Google กับปฏิบัติการค้นหาวิธีการสร้างสุดยอดทีม

Google กับปฏิบัติการค้นหาวิธีการสร้างสุดยอดทีม
27/02/19   |   7.5k   |  

การทำงานในโลกยุคใหม่บริษัทต่าง ๆ มีการเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานมากขึ้นเพราะกำแพงทางธุรกิจถูกหดให้เล็กลง และการสื่อสารต่าง ๆ ก็ไม่มีพรมแดนต่อกัน เป็นการผสมผสานทั้งอายุ เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกันในองค์กรเดียว

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Google เองก็ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของคนที่เข้ามาทำงานเช่นกัน ทำให้องค์กรพยายามคิดหาแนวทางในการพัฒนาสุดยอดทีมขึ้นมาโดยใช้เวลากว่า 3 ปีในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์พนักงาน 200 กว่าคน และศึกษาพฤติกรรมของทีมงาน 180 ทีม ในโปรเจกต์อริสโตเติล (Google’s Project Aristotle) ว่าทำไมบางทีมจึงประสบความสำเร็จ แต่บางทีมกลับทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

 

 

  • ผลลัพธ์จากโปรเจกต์อริสโตเติลสรุปออกมาว่า 5 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จคือ ความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา ความเชื่อมั่นภายในทีม ความเข้าใจในภาพรวมการทำงาอย่างชัดเจน ความหมายของงาน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากงานที่ทำ
  • ความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา หรือการที่สมาชิกในทีมกล้านำเสนอความคิดโดยไม่รู้สึกกลัว เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งการที่ทีมจะเป็นแบบนั้นได้ต้องเกิดจากความไว้วางใจกัน
  • การสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของคนอื่น รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว แสดงให้คนอื่นเห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบในตัวคุณ และหาทางแก้ปัญหาก่อนการหาคนผิด คือเคล็ดลับที่จะทำให้ทีมเปิดใจให้กันมากขึ้น

 

 

หลายคนเข้าใจว่าแค่มีคนเก่ง ๆ รวมตัวกันก็น่าจะเป็นสุดยอดทีมแล้ว แต่ผลจากการเก็บข้อมูลนี้บอกเราว่า “ความสามารถไม่ได้สำคัญที่สุด” แต่ปัจจัยของความสำเร็จจริง ๆ แล้วมาจากการสื่อสารกันในทีมมากกว่า ซึ่งทาง Google สรุปออกมาเป็น 5 ข้อที่จะช่วยให้เราเข้าใจได้ดีมากขึ้น

1. ความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (Psychological Safety): สมาชิกในทีมนำเสนอความคิดต่อคนอื่นในกลุ่มโดยไม่ต้องกลัวว่าความคิดของเราจะถูกวิจารณ์และทำให้อับอาย

2. ความเชื่อมั่นภายในทีม (Dependability): สมาชิกในทีมมีความเชื่อมั่นว่าสมาชิกคนอื่นจะทำงานได้ทันเวลาที่กำหนดและงานมีคุณภาพ

3. ความเข้าใจในภาพรวมการทำงานอย่างชัดเจน (Structure & Clarity): สมาชิกในทีมรับทราบถึงเป้าหมาย เข้าใจแผน และรู้หน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน

4. ความหมายของงาน (Meaning of Work): สมาชิกในทีมแต่ละคนรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นมีคุณค่าและมีความหมายต่อตัวพวกเขาและต่อองค์กรด้วย

5. ผลกระทบจากงานที่ทำ (Impact of Work): สมาชิกในทีมเชื่อว่างานที่ทำมีความสำคัญและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

 

และทาง Google เองก็มองว่า Psychological Safety นี่แหละสำคัญที่สุดแถมยังเป็นรากฐานสำหรับอีก 4 ข้อที่เหลือด้วย เช่น เวลามีการประชุมเสนอความคิด ถ้าไอเดียของเราถูกสมาชิกคนอื่นแสดงออกว่าไม่ถูกใจหรือโต้แย้งรุนแรง จะมีผลให้เราไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ และไม่กล้านำเสนออะไรใหม่ ๆ เพราะคิดไปแล้วว่าผลสุดท้ายก็เหมือนเดิม และถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำก็จะส่งผลให้ทีมการขาดพัฒนาอีกด้วย แต่ผลวิจัยยังบอกต่ออีกว่าถ้าทีมกล้าคิด กล้าทำ โดยที่ไม่ต้องกลัวการหัวเราะเยาะและวิจารณ์การกระทำของเรา จะส่งผลดีอีกหลายอย่าง เช่น 

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกจะดีขึ้น

สมาชิกกล้ายอมรับผิดมากขึ้น

สมาชิกในทีมจะมีเปอร์เซ็นต์การลาออกน้อยลง และ

สมาชิกในทีมพร้อมที่จะเปิดรับความคิดที่แตกต่าง และกล้าเสนอความคิดที่แปลกใหม่

 

JobThai มีเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คนในทีมเปิดใจกันมากขึ้นมาแนะนำ

 

ไม่มีใครเก่งรอบด้าน ไม่ต้องสมบูรณ์แบบตลอด

ไม่ว่าเก่งแค่ไหน ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ต้องพยายามปิดบังเรื่องผิดพลาดในอดีตเพราะคิดว่าเป็นเรื่องน่าอาย ลองเล่าเรื่องเหล่านั้นให้เพื่อนร่วมทีมของเราฟังบ้าง นอกจากจะเป็นการแสดงออกว่าใคร ๆ ก็ผิดพลาดได้แล้วยังเป็นการแสดงว่าเราก็ไว้ใจเพื่อนร่วมทีมถึงขนาดกล้าเล่าเรื่องความผิดพลาดให้ฟังด้วย

 

เปิดใจกับความคิดเห็นใหม่ ๆ

หลายคนเลือกที่จะเงียบ ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อย ๆ เพราะทุกครั้งที่นำเสนอความคิดเห็นออกไปแล้วมักจะถูกหัวเราะหรือวิจารณ์อย่างหนักจากคนในทีม ทำให้ไอเดียที่น่าสนใจหายไปแบบน่าเสียดาย ทีมของเราจึงควรเปิดใจเรื่องการเสนอความคิดว่ามันไม่มีผิด ไม่มีถูก แม้บางไอเดียจะไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง แต่ก็ยังดีกว่าที่คนทั้งทีมไม่ยอมเสนออะไรเลย

 

หาทางแก้ก่อนหาคนผิด

ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ถ้าเราเอาแต่ยึดติดกับการหาคนผิดมากกว่าหาทางแก้ไขนั่นจะทำให้คนในทีมกลัวที่จะผิดพลาด แล้วก็เลือกทำแต่งานเดิมซ้ำ ๆ เพราะคิดว่าปลอดภัย นี่จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการพัฒนาของทั้งทีมและองค์กร เพราะทุกคนจะไม่กล้าเสี่ยงเสนอหรือทำอะไรใหม่เลย

 

แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว

ลองใช้เวลาช่วงแรกของการประชุมให้คนในทีมมาเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แบบทีมของ Google ที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ ทีมเลือกทำ เพราะเราจะได้ฟังเพื่อนร่วมงานในมุมอื่นที่นอกเหนือจากการทำงาน ไม่แน่เหมือนกันว่าเราอาจจะเปลี่ยนจากแค่เพื่อนร่วมงานเป็นเพื่อนแท้ในชีวิตที่มีความสนใจตรงกันก็ได้

 

การจะสร้างสุดยอดทีมในองค์กรไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แค่เพียงทุกคนทำความเข้าใจ เปิดใจยอมรับความคิดเห็นใหม่ ๆ และไว้วางใจกัน นอกจากจะสร้างสุดยอดทีมได้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในทีมยังดีขึ้นอีกด้วย

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

ที่มา:

officevibe.com

nytimes.com

rework.withgoogle.com

 

tags : career & tips, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, การทำงานเป็นทีม, google, การพัฒนาตัวเอง



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม