9 พฤติกรรมของผู้สมัครที่ HR ขอลาก่อน!

12/10/22   |   50.9k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หลายคนอาจไม่รู้ว่า HR หรือคนที่เป็นหัวหน้าทีมต่าง ๆ ต้องดูใบสมัครงานและสัมภาษณ์ผู้สมัครต่อวันมากแค่ไหน ในกระบวนสรรหาพนักงาน มีผู้สมัครจำนวนมากที่ทำให้ HR ยิ้มได้ แต่ก็ยังมีผู้สมัครอีกจำนวนไม่น้อยที่ทำให้ HR หรือคนที่สัมภาษณ์โบกมือขอลาก่อนเหมือนกัน ดังนั้นวันนี้ JobThai จะมาบอกต่อให้น้อง ๆ จบใหม่ หรือคนที่กำลังหางานได้รู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนห้ามทำ ถ้ายังอยากได้งาน

 

ใส่ข้อมูลใน Resume มาจนรก ข้อมูลน่าสนใจเอาไว้ท้ายสุด

บางคนอยากโชว์ความเทพเลยใส่ข้อมูลมาเต็มหน้าเรซูเม่ แต่จัดการไม่ดีจน HR โฟกัสไม่ถูกว่าอะไรอยู่ตรงไหน หรือบางคนก็ใส่ข้อมูลประวัติส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานมาซะเยอะ ส่วนประวัติการทำงานที่สำคัญก็เอาไปไว้ล่าง ๆ เวลาเราจะอ่านหนังสือสักเล่ม ถ้าหน้าปกไม่ดึงดูด เราก็ไม่อยากเปิดอ่านหรอก การดู Resume ของ HR ก็เช่นกัน ถ้าเปิดมาเจอตัวหนังสือเรียงกันเป็นพืดจนลายตา หรือข้อมูลไม่ดึงดูดความสนใจได้ตั้งแต่วินาทีแรก ๆ ที่เปิด Resume โอกาสที่ HR จะสนใจเราก็มีน้อย เพราะแน่นอนว่า HR คงไม่มีเวลามาดูเรซูเม่แต่ละใบนานหรอก ดังนั้นเราจึงควรทำเรซูเม่ให้กระชับ อ่านง่าย รวมถึงเอาสิ่งที่เป็นจุดเด่น หรือเรื่องสำคัญขึ้นก่อน ให้ HR รู้ว่าเราเป็นใคร เหมาะกับตำแหน่งที่สมัครยังไง เช่น ประวัติการทำงาน ทักษะและความสามารถในการทำงาน หรือประวัติการศึกษาในกรณีที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน

 

Portfolio เยอะจนลายตา ส่งไฟล์มาเป็นภาษาต่างดาว

สำหรับผู้สมัครงานสายที่ต้องใช้ Portfolio บางคนก็เล่นใส่ผลงานแบบเน้นปริมาณเข้าว่าจนดูแล้วลายตาไปหมด หรือตกแต่งสีสันมาจนดูไม่ออกว่าอันไหนงานอันไหนพร็อพ ดังนั้นถ้าอยากให้ Portfolio น่าสนใจ ควรเลือกเฉพาะชิ้นงานที่ดีที่สุด หรือชิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร โดยนำเสนอในรูปแบบที่ทำให้ผลงานดูเด่น รวมถึงอีกปัญหาที่เจอคือบางคนส่งผลงานด้วยไฟล์ PowerPoint หรือ ไฟล์ Word มา ซึ่งบางทีก็ทำให้ HR เปิดมาเจอตัวหนังสือผิดเพี้ยน อ่านไม่ออก เราจึงควรส่ง Portfolio ด้วยไฟล์รูปภาพหรือ PDF เพื่อที่ตัวหนังสือจะได้ไม่เคลื่อน และหากไฟล์มีขนาดใหญ่มาก หรือมีจำนวนหลายไฟล์ การฝากไฟล์ไว้บนพื้นที่ออนไลน์ต่าง ๆ แล้วส่งเป็นลิงก์มาให้ก็เป็นวิธีที่ควรทำเหมือนกัน

 

นักศึกษาจบใหม่ควรใส่อะไรใน Portfolio

 

กรอกใบสมัครไม่ละเอียด ส่งมาโดยไม่เช็กความถูกต้องก่อน

หลายคนอาจเห็นว่ามันก็เป็นแค่ใบสมัครงานเลยไม่ได้สนใจนัก กรอกไม่ละเอียด กรอกไม่ครบทุกช่อง และเขียนด้วยลายมืออ่านยาก หรือถ้าเป็นกรณีกรอกใบสมัครบนไฟล์ PDF ที่บริษัทส่งมาให้ทางอีเมล และผู้สมัครใช้วิธีพิมพ์ข้อมูลต่าง ๆ ลงในไฟล์ บางทีฟอนต์ก็เด้งจากช่องที่ให้กรอกได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ HR รู้สึกได้ว่าแค่ใบสมัครงานคุณยังไม่มีความใส่ใจเลย แล้วถ้าเข้าไปทำงานจะไหวเหรอ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือพยายามอย่าเว้นว่าง กรอกให้ครบทุกช่อง แต่ถ้าไม่มีข้อมูลให้ใส่ในช่องนั้นจริง ๆ ก็ควรขีดเพื่อความเรียบร้อย คนอ่านจะได้เข้าใจว่าคุณไม่มีข้อมูลที่จะใส่ตรงนี้จริง ๆ ไม่ได้ลืมใส่เฉย ๆ รวมถึงถ้ากรอกบนไฟล์ PDF  เมื่อเซฟไฟล์มาแล้วก็เช็กอีกทีว่าตัวหนังสือที่เรากรอกเด้งออกจากช่องไหม ที่สำคัญอย่าสะกดผิดเด็ดขาด ให้ตรวจทานทุกอย่างก่อนส่งใบสมัครเสมอ โดยเฉพาะเบอร์โทรศัพท์และอีเมลที่ต้องชัดเจน เพื่อที่ทาง HR จะได้ติดต่อเรามาได้

 

มารยาทพื้นฐานไม่มี สายจนคนสัมภาษณ์ต้องรอ

เรื่องมารยาทคือสิ่งใกล้ตัวที่หลายคนเผลอมองข้าม เช่น กรณี HR เคยโทรมาคุยกับเราแล้ว และเขาโทรมาหาเราอีกครั้งแต่เป็น Missed Call แล้วดันไม่โทรกลับ เพราะไม่รู้ว่าเป็นสายจากใคร หรือพูดคุยยังไม่ทันจบและบอกลาให้เรียบร้อยก็รีบวางหูไปซะงั้น รวมถึงหนักสุดคือวันสัมภาษณ์ก็มาสายจน HR หรือคนที่สัมภาษณ์ต้องนั่งรอ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการได้งานเพราะเรื่องผิดพลาดพวกนี้ เราก็ต้องระมัดระวังให้ดี เช่น ถ้า HR เคยโทรมาแล้ว เราก็ควรที่จะบันทึกเบอร์ไว้ โดยใส่ทั้งชื่อและบริษัท นอกจากจะทำให้เรารู้ว่าใครโทรมาเมื่อเห็น Missed Call และสามารถโทรกลับได้แล้ว เราก็จะสามารถติดต่อเขาได้ทันทีหากมีเหตุฉุกเฉินหรือต้องการสอบถามข้อมูลเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม ส่วนเวลาคุยธุระกับ HR ก็ควรไปมาลาไหว้กล่าวขอบคุณทุกครั้งก่อนวางสาย และที่สำคัญสุด ๆ คือห้ามสายเด็ดขาดเวลาสัมภาษณ์งาน ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ที่บริษัทหรือสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ แม้ว่าจะสองสามนาทีก็ตาม เราควรแสดงความตรงต่อเวลาให้เขาเห็นดีกว่า

 

8 เรื่องที่ห้ามพลาด ในวันสัมภาษณ์งาน

 

พาพ่อแม่มาตามติดการสัมภาษณ์ถึงขอบสนาม

เข้าใจว่าเด็กจบใหม่อาจจะยังใหม่กับการสัมภาษณ์งาน รวมถึงบางครั้งผู้ปกครองก็อาจจะมีความเป็นห่วง อยากรู้ว่าลูกไปสัมภาษณ์ที่ไหน บริษัทเป็นยังไง แต่การพาพ่อแม่พี่น้องมาเฝ้าในวันสัมภาษณ์ เกาะติดทุกสถานการณ์ ชนิดที่ยืนเกาะประตูไม่ห่างนั้นเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างมาก มันทำให้ HR รู้สึกอึดอัด และไม่เป็นส่วนตัวได้เหมือนกัน รวมถึงการทำแบบนี้ยังบ่งบอกให้เห็นว่าเรายังไม่โตพอที่จะทำอะไรคนเดียว รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ และถูกมองไปอีกว่าเรานั้นอาจจะมีปัญหาในการทำงาน ไม่สามารถที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดี เพราะแค่มาสัมภาษณ์งานยังต้องมีคนมาเป็นเพื่อนคอยช่วยเหลือด้วยเลย ดังนั้นเมื่อเราต้องไปสัมภาษณ์ที่บริษัท เราควรมาสัมภาษณ์คนเดียว หรือถ้าพ่อแม่ต้องการมาด้วยจริง ๆ ก็ให้พวกท่านไปรอที่อื่นในละแวกใกล้ ๆ เช่น ร้านกาแฟ ดีกว่าเข้ามาเฝ้าถึงที่บริษัท

เล่าประวัติส่วนตัวยาวจนง่วง แต่ประวัติการทำงานสั้นนิดเดียว

ผู้สมัครหลายคนเล่าประวัติส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานซะยืดยาว แต่พอถึงคราวประวัติการทำงานกลับบอกสั้น ๆ แถมไม่ระบุระยะเวลาทำงานแต่ละที่อีกต่างหาก จำไว้ว่า HR สนใจว่าเราทำงานอะไรมามากกว่าอยากรู้ว่าเรามีพี่น้องกี่คน ดังนั้นบอกประวัติส่วนตัวคร่าว ๆ หรือเล่าเฉพาะที่ส่งเสริมกับตำแหน่งที่สมัครก็พอ และมาจัดเต็มที่ประสบการณ์การทำงาน เอาให้ละเอียดไปเลยว่าเราทำอะไร ที่ไหน ยังไง ส่วนระยะเวลาการทำงานของแต่ละที่ ถ้าทำไม่กี่เดือนแต่มั่นใจว่าได้เรียนรู้ ได้ทำโปรเจกต์สำคัญก็บอกไปได้ แต่ต้องบอกไปด้วยว่าเราได้อะไรจากงานนั้น รวมถึงเราต้องตอบเหตุผลที่ลาออกจากที่นั่นให้ชัดเจนด้วย หรือถ้าหากว่ามีระยะเวลาที่เราเว้นว่างจากการทำงานไป ตรงนี้ผู้สมัครก็อาจจะถามเช่นกัน เราก็ต้องเตรียมคำตอบเอาไว้

 

ถามคำตอบคำ พูดเสียงเบาเหมือนคนไม่มั่นใจ

ผู้สมัครบางคนเวลาถูกสัมภาษณ์จะทำประหนึ่งเหมือนถูกสอบปากคำจากตำรวจ ตื่นเต้น กลัว ประหม่า และสิ่งเหล่านี้ทำให้เวลาตอบนั้นเสียงเบาราวกับคนไม่มั่นใจ เวลาสัมภาษณ์เราควรพูดจาฉะฉานชัดเจน ให้เขาเห็นว่าเราพกความมั่นใจมามากแค่ไหน หรือบางคนอาจเป็นคนประเภทที่พูดน้อยโดยนิสัย ทำให้เวลาสัมภาษณ์กลายเป็นว่าถามคำตอบคำ ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้เสียโอกาสในขายตัวเองอย่างมาก ดังนั้นหากคนสัมภาษณ์ถามคำถามอะไรมาเมื่อตอบคำถามแล้ว เราควรจะอธิบายเพิ่มเติมด้วย ไม่ต้องรอให้เขาถามจี้ต่อจากทุกคำตอบของเรา อะไรที่เล่าแล้วมีประโยชน์ หรือทำให้เห็นข้อดีอะไรของเราก็นำเสนอเขาไปเลย รวมถึงถ้าคนสัมภาษณ์ถามว่าเราอยากถามอะไรเพิ่มเติมไหม อย่าบอกว่าไม่มี แต่ให้ถามถึงข้อมูลที่ตัวเองอยากรู้เกี่ยวกับบริษัทหรือการทำงานนี้ให้มากทีสุด เพื่อเขาจะได้เห็นความกระตือรือร้นอยากทำงานของเรา และเราเองก็จะได้เอาข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาด้วยว่าที่นี่เหมาะกับเราไหม

 

ไม่รู้คำตอบแต่ขอมั่วไว้ก่อน

การเจอคำถามที่ตอบไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาในการสัมภาษณ์ แต่ผู้สมัครบางคนแม้ไม่รู้คำตอบก็พยายามจะตอบแบบมั่ว ๆ ไปก่อน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ปัญหาอาจจะตามมาได้ เพราะเมื่อเราตอบมั่วไปแล้ว เราก็ต้องมั่วไปเรื่อย ๆ เพราะคนสัมภาษณ์เขาก็อาจจะถามต่อให้เราจนมุมเลยก็ได้ วิธีแก้ไขคือ ถ้าเราไม่รู้คำตอบก็บอกออกไปตรง ๆ แต่ไม่ใช่ตอบว่า “ไม่รู้” ออกไปห้วน ๆ แล้วจบ ควรจะตอบว่าไม่แน่ใจคำตอบเท่าไหร่ หรืออาจจะจำได้ไม่หมด และให้ต่อท้ายด้วยการบอกสิ่งที่ตัวเองรู้ที่พอจะเกี่ยวข้องกับคำถามเขาให้ได้มากที่สุดแทน ถ้าเราทำได้ดี อาจจะทำให้คนสัมภาษณ์เห็นถึงวิธีการรับมือและทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของเราด้วย

 

ต่อว่าบริษัทที่เราทำงานให้ฟังอย่างออกรส

เมื่อถูกถามถึงการฝึกงานในช่วงมหาวิทยาลัยหรือการทำงานในบริษัทที่ทำอยู่และเคยทำมา หลายคนตกม้าตายกับการตอบด้วยทัศนคติในแง่ลบ เช่น ที่ฝึกงานสอนงานไม่โอเค ไม่เคยสอนเรื่องที่ผู้สัมภาษณ์ถาม บริษัทที่เคยทำใช้งานหนักมาก หัวหน้าไม่ดี สวัสดิการแย่ หรือเล่าเรื่องราวในแง่ลบของบริษัทที่เราอยู่ให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างออกรส ซึ่งการเผาบ้านตัวเองแบบนี้นอกจากจะทำให้เราดูเป็นคนทัศนคติไม่ดีแล้ว คนสัมภาษณ์จะเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าเมื่อคนคนนี้ลาออกไปหลังจากที่เข้ามาทำงานกับเขาแล้ว จะเอาบริษัทไปด่าให้คนอื่นฟังต่อเหมือนที่กำลังทำอยู่ไหม ดังนั้นสิ่งที่เราต้องจำให้ขึ้นใจคือ หลีกเลี่ยงการตอบที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติแง่ลบ การพูดถึงคนอื่นในทางเสียหาย แล้วพูดถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจะดีกว่า

ไม่ต้องประหม่าหรือกังวลกับการสัมภาษณ์งานให้เกินพอดี เพราะมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราทำการบ้านมาดี พกความมั่นใจมาเต็มร้อย วางตัวให้เหมาะสม และรักษามารยาทตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นใบสมัครจนถึงตอนสัมภาษณ์ เชื่อเถอะว่าไม่มีคนสัมภาษณ์คนไหนไม่ชื่นชมเราหรอก มีแต่จะประทับใจ และบวกคะแนนให้เราไปต่อแบบสบาย ๆ 

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา :

pantip.comblog.jobthai.comyoutube.com

tags : jobs, jobthai, career&tips, hr, คนสมัครงาน, คนหางาน, งาน, หางาน, คนทำงาน, จบใหม่ต้องรู้, fresh graduate



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม