโท เลขานุการเอก ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูต อัครราชทูตและเอกอัครราชทูต ตามลำดับ
 

เราเลือกได้ครับว่าเราอยากจะโตที่ไหน กระทรวงไม่ได้มีนโยบายที่จะบังคับให้ข้าราชการออกประจำการ ใครประสงค์ไม่ออกประจำการก็จะเติบโตที่สายในประเทศไปเรื่อย ๆ ก็มีผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านที่ไม่เคยออกประจำการที่ต่างประเทศเลย ท่านเลือกที่จะอยู่กับครอบครัว บางท่านก็มีเหตุผลอื่น ๆ หรือชอบงานกระทรวงจริง ๆ ก็ยังสามารถโตเป็นระดับอธิบดีได้

 

ตอนเด็ก ๆ เราเคยได้ยินกันว่าจะเป็นนักการทูตต้องพูดได้ 5 ภาษา เป็นเรื่องจริงไหม

ไม่จริง แต่ต้องบอกว่าคนที่รู้มากกว่า 2 ภาษาก็จะได้เปรียบ สำหรับนักการทูตภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานอยู่แล้ว จึงต้องใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยมนะ ไม่ใช่แค่ดีเฉย ๆ (หัวเราะ) มันคืออาวุธในการเป็นนักการทูต เพราะเราต้องใช้ภาษาอังกฤษในการเจรจาอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนี้โลกมันไม่มีพรมแดนแล้ว ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจภาษาของคนอื่นเพิ่มขึ้นด้วยก็จะเป็นเรื่องที่ดี ตัวผมเองก็กำลังศึกษาภาษาจีนเพิ่มเป็นภาษาที่ 3 เหมือนกัน
 

ส่วนเวลาสอบเข้าเป็นนักการทูต กระทรวงอนุญาตให้ใช้ภาษาอะไรในการสอบก็ได้ จะตอบเป็นภาษาอาราบิก ภาษาบาฮาซา ภาษาสเปน หรือจะตอบเป็นภาษาอื่น ๆ ที่ใช้ใน UN ก็ได้หมดเลย บางคนตอบข้อสอบภาษาไทยภาษาเดียวก็มีโอกาสสอบผ่านได้เหมือนกัน เพราะจะมีข้อสอบสำหรับการทดสอบภาษาอังกฤษแยกต่างหากด้วย

 

เล่าถึงความสนุกของงานนี้ ที่คุณตาวมีโอกาสได้สัมผัสมาแล้วให้เราฟังหน่อย

งานนี้มีความสนุกตรงที่เราได้เจอความท้าทายหลายรูปแบบ อย่างตอนที่ผมเข้ามาทำแรก ๆ มีกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องนี้ ผมก็ได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำงานในกองที่เรียกว่ากองเขตแดน ซึ่งดูแลกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหารโดยเฉพาะ ทำให้มีโอกาสได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูสันปันน้ำ คือจุดสูงสุดที่น้ำไหลผ่านและเป็นเส้นเขตแดนระหว่างสองประเทศ ในวินาทีนั้นผมก็รู้สึกว่า ถึงแม้เราไม่ได้เกิดมาทันออกรบในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (หัวเราะ) แต่ตอนนี้เรากำลังทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของประเทศอยู่ ซึ่งน้อยคนนะที่จะมีโอกาสได้ทำ
 

ความสนุกสนานพวกนี้ผมจะเรียกว่าความท้าทาย นักการทูตจะไม่ใช้คำว่าอุปสรรคในการทำงาน กระทรวงการต่างประเทศจะสอนนักการทูตทุกคนให้เรียกอุปสรรคว่าความท้าทายเสมอ

 

มีความสนุกแล้วก็น่าจะมีความท้าทายที่ผ่านไปได้ยากผ่านเข้ามาในการทำงานสายนี้ด้วยใช่ไหม

ความท้าทายที่ผ่านไปได้ยากอย่างเดียวในการทำงานสำหรับผม คือ การพัฒนาตัวเอง การลดอีโก้ของตัวเองลงและเปิดใจรับความคิดเห็นของคนอื่น เพื่อให้การร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันหรือระดับสูงกว่าเป็นไปได้อย่างราบรื่น ถ้าเราทำตรงนี้ได้ การเจรจากับต่างชาติก็จะราบรื่นเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ถ้านักการทูตไม่เปิดใจรับความคิดเห็นของกันและกัน ก็มีโอกาสที่จะเกิดการต่อสู้ทางความคิดระหว่างคนไทยด้วยกันเองต่อหน้าคู่เจรจาได้ ก็จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

 

งานทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย แล้วอาชีพนักการทูตมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ข้อดีก่อนแล้วกัน คนที่เข้ามาทำอาชีพนี้ได้มีจำนวนน้อย มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งพอได้เข้ามาทำแล้วผมก็รู้สึกถึงโอกาสที่ได้รับจริง ๆ เช่น ได้ไปจับสิ่งที่เรียกว่านโยบายการต่างประเทศ เวลามีประชุม ด้วยความที่คนในกระทรวงน้อยมาก ดังนั้นเราจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ระดับอธิบดี ระดับปลัดกระทรวง และความคิดเห็นของเราจะไม่ถูกทิ้งแน่นอน เพราะธรรมชาติของกระทรวงเราเป็นกระทรวงที่เปิดรับความคิดเห็น ฉะนั้นทุกคนจะได้รับการยอมรับความคิดเห็น สิ่งที่ดีคือเราสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่
 

ส่วนข้อเสียก็อย่างที่บอกว่าเราจะต้องไปต่างประเทศบ่อยมาก และทั้งชีวิตของการเป็นเอกอัครราชทูต คุณจะสลับอยู่กับประเทศไทยกับต่างประเทศจนเกษียณอายุราชการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ความสัมพันธ์กับคู่สมรส หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนด้วยกัน สิ่งที่คุณต้องทำใจให้ได้คือคุณจะไม่ได้อยู่กับคนที่คุณรัก คุณจะต้องไปเจอคนใหม่ ๆ และต้องปรับตัวกับความหลากหลายอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเจอแน่นอน

 

เป้าหมายในอาชีพนักการทูตของคุณตาวคืออะไร

การเป็นเอกอัครราชทูตก็เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งที่อยากเป็น แต่สิ่งที่พยายามทำทุกวันนี้ คือการเป็นนักการทูตอย่างไรให้ดีที่สุดและเรารู้สึกภูมิใจไปกับมัน เป็นเป้าหมายที่ดีกว่ามากใช่ไหม?
 

เป้าหมายของผมในการเป็นนักการทูตทุกวันนี้ คือ เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถยกระดับความมีชื่อเสียง ความดีงามของประเทศไทย และรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยได้มากที่สุด ข้อนี้คือเป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักการทูตมากกว่า อยากทำแค่นั้น ถ้าทำได้พรุ่งนี้ตายก็ได้ ไม่ต้องเป็นเอกอัครราชทูตก็ได้ ถ้าทำได้จริง ๆ 100 เปอร์เซ็นต์

 

 

ถึงวันนี้คุณตาวยังมีความสงสัยในตัวเองอีกไหม

จริง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังคิดอยู่ว่าการเป็นนักการทูตก็อาจจะไม่ใช่นะ (หัวเราะ) แต่มันใช่ที่สุดในเวลานี้ไง

 

ฝากถึงคนที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้หน่อย

เด็กไทยถูกกำหนดให้เชื่อว่าหมอคืออาชีพที่ดีที่สุด ราชการคืออาชีพที่มั่นคงที่สุด นึกออกใช่ไหม? แต่โลกทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว มันมีอะไรที่ไปทำแล้วประสบความสำเร็จในตัวเองได้มากกว่านั้นอีก จริง ๆ คุณเป็นทุกอย่างได้ถ้าคุณอยากจะเป็น สิ่งที่ต้องทำคือสร้างจุดยืน สร้างความเข้มแข็งในจิตใน ฝรั่งเรียกว่า Gut คือการกล้าที่จะทำ โดยที่ไม่ต้องสนใจสิ่งรอบข้างถ้ามันถูกต้อง
 

อ่านเรื่องราวของนักการทูตของเราจบแล้ว รู้สึกฮึกเหิมอยากจะเดินออกจาก Comfort Zone ของตัวเองกันบ้างหรือเปล่า ใครที่มีความคิดแบบนี้ผ่านเข้ามา อย่าปล่อยให้ผ่านเลยไปนะคะ ลองนำกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า  “นี่คือสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ แล้วใช่หรือไม่” ไม่แน่ว่าคำตอบของคำถามนี้อาจจะทำให้คุณได้เจอเส้นทางในแบบที่ “ชอบ” และแบบที่ “ใช่” มากกว่าทุกวันนี้ก็ได้นะคะ

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 90,000 members
Join Group
 

tags : career&tips, jobthai, นักการทูต, คนทำงาน, การทำงาน, career focus



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม