พรทวี หอมเสมอ: ผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี จาก 1 ใน 4 บริษัท Big 4 หน้าที่และแรงบันดาลใจที่สำเร็จได้เพราะลงมือทำ

พรทวี หอมเสมอ: ผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี จาก 1 ใน 4 บริษัท Big 4 หน้าที่และแรงบันดาลใจที่สำเร็จได้เพราะลงมือทำ
27/11/18   |   31.7k   |  

“ถ้าเราสงสัยว่าทำได้ไหม ทำไหวไหม ไม่มีใครตอบได้นอกจากเราเองแค่เราต้องลองไปทำ”เป็นประโยคที่ดังก้องในพื้นที่ของ Co-Working Space ใจกลางเมือง ประโยคที่บอกเล่าตัวตน ความคิด และความกล้าที่จะเลือกทำบางสิ่งที่หลายคนยังไม่กล้าแม้แต่จะลองคิด อะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอคนนี้ยอมทิ้งสายอาชีพที่แทบไม่มีคำว่า “ตกงาน” ออกมาค้นหาวิถีทางใหม่ในบริษัท Startup

 

วันนี้ JobThai จะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักและเข้าใจความคิดของคุณไอซ์พรทวี หอมเสมอ อดีตผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ 3 ปีในตำแหน่ง Senior Auditor ของ 1 ในบริษัท Big 4 ทางการตรวจสอบบัญชีของโลก แม้ว่าปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนหน้าที่มาเป็น Business Development ในบริษัท Startup ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนรู้นาม Learn Corporation แล้ว แต่วันนี้เธอจะมาเล่าประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้จากการทำงานผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี พร้อมทั้งความท้าทายใหม่ในงานพัฒนาการศึกษา จะน่าสนใจเพียงใดตามไปอ่านได้พร้อม ๆ กัน

 

 

  • ผู้ตรวจสอบบัญชี คือผู้ที่เป็นตัวกลางในการตรวจว่าสิ่งที่คนรายงานงบการเงินออกมาเป็นเรื่องจริงและโปร่งใสเพียงใด อาชีพนี้จึงเป็นที่ต้องการของประเทศและแทบไม่มีทางตกงาน
  • ผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี คือผู้ที่ยังไม่มี License ในการเซ็นหน้างบ แต่ก็จะต้องทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อดูว่าลูกค้าลงบัญชีถูกต้องและรายงานข้อมูลตรงกับที่เกิดขึ้นหรือไม่
  • การจะเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีได้จะต้องจบบัญชีเท่านั้น ไม่สามารถจบสาขาอื่นแล้วมาทำงานด้านนี้ได้

 

 

คุณไอซ์เริ่มเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีได้อย่างไร

ตอนปี 3 มีโอกาสได้เข้าร่วมกับโครงการ “Big 4 Ambassador” ซึ่งเป็นโครงการระหว่างมหาวิทยาลัยกับทาง Big 4 Audit Firm ที่ค้นหาตัวแทนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับทั้ง 4 บริษัทตอนนั้นไอซ์ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งใน Ambassador พร้อมทั้งได้โอกาสในการเข้าฝึกงาน และเมื่อฝึกงานเสร็จก็ได้รับข้อเสนอให้เข้าทำงานได้เลย ไอซ์ชอบบรรยากาศการทำงานที่นี่อยู่แล้วจึงตัดสินใจทำงานต่อตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ

 

ทำไมตอนนั้นจึงสนใจอาชีพผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี

ตอนนั้นรู้สึกเป็นการท้าทายตัวเองว่าจะทำได้ไหม เพราะในการเรียนตลอดเวลา 4 ปี ไอซ์ไม่ชอบวิชาบัญชี ไม่ชอบวิชา Audit ไม่ชอบทุกอย่างที่เราเรียนเลยเกิดคำถามขึ้นในใจว่าเรียนทำไม แต่ไอซ์คิดว่าการที่เราจะรู้ว่าชอบอาชีพไหนมันต้องลองทำ ไม่ใช่ว่าแค่เรียนก็รู้แล้วตัวเองทำได้ไหมเพราะบางทีสิ่งที่เรียนกับสิ่งที่ทำงานจริงไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แม้ว่าบางทฤษฎีจะเหมือนกัน แต่ก็ต้องใช้ทักษะอื่นอีกเมื่อไปทำงานจริง

 

ตอนไปฝึกงานเหมือนเราได้เปิดโลกใหม่เลยว่าจริง ๆ แล้วการที่เราเรียนไม่เก่งไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้ เพราะอาชีพ Audit คือการคุยกับคน คุยกับลูกค้า ฝึกทักษะในการขอข้อมูลเพื่อมาวิเคราะห์ต่อเพื่อจะได้ทำงบการเงินได้ถูกต้อง การที่เราไม่ได้เรียนเก่งบัญชีมันเป็นแค่หนึ่งเรื่องที่เราทำไม่ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านั้นสามารถหาใน Google หรือถามคนอื่นก็ได้ มันไม่ได้มีผลมากเพราะการทำงานมันอาศัยทักษะอื่น ๆ มากกว่า ตอนฝึกงานคือช่วงเวลาที่ทำให้เราสนุก รู้สึกว่าจริง ๆ เราก็ทำได้และมันก็ไม่ได้แย่ พอฝึกงานเสร็จก็เลือกทำอาชีพนี้ต่อเลย

 

 

ในมุมมองของคุณไอซ์อาชีพผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีมีความสำคัญอย่างไรบ้าง

อาชีพนี้สำคัญกับทุก ๆ บริษัท เพราะว่าในประเทศไทยมีกฎหมายที่ว่าการออกงบการเงินนั้นไม่สามารถออกได้เองถ้าไม่มีผู้ตรวจสอบบัญชี คล้ายกับว่าเราเปิดร้านขายของแล้วบอกว่าขายได้ 10 ล้านบาท อยู่ ๆ อยากจะเขียนงบอะไรขึ้นมาเองมันไม่เป็นที่ยอมรับ ฉะนั้นจึงต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อตรวจว่าสิ่งที่คนรายงานงบการเงินออกมาเป็นเรื่องจริงและโปร่งใสเพียงใด เพราะฉะนั้นอาชีพนี้จึงเป็นที่ต้องการของประเทศและแทบไม่มีทางตกงาน

 

ส่วนผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีก็คือผู้ที่ยังไม่มี License ในการเซ็นหน้างบ ผู้ช่วยจะเป็นคนที่คอยช่วยเหลือการลงไปตรวจดูงบไปคุยกับลูกค้าในรายละเอียดต่าง ๆ ผู้เซ็นชื่อกับผู้ช่วยก็จะแบ่งเบาภาระการตรวจสอบบัญชีร่วมกันค่ะ

 

ถ้าหากต้องการจะเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

ที่จำเป็นที่สุดคือต้องเรียนจบบัญชี (หัวเราะ) จะไม่มีการเรียนจบคณะอื่นแล้วได้มาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมศาสตร์การเงิน การตลาด หรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ต้องเรียนจบบัญชี- บัญชีเท่านั้น 

 

แม้ว่าจะมีบริษัทตรวจสอบบัญชีค่อนข้างเยอะ แต่คนส่วนใหญ่มักอยากทำในกลุ่ม Big 4 ซึ่งมีความเป็นสากล ถ้าอยากจะเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีเราก็ต้องรีบติดตามข่าวเปิดรับสมัครหน้าเว็บไซต์ ซึ่งจะเปิดรับเป็นรอบ ๆ ไปต้องคอยดูและโทรไปถามว่าเปิดรับหรือยัง หรือไม่อีกช่องทางหนึ่งก็สามารถสมัครผ่านมหาวิทยาลัยได้เช่นกันถ้าเรามีโอกาสได้ฝึกงานก็จะเริ่มทำงานได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่ได้ฝึกงานก็ต้องคอยติดตามแบบใกล้ชิดเลยค่ะ

 

หน้าที่ของผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีต้องทำอะไรบ้าง

หน้าที่ของ Audit คือผู้ที่ตรวจสอบบัญชีนั้นว่าลูกค้าลงบัญชีถูกต้องและรายงานข้อมูลตรงกับที่เกิดขึ้นจริงไหม ฉะนั้นในแต่ละโปรเจกต์เราต้องไปขอตัวเลขงบทดลองในสิ้นงวดมีตัวเลขในบัญชีอะไรและเท่าไหร่บ้าง แล้วในรายการนี้เราก็จะแยกกันดู สมมติว่าน้องดูงบรายการเงินสด คนหนึ่งดูเจ้าหนี้ อีกคนดูลูกหนี้ เป็นต้น

 

ยกตัวอย่างงบเงินสด ถ้าลูกค้ารายงานว่าเขาเหลือเงินสดอยู่ 300 บาท ก็ต้องคิดว่าจะไปตรวจในลิ้นชักไหมหรือตรวจจากยอดในสมุดบัญชีที่อัพเดทล่าสุด ณ วันสิ้นปี นี่คือวิธีง่าย ๆ เพื่อการตรวจสอบเลยว่าถูกต้องไหม ซึ่งก็มีวิธีการตรวจแบบอื่นอีกที่แตกต่างกันไปเพราะในแต่ละบริษัทจะมีคนทำบัญชีหลายคน ฉะนั้นทีมหนึ่งจึงต้องแบ่งกันว่าใครจะดูส่วนไหนพอรู้มาแล้วว่ามีอะไรบ้างตรวจแล้วไม่ผิดก็ออกงบได้เลยแต่อาจจะมีเหตุการณ์แทรกอย่างเช่น หลังออกงบการเงินมีไฟไหม้ มีขโมย เราก็ต้องคิดว่าจะรายงานลงไปในงบการเงินไหม ผู้ถือหุ้นต้องรู้เรื่องนี้หรือเปล่าสิ่งนี้คือหน้าที่ของ Audit ค่ะ

 

พอเข้าไปทำงานผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ยากหรือง่ายกว่าที่คิดเพียงใด

พอทำงานจริงมันไม่ได้ยากหรือง่ายกว่าที่คิดเพียงแค่บรรยากาศมันไม่เหมือนตอนฝึกงาน (หัวเราะ) เพราะตอนฝึกงานเราก็เหมือนเด็กคนหนึ่งที่ไม่ต้องรับผิดชอบงาน 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเป็นแค่คนที่ช่วยทำงานตอนพี่ ๆ ทำไม่ไหว แต่การเป็นเด็กฝึกงานบางครั้งก็ทำงานไม่เหมือนกัน บางคนฝึกงาน 3 เดือนก็ถ่ายเอกสารทั้ง 3 เดือน บางคนไปชงกาแฟ 3 เดือน บางคนก็ได้เข้าไปทำงานเหมือนพนักงานเลย ฉะนั้นคนฝึกงานแม้จะบริษัทเดียวกันแต่ก็มีโอกาสได้ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน

 

แต่พอเราเข้ามาทำงานจริงมันจะได้เริ่มประสบการณ์ที่เหมือนกันคือเราต้องรับผิดชอบงานที่ได้รับมา ไอซ์มองว่ามันไม่ได้ยากที่งานแต่มันยากที่เราต้องทำความเข้าใจว่างานนี้ทำไปทำไม เพราะตอนที่ทำงาน Audit ช่วงแรกมันเหมือนงานกรรมกร ต้องดูเอกสารเป็นตั้ง ๆ ลูกค้าซื้ออะไรราคาเท่าไหร่ เราก็สงสัยว่านี่ใช่งาน Audit ที่ต้องเรียนจบบัญชีจริงเหรอในช่วงแรกจึงร้องไห้ทุกวันเลยเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า แต่โชคดีที่เรามีโอกาสได้ผ่าน Year End (การปิดงบบัญชี)บางอย่างที่เราทำแล้วคิดว่าไม่มีคุณค่า จริง ๆ มันคือชิ้นส่วนเล็ก ๆ ในงบนั้น พอเราเข้าใจวงจรการทำงานแล้วก็เห็นภาพว่าเราคือฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่ช่วยให้งานสมบูรณ์ในตอนจบก็จะไม่รู้สึกว่ามันยาก

 

แต่พอโตขึ้นมาปีที่ 2 และ 3 ความยากคือการจัดการว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมรับในสิ่งที่ลูกค้าทำผิด ให้ลูกค้ายอมแก้ในสิ่งที่เราแนะนำและทำอย่างไรให้เสร็จให้ทันในเวลาที่กำหนด ต้องประสานงานตั้งแต่พี่ผู้จัดการตามงาน เด็กในทีมยังทำไม่เสร็จ ลูกค้าไม่ส่งข้อมูล คือเราต้องทำอย่างไรก็ได้ที่บริหารเวลาทั้ง 3 ฝ่ายลงตัวและทำให้งานเสร็จในเวลาที่กำหนดนี่คือความยากของงาน Audit ค่ะ

 

ถ้าตรวจสอบบัญชีแล้วเจอจุดที่ผิดต้องแก้ไขอย่างไร

ส่วนใหญ่เท่าที่ตรวจเจอมาแทบจะทั้งหมดมีจุดที่ผิดเสมอ แต่การผิดนั้นมีหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็น ความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ ระบบมือที่ลูกค้าลืมบันทึก ลงสลับกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้หรือรับเงินแล้วลืมหักออก ซึ่งถ้าเขายอมรับว่าผิดจริงก็สามารถคุยกันแล้วแก้ไขได้ ตัวเลขเหล่านั้นก็จะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ยอมรับเราต้องมาดูกันว่าผิดเพราะอะไร ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องผ่านการตัดสินใจจากหลายฝ่ายอาจรวมไปถึงพี่ ๆ ผู้จัดการหรือ Partner ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ต้องตกลงกันตามหลักการและมาตรฐานทางการตรวจสอบบัญชีค่ะ

 

มีสถานการณ์ไหนที่ทำให้เรารู้สึกว่าแก้ปัญหาค่อนข้างยากบ้างไหม

จริง ๆ แล้วงานไม่ได้ยากมากถ้าเวลาไม่ได้บีบจนเกินไป ช่วงต้นปีหรือที่เรียกว่าช่วงปิดงบประมาณจะต้องใช้เวลาสั้นมากในการทำงานที่ค่อนข้างเยอะ ลูกค้ามีหลายเจ้าแต่เขาจะต้องเอางบในเวลาเดียวกัน พอคนน้อยงานก็จะยิ่งโหลดจึงทำให้เกิดความเครียดทั้งกับการจัดการกับงาน การประสานงานกับคนก็จะรู้สึกว่าไม่ไหวแต่เรื่องแบบนี้สามารถฝึกฝนได้ ถ้าเราผ่านไปได้ 1 เคส พอเคสต่อไปจะไหลลื่นมากขึ้น 

 

ไอซ์คิดว่างาน Audit เป็นงานที่เพื่อนร่วมงานเข้าใจกันมากไม่ว่าจะเป็นพี่ ๆ หรือหัวหน้า ทุกคนรู้ว่างานหนักแต่ก็พร้อมช่วยกันเสมอ บางคนทำงานเสร็จเร็วกว่าก็จะมาถามว่าเราเหลือส่วนไหนให้ช่วยบ้าง หรือบางทีไอซ์ทำเสร็จก่อนก็จะไปช่วยคนอื่น ทุกคนที่ทำงานนี้เข้าใจว่าความเครียดเกิดมาจากอะไร จึงรีบเคลียร์ตัวเองให้จบเพื่อจะได้ช่วยคนอื่นต่อ ไอซ์คิดว่างาน Audit ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและก็เป็นงานที่ท้าทายมากค่ะ

 

         

                              

มีวิธีจัดการกับความเครียดและความกดดันที่เกิดขึ้นจากงานอย่างไร

ก่อนอื่นต้องแยกให้ได้ก่อนว่าความเครียดเกิดขึ้นจากอะไร ไอซ์จะพยายามจับให้ได้ว่าเครียดเรื่องอะไรอยู่ ถ้าเครียดจากการทำงานไม่ทันก็แค่โทรบอกพี่เขาว่าเลื่อนวันส่งได้ไหม ถ้าพี่เขาโอเคก็แปลว่าจบปัญหา แต่ถ้าปัญหานี้เกิดจากเด็กในทีมทำงานไม่ได้เราอาจต้องดูว่าเราจะเอามาทำเองหรือจะลงไปช่วยสอนน้อง

 

การจัดการความเครียดมันแค่ต้องรู้ตัวว่าเราเครียดอะไร ดูเหมือนไอซ์เข้าใจแต่เวลาที่ต้องจัดการความเครียดจริง ๆ มันก็หนักเหมือนกันเพราะปัญหาทุกอย่างเทเข้ามาพร้อมกัน บางทีก็ต้องนอนบ้าง หยุดคิดบ้าง ไม่ต้องจัดการทุกปัญหาให้ได้ก็ได้ เราสามารถหยุดแก้ปัญหาก่อนเพื่อให้เวลากับตัวเองอย่างเช่น วันนี้กินกาแฟดี ๆ ไหม กินเค้กไหม หรือไปกินบุฟเฟต์ การพัก 2 ชั่วโมงไม่ทำให้ตายหรอก ถึงแม้งานจะส่งพรุ่งนี้แต่เราก็ต้องกินข้าว (หัวเราะ) 

 

ช่วงทำงานปีแรกแทบไม่ได้กินข้าวกับเพื่อนเลยเพราะงานหนักมาก แต่พอปีที่ 2 – 3 รู้สึกว่ายังไงก็ต้องกินข้าวอยู่ดี อาจจะไม่ต้องกินไกลหรือกินดีก็ได้ วิธีง่าย ๆ คือนัดกับเพื่อนว่ามากินข้าวแถวออฟฟิศเราไหม ซื้อข้าวมากินด้วยกันก็ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตัวปัญหาจริง ๆ  และไอซ์เองเป็นคนที่ชอบกิน ถ้าได้กินอาหารอร่อยก็ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาความเครียดแล้วค่ะ

 

คุณไอซ์ได้มุมมองอะไรดี ๆ จากอาชีพผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีบ้าง

ไอซ์ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับอาชีพไหม แต่รู้สึกว่าการทำงานมา 3 ปีนี้ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เมื่อก่อนถ้ามีปัญหาเราจะสงสัยว่าทำไมเหรอ เกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่แก้ปัญหา แต่ตอนนี้รู้สึกว่าปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมันจะมีเหตุผลเสมอ ถ้าเราเข้าใจได้ว่าเหตุผลคืออะไรก็จะรู้สึกโกรธน้อยลงและเมื่อโกรธน้อยลงเราก็จะมีความสุขขึ้น

 

ถ้าลูกค้าไม่ยอมให้ข้อมูลก็อาจจะเกิดจากเขาเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับผู้ตรวจสอบบัญชี ถ้าเรารู้ว่าเขามีปมเราก็จะไม่โกรธที่เขาโมโหใส่ การที่เราเข้าใจคนอื่นมันทำให้คล่องขึ้นในการจัดการปัญหาพอเริ่มรู้ว่าคนอื่นคิดอะไรก็จะเข้าใจว่าคนอื่นมีเหตุผลเสมอในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลเลยแต่มันก็คือเหตุผลของเขาอยู่ดี 

 

คุณไอซ์อยากแนะนำอะไรกับน้อง ๆ ที่สนใจงานผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี

ขอคิดก่อน คือกำลังคิดว่ามันมีคนนั้นอยู่จริง ๆ ไหม (หัวเราะ) คนส่วนใหญ่ที่เดินเข้ามาหามักชอบถามว่า พี่ทำดีไหม? คือทุกคนไม่ได้สนใจว่าทำหรือไม่ทำเพราะมันเป็นสายงานหลักสำหรับคนที่เรียนจบบัญชีอยู่แล้ว ตอนเรียนจบมันมีแค่ 2 ทางให้เลือกว่าจะเป็นผู้ทำหรือเป็นผู้สอบ ถ้าเลือกที่จะทำแล้วก็ไปทำเลย สนุกกับการลง Debit ลง Credit แต่ถ้าเลือกการเป็นผู้สอบบัญชีทุกคนจะรู้สึกว่าทำดีไหมเพราะคิดว่ามันหนัก ในการทำงานมันหนักจริงแต่ก็ไม่ได้หนักเกินไปจนทำไม่ได้

 

ถ้าเราสงสัยว่าทำได้ไหม ทำไหวไหม ไม่มีใครตอบได้นอกจากเราเองแค่ต้องลองไปทำ คือแต่ละคนวัดกันไม่ได้อยู่แล้วเพราะงานที่ทำก็อาจไม่เหมือนกัน ลูกค้าที่เจอก็ไม่ใช่เจ้าเดียวกัน ปัญหาที่เจอก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เราจึงไม่ควรกังวลกับเรื่องที่เรารู้สึกแต่ยังไม่เคยได้ทำ ถ้าไม่ได้ลงไปสัมผัสและไปทำเองไอซ์รู้สึกว่าไม่ต้องเชื่อใครก็ได้ 

 

ชีวิตนี้พอทำงานไปอีกสัก 2 – 3 ปี ปัจจัยที่น้องจะคิดทำหรือไม่ทำต่ออาจไม่ใช่ชอบหรือไม่ชอบก็ได้ อาจกลายเป็นอยากซื้อบ้านแล้วเงินเดือนเท่านี้ถึงพอมันก็ต้องทำ ถ้าอยากรู้ว่าจะมีเงินส่งพ่อเข้าโรงพยาบาลไหม อือ ก็ต้องตอบว่าพอ ปัญหาของคนไม่เหมือนกัน ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรก็แค่ต้องลอง

 

 

จุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้คุณไอซ์ตัดสินใจเปลี่ยนสายงานจากผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีมาสู่บริษัท Startup 

แรกเริ่มเลยคือไอซ์อยากเรียนต่อ คิดไว้อยู่แล้วว่าอยากมีประสบการณ์การทำงาน 3 ปีเลยไปทำตำแหน่ง Audit แต่พอทำไปสักพักเรารู้อยู่แล้วว่าไม่ได้อยากทำ Audit ไปทั้งชีวิต ไม่เคยมีความฝันอยากเป็น Partner Big 4 ไม่ได้อยากเป็นเจ้าของ License บนงบการเงิน แต่การเข้าไปทำก็ได้ความรู้ ได้ทักษะ ได้ทัศนคติในการดำเนินชีวิต เราคิดว่าแม้มันจะเป็นสายอาชีพที่เราไม่อยากทำตอนเรียนแต่เราสามารถทำได้ก็ทำให้สุดก่อน และพอครบกำหนดเวลาเราอยากเรียนต่อปริญญาโทก็เลยลาออกมาเพราะมันต้องใช้เวลาเตรียมตัว แต่เราเองก็ไม่อยากเป็นคนอ่านหนังสือ Full-time เลยมองหาว่ามีอะไรให้ทำบ้าง 

 

ไอซ์เป็นคนที่มี Passion ด้านการศึกษาอยู่แล้ว เรารู้ว่าการโตมาในกรอบมีทั้งข้อดีและข้อเสียแต่ข้อเสียมันดันเห็นชัดในประเทศนี้เราจึงอยากพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นโดยคิดว่าความสามารถของเราน่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ไอซ์ก็เลยตั้งเป้าหมายในการออกมาทำด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ค่ะ

 

ปัจจุบันงานของคุณไอซ์ต้องทำอะไรบ้าง

งานตอนนี้เป็น Business Development คือการพัฒนาองค์กรซึ่งต้องดูแลกว้างมาก งานส่วนที่ไอซ์จับจริง ๆ เลยก็คือ Kid Hero ซึ่งเป็นคล้ายโรงเรียนที่สอน Soft Skills และพัฒนาศักยภาพให้เด็กนอกเหนือจากความรู้ในโรงเรียน ความรู้ในโรงเรียนอย่างเช่น 2 บวก 2 ได้ 4 ความชัน ความเฉื่อย แต่ที่นี่เราทำให้เด็กเข้าใจว่ารู้เรื่องเหล่านี้ไปทำไมและการที่เขาจะดำเนินชีวิตในปัจจุบันจำเป็นต้องมีทักษะอะไรอีกเช่น ทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การเข้าใจตัวเอง การบูรณาการความคิด การอ่าน จริง ๆ แล้วมันกว้างมาก และช่วงนี้ก็กำลังทดสอบอยู่ว่าวิธีการไหนเหมาะกับเด็กระดับไหน Product ของเราก็จะมีพวก Coding ที่คล้ายกับการเขียนโปรแกรมแต่จะไม่ได้ยากถึงระดับนั้น สมมติมีโจทย์ว่าแมวต้องเดินไปถึงเป้าหมาย มันก็จะมีอุปสรรคตามทาง โจทย์นี้จะทำให้น้อง ๆ รู้ว่าการติด Bug ไม่ได้แปลว่าล้มเหลวแค่ต้องแก้ใหม่ การสอนน้องให้มีทักษะความคิดที่ว่าเมื่อเจอปัญหาแล้วไม่แพ้จะทำให้น้องมีฐานความคิดอีกแบบหนึ่ง

 

นอกจากนี้ยังมี Leadership Camp ที่จะบูรณาการสอนให้เด็กเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น และการดำเนินชีวิตร่วมกัน จริง ๆ แล้วมันคือสนามเด็กเล่นที่มีความรู้ เราพยายามคิดว่าเด็กคนหนึ่งต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้มีความคิดที่เป็น Growth Mindset ซึ่งจะทำให้เขาเป็นคนที่สามารถเติบโตในโลกอนาคตได้เป็นอย่างดี ซึ่งตอนนี้ไอซ์ดูแลภาพรวมทั้ง Coding Course, Coding Camp และ Leadership Camp ค่ะ

 

รู้สึกว่างานปัจจุบันนี้ตอบโจทย์อะไรเราบ้าง

ตื่นเต้นที่ได้รู้เรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยเหมือนเราเพิ่งหลุดออกมาจากยุคไดโนเสาร์ การทำบัญชีหรืองาน Audit มันคืองานที่เป็นมาตรฐานที่ถูกสร้างมานานแล้วเราแค่ทำให้ตรงตามมาตรฐานที่เกิดขึ้นหรือแม้จะเป็นมาตรฐานใหม่ก็ตามเราต้องทำงานให้ตรงตามกฎและกรอบมีแบบแผนที่ผิดถูก แต่การมาทำ Startup ไม่มีผิดหรือถูก ถ้าคิดอะไรได้ก็ทำเลยแล้วค่อยมาพิสูจน์ว่ามันได้ผลไหม ถ้ามันไม่เวิร์คก็แค่ปรับใหม่ มันเหมือนเป็นสนามเด็กเล่นที่ให้เราลองใช้ความสามารถในสิ่งที่อยากทำ 

 

นอกจากนี้ยังตื่นเต้นกับการได้รู้ว่าโลกปี 2018 มันมีอะไร เหมือนไอซ์ได้เปิดโลกเรื่องการศึกษาและโลกปัจจุบันมากขึ้น โดยเฉพาะ 21st Century Skills เป็นเรื่องที่ทำให้ไอซ์สนใจไม่ว่าจะเป็นทักษะ Critical Thinking, Communication Skill และเรื่องอื่น ๆ เหตุผลที่เราไม่เคยเรียนวิชาเหล่านี้เพราะเราได้ทักษะมาจากระบบ Analog ต่าง ๆ การที่เราไม่มีคอมพิวเตอร์ทำให้ต้องถามคนข้าง ๆ ต้องเปิดหนังสืออ่าน ต้องย่อยข้อมูล แต่เด็กสมัยนี้ไม่ต้องย่อยข้อมูลหรือถามคนข้าง ๆ เพราะแค่มีแท็บเล็ตก็สามารถหาข้อมูลได้แล้วมันเลยทำให้ Soft Skills หยุดพัฒนา ฉะนั้นทักษะเหล่านี้จึงจำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน

 

3 ปีที่ผ่านมาจากเคยคิดว่าตัวเองรู้เยอะจริง ๆ แล้วเป็นแค่เศษเสี้ยวในจักรวาล พอออกมาแล้วทำให้รู้ว่าเราคลานมาตลอด ในขณะที่โลกนี้หมุนไปไหนต่อไหนแล้ว มันเป็นแรงผลักให้เราอยากรีบไปเรียนต่อแล้วกลับมาพัฒนาประเทศไทย อยากให้ประเทศไทยรู้ว่าเรากำลังเรียนเรื่องที่เป็นอดีตอยู่เราต้องทำความเข้าใจว่าโลกใบนี้มันหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม เราจึงต้องวิ่งไม่ใช่เดินอีกต่อไปแล้ว

 

 

ฝากถึงคนที่กำลังค้นหา Passion ของตัวเองและยังรู้สึกงงกับชีวิตอยู่ ว่าควรทำอย่างไรต่อดี

ไอซ์คิดว่าทุกคนกำลังวิ่งตามหา Passion ซึ่งจริง ๆ ตัวไอซ์ก็ไม่ได้รู้หรอกว่าชอบเรื่องการศึกษา ไอซ์จะบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมี Passion ก็ได้ มันไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอยากทำอะไรเราเพียงแค่ทำสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบันได้ก็พอ อย่างตอนที่ทำ Audit ทุกคนถามว่าทำไมถึงทำบัญชี ทำไมถึงเป็น Auditor เราก็บอกว่าเราเรียนจบบัญชีทำบัญชีได้ก็ทำ ถ้าวันนี้คนเรียนจบบัญชีแต่อยากทำการตลาดก็ไปทำเลย เพราะชีวิตคือการลอง ลองให้รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบซึ่งแปลว่าเราแค่ต้องพยายามทำมากกว่าคิด

 

สิ่งสำคัญคือต้องรู้ก่อนว่าตัวเรามีปัญหากับอะไร เช่น ไม่รู้ว่าอยากทำงานอะไรก็ลองไปทำ ไอซ์ไม่ได้เก่งแต่แค่มีโอกาสได้ทำอะไรเยอะ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้อยู่ชมรมดนตรีไทย เป็นลีด ประกวดแผนการตลาด ลองไปฝึกงานฝั่งการเงิน ชีวิตนี้มันมีเวลาให้ลองเยอะนะโดยเฉพาะตอนเรียน ตอนทำงานแม้จะมีเวลาน้อยลงแต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี แม้ไอซ์จะเป็นคนที่เรียนบัญชี แต่ชอบการตลาด ชอบเซลล์ ชอบ PR อะไรที่เป็น Marketing จะรู้สึกสนุก แต่คิดว่าไม่ได้ต้องทำงานบัญชีก่อน (หัวเราะ) 

 

การที่เรารู้ว่าเราชอบอะไรและการที่รู้ว่าไม่ชอบอะไรมีค่าเท่ากัน เมื่อเราลองทำแล้วไม่ชอบอะไรเลยนั่นก็คือคำตอบอยู่ดี สิ่งที่ต้องทำก็แค่ต้องตัดตัวเลือกนั้นออกไปจากชีวิต บางคนแค่ต้องดำเนินชีวิต มีเงิน มีครอบครัว เลี้ยงดูพ่อแม่ได้ ถ้าเราทำได้ดีก็ดีไม่จำเป็นต้องมี Passion ก็ได้ ไอซ์แค่คิดว่าเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราคิดอะไร มีปัญหาเรื่องไหน กังวลทำไม แต่ถ้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไรนั่นล่ะไม่ถูกต้อง เราต้องรู้ตัวเองแล้วลองทำดูด้วยตัวเองค่ะ

 

ในการพูดคุยของ JobThai กับคุณไอซ์ พรทวี หอมเสมอ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจอาชีพของผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชีมากขึ้นว่าอาชีพนี้ต้องทำอะไร และควรมีทักษะอะไรบ้างแล้ว เรายังได้แรงบันดาลใจดี ๆ จากแนวคิดของคุณไอซ์ ผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้าหมายเอาไว้แม้ว่าอาจดูเสี่ยงไปบ้างในสายตาของคนอื่น แต่หากไม่ลองคิดและกล้าที่จะลงมือทำ ความคิดก็คงเป็นได้แค่ความคิดอยู่แค่นั้น ไม่แน่ว่าการตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่างในชีวิตก็อาจนำไปสู่ความสำเร็จแบบที่เราไม่เคยคาดคิดเลยก็ได้

นอกจาก Business Development แล้ว ปัจจุบันคุณไอซ์ยังเป็น Career Coach ที่ให้คำแนะนำทางด้านอาชีพกับน้อง ๆ ที่สนใจในสายงานผู้ตรวจสอบบัญชีด้วยเช่นกัน สามารถติดต่อเพื่อพูดคุย ปรึกษา หรือขอคำแนะนำจากคุณไอซ์ได้ที่ CareerVisa Thailand ค่ะ

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงานที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิด

เพิ่มเพื่อน

 

tags : career focus, career & tips, บัญชี, ผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี, startup, การทำงาน, แรงบันดาลใจ, เคล็ดลับประสบความสำเร็จ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม