-
เมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน ลองประเมินตัวเองว่าพลาดตรงไหนหรือผิดเพราะอะไร ซึ่งไม่ใช่เพื่อตำหนิตัวเอง แต่เพื่อเรียนรู้และพัฒนาในงานต่อไปต่างหาก
-
อย่าเอาแต่วิจารณ์คนอื่น แต่ให้พยายามทำความเข้าใจ เพราะคนแต่ละคนก็มีความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าสามารถยอมรับกันและกันได้ การทำงานก็จะราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-
อย่าเอาเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ได้สำคัญหรือส่งผลกระทบต่อเราในระยะยาว มาเป็นประเด็นจนส่งผลกระทบต่อวันทั้งวันของเรา
-
เมื่อเกิดความกลัวและความกังวลเนื่องจากต้องทำในสิ่งที่ตัวเองยังไม่พร้อม ก็ให้ตั้งสติ และค่อย ๆ ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ช้าลง เพื่อเรียบเรียงความคิดของเราให้ดีขึ้น
-
การพยายามเปลี่ยนความคิดหรือนิสัย ไม่ใช่สิ่งที่จะทำสำเร็จในวันสองวัน แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและไม่ท้อหรือยอมแพ้
|
|
JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ สมัครเลย!
|
|
ถ้าพูดถึงเรื่องการทำงานแน่นอนว่าสิ่งที่คู่กันก็คือ “ปัญหาเรื่องงาน” ที่จะพาให้เราท้อแท้ ถอดใจ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีมองปัญหาและวิธีแก้ไขที่แตกต่างกันไป บางคนมองว่าปัญหานั้นเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการทำงาน ในขณะที่บางคนสนุกในการคิดหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อแก้ไข ซึ่งสิ่งเดียวที่ทำให้คนทำงาน 2คนนี้คิดต่างกันนั่นก็คือ “ทัศนคติ” ที่จะทำให้ปัญหาเล็ก-ใหญ่ที่กำลังเผชิญ นั้นกลายเป็นแค่เรื่องท้าทายที่ต้องเอาชนะให้ได้
ซึ่งการสร้างทัศนคติทางบวกเริ่มต้นง่าย ๆ โดยการพูดกับตัวเองด้วยคำพูดที่ดีและสร้างสรรค์ แต่นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับอื่นอีก 5 ข้อที่ JobThai รวบรวมมาฝาก เพื่อทำให้คำว่า “ปัญหาในการทำงาน” สำหรับคุณ กลายเป็นคำว่า “ความท้าทายในการทำงาน” แทน
1. แค่ประเมินก็พอ อย่าตำหนิตัวเอง
การประเมินตัวเองเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนควรทำอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้รู้ว่าการทำงานที่ผ่านมาของตัวเราเองได้อะไรมากกว่าตอนเริ่มต้นไหม ผิดพลาดอะไรบ้าง หรือควรแก้ไขตรงไหน แต่ไม่ใช่การตำหนิตัวเองในทุกอย่างที่ทำ อย่าคิดว่าเราทำอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ดี ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นแค่ยอมรับมัน เรียนรู้ และหาวิธีที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก เพียงแค่นี้ก็จะช่วยผลักดันให้เรามีทัศนคติที่ดีได้แล้ว
ซึ่งเราอาจลองบอกกับตัวเองว่า “งานนี้เป็นงานที่ท้าทาย ไม่มีใครอยากให้ผิดพลาด แต่พอเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเรื่องดีที่เราจะได้เรียนรู้ว่าทำผิดตรงไหน คราวหน้าจะได้ไม่พลาดแบบเดิมอีก” แล้วลองคิดหาวิธีใหม่ ๆ ในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อไป
2. มองคนอื่นแบบเข้าใจ
เมื่อเข้าใจตัวเองแล้ว ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจเพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วย ซึ่งนั่นคือการไม่มองว่าตัวเราเองเท่านั้นที่ถูกเสมอ ทุกคนมีเหตุผลในการทำงานที่ต่างกันไป มองว่าแต่ละคนมีวิธีคิดและวิธีทำงานที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเราเรียนรู้และเข้าใจในความต่างนั้น ก็จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและทำงานได้อย่างสนุกมากขึ้น
ความเห็นไม่ตรงกันสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานหรือการใช้ชีวิตทั่วไป และบ่อเกิดของปัญหาหลาย ๆ อย่างก็คือความคิดไม่ลงรอยกัน เพราะบางครั้งเราก็มีเรื่องที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ตรงกับอีกฝ่าย ซึ่งหากลองช่วยกันหาวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา นอกจากจะได้งานแล้วเรายังได้รู้จักทัศนคติและความคิดของคู่สนทนาคนนั้นมากขึ้นอีกด้วย
3. อย่าให้เรื่องน่าหงุดหงิดมาทำลายวันที่ดี
ทุกเช้าของเรานั้นสามารถเป็นวันที่ดีได้เสมอ หากเราไม่เอาเรื่องเล็กน้อยของวันก่อน เมื่อวานซืน หรือของเดือนที่แล้วมาคิดอยู่ตลอดเวลา เพราะนั่นหมายถึงเรายังไม่มูฟออนจากปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และสุดท้ายก็จะมีแต่เราที่เกิดอคติ เกิดความหงุดหงิด และทำลายวันที่กำลังจะดีของตัวเราเองไป
สิ่งที่ควรทำคือ ระลึกไว้เสมอว่าไม่นานเรื่องพวกนี้ก็จะผ่านไป ลองบอกกับตัวเองบ่อย ๆ ก็ได้ว่า “เรื่องน่าเบื่อน่าหงุดหงิดอาจเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลกระทบไปนานแสนนาน ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิดต่อ ใช้โอกาสนี้นี่แหละ เพื่อฝึกฝนทักษะการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต”
4. กำจัดความกลัวด้วยความคิดที่ดี
เป็นธรรมดาเมื่อเราได้รับมอบหมายงานมา ก็อาจเกิดความกลัว ความไม่มั่นใจ และไม่พร้อมที่จะรับโอกาสนั้น เมื่อเจอสถานการณ์นี้ เราควรโยนความคิดที่ว่าเราทำไม่ได้ออกไป คิดซะว่าสิ่งนี้คือ “โอกาสที่ท้าทายในการแสดงความสามารถ” แล้วเริ่มตั้งสมาธิ ทำทุกอย่างให้ช้าลงเพื่อให้จิตใจผ่อนคลาย ซึ่งการทำทุกอย่างให้ช้าลงยังสามารถลดโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดในตัวชิ้นงานได้อีกด้วย เมื่อทำสมาธิเรียบร้อยแล้วความคิดดี ๆ ของเราจะเริ่มกลับมาอย่างแน่นอน
เราอาจพูดกับตัวเองว่า “เราทำได้ เราจะจัดการมัน” หรือ “เราจะต้องทำงานนี้ออกมาได้อย่างดีแน่นอน”เพียงเท่านี้ ความกลัวที่มีก็จะลดลงไปอย่างมากเลยทีเดียว
5. ย้ำความคิดในเชิงบวก ทำจนเป็นนิสัย
การกระทำหรือพฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตเกิดจากการปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย ซึ่งต้องใช้เวลาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ กินน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวัน และแน่นอนว่าการ “ฝึกคิดเชิงบวก” ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกเช่นกัน ซึ่งการจะเปลี่ยนนิสัยที่เรายังไม่เคยทำภายใน 1-2 เดือน นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่หากเราคอยย้ำความคิดเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ นิสัยของเราก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย ถึงทุกวันจะมีบททดสอบมากมายรอบตัวที่คอยมาเพิ่มความคิดในแง่ลบ ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ และมองเห็นข้อดีของสิ่งนั้นให้ได้
แม้หลายคนอาจคิดว่า พูดกับตัวเองทุกวันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก แต่เชื่อเราสิว่าหากคุณฝึกทำเรื่อย ๆ จนเป็นนิสัยแล้ว ไม่ว่าปัญหาจะมากมาย หรือใหญ่สักแค่ไหน เราก็จะสามารถมองเห็นข้อดีของปัญหาหรืออุปสรรคเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน และการทำงานของเราก็จะราบรื่นและไม่สามารถบั่นทอนจิตใจเราได้อีกต่อไป
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน