Career Unlock EP. 8: สายงานผู้สื่อข่าว เปิดประสบการณ์จริงของนักข่าวภาคสนาม

 

 

 

 

ขึ้นชื่อว่าข่าวย่อมเป็นเรื่องที่กำลังเป็นกระแสและเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก แต่กว่าจะออกมาเป็นข่าวให้เราได้รับชมกันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ บรรดาสำนักข่าวต่าง ๆ ต้องแข่งกับเวลา ส่งตัวแทนอย่างนักข่าวภาคสนามและทีมงานเข้าไปลงพื้นที่พูดคุยกับแหล่งข่าว วิเคราะห์ข้อมูล และสืบหาความจริงมารายงานให้สาธารณชนได้รับรู้ความเป็นไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้เป็นที่แรก

 

ใครที่กำลังสนใจว่าการเป็นนักข่าวเขาต้องทำกันยังไง วันนี้ JobThai จะพาไปเจาะลึกงานเบื้องหลังสายนักข่าวกับคุณกิ๊ก นรพร พจน์จำเนียร นักข่าวภาคสนามจากสำนักข่าวone NEWS ช่อง one31 ใครฝันอยากเป็นนักข่าวและอยากรู้ว่าสมัครงานนักข่าวต้องทำยังไงบ้าง ไปดูกันเลย

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คุณกิ๊กเรียนจบสายไหนมา เริ่มต้นทำอาชีพนักข่าวได้ยังไง

พอเข้าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ก็มาคิดว่าจะเรียนอะไรต่อ มี 5 เอก ความที่เป็นคนความจำดีมาก แล้วก็เรียนเก่ง ก็เลยรู้สึกว่าวารสารศาสตร์ตอบโจทย์ ต่อมาก็ได้ฝึกงานที่ช่อง 5 ได้ก้าวขาเข้าสู่วงการที่ไบรท์ทีวีก่อน แล้วก็มาอมรินทร์ทีวี ล่าสุดก็คือช่อง one31 

 

นิยามของนักข่าวคืออะไร “นักข่าว” กับ “ผู้ประกาศข่าว” ต่างกันยังไง

นิยามของคำว่านักข่าว คือ “หมาเฝ้าบ้าน” ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปในข่าว ใครถูกใครผิดก็ว่าไปตามนั้น สำหรับความแตกต่างของนักข่าวกับผู้ประกาศข่าวคือ นักข่าวภาคสนามไปในเหตุการณ์จริงตรงนั้น ส่วนผู้ประกาศข่าวจะมีสคริปต์ออนแอร์อยู่ในสตูดิโอ อยู่ในช่องค่ะ จะอยู่หน้าจอเป็นหลัก ส่วนเราถ้ามีเหตุการณ์หรือว่ามีรายงานสดสถานการณ์ใด ๆ เราก็จะเป็นคนรายงานเข้าไปในสถานี 

 

สำหรับประเภทของนักข่าวก็จะมีนักข่าวออนไลน์ นักข่าวทีวี นักข่าวหนังสือพิมพ์ค่ะ นักข่าวแต่ละกลุ่มก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป อย่างทีวีก็จะเน้นข่าวสั้นทันโลก หนังสือพิมพ์ก็จะมีพื้นที่ในการเขียนข่าว ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ชัดเจนละเอียดยิบ นักข่าวออนไลน์เขาก็จะมีการนำเสนอข้อมูลเป็นวิดีโอสั้น ๆ นำเสนอเข้าใจง่าย

 

นักข่าวภาคสนามมีความสำคัญยังไง ทำไมทุกช่องต้องมี

เราเหมือนเป็นตาให้กับกองบรรณาธิการข่าว เวลามีเหตุการณ์ใหญ่ เราจะเป็นคนที่อยู่หน้างาน แล้วเราจะเห็นทุกอย่างว่าตรงนี้เกิดอะไรขึ้น เป็นเหมือนตัวแทน เราก็จะสามารถสรุปได้ว่าจะนำเสนออะไร มีประเด็นอะไรบ้าง แล้วก็จะส่งเข้ามาทางสถานี อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องความรวดเร็ว เดี๋ยวนี้มันคือการแข่งขัน ใครไปถึงก่อน ได้ประเด็นอะไรดี ๆ ก็จะนำเสนอก่อน อย่างช่อง one31 จะไม่ได้มีโต๊ะข่าวตายตัวว่าจะต้องมีนักข่าวเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรืออาชญากรรม แต่ว่ากองบรรณาธิการเขาจะเข้าใจว่าคนนี้เหมาะกับสายไหน ก็จะมีประจำแบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างเราก็จะรู้เลยว่าเราไม่ไปสายอื่นแน่นอนเพราะว่าเราไม่ค่อยเก็ต เราก็จะมุ่งไปอาชญากรรมอย่างเดียว

 

กระบวนทำงานของข่าวเป็นยังไงบ้าง ตั้งแต่ต้นจนจบต้องทำอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างเหมือนถ้าเราจะนำเสนอข่าวสักตัวหนึ่ง สมมติถ้าเป็นสถานการณ์ที่เราสามารถควบคุมได้ เราก็จะมีการประชุมกันในกองบรรณาธิการ ก็คือเรียกว่าเป็นกอง บก. ตามภาษาข่าว นั่งประชุมว่าพรุ่งนี้ ในข่าวเที่ยง ข่าวเย็น ข่าวค่ำ หรือข่าวดึก เราจะมีข่าวอะไรเป็นข่าวนำ ก็คือเป็น 1, 2, 3, 4 เป็นอันดับข่าวตามลำดับความสำคัญ แต่จะมีอีกสถานการณ์หนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ ก็คือถ้าสมมติเกิดเหตุแบบฉุกเฉิน ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือมีใครฆ่ากันตาย กราดยิง อันนี้จะเป็นเวอร์ชันที่เราไม่สามารถที่จะมานั่งบรีฟได้ว่า ต้องทำอะไร 1, 2, 3, 4 แต่เราต้องมีสติให้มากที่สุด คอยดูว่าข้อมูลตอนนี้มันมีถึงไหน แล้วก็รวบรวมข้อมูล พอไปถึงเราก็สามารถรายงานเข้าสถานีได้เลย

 

ขอยกตัวอย่างข่าวเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางกลางทะเลอ่าวไทย พอเกิดเหตุปุ๊บ ไปถึงหน้างาน ด้วยความที่มันเป็นท่าเรือเอกชน ไม่สามารถเข้าได้ เราเป็นนักข่าวก็ต้องมีวิธีคุยกับเจ้าของว่าขอเข้าไปดูหน่อยได้ไหม หรือว่าขอประสานงาน นักข่าวจะต้องมีวิธีการพูด ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา

 

เราจะมีทีมงาน เราเป็นหัวหน้าทีม แล้วจะมีพี่ช่างภาพ กับพี่ผู้ช่วย สามคนนี้ไปไหนก็คือไปด้วยกัน เราจะเป็นคนที่เขียนข่าว คิดข้อมูลต่าง ๆ แตกประเด็นว่าตรงไหนมีประเด็นอะไรบ้าง ส่วนช่างภาพก็จะมีทักษะของเขาในการถ่ายภาพ ภาพไหนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเก็บหรือขาดไม่ได้ เขาก็จะทำหน้าที่ของเขา ส่วนผู้ช่วยช่างภาพ ก็จะเป็นคนที่คอยช่วยเหลือช่างภาพ ด้วยความที่ตอนนี้มันมีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น เราก็จะใช้เป็น เช่น มีเครื่อง 3G ที่เป็นเครื่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เอาไว้เสียบกับกล้อง ตัวนั้นจะเป็นตัวที่ยิงเข้าไปสถานีได้เลยว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้น จะเห็นหมดเลย

 

ถ้ามีข่าวดังเกิดขึ้นมาพร้อมกันทำยังไง 

ข่าวใหญ่สองเคส ไม่สามารถที่จะแยกตัวได้อยู่แล้ว เพราะว่าเราจะต้องประจำทีละเคสเพื่อที่เราจะได้แทรกซึม รู้ทุกอย่างว่าเคสนี้มันเกิดอะไรขึ้น สิ่งสำคัญของนักข่าวคือรอให้เป็น รอนานขนาดไหนก็ต้องรอเพื่อที่จะได้ข้อมูล แต่ถ้าในกรณีว่าเราไปทำข่าวคดีใหญ่เคสหนึ่งอยู่ที่อีสานจังหวัดหนึ่ง เราก็สามารถที่จะตระเวนอีสานได้หมด

 

โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบกับการทำข่าวไหม เมื่อใคร ๆ ก็สามารถเล่าข่าวได้ เป็นการแย่งอาชีพหรือเปล่า

ส่วนตัวคือไม่ได้มองว่าเป็นการแย่งอาชีพ เพราะเรารู้สึกว่าแต่ละคนมีพื้นที่ของตัวเองไม่เหมือนกัน เราก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียนำเสนอในแบบของตัวเองได้ เดี๋ยวนี้ประเด็นข่าวจะเกิดจากพวกนี้เยอะ อย่าง TikTok หรือเพจดัง ๆ หรือที่เป็นแอปพลิเคชันต่าง ๆ เราก็สามารถที่จะทักไปคุยกับเจ้าของ หรือแอดมิน เพื่อที่จะขอช่องทางติดต่อแล้วไปต่อยอดในคดีหรือเคสนั้น ๆ ได้

 

นักข่าวภาคสนามต้องมีทักษะอะไรบ้าง

เราต้องรับแรงกระแทกให้ได้ สองก็คือต้องแตกประเด็นให้ได้ เก็บประเด็นทุกอย่างให้ครบ สามก็คือเราจะต้องมีสติสามารถที่จะรวบรวมข้อมูลใส่ในหัวเราได้ แล้วก็สามารถที่จะรายงานได้ทันที นอกจากนี้ก็คือทักษะในการเขียนข่าวที่เป็นพื้นฐานของนักข่าวอย่าง ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เราก็ต้องเก็บให้ครบว่าวันนี้คนคนนี้พูดว่าอะไร

 

สำหรับทักษะการใช้เครื่องมืออื่น ๆ นักข่าวจะมีบทบาทในการทำเรื่องของการตัดต่อเฉพาะคัดเสียงแหล่งข่าวที่รู้สึกว่าน่าสนใจ ปล่อยเสียงไหนแล้วจะปัง พีก หรือว่าเสียงไหนที่ออกอากาศไปแล้วจะมีคอมเมนต์มาแน่ ก็ต้องเอาเสียงนั้น

 

ความท้าทายของการเป็นนักข่าวภาคสนามคืออะไร มีข่าวไหนที่จำได้ไม่ลืมเลยไหม

ไปในที่ที่คนอื่นไม่ค่อยได้ไป แล้วเรารู้สึกว่าเราได้ไปเห็นสถานการณ์จริง ความท้าทายก็เช่น กราดยิงที่โคราช เรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่ท้าทายเรามาก เพราะเราไม่รู้ว่าคนร้ายจะวิ่งออกมาประตูไหน แล้วเราอยู่ตรงกลาง อยู่ข้างหน้า ก็รู้สึกว่าต้องเสี่ยงอยู่ อีกเรื่องคือข่าวถ้ำหลวงก็จะเป็นอะไรที่ยืดเยื้อ คนไทยก็ลุ้นทั้งประเทศด้วย เพราะเป็นข่าวใหญ่มากตอนนั้น ที่เด็กติดถ้ำ

 

คนที่อยากเป็นนักข่าวต้องเตรียมใจยังไงบ้าง

อย่างแรกเลย ใจต้องรัก ต้องอุทิศชีวิตให้กับข่าว เพราะเราจะไม่มีเวลาให้ไปทะเลได้เป็น 20 วัน หรือว่าไปเที่ยวต่างประเทศได้ นอกจากลาพักร้อนจริง ๆ  ใน 24 ชั่วโมง เราต้องคอยเฝ้าสังเกตข่าวว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งสำคัญก็อย่างที่บอกว่าต้องจิตใจรักจริง ๆ รักอาชีพนี้ แล้วก็มาเลย เข้ามาเป็นนักข่าวได้เลย

 

มีวิธีการจัดการความรู้สึกยังไงเมื่อต้องรายงานข่าวที่ทำให้จิตตก

เราเป็นคนอ่อนไหวกับเรื่องเด็กน้อย การสูญเสีย ถ้าต้องเจอข่าวแบบนี้ให้รายงานข่าวได้ไหม ก็ต้องได้ ต้องโฟกัสให้ถูกว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไร ส่วนความรู้สึกลึก ๆ หรือว่าหลังจากนั้น เราค่อยไปนั่งหาเพื่อนระบาย หรือไปคุยกันเอง ทำตัวให้รู้สึกว่ามันไม่ต้องจิตตก ไปหาอะไรอย่างอื่นทำก่อน

 

นักข่าวสามารถแสดงความคิดเห็นกับข่าวที่ตัวเองทำได้ไหม ต้องระวังเรื่องโซเชียลมีเดียส่วนตัวยังไงบ้าง

ไม่ได้ค่ะ เราไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ว่าใครผิดใครถูก เราจะต้องเอาใจเป็นกลาง สอบถามฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยโพสต์แสดงความคิดเห็นแบบสุดโต่งบนโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ที่โพสต์จะเป็นเรื่องของคดีที่ได้รับความสนใจอยู่ ณ ขณะนั้น เราลงพื้นที่ไปพอดีก็จะเหมือนย่อข่าวสั้นมากกว่าว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น จะไม่ได้ชี้นำ ด้วยบทบาทด้วย เราจะไม่สามารถชี้นำได้ว่าใครถูกใครผิด หรือว่าไปตัดสินใคร

 

การเติบโตของสายอาชีพนักข่าวเป็นยังไงบ้าง

ด้วยความที่เราพูดเก่ง เราก็จะอยากเป็นผู้ประกาศข่าว แต่นักข่าวภาคสนามก็เหมือนกับการได้เก็บแต้ม เก็บประสบการณ์ สมมติว่ามาในทางที่อยากอยู่ในออฟฟิศ ก็จะเป็น Rewriter ขึ้นมาก็จะเป็นกองบรรณาธิการ มีบรรณาธิการ บรรณาธิการบริหาร

 

แนะนำวิธีการเตรียมตัวสำหรับคนที่อยากเป็นนักข่าว ต้องเรียนจบตรงสายเลยไหม 

จริง ๆ แล้ว การที่เราเข้ามาอยู่จุดนี้ก็เห็นว่าพี่ ๆ นักข่าว พี่ ๆ กองบรรณาธิการต่าง ๆ เขาก็ไม่ได้จบนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์โดยตรง มีอีกหลายสาขา ภาษาไทย ศิลปะ เขาก็สามารถมาทำงานตรงนี้ได้ อยู่ที่ความชอบมากกว่า ถ้าสนใจในเรื่องของงานข่าวแล้วเรายังเป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่กำลังจะฝึกงาน ก็จะมีหลายช่องทางให้ไปฝึกก่อน เช่น สำนักข่าวช่อง 5 ช่อง 7 เราก็จะได้ไปคลุกคลี แล้วถ้ารู้สึกว่าชอบก็จะไปได้ดี 

 

ด้วยความที่เราฝึกน้อง ๆ มา เขาจะมีโอกาสทำหน้าที่เหมือนเราเลยเหมือนเป็นผู้ช่วยเรา เขาจะเขียนข่าวแล้วก็ส่งให้เรา เช่นเดียวกันคนที่เริ่มต้นการทำงานใหม่ ๆ จะตรงสายหรือไม่ตรงสาย ยังไงเข้ามาจุดนี้ ก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ต้องมาปูพื้นฐานใหม่ว่าเขียนข่าวยังไง การจะเขียนสกู๊ปเขียนยังไง การจะออกไปรายงานข่าว รายงานยังไง ทุกอย่างล้วนอยู่กับประสบการณ์  ใครเก็บแต้มได้มากกว่า มันก็จะรู้สึกว่าไปทำงานไหนก็ลื่นแล้ว

 

อาชีพนักข่าวต้องมีเรซูเม่แบบสายงานอื่น ๆ ไหม มีการทดสอบในการสมัครงานยังไงบ้าง

ตามหลักก็ต้องมี เรามีความโดดเด่นทางด้านไหนบ้าง การตัดต่อ รายงานข่าวได้ ทำสกู๊ปได้ ก็ต้องขายไว้ก่อน มีความสามารถหรือเคยมีประสบการณ์ทางด้านไหนมาบ้าง อย่างที่ไบรท์ทีวีวันแรกจะเป็นการสอบข้อเขียน เกี่ยวกับทักษะว่างานด้านข่าวจะต้องมีความรู้เรื่องไหนบ้าง ก็ตอบข้อเขียนปกติ ส่วนวันที่สองจะเป็นการทดสอบผ่านหน้ากล้อง รายงานว่าตอนนี้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ยกเหตุการณ์มา 

 

ส่วนคำถามสัมภาษณ์งานของทุกที่ก็คือ ทำไมถึงมาสมัครช่องนี้ นอกจากนั้นก็จะเป็น รับแรงกดดันได้ไหม เราอยากทำที่ไหนก็ต้องรู้ว่าพื้นเพว่าเขาเป็นสไตล์ไหน ต้องมีความรู้เรื่องนี้ด้วย อย่างไบรท์ทีวีตอนนั้นก็จะเป็นแนวสังคม อมรินทร์มีทุบโต๊ะข่าวเป็นแบบสุดโต่ง ฉีก ช่อง one31 ก็จะเป็นอารมณ์แบบการละครนิดนึง มันก็จะต้องให้เข้า

 

ช่องข่าวหรือสำนักข่าวมองหาอะไรจากคนสมัครงาน

การที่เราจะรับสมัครใครสักคน ก็ต้องดูว่าเขาตั้งใจไหม อยากทำในงานนั้นไหม แล้วก็ต้องเลือกคนที่รู้สึกว่ามีใจมาทางด้านนี้ รู้สึกว่าเขียนข่าวได้ ลงเสียงได้ สามารถใช้งานต่อได้ เราก็ต้องเลือกคนคนนั้น

 

คุณกิ๊กอยากจะฝากอะไรทิ้งท้ายสำหรับคนที่สนใจอยากจะมาทำอาชีพนักข่าวบ้าง

จริง ๆ แล้วเคยไปเป็นวิทยากรกับเด็กมหาวิทยาลัย ก็เลยรู้สึกว่าใครที่ยกมือแล้วตอบว่าอยากเป็นผู้สื่อข่าวจะดีใจมาก แต่ถ้าอยากมาทำงานทางด้านนี้จริง ๆ ขอให้มีแค่ความมุ่งมั่นตั้งใจและความอดทน สามารถทำงานนี้ได้แน่นอนค่ะ สุดท้ายนี้ก็ขอฝากรายการข่าวทุกช่วงเวลาของสำนักข่าว one NEWS หรือช่อง one 31 ด้วยนะคะ

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ทำงาน, career & tips, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, เคล็บลับการทำงาน, การทำงาน, ทักษะ, โลกการทำงาน, career unlock, นักข่าว, นักข่าวภาคสนาม, one news, สำนักข่าว, สื่อ, สื่อสารมวลชน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม