“ทำในสิ่งที่รักมักไม่เหนื่อย” เป็นคำพูดติดปากของผู้ชายคนนี้ที่ค้นพบว่าตัวเองรัก “การเล่าเรื่อง และ การถ่ายทอด” มาตั้งแต่เด็ก ต่อยอดมาเป็นจุดเด่นเฉพาะตัว และนำความใฝ่ฝันที่จะเป็น “นักเล่าเรื่อง” มาฝึกฝนตัวเอง จนกลายเป็นนิสัยที่ขยันหาความรู้จากทุกสิ่งรอบกาย เรียนรู้วิธีคิดจากชีวิตคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธภาพของคน เน้นประยุกต์วิธีคิดจากพี่อ้อย Club Friday ซึ่งเป็นวัตถุดิบชั้นดีมาผสมกับแนวคิดการบริหารคนในภาคธุรกิจ สอนหนังสือด้วยเนื้อหาจาก Facebook มีสไตล์การสอนที่มากด้วยลีลา ผ่านภาษาเผ็ดร้อนที่คล้องจองกันอย่างกลมกล่อม มีความสนุกกับชีวิตด้วยการเต้น Cover บนเวทีคอนเสิร์ตของตัวเอง ด้วยบุคลิกและเทคนิคเหล่านี้นี่เองทำให้ผู้ชายคนนี้กลายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร พ่วงด้วยรางวัลการสอนยอดเยี่ยม จนหลายคนเรียกเขาว่าเป็น “Edutainer” ผู้ส่งมอบความรู้คู่ความบันเทิงตัวยง
วันนี้ JobThai จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ผ่านเรื่องราวสนุก ๆ ของ ผศ.ดร.สมบูรณ์ กุลวิเศษชนะ หรือ อาจารย์แสบ อาจารย์ประจำสาขาการบริหารองค์การ ผู้ประกอบการ และทรัพยากรมนุษย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เขาค้นพบตัวเองได้อย่างไร อาจารย์มหาวิทยาลัยยังเป็นอาชีพที่น่าทำไหม เป็นอาจารย์แล้วไส้แห้งจริงหรือไม่ มาร่วมไขข้อข้องใจกันเลย
- อาจารย์แสบบอกว่าตัวเองโชคดีที่ค้นพบตัวเองได้ไวว่าเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องแบบ “ตรงประเด็นเห็นภาพ” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ไม่ค่อยมีสาระ แต่ก็จะเล่า ๆ ให้คนรอบข้างฟังด้วยอรรถรสของภาษาง่าย ๆ นับเป็นวิธีการลับคมทักษะการเล่าเรื่องมาตั้งแต่เด็กแบบไม่รู้ตัว
- นอกจากสอนหนังสือแล้ว หน้าที่หลักของอาจารย์มหาวิทยาลัย คือ การหาความรู้ใหม่หรือต่อยอดความรู้เดิมผ่านการวิจัย และงานบริการสังคม
- อาจารย์แสบไม่ได้สอนแค่วิชาการผ่าน Textbook อย่างเดียว แต่นำข่าวสารบน Facebook มาสอนด้วย เพราะเนื้อหาน่าสนใจเกาะกระแสสังคมสมัยใหม่ เอามาประยุกต์กับหลักการทฤษฎีได้ วิชาการเปลี่ยนเร็ว จึงควรสอนให้รู้วิธีคิดและประยุกต์ใช้ให้เป็น ดังคำกล่าว “ความรู้สะท้อนวิชาการ ประสบการณ์สะท้อนวิธีคิด”
- รายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยมีมากกว่าแค่เงินเดือนประจำ การเป็นที่ปรึกษา / นักวิจัยให้กับองค์กร อาจารย์พิเศษสอนปริญญาโท / เอก หรือวิทยากรต่าง ๆ ก็เป็นรายได้เสริมที่ดีพอควร
|
|
ความรู้สึกของการอยากเป็นอาจารย์เริ่มต้นตอนไหน และอะไรที่ทำให้รู้ว่าอาชีพนี้เหมาะกับเรา
น่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แต่ไม่ใช่ว่าอยากเป็นอาจารย์ทันที ตอนนั้นแค่เป็นคนที่ชอบเล่าเรื่อง มีอะไรก็จะเล่าให้คนที่บ้านฟัง ชอบดูหนัง ดูการ์ตูน ดูแล้วก็จะมาเล่าว่าเรื่องราวเป็นยังไง มีการแสดงท่าทางประกอบเป็นช่วง ๆ ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นการฝึกทั้ง Verbal และ Non-verbal Communication แบบไม่รู้ตัว มานึก ๆ ดู การสื่อสารแบบนี้ก็เป็นคุณสมบัติการถ่ายทอดขั้นพื้นฐานของหลาย ๆ อาชีพ โดยเฉพาะอาชีพอาจารย์ ส่วนตัวเป็นคนเชื่อธรรมชาติในการดำเนินชีวิตและจะเลือกอาชีพที่สะท้อนธรรมชาติของตัวเอง ชอบทำอะไรและทำได้ดีก็หาอาชีพที่เหมาะกับที่เราชอบทำ ไม่ต้องสนว่าจะทำแล้วร่ำรวยหรือไม่ จึงมาจบตรงที่ “การเล่าเรื่องและการถ่ายทอด” ซึ่งทำให้เราภูมิใจและเห็นคุณค่าตัวเองในที่สุด เคยอ่านเจอมาจาก Twitter รู้สึกโดนและชอบมาก เขาบอกว่า “งานเบาใจไม่เอามันก็หนัก ถ้าใจรักงานหนักมันก็เบา” ฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เราค้นพบว่าตัวเองชอบทำอะไรได้ไว เราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำได้เร็วเท่านั้น
เมื่อค้นพบว่าชอบการเล่าเรื่อง นำความชอบมาต่อยอดสู่การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อย่างไร
ตอนแรกเริ่มจากการเป็นติวเตอร์ เพราะได้ไปเรียนพิเศษกับติวเตอร์เก่ง ๆ ที่สอนดีมีสไตล์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้เนื้อหาที่น่าเบื่อเป็นเรื่องที่น่าสนุก เราก็อยากจะทำเหมือนกัน ก็เลยลองมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าจะเป็นติวเตอร์ เราจะเป็นติวเตอร์สไตล์ไหน” ด้วยความที่เป็นคนชอบเล่าเรื่อง ก็คิดว่าการเล่าเรื่องประกอบการติวน่าจะสไตล์ธรรมชาติที่ลงตัวมากที่สุด ก็ลองมาฝึกเองโดยตั้งตัวเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษประจำห้องตอนอยู่มัธยมต้นที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ต้องหาความรู้มากขึ้นเพราะต้องรู้จริงในสิ่งที่สอน ต้องเตรียมการสอน และค้นหาเทคนิคการสอนใหม่ ๆ สนุก ๆ ยกตัวอย่างเรื่องเล่าที่เข้าใจง่าย ก็สอนมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ก็เป็นติวเตอร์ในวิชาพื้นฐานที่ตนเองถนัด เช่น จิตวิทยาและปรัชญา พอย้อนกลับไปดูตัวเอง จากวันนั้นถึงวันนี้ ทำให้รู้ว่าการเป็นติวเตอร์เป็นวิธิการลับคมทักษะการเล่าเรื่องมาตั้งแต่เด็กอย่างไม่รู้ตัว และนับเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในบทบาทนักศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง
สมัยก่อนมีสอบเทียบ ก็เอนท์ติดตั้งแต่ ม.4 ได้ที่ครุศาสตร์ มัธยม-ศิลป์ จุฬาฯ ตอนนั้นเข้าใจว่าเรียนด้านนี้คงเป็นติวเตอร์ได้ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะยึดติวเตอร์เป็นอาชีพจริง ๆ หรือเปล่า พอดีสอบได้ทุน AFS เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เลยพักการเรียนที่จุฬาฯ ไปเรียน High School ก่อน หลังจากนั้นกลับมาเรียนต่อที่คณะครุฯ ก็พบว่า ไม่น่าจะตอบโจทย์ตัวเอง เลยเริ่มหาที่เรียนใหม่แบบสมัครสอบแบบยื่นคะแนนได้โดยไม่ต้องรอรอบสอบใหม่ในปีถัดไป ในที่สุดก็สอบเข้าเรียนบริหารธุรกิจ หรือ BBA ที่วิทยาลัยนานาชาติ ม. มหิดล หรือ Mahidol University International College (MUIC) จากเดิมที่ไม่เคยคิดจะเรียนบริหารธุรกิจ แต่ชีวิตก็ผันให้มาเปิดมุมมองใหม่ ๆ บ้าง อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจที่อยากเป็นอาจารย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
หันหลังให้ครุศาสตร์ และมุ่งหน้าไปทางบริหารธุรกิจ มีความลังเลกับการอยากเป็นอาจารย์หรือเปล่า
ตอนแรกก็งงว่า บริหารธุรกิจ กับ การเป็นอาจารย์ ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ พอได้มาเรียนก็ชอบแนวบริหารธุรกิจเหมือนกัน และได้เรียนกับอาจารย์เก่ง ๆ ซึ่งมีประสบการณ์จากธุรกิจจริง ทำให้ปรับความคิดว่า จบแล้วไปทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อนมาเป็นอาจารย์ก็น่าจะดี ตอนนั้นเริ่มรู้จักอาชีพที่ปรึกษาทางธุรกิจซึ่งเป็นอาชีพที่นอกจากค่าตอบแทนดีมาก ๆ แล้ว ยังให้ประสบการณ์ที่หลากหลายด้วย น่าจะเป็นประโยชน์ตอนกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย พอเรียนจบก็อยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง หางานยากมาก สุดท้ายได้งานที่บริษัทเล็ก ๆ ด้านวานิชธนกิจแห่งหนึ่ง ทำงานด้านประเมินมูลค่าธุรกิจ ช่วงเดือนแรก ๆ ก็สนุก เรียนรู้เยอะ สามเดือนต่อมาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะเอาดีด้านนี้จริงหรือ แล้วเราชอบตัวเองตอนทำงานนี้ไหม” คำตอบที่ได้ คือ “ไม่ชอบ” “ไม่ใช่” และ “ไม่สนุก” ซึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจลาออกทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีงานใหม่ด้วยซ้ำ เพราะรู้ตัวดีว่า “ฝืนทนทำไปก็ไม่ช่วยอะไร” ต่อให้ทำสุดฝีมือสุดหัวใจ ยังไงก็ได้แค่พอดีพอได้ ถ้าฝืนทำต่อไปตัวเราก็ไม่เก่งขึ้นเท่าที่ควร เราก็อาจกลายเป็นภาระเล็ก ๆ ขององค์กรที่ทำให้องค์กรเดินไม่เร็วก็เป็นได้ ส่วนตัวยังคงเชื่อความเป็นเลิศในการทำงานอยู่เสมอ คือ “ทำอะไรอย่าให้ใครด่า จะดีกว่าถ้ามีคนชม” ถ้าเป็นไปได้เราควรจะเลือกงานหรืออาชีพที่อนุญาตให้เรา “ได้ทำ” ในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขและภูมิใจ ไม่ใช่แค่มีความสามารถพอ “ทำได้” เท่านั้น
แล้วเส้นทางชีวิตหักเห มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อย่างไร
หลังจากตกงานได้หนึ่งสัปดาห์ ก็ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์พิเศษที่มาสอนที่ MUIC และอาจารย์เป็นอนุกรรมการโครงการของ United Nations Environment Programme (UNEP) และมีโปรเจกต์ให้ไปช่วยพอดี เลยทำเป็นแบบ Contract ประมาณ 3 เดือน ได้ประสบการณ์ที่ดี ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษขั้นสูง มีความเป็นทางการที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน วันหนึ่งบังเอิญเจอเพื่อนของเพื่อนซึ่งเรียนที่ BBA ธรรมศาสตร์ และแม่ของเขาก็เป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ เขาก็ถามเรื่องทั่วไป ทำงานที่ไหน อยากไปเรียนต่อโทที่ไหน แล้วมองเส้นทางอาชีพยังไง ก็เล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วอยากเป็นอาจารย์ แต่คิดว่าคงจะเป็นตอนมีประสบการณ์เยอะ ๆ อายุมากหน่อยจะดีกว่า เพราะไม่เคยเห็นอาจารย์อายุน้อย ๆ เขาก็ไปเล่าให้แม่เขาฟังว่ามีเพื่อนที่เพิ่งจบป.ตรี และอยากเป็นอาจารย์ จากนั้นคุณแม่ของเพื่อนก็นัดคุยเบื้องต้น และแนะนำให้สมัครเป็นอาจารย์เลย ท่านคงเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา เราก็กล้าพอที่จะคว้าโอกาสดี ๆ ไว้ ตอนนั้นมีคนสมัครเป็นอาจารย์เข้าสาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ 30 คน แต่รับแค่ 3 ตำแหน่ง สุดท้าย ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ประจำคณะฯ ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าเป็นอาจารย์อายุน้อยที่สุดในคณะฯ คือ อายุเพียง 23 ปี และมีแค่วุฒิปริญญาตรีเท่านั้น
ครั้งแรกในชีวิตกับการเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์นั่งเรียนอยู่เกือบร้อยคน รู้สึกอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่ารู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมาก ตอนนั้นเริ่มเป็นอาจารย์ตั้งแต่เพื่อนรุ่นเดียวกันยังเรียนไม่จบ เพราะสอบเทียบมาและจบสามปีครึ่งจากมหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์ที่หน้าเหมือนเพื่อนนักศึกษามาก ยังปรับตัวไม่ค่อยถูก วิชาแรกที่สอนคือ หลักการบริหาร ซึ่งตัวเองเพิ่งเรียนจากมหาวิทยาลัยมาประมาณสี่ปีที่แล้ว ไม่รู้ว่าจะวางตัวยังไงให้เหมาะสมกับเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ค้นหาจุดยืนที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองอยู่นาน สุดท้ายมาลงตัวตรงที่ “เนื้อหาที่สอนต้องเป็นแบบคลื่น FM แต่สไตล์การสอนเป็นแบบคลื่น AM” ซึ่งหมายถึง เนื้อหาต้องสมัยใหม่ แต่รูปแบบการสอนเน้นการเล่าเรื่องที่ตรงประเด็นเห็นภาพด้วยภาษาง่าย ๆ ซึ่งโชคดีที่อาจารย์ผู้ใหญ่ในสาขาฯ สนับสนุนให้สอนในแบบฉบับของตัวเอง มีนักศึกษาหลายคนบอกว่า อาจารย์แสบมีลีลาการสอนที่ไม่เหมือนอาจารย์คนอื่น จะเป็นแบบ Talk Show พกไมค์คล้องหูส่วนตัว หรือ Headset Microphone เข้าถึงนักศึกษาทุกที่นั่ง เรียนสนุกลุกนั่งสบาย พอได้ฟังแล้วก็ชื่นใจ คิดว่ามาถูกทางแล้ว หลังจากสอนได้หนึ่งปี ก็สอบชิงทุนธรรมศาสตร์ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่ Cambridge Business School, University of Cambridge, UK ใช้เวลาเรียนโทและเอกทั้งหมด 4 ปี และเป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอกจาก Cambridge Business School หลังจบปริญญาเอกก็สอนหนังสือมาแล้ว 12 ปี
นอกจากการสอนที่เป็นหน้าที่หลัก อาจารย์มหาวิทยาลัยมีหน้าที่อะไรอีกบ้าง
งานหลักของอาจารย์มหาวิทยาลัย (เฉพาะที่คณะพาณิชย์ฯ ธรรมศาสตร์ สำหรับคณะและสถาบันการศึกษาอื่นอาจแตกต่างกันไป) แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ สอน วิจัย และบริการสังคม สำหรับการสอนนั้น หลัก ๆ แต่ละปีการศึกษาอาจารย์ต้องสอนระดับปริญญาตรีภาคไทย 4 Sections (3 ชั่วโมง ต่อ Section) สำหรับการสอนระดับปริญญาโท และหลักสูตรนานาชาติ ถือเป็นการสอนเพิ่มจากภาระการสอนปกติ ไม่ได้บังคับให้อาจารย์ทุกคนต้องสอนระดับปริญญาโทและหลักสูตรนานาชาติ
อย่างที่สอง คือ การทำวิจัย ซึ่งก็มีหลายแบบ เช่น วิจัยพื้นฐานที่เน้นการต่อยอดความรู้เดิมหรือเพิ่มความรู้ใหม่ หรือวิจัยประยุกต์ที่เน้นการแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งงานทั้งสองแบบนี้ ต้องนำมาตีพิมพ์เป็นบทความในวารสารทางวิชาการปีละหนึ่งบทความ
และสุดท้ายคือ งานบริการสังคม ซึ่งหมายถึง การได้รับเชิญไปบรรยายเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคลากรภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน การเป็นที่ปรึกษาให้หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้อาจารย์ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ หรือแม้แต่ได้ประยุกต์หลักการวิชาการในโลกธุรกิจจริง เพื่อจะได้เช็กดูว่าวิชาการนำมาประยุกต์ได้มากน้อยแค่ไหน ในทางวิทยาศาสตร์ การหาความรู้ใหม่ของนักวิทยาศาสตร์คือการทดลองในห้องแล็บ แต่ในทางสังคมศาสตร์ การหาความรู้ใหม่คือการหาประสบการณ์ในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาแชร์ให้กับนักศึกษาได้อย่างเห็นภาพและทันสมัย
สไตล์การสอนในแนวทางของอาจารย์แสบ แตกต่างจากอาจารย์ทั่วไปอย่างไร
อาจารย์แต่ละท่านคงมีแนวทางการสอนที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนตัวนั้นเชื่อว่าเนื้อหาทางการบริหารธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หลักการทฤษฎีความรู้บางอย่างยังคงขลังและใช้การได้ก็สอนต่อไป แต่ตัวอย่างคงต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ฉะนั้นจะไม่ค่อยสอนทฤษฎีวิชาการเพียว ๆ แต่จะเน้นกระตุ้นให้เกิดวิธีคิดที่มี “ตรรกะ” เป็นพื้นฐาน ซึ่งสำคัญมากต่อการนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในเรื่องเรียนและการดำเนินชีวิต ส่วนตัวจะเน้นย้ำเสมอกับหลักการสอนที่ว่า “ความรู้สะท้อนวิชาการ ประสบการณ์สะท้อนวิธีคิด” เน้นให้เกิดการคิดมากกว่าการท่องจำอย่างเดียว ตัวเองจะไม่สอนเนื้อหาทั้งหมดจาก Textbook แต่สอนเนื้อหาที่อยู่บน Facebook ด้วย เพราะเนื้อหาบางเรื่องมีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้และทันสมัยสามารถเอามา “ขยี้” ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันแบบปัจจุบันทันด่วนได้เลย ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักศึกษายุคใหม่กับ Social Media เป็นของคู่กัน วัน ๆ ใช้เวลาบน “หน้าจอ” มากกว่าเจอ “หน้าจริง” ด้วยซ้ำ ฉะนั้น เราก็ควรใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์ โดยเอาความรู้ใหม่ ๆ จากสื่อเหล่านั้นมาสอนด้วย อะไรที่อยู่ในกระแสก็จะเอามาเป็นกรณีศึกษาได้ทันที โดยให้นักศึกษาเปิดหน้า Facebook Page ที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาพร้อมกันทั้งห้อง แล้วอ่านกันสด ๆ แสดงความคิดเห็นกันสด ๆ ทุก ๆ วัน เราก็จะเจอเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เป็นวัตถุดิบให้กับชีวิตการเรียนแบบสนุก ๆ ได้เสมอ เช่น “พี่ตูน Bodyslam” “BNK48” “Amazon Go” หรือแม้กระทั่ง “Club Friday” แล้วเรามาผูกเข้ากับเนื้อหาการสอนเรื่องการบริหารลูกค้าและบริหารคนได้อย่างกลมกล่อม
ถ้าถามถึงจุดเด่นส่วนตัว ก็น่าจะเป็น การสอนให้ความรู้คู่ความบันเทิง ซึ่งก็คือ เล่าเรื่องจากประสบการณ์ตัวเองหรือสื่อที่อยู่รอบตัวด้วยอรรถรสภาษาแบบวัยรุ่น ทำให้นักศึกษาเห็นภาพที่ชัดขึ้น ใช้คำคม คำคล้องจอง ที่จำกันง่าย ๆ ให้โดนใจ ไม่หวังให้ท่องจำ แต่จะพูดย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ให้เข้าใจ ได้แค่ไหนแค่นั้น
ทุกๆ ครั้งที่สอน จะสอนสไตล์ Talk Show ฟังแล้วไม่เครียด สมองไม่หนัก ซึ่งง่ายต่อการสร้าง Mindset ให้เหมาะสม ก่อนจะสอน Skillset ต่อไป สิ่งที่จะเน้นมาก ๆ สำหรับวิชาการบริหารคน คือ การบริหารความสัมพันธ์ของคน (Human Relations) และนี่คือ Mindset ที่อยากให้นักศึกษาได้เปิดรับก่อน เพราะอยู่ใกล้ตัวมากและประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตทุก ๆ วัน สโตล์การสอนที่ไม่เหมือนใครอีกอย่างคือ การยกตัวอย่างการบริหารความสัมพันธ์ของคนผ่านแนวคิดจาก Club Friday ซึ่งพูดถึงเรื่องการบริหารความสัมพันธ์ล้วน ๆ เพียงแต่เราไม่ได้ตีความเรื่องความสัมพันธ์แบบแฟนอย่างเดียว บางเรื่องบางวิธีคิดจาก Club Friday ก็ไม่ต่างกับหลักการการบริหารคนเลย บ่อยครั้งก็หยิบยืมคำคมของพี่อ้อยมาแปลงให้เป็นแนววิชาการ จนนักศึกษาบางคนเรืยกอาจารย์ว่า Professor of Club Friday
คิดว่าตัวเอง เป็นอาจารย์ที่ดุไหม
ไม่ดุแต่เข้มงวดในบางเรื่องมากกว่า เช่น การให้เกียรติซึ่งกันและกันในห้องเรียนหรือแม้แต่นอกห้องเรียน เวลาสอนอยู่ ถ้ามีคนหนึ่งอยากฟัง แต่คนหนึ่งอยากคุยเสียงดัง นั่นหมายถึง คุณกำลังก้าวล้ำสิทธิ์คนอื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แบบนี้ต้องปรับทัศนคติกันหน่อย “ใจเขา ใจเรา” การให้เกียรติคนอื่นยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอในการทำงานและการใช้ชีวิตทุก ๆ วัน
บางคนยกมือถือตั้งศอกเล่น Line ต่อหน้าต่อตากันเลย อาจารย์ก็ไม่พูดอะไร แค่หยิบมือถือมาเล่น Line กลางห้องเท่านั้น เล่นไป จนนักศึกษาก็งงว่า อาจารย์ทำอะไร ทำไมไม่สอน ดูเป็นอาจารย์ไร้มารยาท ก็เลยให้ข้อคิดไปว่า ถ้าเราเจอคนทำตัวนัไม่น่ารักในสังคม เราจะรู้สึกต่อคนคนนั้นอย่างไร ฉันท์ใดฉันท์นั้นกับนักศึกษาที่เล่น Line ไม่แคร์ใคร นี่คือ วิธีการสอนเพื่อเรียกสติให้เห็นว่า “ใจเขา ใจเรา” เป็นยังไง เป็นวิธีการที่ค่อนข้างแสบสมชื่อเลยทีเดียว
อาชีพนี้รายได้น้อยจริงไหม หรือจริง ๆ แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยยังมีรายได้ช่องทางอื่นอีก
ถ้ามองจากฐานเงินเดือนของอาจารย์เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในบริษัทเอกชนแล้ว ย่อมน้อยกว่ามาก แต่ถ้าอาจารย์ต้องการหารายได้เสริมก็ไม่ใช่เรื่องยาก อาจารย์คงต้องประยุกต์ความสามารถของตัวเองให้ตอบสนองความต้องการขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การบริหารองค์กร หรือแม้แต่ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ฉะนั้น นอกเหนือจากเงินเดือนที่เป็นรายได้หลักจากการสอนระดับปริญญาตรีแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยยังสามารถเสริมรายได้จาก 3 ช่องทางหลัก ๆ คือ
- เป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สอนโครงการปริญญาโท / เอก โครงการพัฒนาผู้บริหาร และอื่น ๆ
- เป็นวิทยากร / ที่ปรึกษาให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
- ทำโครงการวิจัยเชิงวิชาการ และ/หรือทำโครงการวิจัยเชิงประยุกต์ (แบบ Consulting Project)
นี่คือส่วนเสริมด้านรายได้ แต่ภาระงานที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดต้องครบถ้วนด้วย รายได้เสริมจาก 3 ช่องทางนี้จะมากจะน้อยก็แล้วแต่สาขาวิชา ถ้าเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือราชการ / รัฐวิสาหกิจก็อาจจะมีงานค่อนข้างเยอะหน่อย
ขั้นตอนการสมัครเข้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
- อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีวุฒิปริญญาโทเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่ต้องจบปริญญาเอก ยกเว้นสาขาขาดแคลนจริง ๆ ก็อาจจะรับวุฒิปริญญาตรี (เกียรตินิยม)
- การสมัครเข้าเป็นอาจารย์ไม่มีช่วงเวลาเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับความต้องการอาจารย์ในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น มีอาจารย์เกษียณ มีอาจารย์ลาออก
- หลัก ๆ ผู้สมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องผ่านการทดสอบ 3 ประเภท คือ สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ และสอบสอน เพื่อประเมินว่า “สอนได้วิจัยเป็น”
- ก่อนจะมาสมัครอาจารย์ถ้าคิดว่ามีประสบการณ์การทำงานมาเยอะพอ สามารถขอสมัครเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อทดสอบตัวเองก่อนก็ได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยินดีพิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถจากภาคธุรกิจมาร่วมแบ่งปันความรู้ให้นักศึกษาอยู่แล้ว
|
|
JobThai มี Line แล้วนะคะ
ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่