Career Unlock EP.5: สายงาน UX/UI Designer อาชีพของคนชอบออกแบบ

 

 

 

เว็บไซต์และแอปพลิเคชันคือสิ่งที่ธุรกิจให้ความสำคัญเพราะเป็นช่องทางแรก ๆ ที่ลูกค้าจะได้ติดต่อซื้อสินค้าหรือบริการ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานและการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า หลายบริษัทจึงพิถีพิถันในการออกแบบการใช้งานช่องทางเหล่านี้มากขึ้นทำให้อาชีพที่เกี่ยวกับการออกแบบUX (User Experience) และ UI (User Interface) ได้รับความนิยมและเกิดความต้องการในตลาดแรงงานตามไปด้วย

 

ใครที่กำลังสนใจเบื้องหลังการทำงานสาย UX/UI Designer วันนี้ JobThai จะพาไปนั่งคุยกับคุณนน สรรพวิชญ์ ศิริผล Senior Designer ของบริษัท Beacon Interface บริษัทในกลุ่มของ KASIKORN Business – Technology Group หรือ KBTG นั่นเอง

 

อยากเป็น UX/UI Designer ต้องทำอะไรบ้าง  ถ้าอยากทำงานด้านนี้ควรเริ่มยังไงดี คนไม่มีประสบการณ์จะทำงานนี้ได้ไหม อยากรู้แล้วไปหาคำตอบพร้อมกันเลย

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

คุณนนเรียนจบสายไหนก่อนมาทำงานที่ KBTG

ปริญญาตรีจบจิตวิทยาครับ จิตวิทยาองค์กร แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองชอบสายงานคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายแล้ว พอจบจิตวิทยามาก็ผันตัวมาเป็น Designer พยายามหัดเอง ฝึกเอง เรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอดครับ

 

UX/UI คืออะไร แต่ละตำแหน่งของสายงาน UX/UI เขาทำอะไรกันบ้าง

ต้องเล่าย้อนไปก่อน ตอนที่ทำเว็บไซต์ ใช้คำว่าดีไซน์ที่เป็นเว็บไซต์อยู่ เราก็จะเรียกกันว่า Web Design ทีนี้พอมี Mobile App คนที่เป็น Designer ก็มักจะทำได้ทั้งเว็บไซต์ และ Mobile App ด้วย มันเลยเริ่มมีคำว่า UI Designer มา ด้วยความที่ Mobile App มันพัฒนาค่อนข้างง่าย คือพอออกแบบเสร็จแล้วก็ส่งให้ Developer แล้วก็สร้างแอปฯ ออกมา แอปฯ มันก็จะเริ่มเยอะขึ้น แต่สิ่งที่คิดส่วนใหญ่มันมักไม่ได้ถามคนที่ใช้งานจริง ๆ แถมกว่าที่จะออกมาเป็น Prototype จับต้องได้จริง มันจะต้องเป็นแอปฯ ที่พัฒนาออกมาแล้ว มันเสียเวลาขั้นตอนนานมาก แล้วพอออกมาเยอะ ๆ เข้า User ทั่วไปเขาก็จะเลือกใช้ไม่ถูกแล้ว ว่าจะลงอะไร อันนี้ก็เคยมีแล้ว นั่นก็มีมาใหม่ ก็ต้องเอาโปรโมชันมาถล่มกัน ทีนี้มันก็เลยเป็นที่มาว่า ทำไมเราไม่มีใครที่สามารถไปคุยกับ User ได้ก่อน เพื่อให้รู้ถึงสิ่งที่ User ต้องการจริง ๆ หรือชีวิตเขามีปัญหาอะไรอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะได้เอา Mobile App หรือแพลตฟอร์มที่เราออกแบบไปตอบโจทย์เขาตรงนั้น

 

อย่างทีมเรา Beacon Interface มันก็จะมี UX Researcher ถัดมาของเราจะแยกเป็น Visual Designer ที่ดูเรื่องการออกแบบสื่อสารในรูปแบบของภาพ แล้วก็จะมี UX Writer ซึ่ง UX Writer ของเราไม่ได้ดูแค่ข้อความตอนที่ทำ UI/UX Writer เราเข้าไปจับตั้งแต่ตอนที่ทีม Visual Designer เริ่มออกแบบความสวยงาม รูปร่างหน้าตา แล้วก็สิ่งที่อยากสื่อสารออกมาในรูปแบบของภาพ ส่วน UX Writer เองก็จะเข้าไปดูเรื่องของ Brand Personality ว่าเราจะใช้ข้อความยังไงเพื่อสื่อ Brand Personality ให้ตรงกับที่ Visual Designer ออกแบบมา UX Writer ก็จะประกบตั้งแต่ตอนนั้นเลย ทีนี้พอไปถึงฝั่งที่เป็น UX/UI Designer มันจะเป็นขั้นตอนหลังจากที่ทีม Visual Designer และทีม UX Writer สรุปผลและทำข้อมูลออกมาระดับหนึ่งแล้ว ก็จะส่งมาถึง UX/UI Designer เพื่อสร้างฟีเจอร์ เอามาแตกเป็นฟีเจอร์ตามที่ธุรกิจต้องการ

 

UX กับ UI Designer ทำงานแตกต่างกันยังไง

จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเป็น UX/UI Designer ที่เมืองไทยพยายามแยก UX Designer ออกมาจาก UI Designer เพราะว่าคนที่เป็น UI Designer ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ พอต้องถูกจับไปคุยกับ User เขาก็จะอึกอัก พูดไม่ถูก มันจะมี Designer ไม่กี่คนหรอกที่เป็น Extrovert อยากคุยกับ User บุคคลกลุ่มนั้นเขาก็จะผันตัวมาเป็น UX Designer เพราะการเป็น UX Designer มันมีขั้นตอนหลายอย่างมาก ตั้งแต่การสัมภาษณ์ ถัดมาต้องเช็กว่าคู่แข่งของแพลตฟอร์มที่เราอาจจะต้องทำแข่งกับเขามีอะไรอยู่บ้าง แล้วก็ต้องเอาข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ ซึ่งส่วนนี้คนที่เป็น Designer มักจะไม่ค่อยชอบข้อมูล กลายเป็นว่าคนที่ทำงานสาย UX ก็จะเริ่มมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แล้วก็ต้องมีขั้นตอนมากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลจาก User ที่ถูกต้อง พอขั้นตอนมันเริ่มเยอะขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ถ้าให้ UI Designer นั่งรอให้ UX Designer ทำงานเสร็จ ในการทำงานของสาย IT ก็จะเรียกว่า Waterfall มันก็จะไหลไปเรื่อย ๆ มันก็เสียเวลาอยู่นาน แต่ธุรกิจไม่เคยให้เวลาที่เป็นไปได้จริง ๆ กับเรา สิ่งที่ตามมาก็คือเราจะทำยังไงให้คนที่เป็น UI Designer สามารถช่วยลดขั้นตอนของ UX Designer หรือเข้ามาร่วมกับ UX Designer ได้ ฉะนั้นมันจะมีขั้นตอนบางอย่าง เช่น ตอนที่ลงไปสัมภาษณ์ อาจจะมี UX Designer นำ หรือ UX Researcher ช่วยนำ แล้ว UI Designer เข้าไปช่วย ช่วยจดหรือถ้ามีคำถามอะไรที่สงสัยก็ถาม กลายเป็นว่าเดี๋ยวนี้ตำแหน่ง UI Designer ก็เลยต้องมีคำว่า UX เพิ่มเข้ามาด้วย เพื่อให้สามารถเข้าไปประกบและช่วยทำงานบางอย่าง เพื่อให้ขั้นตอนมันเร็วขึ้น

 

อย่างที่ Beacon Interface เรามีจำนวน Designer ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น UX/UI Designer เราสามารถลงไปใน 1 โปรเจกต์ ถ้ามีทั้งเว็บและแอปฯ เราก็จะแยกส่วนดูแล อาจจะเป็น Designer 1 คนดูเว็บไซต์ แล้วก็อีกสัก 2 คนดู Mobile App เพราะว่า Mobile App บางครั้งมันจะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เวลาทำ UI Screen เราจะต้องส่งต่อไปให้ iOS Developer และ Android Developer เพราะ iOS ก็จะเป็นScreen ขนาดหนึ่ง บน Android ก็จะมีอีกขนาดหนึ่ง เพื่อให้ Developer สามารถสเกลไปได้หลากหลายของ Android

 

ทีมของคุณนนมีขั้นตอนการทำงานยังไง ต้องคุยกับฝั่ง Business ไหม คุยกับฝั่ง Developer ยังไงบ้าง

ด้วยความที่เราเป็นทีมที่อยู่ภายใต้กสิกร ฉะนั้นงานประมาณ 70-80% ก็จะเกี่ยวกับการเงินและการสนับสนุนฝั่ง KBank ขั้นตอนส่วนใหญ่ของงานที่จะต้องสนับสนุนฝั่ง KBank เราก็ต้องเริ่มคุยตั้งแต่ Product Owner ที่ดูแลเรื่องธุรกิจต่าง ๆ เริ่มจากการลงไปทำ Research ซึ่งพอได้ผลตรงนั้นเสร็จแล้ว เราก็จะไป Align กับฝั่ง Business จากนั้นเราก็จะเข้าขั้นตอนของทางทีม Visual Design บวกกับ UX Writer ที่เข้ามาช่วยดูเรื่อง Brand Personality เสร็จตรงจุดนั้นแล้วเราก็จะมีการยืนยันกับผู้บริหารนิดนึงว่าสิ่งที่ออกแบบตั้งต้นให้เห็นเนี่ยมันจะหน้าตาประมาณนี้เพื่อให้ผู้บริหารสบายใจ เขารู้สึกแฮปปี้ ไม่ใช่ว่าไปเห็นตอนท้ายเลย ซึ่งทีม UI Designer ก็จะดูแลตั้งแต่การออกแบบ UI ให้ตรงตามฟีเจอร์ UI Designer ก็จะอยู่จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ลงไปช่วย UAT เพื่อให้มั่นใจว่างานดีไซน์ของเราเมื่อออกไปเป็นโปรดักชันแล้วมันตรงกับที่ออกแบบไว้ไหม

 

งาน UX/UI Designer ต้องมี Hard Skills และ Soft Skills อะไรบ้าง

Hard Skills หลักของ UX/UI Designer ก็คือ คุณต้องเข้าใจพื้นฐานในการออกแบบ UI อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก คุณต้องรู้ว่าเว็บไซต์ ณ ปัจจุบันมีการออกแบบเป็น Responsive Design มีการสเกล Break Point เท่าไหร่ที่เหมาะสม รวมถึงถ้าเป็น Mobile App มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่ต้องทำ เช่น เราเรียกว่า Native App ก็จะมี iOS และ Android หรือถ้าเป็น Hybrid ก็จะเป็น Flutter แล้วก็ควรจะเข้าใจว่าเวลาที่เราออกแบบ UI เสร็จแล้ว จะมีการสื่อสารไปถึง Developer ยังไง มีการส่งงานให้ Developer ด้วยรูปแบบไหนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด อันนี้เป็น Hard Skills หลักที่เวลาเรามองหาคน เราจะสังเกตประมาณ 3 เรื่องนี้

 

ทีนี้หลังจากที่มี Hard Skills แล้ว ส่วนของ Tools ก็ต้องเกี่ยวข้องกันไป อย่างทีมเราเองก็จะใช้ Figma ถ้าเป็น Mobile App เราจะพบว่าเครื่องมืออย่าง Zeplin มันช่วยส่งต่อไปยัง Mobile App ได้ง่ายกว่า Developer สามารถเอาไปจัดการต่อได้เลยโดยที่ไม่ต้องมาขออะไรเพิ่มหลาย ๆ อย่าง หรือถ้าต้องมีการทำ Screen Flow เราสามารถจบใน Figma ได้ไหม หรือว่าอาจจะต้องใช้ Tools อื่น ๆ เสริม อันนี้ก็แล้วแต่คนถนัด

 

สำหรับ Soft Skills ที่สำคัญที่สุดคือทักษะเรื่องการสื่อสาร มี Soft Skills ในการสื่อสารเพื่อลงไปพูดคุยหรืออย่างน้อยลงไปช่วยถามคำถามอะไรบ้างที่เราฟังแล้วรู้สึกสงสัย เผื่อมันจะช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอะไรมากขึ้น อีกอย่างที่สำคัญคือการบริหารจัดการเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องเวลาในการทำงาน หรือจัดการเรื่องของการประชุมเพื่อให้เรามีเวลาทำงานได้มากขึ้น อันนี้พี่ว่าเป็นอีกอันหนึ่งที่สำคัญ

 

ความท้าทายของงาน UX/UI Designer คืออะไร มีงานไหนที่รู้สึกสนุกหรือท้าทายเป็นพิเศษ

ความท้าทายสำหรับ UX/UI Designer จริง ๆ แล้วคือเราจะจัดการความคาดหวังของฝั่ง Business ยังไง สิ่งที่เขาต้องการกับเวลาที่เขาสั่งแก้งาน เราจะทำยังไงให้แก้ไขได้ทัน และมันยังอยู่ในเวลาที่ตี Timeline ไว้ รวมถึงเมื่อไหร่ที่เราร่วมงานกับ Developer ที่เราไม่เคยทำงานด้วยมาก่อน เราจะมีการสื่อสารกันยังไงเพื่อเวลาที่เราส่งงานไปแล้ว เขาสามารถนำงานของเราไปพัฒนาออกมาเป็นโปรดักชันตามที่เราต้องการ

 

รู้สึกว่าโปรเจกต์ K PLUS เป็นโปรเจกต์ที่สนุกที่สุดเพราะว่าทีมที่ทำ K PLUS เก่งมาก ไม่ว่าจะเป็นทีม Business ของฝั่ง KBank ที่มีความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจ User สูงมาก ทำให้ทีมเราทำงานได้ง่ายขึ้น เขารับฟังและเชื่อใจทีม Design ทีม Developer ก็เป็นทีมภายในของ KBTG ที่ทำงานด้วยกันมา 4-5 ปีแล้ว เราก็รู้แล้วว่าต้องทำยังไงในการสื่อสารกัน ก็เลยกลายเป็นโปรเจกต์ที่ทั้งท้าทายและสนุก รวมถึงจำนวน User ที่จะแตะ 20 ล้าน มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำProduct ออกไป แล้วมีคนใช้งานเยอะ ๆ ใคร ๆ ก็รู้จัก Product ชิ้นนั้น พอเขารู้ว่าเราเป็นคนทำ บางครั้งเขาก็จะฟีดแบ็กในสิ่งที่ดี บางครั้งเขาก็จะฟีดแบ็กในสิ่งที่ไม่ดี เราก็เก็บไว้ แล้วเราก็เอามาสื่อสารกับทีม Business ต่อว่าจะแก้ไขมันยังไง

 

UX/UI Designer มี Career Path เป็นยังไงบ้าง

ทีม Beacon Interface เรามี Career Path อยู่ 2 แกน แกนแนวนอนเรามีทั้ง UX Researcher, Visual Designer, UX Writer จริง ๆ แล้วเรามี Motion Designer ด้วยอีก 1 ตำแหน่ง แล้วก็เป็น UX/UI Designer นอกจากการเรียนรู้ตามแนวนอน มันก็จะมีการเรียนรู้ตามแนวตั้ง ทีนี้การเรียนรู้ตามแนวตั้ง ถ้าสมมติน้องในทีมอยากเริ่มโตขึ้น แล้วรู้สึกว่าอยากไปอยู่ใน Product ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เราก็จะสนับสนุนให้เขาลองลงไปเป็นผู้นำใน Product นั้น แล้วลองดูว่าเขาสามารถดูแลจัดการไปได้เรื่อย ๆ ไหม ถ้าไม่ได้ เราก็จะส่งน้องที่เป็น Junior ไปช่วยประกบเพื่อให้น้องเขาได้ฝึกการส่งต่องาน หรือการมอบหมายงาน มันก็จะทำให้เขาเติบโต เข้าใจธุรกิจมากขึ้นด้วย รวมถึงรู้ว่าเขาควรที่จะบริหารจัดการทรัพยากรของทีมยังไง

 

ในทีม Beacon Interface ฝั่ง Designer ทั้งหมดจะมีตำแหน่งในการแบ่งระดับ Junior หรือ Senior ตั้งต้น Junior ก็จะเรียกว่า Designer แล้วพอขึ้นไปเป็น Senior ก็จะเป็น Advanced Designer พอเป็น Head ก็จะกลายเป็น Senior Designer สูงขึ้นกว่านั้นก็คือคนที่ดูแลทั้งหมด เราเรียกว่า Principle Designer 

 

คนที่เป็น Designer เราก็จะคาดหวังว่าเขาสามารถดูแลโปรเจกต์เล็ก ๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างน้อย 1 โปรเจกต์ หรือถ้าลงไปโปรเจกต์ที่เป็นขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เขาก็สามารถลงไปช่วยงานฝั่งคนที่เป็น Senior ขึ้นมาได้ คนที่เป็น Advanced Designer ก็จะดูโปรเจกต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ โปรเจกต์ขนาดใหญ่อาจจะมี Advanced Designer มากกว่า 1 คนช่วยกัน ก็คาดหวังว่าเขาจะสามารถทำให้ตัว Product ส่งต่อไปยัง Developer และออกมาได้ภายในกำหนด

 

Demand และ Supply ในสายงาน UX/UI ตอนนี้เป็นยังไงบ้า

สำหรับ Beacon Interface ใช้คำว่ามีคนสมัครเข้ามาเรื่อย ๆ แต่ว่าเราค่อนข้างมีการคัดคนยากขึ้นเรื่อย ๆ ทางหัวหน้าผมเองก็มีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อย ๆ เวลารับคน ประสบการณ์ของผู้สมัครเมื่อเทียบกับน้องที่อยู่ในทีมของเรา ฝีมือเท่ากันหรือว่าเขาเก่งกว่า ถ้าเก่งกว่าเราก็ยินดี เราอยากรวมคนเกรด A เข้ามาอยู่ในนี้ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ออกมาได้ ได้มีการพัฒนาตัวเอง ถ้ามีอะไรที่ไม่ถนัดก็ไปหาคนที่ถนัดกว่า เขาก็จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ด้วย 

 

วัฒนธรรมการทำงานของที่นี่เป็นยังไงบ้าง

วัฒนธรรมการทำงานที่พี่สัมผัสได้ อย่างหนึ่งคือที่ KBTG สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ เรามีทีม Academy ที่คอยหาคอร์สดี ๆ มาสอนภายใน มาให้พนักงานสามารถเข้าไปสมัคร เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ หรือสนใจอยากจะไปร่วมงานอีเวนท์ที่อยู่ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ทาง KBTG ก็มีงบสนับสนุนในส่วนนี้ สอง พี่สัมผัสได้ว่าด้วยความที่ KBTG ตอนนี้มีพนักงานด้าน IT ประมาณ 1,800 กว่าคนแล้ว ค่อนข้างเยอะมาก ฉะนั้นในแต่ละโปรเจกต์ที่ลงไปจะมีพนักงานด้านต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือเราจะสนับสนุนยังไงให้สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกันได้ สามารถสร้าง Product ออกมาได้เร็ว แล้วก็ไม่เกิดข้อผิดพลาด 

 

ส่วน Beacon Interface เช่นกันครับ ก็สนับสนุนให้ Designer เกิดการเรียนรู้ อย่างที่พี่เล่าไปว่าDesigner ทุกคนสามารถกระโดดไปเรียนรู้ กับ Specialist ในด้านต่าง ๆ ภายในทีมของเราได้ เราพยายามหา Specialist ที่เก่งที่สุดในเรื่องต่าง ๆ มาเพื่อให้น้อง ๆ ทุกคนมั่นใจว่าเวลาที่เขาเข้าไปเรียนรู้ เขาได้เรียนรู้จากสิ่งที่ดีที่สุดจริง ๆ

 

คนที่สนใจอยากจะทำงาน UX/UI Designer ควรเตรียมตัวยังไง ต้องเรียนคณะไหน

พี่เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนตอนนี้น่าจะเล่น Instagram เล่น TikTok เดี๋ยวนี้ Design Agency หลาย ๆ ที่เริ่มโปรโมตงานของตัวเองใน Instagram หรือโปรโมตเป็นความรู้ พอคนอ่านเทคนิคหรือการออกแบบความรู้ใน Instagram แล้วก็อาจจะมาจ้างงานเขาต่อ แค่ลองหาให้เจอสัก 1 เจ้า แล้วลองกด Followแล้วเดี๋ยว Instagram มันจะค่อย ๆ Suggest ความรู้เกี่ยวกับด้าน UI ถ้าต้องการพวก Community ก็อาจจะลงไปที่ Facebook สำหรับในเมืองไทย Community อย่างใน Facebook ค่อนข้าง Active แล้วก็คนที่มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้ มักจะอยู่ใน Facebook ค่อนข้างเยอะ

 

เรื่องคณะที่เรียน จริง ๆ น้องในทีมส่วนใหญ่มาจากคณะสถาปัตยกรรมจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี คำว่า UX/UI มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ตอนที่เราเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัย เขาจะปูพื้นเรื่องการออกแบบทั้งหมด แล้วคุณค่อยไปดูว่าคุณถนัดด้านไหนต่อ เช่นอาจจะเป็น Fashion Design หรือถ้าคุณอยากทำ Digital Platform ก็จะแบบ UX/UI Skills การทำ Researchยังไง ก็จะได้เรียนอยู่ในพื้นฐานอยู่แล้วครับ

 

คนที่อยากย้ายสายงานมาเป็น UX/UI Designer ควรจะเริ่มต้นตรงไหน

พี่มองว่าตอนนี้มีคอร์สที่เขาเรียกว่า Bootcamp ออกมาค่อนข้างเยอะ ข้อดีคือเขาจะสอนใน Process ของ UX/UI ที่ค่อนข้างละเอียดมากตามเทรนด์ของสายงานนี้ในต่างประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือด้วยความที่มันเป็น Bootcamp ระยะเวลามันสั้น เราอาจจะได้เรียนรู้แต่ละเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ฉะนั้นเราควรหาจุดแข็งให้เจอว่าอะไรคือสิ่งที่เราชอบ ถ้าสมมติว่าน้องที่อยากเปลี่ยนสายงาน อาจจะเห็นว่าอย่างทีมเราก็มีทั้ง User Research มีทั้ง UX Writer มี Motion Designer มี Visual Designer ลองไปลงคอร์สเฉพาะด้านพวกนั้นให้หมดก่อน แล้วดูว่าเราถนัดหรือเราชอบอะไร เราจะได้รู้ว่าเวลาที่เราเป็น Designer เรามีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องอะไร เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่เราย้ายสาย เราต้องใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะมาก เพื่อจะเรียนรู้แล้วก็เข้าใจ หรือว่าแม่นในขั้นตอนต่าง ๆ

 

ตอนนี้พี่เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ก็จะมีกลุ่ม UX Thailand แล้วก็ Designil ของน้องนัท Designil นะครับ อันนี้ก็มีการอัปเดตบ่อย ๆ ถ้าเป็นเรื่อง Tools อย่าง Figma ก็จะมี Friends of Figma, Bangkok อัปเดตเรื่อง Tools อย่าง Figma ว่าฟีเจอร์ใหม่อะไรออกมา หรือกำลังจะมีอะไรออกมา เพื่อให้คนที่เป็นUX/UI Designer และใช้ Figma ได้ปรับตัวเรียนรู้ทัน

 

UX/UI Designer ควรทำเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอแบบไหน ต้องเตรียมตัวสัมภาษณ์ยังไงบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ตอนนี้ยังเห็นหลาย ๆ คนเป็นอยู่คือการใส่แถบพลังมาว่าแบบ Skills ที่เรามี มีพลังเท่าไหร่ พี่แนะนำว่าเอาแถบพลังออกแล้วอาจจะเขียนว่าคุณมีประสบการณ์กับ Skills นั้นมากี่เดือนแล้ว กี่สัปดาห์แล้ว อย่างนี้น่าจะมีประโยชน์มากกว่า ส่วนใหญ่เราจะดูแค่ว่าจบด้านไหนมา แล้วทำงานตรงสายหรือไม่ตรงสาย ถ้าทำงานเปลี่ยนสายมาเราก็จะเริ่ม เอ๊ะ สนใจเหมือนกันนะว่าทำไมถึงเปลี่ยนงานมา แล้วเปลี่ยนงานมามานานเท่าไรแล้ว 

 

ถัดมา พอร์ตโฟลิโอ คนที่เป็น UX/UI Designer ควรจะมีพอร์ตโฟลิโอที่ผ่านงานการทำ Product ถ้าProduct ยังไม่สามารถปล่อยจริงได้ ก็ควรจะมีขั้นตอนที่ชัดเจนว่าขั้นตอนในการทำ UX มีอะไรอยู่บ้าง ก่อนที่จะออกมาเป็น UI มีกระบวนการคิดยังไง อย่างที่บอกคือไม่จำเป็นต้องลงไปทำเองทั้งหมด แต่อย่างน้อยขอให้มีส่วนร่วมหรือเข้าใจว่าในแต่ละขั้นตอน คนที่ทำเขาทำอะไรไว้บ้าง แล้วเขาได้ Insights อะไร

 

ถ้าสมมติว่าไปถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ อะไรที่คณะกรรมการสัมภาษณ์ถาม ก็ยอมรับไปตรง ๆ ครับว่าตรงนี้ตัวน้องผู้สมัครไม่ได้ทำนะ เราดูในส่วนนี้นะ ส่วนพาร์ทที่เป็น UI พี่มองว่าควรจะเป็นตั้งแต่การออกแบบUI แล้วก็วาง Screen Flow เพื่อให้เห็นว่า User Journey ของแต่ละฟีเจอร์เป็นยังไง เราส่งงานให้ Developer ทำงานต่อยังไงได้บ้าง แล้วถ้าเป็นไปได้ เล่าเสริมหน่อยว่าถ้าเราเคยส่งงานให้ Developer ทำงานต่อจริง ๆ เจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราแก้ปัญหานั้นยังไง

 

ทีม Beacon Interface เองออกสื่อหลาย ๆ ที่อยู่ ฉะนั้นอยากให้น้อง ๆ ที่อยากจะมาสัมภาษณ์กับทีมเราทำการบ้านหน่อยว่าทีมเราออกแบบ Product อะไรไว้บ้าง แล้วคนที่เก่งในด้านต่าง ๆ มีอะไรบ้าง หรืออย่างน้อยให้รู้ว่าเรามีการแบ่งตำแหน่งในการทำงานเป็นยังไง ทำการบ้านมาหน่อย แล้วก็ตอบตัวเองให้ชัดเจนว่าอยากทำงานในจุดไหน อยากจะเติบโตขึ้นไปเป็นสายงานแบบไหน

 

คุณนนมองหาอะไรในตัวคนที่มาสมัครงาน

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งไหนในทีม Design ทีมเรายึดการออกแบบที่เรียกว่า Human Centric Design ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งไหนก็ตาม User Research จนไปถึง UX/UI Designer เราก็จะดูว่างานที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอเขา มีการดึงสิ่งที่เกี่ยวกับ User ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเขาสามารถแปลผลสิ่งที่ดึงออกมาได้ออกมาเป็นฟีเจอร์ หรือออกมาเป็น Value ยังไงได้บ้าง อันนี้คือสิ่งที่เรามองหาที่สุดครับ เพราะว่าเราอยากให้ทุกคนได้มีโอกาสได้คุยกับ User ได้สัมผัสกับ User หรืออย่างน้อยถ้าคุณพูดไม่เก่ง แต่คุณเป็นคนช่างสังเกต เรามองหาคนที่เป็นคนที่ช่างสังเกต เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีการสังเกตปุ๊บ แล้วเราเก็บไปคิดต่อ วิเคราะห์ต่อว่ามันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้ยังไง พยายามทำความเข้าใจต่อไปว่าUser กลุ่มนั้น ๆ ที่มีการแสดงออกอาจจะไม่เหมือนกัน หรือที่เราใช้คำว่า Empathy มันจะทำให้เรารู้ว่าการที่เราต้องออกแบบฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมา เราควรจะต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง หรือเราควรจะเสริมเรื่องอะไรเพื่อให้ชีวิตเขาดีขึ้น

 

หางานใหม่ที่ใช่ ได้เป็นตัวของคุณเอง ที่ JobThai สมัครสมาชิกและฝากประวัติที่นี่เลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, career & tips, career unlock, ทำงาน, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, การทำงาน, ทักษะ, โลกการทำงาน, kasikorn business – technology group, kbtg, beacon interface, ux, ui, user experience, user interface, ux designer, ui designer



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม