-
การรับสมัครพนักงานหนึ่งครั้ง ไม่ใช่เรื่องที่ HR จะสามารถตัดสินใจเพียงคนเดียวทุกขั้นตอนได้ เพราะเขาเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คัดกรองผู้สมัครเบื้องต้นตามคุณสมบัติที่แผนกต่าง ๆ ในองค์กรแจ้งมา
-
ตั้งแต่การนัดสัมภาษณ์จนไปถึงวันสัมภาษณ์งาน HR มีหน้าที่ติดต่อเพื่อบอกรายละเอียดขั้นตอนในการสัมภาษณ์งานเท่านั้น และการที่ผู้สมัครต้องมานั่งรอสัมภาษณ์นานก็อาจไม่ใช่ความผิดของ HR แต่อาจเป็นเพราะคนสัมภาษณ์ติดภารกิจอื่นอยู่
-
การต่อรองเงินเดือนก็ไม่ใช่เรื่องที่ HR สามารถตัดสินใจได้เองด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องเป็นไปตามโครงสร้างขององค์กรที่กำหนดเอาไว้หรือตามที่หัวหน้าแผนกพิจารณา
-
ข้อบังคับในการปฏิบัติตัว ระเบียบในการลางาน หรือบทลงโทษต่าง ๆ อาจมีบางข้อที่ทำให้คนทำงานรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล แต่ยังไงกฎและสวัสดิการเหล่านั้นก็มีไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในองค์กรทั้งนั้น
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย
|
|
หลายครั้งที่คนหางานรู้สึกไม่ชอบและไม่พอใจกับ HR ในบริษัทที่ตนสมัครงานไป ด้วยเหตุผลและปัจจัยต่าง ๆ อย่างในกรณีที่เราไม่ถูกเลือกเข้าไปสัมภาษณ์ หรือไม่ผ่านสัมภาษณ์งาน หรือเมื่อกลายเป็นเพื่อนร่วมงานกันแล้ว กฎระเบียบต่าง ๆ ในองค์กรก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้หลายคนเคือง HR เพราะพวกเขาเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ เช่น การลา การมาสาย ซึ่งความจริงแล้วกฎระเบียบหรือเกณฑ์การคัดเลือกพนักงานก็ไม่ได้มาจาก HR เพียงแค่คนเดียว แต่ต้องผ่านการปรึกษากับแผนกต่าง ๆ ไปจนถึงผู้บริหารเลยก็ว่าได้
JobThai เลยอยากพาคนทำงานมาดูกันว่าเรื่องอะไรที่ทำให้ HR กลายเป็นตัวร้ายในสายตาคนทำงาน และกว่าที่ผู้สมัครคนหนึ่งจะผ่านขั้นตอนการคัดเรซูเม่ การทำแบบทดสอบ การสัมภาษณ์งาน และการได้รับเข้าทำงาน HR เขาต้องเจอกับความเข้าใจผิดในเรื่องอะไรบ้าง
การรับสมัครพนักงาน
การรับสมัครพนักงานหนึ่งตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องที่ HR จะสามารถตัดสินใจเพียงคนเดียวทุกขั้นตอนได้ เพราะเขาเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่คัดกรองผู้สมัครเบื้องต้นตามคุณสมบัติที่แผนกต่าง ๆ ในองค์กรต้องการ เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่าง ๆ ในประกาศงานที่เราเห็นกัน ทั้งทักษะ อายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ เป็นสิ่งที่แผนกต่าง ๆ ลิสต์รายละเอียดมาให้ HR ทั้งหมด โดยที่ HR มีหน้าที่ในการลงประกาศรับสมัคร และคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตัดสินใจเรียกสัมภาษณ์งาน ซึ่งเขาอาจจะมีหน้าที่แค่คัดเลือกเรซูเม่ที่เหมาะสมและส่งให้หัวหน้าหรือผู้จัดการของแผนกนั้น ๆ เป็นคนตัดสินใจว่าจะเรียกมาสัมภาษณ์งานหรือไม่ หรืออาจจะเรียกมาสัมภาษณ์เองเบื้องต้นก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท
คนทำงานหลายคนอาจรู้สึกว่า HR ไม่ได้มีความรู้หรือทักษะในสายงานที่ตนเองกำลังสมัคร จะมาตัดสินใจได้ไงว่าผู้สมัครทำอะไรได้บ้าง จริงอยู่ที่ว่า HR ไม่สามารถทำงานแทนเราหรือรู้เรื่องทักษะเชิงลึกในสายงานที่เรามีทั้งหมด ดังนั้นการรับสมัครงานแต่ละแผนกจึงลิสต์คุณสมบัติที่ต้องการมาบรีฟ HR อีกที เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองผู้สมัครเบื้องต้น โดย HR ก็จะใช้ข้อมูลที่ได้มามาเป็นคีย์เวิร์ดในการเลือกเรซูเม่ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองด้วยสายตา หรือใช้โปรแกรมที่มีชื่อว่า Applicant Tracking System (ATS) เพื่อค้นหาใบสมัครที่มีคีย์เวิร์ดที่ต้องการ เราในฐานะคนหางานจึงต้องดูประกาศงานต่าง ๆ ให้ละเอียดและปรับเรซูเม่ให้มีคีย์เวิร์ดที่บริษัทต้องการในแต่ละตำแหน่ง เพื่อให้เรซูเม่ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะถ้าเรซูเม่ที่ไม่มีคำเหล่านั้นเลยจะถูกปัดตกไปได้
การสัมภาษณ์งาน
การสัมภาษณ์งาน อีกหนึ่งขั้นตอนการสมัครงานที่ทำให้คนทำงานหลายคนเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อ HR ด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างการนัดมาสัมภาษณ์แล้วให้นั่งรอหลายชั่วโมง หรือเลื่อนนัดสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะฉุกเฉินหรือบอกล่วงหน้าก็ตาม คนหางานหลายคนก็จะเพ่งเล็งมาที่ HR เพียงผู้เดียว นอกจากนี้อีกหนึ่งหน้าที่ของ HR ที่หลายคนยังไม่รู้คือ การเข้ามาเจรจาเพื่อต่อรองเรื่องผลตอบแทนหรือรายได้ของเรา เพื่อให้ตรงกับที่บริษัทวาง Budget ไว้ ก็เป็นอีกหน้าที่ที่เสริมความเป็นตัวร้ายให้กับ HR ได้อย่างมาก
ในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การนัดสัมภาษณ์จนไปถึงวันสัมภาษณ์งานจริง HR มีหน้าที่ติดต่อเพื่อบอกรายละเอียดของวัน เวลา และขั้นตอนในการสัมภาษณ์งานกับผู้สมัครเท่านั้น หลังจากการพูดคุยเรื่องเวลากับหัวหน้าแผนกหรือคนที่จะเข้าร่วมสัมภาษณ์ หรือในกรณีที่เราต้องนั่งรอนานกว่าจะได้สัมภาษณ์ ถ้าเป็นบริษัทที่มีการสัมภาษณ์เบื้องต้นโดย HR ก่อนแล้วเขามาสายก็อาจจะเป็นความผิดของเขาจริง ๆ แต่หากเป็นการสัมภาษณ์งานโดยหัวหน้าแผนก มันอาจไม่ได้เป็นเพราะตัว HR เลยก็ได้ แต่อาจมาจากหัวหน้าแผนกผู้ทำหน้าที่สัมภาษณ์ที่ติดภารกิจอื่น ๆ อยู่ต่างหาก
สำหรับเรื่องการต่อรองเงินเดือน แม้ HR จะเป็นฝ่ายที่พูดคุยกับเราแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ HR ตัดสินใจด้วยตัวคนเดียว แต่เขาต้องทำให้เป็นไปตามโครงสร้างขององค์กรที่กำหนดเอาไว้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบริษัท และเกิดความยุติธรรมภายในองค์กร ซึ่งเขาก็เป็นเพียงแค่ตัวแทนของหัวหน้าแผนกในการสื่อสารกับผู้สมัคร โดยตัวเลขที่ต่อรองนั้นเป็นการคิดคำนวณมาจากทางหัวหน้าแผนกเอง
การดูแลคนในองค์กร
แน่นอนว่าการที่เราอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก ‘กฎระเบียบ’ เลยต้องเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีปัญหาน้อยที่สุด เกิดความยุติธรรมและมีการตัดสินปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเที่ยงตรง อย่างเช่นข้อบังคับในการปฏิบัติตัวในช่วง COVID-19 ระเบียบในการลางาน หรือบทลงโทษต่าง ๆ ในกรณีที่พนักงานมาสายหรือทำผิดระเบียบและทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ซึ่งระเบียบต่าง ๆ ก็อาจมีข้อที่ทำให้คนทำงานบางคนรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล ออกกฎแบบนี้มาเพื่ออะไร ทำไมจะต้องจริงจังกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ดูน่าจะปล่อยผ่านได้ รวมไปถึงสวัสดิการบางอย่างที่อาจไม่ถูกใจหรือไม่ดีพอสำหรับพนักงาน ซึ่ง HR ที่มีหน้าที่ในการดูแลกฎระเบียบ การใช้ชีวิตในที่ทำงาน หรือสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานก็จะกลายเป็นจำเลยในเรื่องนี้ทันที
จริง ๆ แล้ว HR ไม่ใช่คนที่คิดกฎระเบียบหรือสวัสดิการขึ้นมาแล้วให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามเลยทันที แต่พวกเขาต้องผ่านการปรึกษากับทีมภายในและผู้บริหาร ก่อนจะประกาศออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เหมาะสมต่อภาพรวมขององค์กรได้ ถึงแม้จะมีกฎบางข้อที่เราอาจไม่เข้าใจ หรือมีสวัสดิการที่เราไม่พอใจ แต่ยังไงกฎและสวัสดิการเหล่านั้นก็มีไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในองค์กรทั้งนั้น
HR ฟันเฟืองหนึ่งชิ้นในองค์กรที่มีหน้าที่ประกาศรับสมัครงาน คัดกรองผู้สมัคร ทำการนัดหมายกับผู้สมัคร และดูแลพนักงานในองค์กร ซึ่ง HR หรือฝ่ายบุคคลเป็นอีกตำแหน่งที่องค์กรจะขาดไม่ได้ ต้องใช้ทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความรู้รอบด้าน เพื่อมาปรับใช้กับทุกสถานการณ์ที่ต้องเจอ แต่ยังไงก็ตาม HR ก็คือคนทำงานคนหนึ่งที่มีทั้งดีและไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะทำงานผิดพลาดได้เหมือนกับคนทำงานตำแหน่งอื่น ๆ เราอาจจะเคยเจอกับ HR ที่ทำงานไม่โอเคแต่การจะเหมารวมว่า HR ทุกคนต้องเป็นแบบที่เราเคยเจอและเป็นฝ่ายผิดเสมอก็คงจะดูไม่ยุติธรรมสักเท่าไหร่
|
|
JobThai Official Group |
Public group · 350,000 members |
|
|
|
บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 7 เมษายน 2022 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai
ที่มา:
dir.co.th/th
hrnote.asia
tickettail.com