Career Unlock EP. 6: งาน Business Development อาชีพสุดปังสายธุรกิจ

15/05/24   |   2.8k   |  

 

 

 

 

งานสาย Business Development ไม่ใช่แค่เรื่องการดำเนินธุรกิจทั่วไป แต่จะต้องติดตามข่าวสาร พัฒนากลยุทธ์ และวิเคราะห์ความน่าจะเป็นเพื่อการลงทุนให้ธุรกิจขยายตัวไปให้ไกลกว่าเดิม คนทำงานสายนี้จึงต้องเก่งรอบด้านและแน่นนอนว่าเป็นที่ต้องการตัวของตลาดแรงงานอย่างแน่นอน

 

สำหรับคนที่กำลังสนใจสายงาน Business Development วันนี้ JobThai จะพาไปทำความรู้จักงานนี้ให้มากขึ้นกับคุณฝ้าย ณัฐชา ตู้จินดา Division Manager ของทีม Business Development Focus Country GPSC บริษัทด้านธุรกิจพลังงานที่อยู่ในเครือของปตท.

 

Business Development เหมือนหรือต่างกับ Business Analyst ยังไง ทำงานสายนี้ต้องมีทักษะอะไรบ้าง ไปปลดล็อกข้อสงสัยกันเลย!

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คุณฝ้ายเรียนจบอะไรมา เริ่มต้นงาน Business Development ได้ยังไง

เรียนปริญญาตรีกับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นโครงการควบปริญญาตรีและโท แล้วก็จบทางด้านการเงิน ต้องเกริ่นก่อนว่าฝ้ายเป็นพนักงานของบริษัทปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ GPSC แล้วก็ได้มีโอกาสเข้าโครงการฝึกงานที่ไปเวียนปฏิบัติงาน ทั้งในลักษณะของฟังก์ชันแล้วก็ประเทศด้วย ไปอินโดนีเซีย ไปลาว คราวนี้ก็ได้เวียนกลับมาอยู่ที่บริษัทลูกบริษัทหนึ่งของ GPSC ที่ลาว เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเขื่อนไฟฟ้า เข้ามาอยู่ในสายงานการเงินของ GPSC แล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้ย้ายมาอยู่ในทีม Business Development เนื่องจากตอนนี้ GPSC ถือว่าเป็น บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลงพอร์ตโฟลิโอการผลิตไฟฟ้าให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานและฟังก์ชัน Business Development จึงมีความสำคัญแล้วก็มีภารกิจที่ชัดเจนมาก คือเราต้องพยายามที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงพอร์ตโฟลิโอของ GPSC

 

งาน Business Development คืออะไร เหมือนหรือต่างกับ Business Analyst ยังไง

ทุก ๆ บริษัทหรือหลาย ๆ บริษัทก็มี Business Development คราวนี้ถามว่าตำแหน่งนี้ของแต่ละบริษัททำอะไร ฝ้ายคิดว่าอาจจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบริษัทนั้น Business Development ของ GPSC ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะหากลยุทธ์แล้วก็พยายามหาโอกาสในการลงทุนว่าเราจะสามารถมีธุรกิจแบบนี้ ที่ประเทศอื่นยังไงได้บ้าง อย่างของพี่ฝ้ายที่ทำ Focus Country ซึ่งเป็นธุรกิจต่างประเทศก็จะต้องเข้าไปดูว่าในแต่ละประเทศมีโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจยังไงบ้าง และถ้าเราต้องการที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้น ควรจะเริ่มต้นยังไงและก็มีกลยุทธ์ยังไง

 

ใน GPSC  ฝ่าย Business Analyst ก็คล้าย ๆ หน่วยงานที่เป็น Intelligence อาจจะมองภาพใหญ่ เรื่องการวิเคราะห์ในเชิงที่เกี่ยวกับองค์กร ว่าตอนนี้ GPSC เทียบกับคู่แข่งเป็นยังไงบ้าง จุดแข็งจุดอ่อนของเราคืออะไร ควรจะพัฒนาช่องว่างตรงไหน แต่ Business Development ของ GPSC จะเป็นในลักษณะของคนที่ลงมือทำหรือลงมือปฏิบัติ อย่างที่บอกว่าถ้าเราได้ภารกิจมาแล้วว่าสิ่งที่ GPSC ต้องการจะหาขณะนี้คืออะไร คนที่ไปลงมือทำ คุยกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ก็จะเป็นในส่วนของ Business Development

 

Business Development กับ Marketing ต่างกันยังไง

Business Development ก็ต้องใช้ทักษะด้านการตลาดเหมือนกันนะ แต่ว่าถ้าถามว่าเหมือนกันไหม พี่ฝ้ายมองว่า Marketing อาจจะเฉพาะเจาะจงกว่า เพราะว่าอย่าง Marketing ก็คือก็จะเน้นหาลูกค้า ดูว่าลูกค้าต้องการอะไร จะเพิ่มยอดขายยังไงเป็นหลัก แต่ว่าทาง Business Development สโคปมันอาจจะกว้างกว่านั้น เพราะว่าตลอดกระบวนการของการพัฒนาธุรกิจมันจะเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องของการเงินด้วย ต้องมีการวิเคราะห์ว่าโครงการนี้ในเชิงของการเงินน่าลงทุนไหม สอดคล้องกับกลยุทธ์ยังไง แล้วสุดท้ายเป็นการเจรจาต่อรองสัญญา ซึ่งมันจะประกอบไปด้วยทุกอย่างที่เป็นของธุรกิจ เพราะว่ามันคือการที่เราไปสร้างธุรกิจใหม่ในต่างประเทศ ดังนั้น Business Development อาจจะกว้างกว่า แต่ไม่ได้ต้องการทักษะด้านการตลาดที่ลงลึกมาก ๆ เหมือนกับตำแหน่งที่เป็นด้านการตลาด

ขอสโคปมาใ

 

ในแผนกของ Business Development มีการแบ่งทีมและขั้นตอนการทำงานยังไงบ้าง

ถ้าในหน่วยงานสายงาน Business Development ของทาง GPSC จะมีประมาณ 30 กว่าคน แต่ว่าทีม Focus Country ที่เป็นการทำธุรกิจในต่างประเทศเป็นหลัก จริง ๆ แล้วทีมกะทัดรัดมาก เราทำธุรกิจหลากหลายประเทศมาก แต่ว่าทีมมีแค่ประมาณต่ำกว่า 10 คน เพราะว่าเราต้องทำธุรกิจแบบไม่อยู่นิ่ง ต้องเร็ว ดังนั้นแต่ละทีมก็จะรายงานตรงไปที่ทางหัวหน้าของ Business Development ซึ่งเป็นผู้ช่วยของสายงานสูงสุด แต่ละทีมก็อาจจะโฟกัสเป็นแต่ละประเทศไป

 

Business Development หลัก ๆ เลยจะแบ่งงานออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคืองานที่เรียกว่า M&A หรือ Mergers and Acquisition คือการที่เราจะพัฒนาธุรกิจใหม่ ทำได้ 2 วิธีก็คือการที่เริ่มต้นพัฒนาใหม่จากศูนย์กับการเข้าไปซื้อกิจการ การทำธุรกิจจากศูนย์ อันนี้เรียกว่า Greenfield Development ก็คือเป็นโปรเจกต์ที่เริ่มจากศูนย์ ปกติถ้าเป็นโครงการที่พัฒนา เช่น โครงการ Solar เราจะทำโครงการพลังงานแดด ก็ต้องเริ่มจากการดู Pre-feasibility ว่าแดดตรงไหนดี ดูเรื่องพื้นที่ แล้วเราก็ค่อย ๆ พัฒนาโปรเจกต์กัน ธุรกิจไฟฟ้าก็จะมีสัญญาที่สำคัญ เช่น สัญญาซื้อขายไฟ สัญญาเงินกู้ ถ้าทำ Greenfield เราจะต้องค่อย ๆ พัฒนาโปรเจกต์นี้ แล้วก็สุดท้ายดูในภาพรวมโปรเจกต์อีกทีว่าทุกอย่าง เทียบความเสี่ยงกับผลตอบแทนนั้นตรงกับสิ่งที่ GPSC มองหาไหม ถ้าใช่เราก็ขออนุมัติลงทุน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเนี่ยพูดดูเหมือนสั้น แต่ว่าจริง ๆ ทำเนี่ยเป็นหลักปี ไปจนถึง 2-3 ปี

 

อีกแบบหนึ่งที่พยายามรักษาสมดุลด้วยก็คือเหมือนกับการที่เราไม่ต้องพัฒนาจากศูนย์ แต่เราเข้าไปซื้อกิจการบริษัทอื่นที่เขาทำไว้แล้วซึ่งตรงกับกลยุทธ์ของเรา กระบวนการก็คือเราต้องระบุก่อนว่าโอกาสคืออะไร ตรงกับกลยุทธ์ของเรายังไง แล้วก็มีการเจรจาต่อรองเรื่องสัญญาซื้อขายต่าง ๆ จนครบลูป อันนี้ก็จะใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน

 

Business Development ต้องคุยกับใครบ้าง มีแผนกไหนบ้างที่เราต้องไปคุยเยอะเป็นพิเศษ

เราต้องคุยกับพาร์ทเนอร์ ต้องขายจุดแข็งของเราให้เขาอยากมาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของ Business Development อีกอันนึงก็เป็นทางหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐบาลที่สำคัญของประเทศนั้น เพราะว่าเวลาเราเข้าไป เราก็เหมือนเป็นคนนอกเข้าไปในประเทศเขา ดังนั้นการที่เราจะมีข้อมูล มี Insights ก็ต้องพยายามเข้าหาหน่วยงานเหล่านั้นด้วย Business Development ก็ถือว่าต้องทำงานร่วมกับคนเยอะมาก เพราะเวลาเราทำโปรเจกต์ 1 โปรเจกต์มันจะค่อนข้างใหญ่มาก แล้วก็จะไม่สามารถทำให้ครบลูปทุกอย่างได้ด้วยทีม Business Development ทีมเดียว เราต้องการผู้เชี่ยวชาญจากทาง Technical จากทางการเงิน จากทางกฎหมาย ดังนั้นก็จะมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แล้วก็ทำจนจบงานด้วยกันเลย

 

มีวิธีการในการมองหาพาร์ทเนอร์หรือว่าติดตามข่าวสารยังไงบ้าง

เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องใช้ความพยายามเยอะเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งถามว่าเราจะได้จากอะไรบ้าง หนึ่งก็คือพาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศที่เราไปทำธุรกิจด้วย อันนี้เราต้องรักษาความสัมพันธ์ แล้วก็ที่ปรึกษา หรือพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ หรือ Professional Advisor ก็ให้ข้อมูลที่ดีมาก ส่วนของ GPSC ถ้าเป็นประเทศไหนที่เราโฟกัสแล้วเราจะมีการส่งคนลงพื้นที่ด้วย อาจจะเป็นน้อง ๆ รุ่นใหม่ไฟแรง พอเราลงทุนที่อินเดียหรือไต้หวัน เราก็จะส่งน้องเราเข้าไปเพื่อให้ GPSC มีโอกาสได้ข้อมูลตรงที่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มาจากคนอื่น

 

Business Development ควรมี Hard Skills และ Soft Skills อะไรบ้าง มีTools ไหนที่ต้องใช้ให้เก่ง

ส่วนตัวนะคะ จุดที่สำคัญสุดคือเรื่องความสนใจในธุรกิจนี้ก่อน เพราะมันอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่สนุกสำหรับทุกคน แต่ว่ามันเป็นธุรกิจที่ใหญ่ ที่มีอิทธิพล ต้องเป็นคนที่มีความสนใจเป็นอันแรก ส่วนอันที่สองคือ กระบวนการในการวิเคราะห์ความน่าสนใจในการลงทุน หรือการทำ Feasibility Study เพราะว่าวันวันหนึ่ง Business Development จะมีโอกาสให้เข้ามาพิจารณาเยอะมาก แล้วเราก็ต้องเลือก Shortlist ในShortlist ความสามารถเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

 

Soft Skills อย่างแรกคิดว่าเป็นเรื่องการสื่อสาร ทักษะการสื่อสารนี่ไม่ใช่ว่าแค่ชอบคุย แต่จะต้องเป็นคนที่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหนึ่งในบทบาทของ Business Development คือเราเป็นตัวแทนของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปประเทศที่ไม่ได้มีใครรู้จัก GPSC หรือปตท. มาก่อน เราเหมือนเป็นตัวแทนประเทศระดับหนึ่ง ดังนั้นเรื่องการสื่อสารสำคัญนะคะ กับอีกอันหนึ่งคิดว่าคงต้องเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้เร็ว แล้วก็ไม่กลัวความเปลี่ยนแปลงนิดนึง เพราะว่างานของ Business Development ไม่อยู่นิ่ง น้อง ๆ ที่เข้ามา วันนี้ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ว่าเดือนหน้าอาจจะต้องไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง ดังนั้นต้องเป็นคนที่มีความสามารถปรับตัว มีความมั่นใจนิดนึง แต่ก็ไม่มากไป เรื่องทักษะของการนำเสนอก็ถือว่าเป็นทักษะหนึ่งที่เวลามองผู้สมัคร เราก็จะมองหาคนที่มีความสามารถประมาณนี้ด้วย

 

เราไม่ได้จำเป็นต้องใช้ Advanced Tools อะไรมากมาย อย่างพี่ฝ้ายเองทุกวันนี้ก็ใช้ Microsoft Office เพราะว่า Business Development เราทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว ปกติองค์ประกอบของทีม Business Development อย่างทีม Focus Country ก็จะประกอบไปด้วยคนที่เป็นวิศวกร คนที่เป็นฝ่ายการเงิน คนที่เคยทำพลังงานสิ้นเปลืองมา ทำพลังงานหมุนเวียนมา มันจะผสมกัน เพราะว่าเวลาโปรเจกต์เข้ามา บางทีมันไม่ได้ใช้แค่ทักษะเดียว มันจะต้องผสม ๆ กัน ดังนั้นถ้าเราถนัดด้านใดด้านหนึ่งที่มันเกี่ยวข้องกับงานของ Business Development ก็สามารถที่จะเป็นผู้สมัครได้

 

Business Development ต้องเจอความท้าทายอะไรบ้าง

ถ้าพูดในภาพรวมของแบบ Business Development เลยก็คือทำให้ GPSC เป็นพาร์ทเนอร์ที่ได้รับเลือก ถึงจะเป็นหนึ่งในผู้นำในประเทศไทย แต่ว่าในต่างประเทศเราถือว่าเล็กมากนะคะ ดังนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ Business Development เหมือนกัน เราต้องมีความไม่ย่อท้อนิดนึง ในการค่อย ๆ แนะนำ GPSC ให้กับพาร์ทเนอร์ในประเทศอื่น ๆ รู้จัก แล้วก็ความท้าทายอีกอย่างคงเป็นเรื่องการที่เราจะต้องติดตามเหตุการณ์ตลอดเวลา เพราะว่าทุกวันนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงมาก สิ่งที่วางแผนไว้ตอนต้นปี มาถึงตอนนี้เราอาจจะเปลี่ยนหมดเลยก็ได้ ก็ต้องมีความยืดหยุ่นนิดนึง แล้วก็สภาพการแข่งขันที่มันเข้มข้นขนาดนี้ 

 

โปรเจกต์ไหนที่รู้สึกว่าสนุกหรือท้าทายเป็นพิเศษ

งานที่ท้าทายคือประเทศอินเดียซึ่งปกติเราอาจจะไม่ได้คุ้นเคยเท่าไหร่ แล้วก็เป็นครั้งแรกด้วยที่ปตท.เข้าไปลงทุนในอินเดีย ความท้าทายก็คือว่า ถึงจะเป็นประเทศที่เราไม่ได้รู้จัก แต่จริง ๆ ความน่าสนใจของอินเดียเยอะมาก คือประชากรเขาเยอะ 1,400,000,000 คน แล้วก็ความต้องการในการใช้ไฟฟ้า รวมถึงนโยบายในการสนับสนุนพลังงานสะอาดของประเทศเขามีหลายอย่างมาก ดังนั้นจะมีพวกนักลงทุนจากทั่วโลก เช่น จากยุโรป พยายามเข้าไปลงทุนกันหมด แต่สิ่งที่ยากสำหรับการดำเนินธุรกิจที่อินเดียก็คือ ถ้าเราเป็นผู้เล่นต่างชาติเข้าไป เราจะไม่สามารถเข้าใจ ไม่สามารถจัดการสิ่งที่มันซับซ้อนในอินเดียได้ ดังนั้นแน่นอนว่าเราต้องมีพาร์ทเนอร์ในพื้นที่ที่แข็งแกร่ง แต่ว่าทำยังไงให้เขาเลือกเรา ในเมื่อมีคนพร้อมจะลงทุนกับเขาเต็มไปหมด ทั้งทีม GPSC รวมถึงทางฝ่ายบริหารด้วยก็พยายามที่จะหาข้อมูลที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องอะไร เราต้องรู้หมด แล้วก็สุดท้ายเราระดมคนทุกระดับของ GPSC เลย ตั้งแต่หัวหน้ายันทีมที่ดูแลงานเพื่อที่จะสามารถเข้าหาพาร์ทเนอร์เรา ให้เขารู้สึกอยากเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา ตอนนั้นเป็น M&A ก็คือขั้นตอนทั้งหมดสั้นมาก ในสถานการณ์ COVID-19 ที่เราเดินทางไม่ได้ ดังนั้นก็เลยเป็นช่วงที่ทีมกับน้อง ๆ ก็จะยุ่งกันอยู่ที่บ้าน Work from Home เช้ายันดึก พอเป็น M&A ข้อดีคือพอมันจบดีลได้เร็วเนี่ย ทุกคนก็ฉลองกัน

 

Business Development มี Career Path ให้พนักงานเติบโตยังไงบ้าง

ที่ GPSC ตำแหน่ง Business Development ถ้าเข้ามาเลยก็จะเป็นในลักษณะของ Junior ก็คือเป็น Business Development Officer อยู่ในสมาชิกทีม ทำดีลที่เข้มข้นด้วยกัน ถ้ามีประสบการณ์ระดับนึงก็จะเป็น Senior Officer หรือเรียกว่า Business Development Manager ก็จะได้เป็นผู้นำในกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น จากนั้นก็จะเป็นผู้จัดการฝ่าย หรือเป็นผู้จัดการส่วนซึ่งเราจะมีโอกาสในการนำทีมในภาพใหญ่ ไปดีลกับทางพาร์ทเนอร์โดยตรง แล้วก็รายงานไปที่ Executive Vice President แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นทาง Senior Vice President แล้วก็ Executive Vice President ถ้าเกิดอยากจะเปลี่ยนงานไปทำสายงานอื่นที่เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับ Business Development จริง ๆ ก็สามารถทำได้

 

ในแต่ละตำแหน่งของ Business Development มีขอบเขตงานในการดูแลโปรเจกต์ต่างกันยังไงบ้าง

ต้องบอกเลยตั้งแต่เข้ามาแต่แรก โปรเจกต์ที่เราคือเราทำด้วยกัน 1 โปรเจกต์ก็จะมีคนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับบริหาร ผู้จัดการฝ่าย แล้วก็น้อง ๆ แต่ว่าเมื่อเราอยู่ในระดับที่สูงขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้นก็จะมีโอกาสที่จะได้ดีลกับคนนอก ก็คือพาร์ทเนอร์มากขึ้น หรือว่ามีการตัดสินใจในเรื่องของโปรเจกต์มากขึ้น

 

น้อง ๆ ที่อยากจะทำงาน Business Development ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง

ข้อดีอย่างหนึ่งคือไม่ได้มีคำว่าตรงสาย มันไม่มีวิชา Business Development ดังนั้นปกติแล้ว คนที่จะทำงาน Business Development ได้ดี จริง ๆ มันก็อยู่กับประสบการณ์ แต่ถ้าถามว่าเรียนอะไรมาอาจจะช่วยมากที่สุด ก็คงจะมีอยู่ 2-3 อย่าง หนึ่งก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับบริหารธุรกิจ เป็นทางการเงิน ถ้าเป็นวิศวกร เดี๋ยวนี้มีวิศวกรรมพลังงานทดแทน ก็อาจจะตรงกับในธุรกิจนี้ แต่จริง ๆ ถามว่าถ้าเราจบเศรษฐศาสตร์มา มาทำได้ไหม สมมติว่าเรามีประสบการณ์ที่มันเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานสะอาด และไฟฟ้ามา หรือมาจากนักวิเคราะห์หุ้น ซึ่งมาดูหุ้นไฟฟ้า เขาก็จะมีความรู้ เห็นค่าเกณฑ์มาตรฐานมาเยอะ ก็มาทำ Business Development ได้ดี

 

จริง ๆ แล้วการติดตามข่าวสารหรือความเคลื่อนไหว ผู้เล่นที่เป็นผู้นำในตลาดที่เราสนใจเขาทำอะไรกันบ้าง ตอนนี้ในโลกนี้ พลังงานหมุนเวียนไม่ได้มีแค่แดดหรือลมแล้วนะคะ มีอย่างอื่นอีกมากมายเลย ดังนั้นเรื่องที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหว หรือสิ่งใหม่ ๆ หรือพลังงานสะอาดที่มันเกิดขึ้น สามารถหาได้ตามแหล่งข้อมูลสาธารณะทั่วไปเลย อันนี้ก็อาจจะเป็นหนึ่งในความรู้ที่แล้วแต่ว่าคนจะติดตามแค่ไหน ถ้าเด็กจบใหม่ ก็ต้องพูดตามตรงว่าบางทีก็อาจจะยังไม่เหมาะที่จะมารับผิดชอบในโปรเจกต์ที่มันซับซ้อน แต่อย่างที่บอกว่าใน Business Development เรามีหลายระดับ ดังนั้นถ้าเกิดน้องเข้ามาเป็น Junior มาก ๆ ปกติเราก็จะมีพี่ที่เป็น Senior ประกบเลย

 

น้องคนไหนที่จบใหม่สนใจลองติดต่อมาที่ HR ของทาง GPSC ก็ได้ เพราะว่าอย่าง GPSC มีโครงการที่รับน้องจบใหม่เข้ามา แล้วก็ให้วนเรียนงาน ก็อาจจะลองติดต่อเข้ามาดู

 

สมัครงาน Business Development ต้องมีเรซูเม่หรือพอร์ตโฟลิโอไหม ต้องเตรียมตัวตอบคำถามสัมภาษณ์งานยังไง

CV อันนี้มีอยู่แล้ว เพราะว่าเราก็ใช้ข้อมูลเป็นการคัดกรองเบื้องต้น แต่พอร์ตโฟลิโอเนี่ย ในธุรกิจไฟฟ้าเราอาจจะไม่ได้เหมือนสายสถาปนิก เพราะฉะนั้นพอร์ตฯ เราจะไม่ได้ต้องการขนาดนั้น แต่สิ่งที่เราจะดูกันก็คือเรื่องของประสบการณ์ ซึ่งถ้าในเรซูเม่เรามีประสบการณ์อะไร เราอธิบายได้ละเอียดก็จะน่าสนใจมากขึ้น

 

ตอนเราสัมภาษณ์ อันนี้ก็แล้วแต่คนที่เข้าไปเลย ปกติเราก็จะชวนคุยเรื่องเกี่ยวกับว่าเคยทำอะไรมาบ้าง อาจจะมียกตัวอย่างสถานการณ์ แล้วก็ให้เขาแชร์มุมมองนิดนึง เพราะว่าเราก็จะได้รู้ว่าน้องคนที่มาแนวไหน หรือว่าจะจัดการเรื่องนี้ยังไง ก็แล้วแต่คณะกรรมการสัมภาษณ์ แต่ว่าทาง HR ของ GPSC เขาก็จะมีให้ทดสอบเหมือนเป็นข้อเขียน มีเรื่องทัศนคติ แล้วก็มีเรื่องความเข้ากันกับองค์กร ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญเหมือนกัน พอเราผ่านเรื่องสัมภาษณ์ ทาง HR เขาก็จะให้ทดสอบ 2 อย่างนั้นต่อไป 

 

สัมภาษณ์งานมีถามเรื่องอะไรบ้าง ต้องตอบคำถามประมาณไหนถึงจะทำให้คุณฝ้ายรู้สึกประทับใจ

อันแรกคือเราจะถามตลอดว่าเหตุผลที่เขาอยากเข้ามาทำงานใน GPSC คืออะไร สนใจอะไรเป็นพิเศษตรงไหน ซึ่งถ้าบางคนมาแบบทั่ว ๆ ไป ก็จะโอเค แต่ถ้าบางคนมาแบบเฉพาะเจาะจงเลย ก็จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น กับอีกอันหนึ่งก็คือฝ้ายอาจจะเป็นคนชอบถามเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในเชิงลึก ให้อธิบายรายละเอียดว่างานที่ทำมาในที่นี้เรามีส่วนร่วม มีขั้นตอนในการทำงานยังไง ถ้าตอบได้ชัดเจน และมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรามองหาอยู่ ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราประทับใจได้

 

วัฒนธรรมการทำงานของ GPSC เป็นยังไงบ้าง

GPSC ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เรามีชื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทแม่เราก็เป็นปตท. ดังนั้นมันอาจจะไม่ได้สบาย ๆ ขนาดพวก Start-up หรือบริษัทอะไรที่น้อง ๆ เข้าไปแล้วสนุก ๆ แต่ก็ต้องบอกว่าส่วนตัวที่มาทำงานที่ GPSC รู้สึกว่าเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่น คนรุ่นใหม่เยอะมาก แล้วก็การทำงานมีทีมค่อนข้างเล็ก ทุกวันนี้เวลาเราทำโปรเจกต์แล้วมีปัญหา เราก็คุยกับผู้บริหารหรือ CEO โดยตรงได้เลยเพื่อความรวดเร็ว ดังนั้นมันก็จะเป็นการทำงานในลักษณะที่ไม่ได้สบาย ๆ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นบริษัทใหญ่ที่เป็นการทำงานแบบน่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่

 

คนที่สนใจในงาน Business Development หรือคนที่อยากมาร่วมงานสามารถติดตาม GPSC ได้ทางช่องทางไหนบ้าง

อยากสนับสนุนให้ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับ GPSC ก่อนนะคะ อาจจะในแหล่งข้อมูลสาธารณะทั่วไป ในเว็บไซต์ ใน Facebook ใน LinkedIn ว่า GPSC ตอนนี้ ทิศทางของบริษัทเราเป็นยังไง ถ้ามันไปในทางเดียวกันกับสิ่งที่เรามี Passion อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ New Energy หรือพลังงานสะอาด ก็อาจจะลองติดต่อทาง HR ของ GPSC เข้ามาคุยดู เพราะว่าตำแหน่งที่นี่มีอย่างจำกัด แต่ว่าเราก็มีเปิดรับอยู่ตามการขยายของธุรกิจ สามารถเข้ามาดูในเว็บไซต์และ Facebook ของ GPSC มีการอัปเดตเรื่อย ๆ ค่ะ

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ทำงาน, career & tips, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, การทำงาน, career unlock, gpsc, ปตท, bd, business development, manager, ผู้จัดการ, ธุรกิจพลังงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม