ลุจนา ลิมติยะโยธิน: นักกายภาพบำบัด เบื้องหลังคนสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง

ลุจนา ลิมติยะโยธิน: นักกายภาพบำบัด เบื้องหลังคนสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง
24/01/18   |   16.4k   |  

เวลาพูดถึงนักกายภาพบำบัด ภาพแรกที่คุณคิดถึงคืออะไร?

คิดว่า “นักกายภาพบำบัด = นวด” หรือเปล่า หรือคิดว่านักกายภาพบำบัดคือคนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น

ถ้าคำตอบคือใช่ วันนี้ JobThai อยากจะให้ลองเปิดใจ ทิ้งความเข้าใจเดิม ๆ แล้วมาทำความรู้จักกับนักกายภาพบำบัดกันให้มากขึ้น ผ่านการบอกเล่าของคุณแหวน ลุจนา ลิมติยะโยธิน นักกายภาพบำบัดอิสระ ว่าบทบาทหน้าที่จริง ๆ ของนักกายภาพบำบัดนั้นเป็นอย่างไร แค่นวดอย่างเดียวแบบที่ใครหลายคนเข้าใจกันจริงหรือ

 

 

  • นักกายภาพบำบัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถกลับมาทำงาน หรือรับผิดชอบหน้าที่ในชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงเหมือนปกติให้ได้มากที่สุด
  • นอกจากโรงพยาบาลหรือคลินิกแล้ว นักกายภาพบำบัดยังสามารถทำงานที่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น สถานเสริมความงาม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือสถาบันฟื้นฟูต่าง ๆ รวมถึงสามารถเปิดคลินิกเป็นของตัวเองได้ด้วยเช่นกัน
  • การสอบใบประกอบวิชาชีพของนักกายภาพบำบัดต้องสอบ 3 อย่าง คือ ความรู้ทางการแพทย์ ความรู้ทางกายภาพบำบัด และความรู้ด้านกฎหมาย ซึ่งจะมีอายุ 5 ปี และการต่อใบประกอบวิชาชีพก็สามารถทำได้โดย สอบใหม่ เรียนต่อ หรืออบรมเพื่ออัปเดตความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องกายภาพบำบัด
  • นักกายภาพบำบัดเป็นอาชีพที่อยู่กับความคาดหวังของทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย นอกจากจะต้องวางแผนแนวทางการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องช่วยปรับทัศนคติของญาติผู้ป่วย ให้เข้าใจและเป็นกำลังใจที่ดีให้กับผู้ป่วยด้วย

 

 

แนะนำตัวเองให้เรารู้จักกันหน่อย

ชื่อแหวน ลุจนา ลิมติยะโยธิน จบปริญญาโทคณะกายภาพบำบัด สาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ

 

เวลาพูดถึงนักกายภาพบำบัด หลายคนก็นึกถึงการนวดขึ้นมาทันที หรือบางคนก็คิดถึงแต่ภาพที่คอยดูแลคนป่วยที่นอนติดเตียง นอนนานจนเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ อยากทราบว่าจริง ๆ แล้วบทบาทของนักกายภาพบำบัดคืออะไร และดูแลใครบ้าง

นักกายภาพบำบัดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จะช่วยส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ส่วนกลุ่มคนที่ต้องดูแลจะแบ่งออกเป็น คนที่มีปัญหาทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ มีปัญหาทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพากินสัน การทำกายภาพบำบัดในเด็ก กายภาพบำบัดทางการกีฬา กายภาพบำบัดชุมชน และก็กายภาพบำบัดในส่วนของระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจหลอดเลือดค่ะ

อีกอย่างเราเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์เยอะมาก เป็นสาขาหนึ่งที่ได้ผ่าอาจารย์ใหญ่จริง ๆ ซึ่งทำให้มีความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างต่าง ๆ ของร่างกาย เวลาเราวิเคราะห์ได้แล้วว่าปัญหาที่เขามีคืออะไร เราก็จะออกแบบวิธีการรักษา วิธีการตรวจประเมิน และท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมได้ คนจะคิดว่ากายภาพบำบัดคือนวด จริง ๆ แล้วเราเรียนนวดนะ แต่เราเรียนแค่ 1 หน่วยกิตจาก 200 กว่าหน่วยกิตเท่านั้นเอง

 

ปกตินักกายภาพบำบัดจะทำงานกันที่ไหนบ้าง

ทำงานที่โรงพยาบาลกับคลินิกได้แน่นอน และนักกายภาพบำบัดสามารถเปิดคลินิกเป็นของตัวเองได้ด้วย คือรับเคสได้เลยไม่ต้องผ่านแพทย์เหมือนทำงานในโรงพยาบาล ถ้าในโรงพยาบาลต้องผ่านแพทย์ก่อน แล้วแพทย์ถึงจะส่งต่อมายังนักกายภาพบำบัด

ตามสถานเสริมความงามก็เจอได้เหมือนกันค่ะ แต่จะเป็นอีกบทบาทหนึ่งของนักกายภาพบำบัด เช่น ให้นักกายภาพบำบัดดูแลในเรื่องของโปรแกรมการปรับรูปร่าง เรื่องของการใช้เครื่องมือไฟฟ้าหรือเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อก็มีนักกายภาพบำบัดเป็นคนดูแลการใช้เครื่องมือ หรือสถาบันฟื้นฟู สถาบันที่ดูแลผู้สูงอายุก็ได้เหมือนกัน

 

 

เห็นว่านักกายภาพบำบัดต้องดูแลผู้ป่วยหลายกลุ่ม อย่างนี้เวลาเรียนคือเรียนเฉพาะทางไปเลย หรือเรียนเหมือนกันหมด แล้วไปแยกประเภทเวลาทำงาน

ในระดับปริญญาตรีทุกคนจะเรียนเหมือนกันหมดเพื่อให้ดูแลผู้ป่วยได้ทุกกลุ่ม แต่ว่าตอนช่วงฝึกงานเราจะพบความถนัดของเราเอง ส่วนใหญ่เราเจอคนไข้แบบไหนเราก็จะถนัดไปเอง อย่างของแหวนเป็นระบบประสาท กับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อค่ะ

 

ก่อนจะทำงานได้ ต้องไปสอบใบประกอบวิชาชีพด้วยใช่ไหม

ต้องสอบค่ะ สอบ 3 วิชา วิชาความรู้ทางการแพทย์ วิชาความรู้ทางกายภาพบำบัด และวิชากฎหมาย พอสอบเสร็จได้คะแนนผ่านเกณฑ์ ก็จะได้ใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีอายุ 5 ปี ส่วนการต่อใบประกอบวิชาชีพใหม่ก็คือ เราต้องสะสมแต้มให้ได้อย่างน้อย 50 แต้ม วิธีการสะสมแต้มมีอยู่ 3 วิธี ไปอบรมเพื่ออัปเดตความรู้เรื่องกายภาพบำบัดตามสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ เรียนต่อ หรือสอบใหม่ เลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง

 

พอได้มาทำงานจริง ต่างกับที่เคยคิดเอาไว้ตอนจะเข้ามาเรียนไหม

แตกต่างแน่นอน พอมาเรียนและทำงานจริง ๆ มันละเอียดอ่อนมาก ก่อนจะทำงานได้ต้องมีการคิด วิเคราะห์ และก็ประเมิน ต้องรู้พื้นฐานอะไรหลาย ๆ อย่าง เมื่อก่อนคิดว่าก็คงไม่ได้ยากอะไร แต่พอมาเรียนแล้วมันต้องรู้เยอะนะกว่าที่จะประเมินคนคนหนึ่ง และตัดสินใจว่าจะรักษาหรือไม่รักษา หรืออะไรคือธงแดงห้ามทำ ต้องปรึกษาแพทย์

 

หมายความว่านักกายภาพบำบัดสามารถปฏิเสธการรักษาได้

ปฏิเสธได้ค่ะ โดยต้องมีเหตุผลของการปฏิเสธ เช่น เราไม่สามารถรักษาได้ เพราะรักษาแล้วจะเป็นอันตราย หรืออาจจะดีขึ้นแต่ไม่ใช่ดีที่สุด ก็ต้องแนะนำให้ไปตรวจหรือปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม

 

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าการทำงานในฐานะนักกายภาพบำบัดที่เป็นฟรีแลนซ์ ต้องทำอะไรบ้าง

เราต้องรู้ว่าเขาเป็นอะไรมา ต้องการอะไร ต้องพูดคุยและตั้งเป้าหมายกันว่าเขาต้องการที่จะกลับไปทำอะไรในชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม เริ่มจากการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวก่อน อย่างเช่นผู้ป่วยไม่สามารถเอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำได้ เราต้องวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำไม่ได้ กล้ามเนื้อเขาไม่มีแรง เป็นที่ข้อไหล่เขาติด หรือว่าเป็นมาจากที่สมองของเขามีปัญหา คือมันวิเคราะห์เยอะ

ถ้าเขามีผู้ดูแลก็ต้องคุยกับผู้ดูแลด้วย เช่น บางครั้งระดับสติสัมปชัญญะของผู้ป่วยอาจไม่เหมือนเดิม เราจะต้องคุยกับผู้ดูแล ปรับจูนกันว่าสามารถฝึกอะไรได้บ้าง เป็นไปได้แค่ไหน ต้องฝึกถี่แค่ไหน แล้วก็มาวางแผนการรักษา เตรียมอุปกรณ์ แบบประเมิน ทำการทดสอบว่าก่อนรักษาได้คะแนนเท่าไหร่ รักษาไปหนึ่งเดือน ประเมินซ้ำ ดีขึ้นไหม ถ้าดีขึ้นก็มาดูว่าอะไรทำให้ดีขึ้น ปรับการรักษาให้มันยากขึ้นไปอีกดีไหม

ถ้ามันแย่ลง หรือว่าดีขึ้นแต่ไม่ได้ดีขึ้นตามที่ควรจะเป็น ก็ต้องมาดูว่าอะไรทำให้มันเป็นแบบนั้น เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น พื้นฐานของผู้ป่วยเองเป็นคนที่แอคทีฟไหม ปัจจัยเรื่องคนรอบข้าง กำลังใจดีหรือเปล่า มีความเข้าใจไหม ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม เอื้ออำนวยไหม ต้องใช้อุปกรณ์เสริมช่วยหรือเปล่า หรือเป็นเรื่องของความถี่ในการทำการกายภาพ นักกายภาพบำบัดจะต้องมี Home Program ให้ไปทำทุกครั้ง การบ้านของเราคือ Exercise Prescription เราไม่มีใบสั่งยา เรามีใบสั่งออกกำลังกาย คือถ้าทำไม่ได้ตามที่กำหนด ก็เหมือนกินยาไม่ถึงโดส แทนที่จะดีขึ้นมันก็ดีขึ้นได้ไม่ถึงตามที่ควรจะเป็น

 

 

ถ้ามีเรื่องต้องคุยหรือปรึกษากับหมอ นักกายภาพบำบัดที่เป็นฟรีแลนซ์อย่างคุณแหวนจะต้องติดต่อหมอยังไง

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีหมอประจำอยู่แล้วค่ะ และเป็นเคสที่สามารถกลับมาอยู่ที่บ้านได้แล้ว โดยมีนัดกับหมอประจำอยู่ตลอด เราก็จะสื่อสารกับผู้ดูแลเนี่ยแหละค่ะว่าหมอว่ายังไง บางทีแหวนจะเขียนรายงานไปให้ เพื่อบอกว่าเรารักษาอะไรไปบ้าง ตอนนี้เป็นยังไง จากนั้นญาติจะเอาไปให้หมอดูว่าโอเคหรือยัง เราก็รับผิดชอบในส่วนของที่เราทำได้ค่ะ อะไรมันเกินขอบเขตเราต้องปรึกษาเพื่อนร่วมวิชาชีพ

 

มีเหตุการณ์หรือเคสไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษบ้างไหม

แหวนมีเคสนึงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ออกจากโรงพยาบาลมาได้หนึ่งเดือนก็เริ่มฝึกกันเลย เคสหลอดเลือดสมองเนี่ยถ้าได้รับการฟื้นฟูภายในสามเดือนหลังจากที่เป็นจะดีกว่าการรักษาช่วงอื่น ๆ โอกาสฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วมากขึ้น อย่างเคสนี้จะฝึกกึ่ง ๆ ในเรื่องของ Motor Learning คือสมองแต่ละส่วนจะรับผิดชอบหน้าที่ในการควบคุมร่างกายแต่ละส่วนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแหวนต้องรู้ว่าสมองส่วนที่เสียไปคืออะไร เราก็มาฝึกร่างกายส่วนนั้น พอฝึกแล้วสมองส่วนอื่นจะเข้ามาทำงานแทนที่ สมองเรามีความยืดหยุ่น ส่วนที่เสียก็เสียไป ส่วนข้าง ๆ สามารถเข้ามาทำงานแทนที่ได้ แต่เราต้องฝึก

ตัวอย่างเช่นเป็นโรคหลอดเลือดสมองทางด้านซ้าย ก็จะมีอาการแสดงออกทางด้านขวา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของกระบวนการคิด คือคิดอย่างหนึ่งแต่สิ่งที่พูดออกมาจะไม่ใช่อย่างที่คิด เช่น เห็นเลข 1 จะพูดเลข 1 แต่ดันไปพูดเลข 6 คือรู้ว่าเป็นเลข 1 แต่พูดเลข 6 ออกไป เขารู้นะว่าเขาผิด เขาก็หงุดหงิด แหวนก็ฝึกจนกลับมาพูดได้เหมือนเดิม เห็นอะไรพูดได้อย่างนั้น ต้องค่อย ๆ ฝึกและบันทึกไว้ เพื่อทำกราฟให้เขาดู พอเขาเห็นเขาจะรู้สึกว่าเออจริงด้วย เมื่อก่อนเขาเป็นแบบนี้ ตอนนี้เขาดีขึ้นมา แล้วก็เทียบกับเกณฑ์ของคนปกติให้เขาดู เนี่ยเป็นความภูมิใจ คือเราเห็นผลชัดเจน

 

มีเคสไหนไหมที่คุณแหวนรู้สึกว่ายากมาก

จริง ๆ ไม่เคยเจอนะ ตัวผู้ป่วยเองหลัก ๆ เขาจะพยายามให้ดีที่สุดอยู่แล้วค่ะ แต่จะยากในเรื่องของผู้ดูแลหรือญาติผู้ป่วยมากกว่า เพราะเขาไม่ใช่คนที่เป็นเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ทำ แหวนก็ต้องช่วยปรับทัศนคติเขา ให้เป็นคนให้กำลังใจแทนที่จะไปบั่นทอนจิตใจของผู้ป่วย เราต้องมีจิตวิทยาในการชักจูงโน้มน้าวด้วย

 

ทำไมคุณแหวนถึงเลือกเป็นฟรีแลนซ์ ทำไมไม่อยากทำกับโรงพยาบาลหรือองค์กร

ไม่ใช่ไม่อยากนะคะ แต่ว่าจังหวะชีวิตทำให้เรากลายมาเป็นฟรีแลนซ์ คือแหวนเรียนจบปริญญาตรีก็เรียนต่อปริญญาโทเลย ช่วงที่เรียนต่อมันเรียนค่อนข้างหนัก มีวิชาหลักเยอะมากก็เรียนอย่างเดียว พอเรียนวิชาหลัก ๆ เสร็จแล้ว ถึงช่วงที่ต้องทำวิทยานิพนธ์แหวนก็เริ่มทำงาน พอมีคนรู้ว่าเป็นนักกายภาพบำบัด ก็จะเริ่มมีการบอกต่อว่า รู้จักแหวนนะ เป็นนักกายภาพบำบัด เราเลยเริ่มรับงานมาเรื่อย ๆ เริ่มแบ่งเวลาทำงานกับทำงานวิจัยสลับกันไป จนเรียนจบเรียบร้อย งานก็มีเพิ่มเข้ามาเอง

และด้วยความที่เราชอบอธิบายกลไกการเกิดและการเป็นไปของโรคต่าง ๆ เลยมีคนมาติดต่อให้แหวนไปสอนด้วย ตอนที่แหวนเรียนปริญญาโทแหวนก็ตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์อยู่แล้ว พอแหวนได้ไปสอน ก็เป็นสอนแบบฟรีแลนซ์อีก เป็นของกระทรวงสาธารณสุข สอนในเรื่องของกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา เพื่อเตรียมความรู้พื้นฐานให้กับคนที่จะไปเรียนแพทย์แผนไทย หรือเรียนอบรมเรื่องเกี่ยวกับการนวด

 

 

คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการทำอาชีพนี้

ความยากคือเราต้องดีลกับความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย คือทุกคนคาดหวังที่จะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ จะเจอคำถามแบบ จะหายไหม เมื่อไหร่จะหาย เราต้องทำความเข้าใจกับเขา ต้องทำให้เขาเข้าใจว่ามันต้องค่อยเป็นค่อยไป โชว์ให้เขาเห็นว่าเขาดีขึ้นยังไง มีการตรวจประเมินที่เป็นตัวเลข จดบันทึกจากเริ่มฝึกแรก ๆ แล้วก็บอกให้เขาเข้าใจว่าบางทีมันอาจไม่ได้กลับมาดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ใกล้เคียงกับคนปกติ และคุณสามารถดูแลตัวเองได้

และยากในเรื่องของการดูแลจิตใจด้วย บางคนไม่สามารถตอบสนองหรือมีปฏิกิริยากับเราได้ เช่น เราคุย เขารับรู้ แต่เขาไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ทั้งหมดตามที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นเราจะพูดอะไร ถึงแม้เขาไม่ตอบสนอง แต่เราต้องระลึกไว้เสมอว่าเขารับรู้ พอแหวนทำงานบ่อย ๆ เจอหลาย ๆ เคส มันเกิดเป็นความเข้าใจมากกว่าความกดดัน เข้าใจว่าทุกคนก็จะต้องรู้สึกแบบนี้ สิ่งที่เราทำได้คือปรับความเข้าใจเขาทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น

 

คุณแหวนคิดว่าคุณสมบัติของนักกายภาพบำบัดที่ดีเป็นยังไง คนแบบไหนที่ไม่น่าจะเป็นนักกายภาพบำบัดได้

ต้องเป็นคนคิดบวก มีจิตวิทยาในการคุยกับผู้ป่วย ชักจูงผู้ป่วยให้สนใจ มีกำลังใจที่จะรักษาและฝึกต่อไปได้ คนที่ความอดทนต่ำ ไม่มีจิตวิทยาในการพูดจาโน้มน้าว และให้กำลังใจคน หรือคนที่มีความคิดในแง่ลบเยอะ คงลำบากหน่อยในการปรับตัวในการทำงาน แต่คิดว่าทุกคนสามารถทำได้ ตอนเราเรียนจะมีการฝึกงานซึ่งได้เจอกับคนไข้ที่หลากหลาย แหวนคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันฝึกฝนและขัดเกลาเราไปได้ตามระยะเวลากับประสบการณ์ที่เราเจอ

                         

เพราะอะไรคุณแหวนถึงรักและมีความสุขที่ได้ทำอาชีพนี้

ความสุขของผู้ป่วยค่ะ พอเขามีความสุขเราก็จะมีความสุขตาม เราเห็นพัฒนาการของเขาจากวันแรกที่เขามาเจอเรา บางทีเลยทำให้รู้สึกว่าไม่เหนื่อยละ ตอนแรกแหวนคิดว่างานนี้มันเหนื่อยนะ เหนื่อยแล้วก็หนัก แต่ด้วยความที่เป็นฟรีแลนซ์ด้วยมั้ง แหวนเลยเจอคนไข้ที่เป็นเคสประจำ ดูแลกันประจำอย่างต่อเนื่องก็จะมีความผูกพัน เห็นความพัฒนาของเขาชัดเจน มันมีความใกล้ชิดกันมากกว่าการเป็นนักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลมาก ๆ เลยค่ะ 

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยว่าอาชีพนักกายภาพบำบัดเขาทำอะไรกัน ก็คงจะได้รู้จักอาชีพนี้กันมากขึ้น ได้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากมายที่ไม่ใช่แค่ทางร่างกายเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงจิตใจของผู้ป่วยด้วย และกว่าที่นักกายภาพบำบัดสักคนจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับปกตินั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เลย เพราะต้องใช้ทั้งความพยายาม ความอดทน และความเข้าใจกันทั้งทางฝั่งผู้ป่วย ผู้ดูแลและตัวนักกายภาพบำบัดเองด้วย

เรียกได้ว่าถ้าหมอคือคนที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ นักกายภาพบำบัดก็คงจะเป็นอีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเบื้องหลังคนสำคัญอีกคนที่มาช่วยเติมเต็มให้ชีวิตของผู้ป่วยกลับมาสมบูรณ์ และใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากที่สุดอีกครั้ง

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career & tips, career focus, นักกายภาพบำบัด, คนทำงาน, การทำงาน, กายภาพบำบัด



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม