Career Unlock EP.10: Artist Choreographer อาชีพเบื้องหลังท่าเต้นสุดฮิตของศิลปินและไอดอล

16/09/24   |   371   |  

 

 

 

กว่าจะมาเป็นท่าเต้นเจ๋ง ๆ ในเพลง หรือการแสดงโชว์คอนเสิร์ตของไอดอลชื่อดัง มีหนึ่งอาชีพที่อยู่เบื้องหลังและมีความสำคัญอย่างมาก นั่นก็คือ “นักออกแบบท่าเต้น” หรือ “Artist Choreographer” อาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านการเต้น การฝึกฝนร่างกาย ความอดทน และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบท่าเต้นและการแสดงโชว์ออกมาให้เราได้ชมกัน

 

วันนี้ JobThai จะพาทุกคนไปคุยกับคุณออยล์ ปัณฐ์ชานิตา จรัสวงศ์ Artist Choreographer ที่มีผลงานออกแบบท่าเต้นให้กับศิลปินและไอดอลชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พีพี, บิวกิ้น, อิ้งค์ วรันธร, เป๊ก ผลิตโชค, เบิร์ด ธงไชย, PERSES ฯลฯ ผู้ที่สามารถดึงเสน่ห์ของศิลปินออกมาผ่านท่าทางการเต้นจนใคร ๆ ก็อยากเต้นตาม

 

หากเพื่อน ๆ อยากติดตามเส้นทางการมาเป็นนักออกแบบท่าเต้น พร้อมทั้งเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานและความท้าทายต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน มาร่วมปลดล็อคอาชีพ Artist Choreographer ไปพร้อมกัน!

 

พี่ออยล์มาเป็นนักออกแบบท่าเต้นได้ยังไง

เริ่มจากที่เราชอบการเต้น จึงไปเรียนเต้น จริง ๆ แล้วเป็นคนไม่ได้มีพรสวรรค์เลย แต่ว่าเป็นคนที่มีความตั้งใจ คราวนี้พอเราเห็นพี่ ๆ แดนเซอร์ที่เขาอยู่ข้างหลังศิลปินแล้วมีความเฉิดฉายมากเลย เราก็รู้สึกว่าอยากจะเป็นแบบนั้น ซึ่ง ณ ตอนนั้นพอไปเรียนแล้วก็ตั้งใจเรียนจริง ๆ เรียนเกือบทุกวันเลยนะยกเว้นวันอาทิตย์ ขอเงินคุณพ่อคุณแม่ไปเรียน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สนับสนุนแต่ก็มองไม่เห็นหรอกว่าสุดท้ายแล้วเราจะมาทำอาชีพนี้

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่ออยล์เข้าสู่วงการแดนเซอร์คืออะไร?

มีคุณครูสอนเต้นชื่อครูเจด้าที่เป็นเจ้าของบริษัท Harlem Shake Studio เขาเห็นเราแล้วก็เรียกเข้าไปคุย ถามว่าอยากเป็นแดนเซอร์ไหม เราก็บอกว่าอยากค่ะ แต่เขาก็บอกว่าเราต้องพัฒนานะ เราก็พัฒนาแล้วก็เรียนมาเรื่อย ๆ จนได้โอกาสนั้น แล้วได้เป็นแดนเซอร์ โฟร์-มด

 

พอเริ่มเป็นแดนเซอร์ไปหนึ่งปีกว่า ๆ จึงได้เป็นครู เพราะว่าคุณครูสอนเต้นหนึ่งคนไม่ว่าง แล้วครูเจด้าก็ให้เรามาลองดู แต่ก็ไม่ได้ปล่อยนะ ก็ให้เราสอบ ๆ ทุกอย่างจนเราได้เข้ามาสอน

 

ตอนที่ได้สอนครั้งแรก ตื่นเต้นไหม?

ตื่นเต้นมาก ณ ตอนนั้นคือกลัวว่านักเรียนจะฟังเราไหม สุดท้ายกลายเป็นว่าเราชอบการสอนมาก ๆ เพราะเรารู้สึกว่าเราได้ทําให้คนหนึ่งคนเขามั่นใจ เขาทําได้ดีขึ้น แล้วก็เปลี่ยนบุคลิกเขาได้เลย ซึ่งมันมาจากเรานี่แหละที่เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน เราก็เลยแชร์ความรู้สึกตรงนั้น ซึ่งเรารู้สึกว่าชอบมากกับการเป็นครูสอนเต้น

 

เคยมีค่ายเพลงหนึ่งติดต่อมาให้ไปเป็นนักร้อง แต่เราไม่ชอบ เราอยากเป็นแดนเซอร์ รู้สึกว่าชอบเต้น อยากอยู่ข้างหลังศิลปิน การเป็นแดนเซอร์รู้สึกว่าเราได้ช่วยได้แชร์ได้ทุกอย่าง แต่การเป็นศิลปินก็คือเราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างเดียว 

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เป็น Artist Choreographer คืออะไร?

จริง ๆ แล้วการเป็นครูก็เป็นหนึ่งในการออกแบบท่าเต้น เพราะเราต้องคิดท่าเต้นไปสอนโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราเป็น Artist Choreographer แล้วในตัว แต่มันอาจจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ว่าเราต้องคิดท่าเต้น 4/8 ไปสอน การเต้น การเคลื่อนไหว มันคือการใช้ร่างกายสื่อสาร คือหิวข้าวก็ต้องทําให้คนรู้สึกว่าเราหิวข้าวได้ในแต่ละท่าเต้น ซึ่งตอนนี้ก็เต้นมาประมาณ 15 ปี สอนมาก็ประมาณ 13-14 ปีค่ะ แล้วก็ออกแบบท่าเต้นก็คิดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 12 ปี

 

มีผลงานการออกแบบท่าเต้นไหนบ้างที่ประทับใจที่สุด?

ผลงานที่ประทับใจน่าจะเป็นเพลงหนึ่งที่ยากมากเลย คือเพลง “ดี๊ดี” ของ ไอซ์ พาริส กับ เจเลอร์ อันนี้มี Artist Choreographer สี่คนเลยนะคะ จริง ๆ มีหลายอันเลยที่ประทับใจมาก อย่างเช่นเพลง “ชอบอยู่คนเดียว” ของอิ้งค์ ท่าเต้นจะมาจากอาการว่าแบบชอบอยู่คนเดียว ส่วนใหญ่เราจะถนัดคิดในเรื่องของอาการ ท่าเต้นที่คนเราจะสัมผัสและรู้สึกได้ TikTok มันจะน่าเต้นเพราะมาจากอาการ มันต้องจินตนาการ อย่างเพลง MINDY มันก็มาจากน้องตุ๊กตาตัวนึง เราไปจิ้มว่า เธอ เราเขินนะ อะไรอย่างนี้

 

ของ PERSES จะมีท่าหนึ่งว่า เธอน่ารักน้อยลงหน่อย ถ้าเราไปคิดเป็นท่าว่าน่ารักน้อยลง (ชี้นิ้วลง) มันไม่ได้ มันต้องใจเต้นดิ ๆเจอเธอแล้วใจเต้น จะถนัดอะไรแบบนี้ค่ะ แล้วก็จริง ๆ ถนัดท่าเต้นผู้ชายด้วย อย่างศิลปินชายก็ PERSES แล้วรู้สึกว่าวงนี้พรีเซนต์ออกมาดีด้วย อย่างเช่นคําว่า Sunlight Moonlight ที่เป็นแสงจันทร์แสงอาทิตย์ ก็คิดท่าเต้นบังแสงไปสิ เท่ไปอีก ถ้าเราจินตนาการแล้วเราสื่อออกไปได้ คนก็จะอยากทําตาม

 

มีอีกเพลงหนึ่งค่ะ ของพี่เบิร์ด เพลงชื่อว่า “ทดลองใช้” อันนี้พ่อแม่ชอบและภูมิใจมาก พ่อแม่เต้นตามด้วยและอีกหนึ่งเพลงที่ชอบคือ “เก่งเหลือเกิน” ของอิ้งค์ วรันธร

 

พี่ออยล์มีวิธีการคิดท่าเต้นยังไงบ้าง?

ก่อนอื่นต้องฟังเพลงก่อนเลยว่ารู้สึกอะไร มันจะเป็นเซนส์แรกและทุกครั้งที่ส่งงานครั้งแรกจะผ่านที่สุดเพราะว่ามันมาจากเซนส์ข้างใน แต่ว่ามันก็จะมีเพลงที่ต้องคิดเยอะเหมือนกัน อย่างเช่นของเจเลอร์ ที่มีโจทย์มาว่าเจเลอร์จะขึ้นคอนเสิร์ตแล้วร้องเพลง Crazy In Love - Beyoncé แต่ว่าเราจะทํายังไงให้เขาดูเท่ เราก็ต้องคิดท่าเต้นตามฟีลของศิลปินคนนี้ที่มีความเป็นผู้ชายและความเท่มาก ๆ

 

อย่างอิ้งค์ถ้าให้เพลงมา ต้องทํายังไงก็ได้ให้มันดูไม่เป็นอิ้งค์แบบเดิม มันต้องเป็นอิ้งค์ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ มีความน่ารักในตัวเขาแต่ทุกอย่างมันจะต้องเปลี่ยนไปให้คนดูไม่เบื่อเขา รวมถึงตัวเราด้วย เราก็ต้องมีอะไรที่มันพัฒนาไปเรื่อย ๆ อย่างเช่นเราอาจจะเอาความฮิปฮอปมาใส่ในท่าเต้นที่น่ารักอะไรแบบนี้ค่ะ มันก็เป็นไปได้

 

มีขั้นตอนการออกแบบท่าเต้นยังไงบ้าง พี่ออยล์เล่าให้ฟังหน่อย

Harlem Shake จะมีครูเจด้าที่เป็นเฮดของเรา เขาจะได้รับงานจากลูกค้ามา คราวนี้เขาก็จะฟังเพลงก่อน แล้วเขาจะรู้ว่าเพลงนี้เหมาะกับเรา หรือเหมาะกับใคร หรือลองให้ออยล์ทําดู พอเราได้เพลงปุ๊บเราก็ฟัง ถ้าไม่มีบรีฟอะไรเลย เราก็เริ่มคิดท่าเต้นได้เลย แต่ถ้ามีบรีฟ เช่น อยากขอท่าเต้นง่าย ๆ สำหรับ TikTok ขอท่าเต้นยาก ๆ ขอแค่เคลื่อนไหว หรืออยากแค่เน้นร้อง มีหมดทุกอย่าง เราก็ทําตามที่เราได้รับบรีฟมา แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องฟังเพลงก่อน เราจะอยู่กับเพลงเยอะ ๆ เวลาคิดท่าเต้น

 

ถ้าคิดเฉพาะท่าฮุคก็มีเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง หรือ 3 วันก็มี เพราะว่าบางครั้งมันคิดไม่ได้หรือบางทีเราส่งไปแล้วมันเดิม ๆ คือเราจะไม่รู้ตัวเองว่าเราเต้นท่าเดิม ๆ ออกมา แต่คนที่ตรวจงานเราเขาจะเห็นว่าท่าเดิมอีกแล้ว มันก็มีตัน ๆ บ้างค่ะ พอถึงขั้นตอนที่คิดท่าเต้นเสร็จแล้ว เราก็จะส่งให้คุณครูเจด้าดู จากนั้นถ้าศิลปินนั้นเป็นบอยกรุ๊ป เกิร์ลกรุ๊ป ก็ต้องหาคนมาเป็นตุ๊กตาว่าคนนี้ร้อง คนนี้โพสอะไร คนนี้ทําอะไร คือต้องครบเลย

 

การทำงานเป็นการคุยกับทางค่าย ยังไม่มีการคุยใด ๆ กับศิลปิน แต่มีบ้างถ้าศิลปินคนนั้นมีไอเดีย เขาก็จะเสนอว่าอยากได้แบบนี้ คือโยนบรีฟมาก่อนได้ ถ้าเกิดค่ายอนุมัติมาแล้ว เราก็เริ่มต้นสอน แต่ถ้าค่ายอยากปรับแก้ก็ปรับตามที่ค่ายบรีฟกลับมา จนจบกระบวนการก็ออกมาเป็นเพลง เป็นเอ็มวีที่เราเห็น

 

เมื่อมาถึงขั้นตอนที่ต้องสอนด้วย คราวนี้ยากไหม

ถ้าเราได้ศิลปินใหม่ ๆ หน่อย เขาจะยังไม่รู้ว่ามุมไหนดี หรือพรีเซนต์ท่าไหนให้ออกมาแล้วคนอื่นอยากเต้นตามเขา ดังนั้นมันไม่ใช่แค่สอนเต้นแล้วแต่มันคืออินเนอร์ มันคือการสอน Performance การเป็นแดนเซอร์กับศิลปินมันต่างกันเพราะว่าแดนเซอร์ก็คือช่วย Back Up แล้วก็พรีเซนต์ตัวเองในแบบของการเป็นแดนเซอร์ แต่พอเป็นศิลปินก็ต้องพรีเซนต์ตัวเองอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

 

นอกจากที่คิดท่าเต้นและสอน มีอะไรอย่างอื่นที่ต้องช่วยดูเพิ่มเติมไหม?

เยอะแยะเลยค่ะ อย่างเช่นสมมุติถ้าเราถ่ายมิวสิกวิดีโอ เราอาจจะต้องบอกว่ามุมกล้องเป็นแบบไหนต้องหันขวา หันซ้าย เสย ก้ม หรือกลับมาเอามือแตะกล้องแล้วออกมาเจออีกซีนอะไรแบบนี้ค่ะ การเป็น Artist Choreographer คือการมองเห็นภาพรวมทั้งหมด รวมถึงถ้าเราทําคอนเสิร์ต เราต้องเห็นแม้กระทั่งว่าไฟลงตรงนี้ ศิลปินต้องยืนตรงนี้ แดนเซอร์เดินมา แล้วแสงเข้าหรือ CG เป็นแบบไหน แล้วเอฟเฟกต์พุ่งมาตอนไหน มันต้องรู้ทั้งหมดจะดีมาก ๆ ต้องดูว่าแสงนี้มันทําให้ศิลปินคนนี้เด่น หรือแดนเซอร์จะเด่นกว่า หรือว่าศิลปิน 5 คน ถ้าเขามาอยู่รวมกันตรงนี้ แสงควรจะมาทางไหน ต้องดูเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ทั้งหมด รวมทั้งการเล่นสเตจด้วยว่าอยู่ตรงนี้นานไปไหม ต้องเดินมาข้างหน้า หรือข้างหลัง มันออกแบบได้หมดเลย

 

การออกแบบท่าเต้นทั้งเพลงเร็วและเพลงช้ามีความแตกต่างกันยังไง แล้วพี่ออยล์ชอบแบบไหนมากกว่ากัน

เพลงเร็วจะคล่องตัว พอเปิดเพลงปุ๊บเราก็ขยับไปก่อน แล้วก็จะใช้ความรู้สึกต่อจากนั้น ส่วนเพลงช้าใช้อินเนอร์ ใช้ความรู้สึกข้างในลึกกว่า ส่วนตัวแล้วเป็นคนฟังเพลงแล้วอินไปกับมันค่ะ พอเพลงช้ามันก็จะมีความรู้สึกว่าเราได้เล่นกับอารมณ์ จริง ๆ เพลงเร็วก็สื่อสารได้ แต่ถ้าถามว่าทำไมชอบเพลงช้า เพราะว่าชอบเคลื่อนไหวไปกับเพลงช้า ๆ เพลง R&B อะไรแบบนี้

 

ไลน์ท่าเต้นของผู้ชายกับผู้หญิงต่างกันไหม?

ต่างค่ะ ผู้ชายจะมีความแข็งแรง ส่วนผู้หญิงจะใช้เสน่ห์ คือผู้ชายก็จะมีการโปรยเสน่ห์ของผู้ชายอีกแบบหนึ่ง ผู้หญิงจะใช้ร่างกายมากกว่า เช่น ผู้หญิงสะบัดผมแล้วหันแค่นิดเดียว แต่ผู้ชายอาจจะต้องหันอีกแบบ มันเป็นโมเมนต์ที่เล็ก ๆ แต่มันลึกซึ้ง

 

ศิลปินเดี่ยวและศิลปินกลุ่มมีขั้นตอนในการออกแบบท่าเต้นแตกต่างกันแค่ไหน

จริง ๆ ไม่ต่างกันเท่าไร เพราะว่ามันต้องพรีเซนต์ตัวตนของศิลปินคนนั้น ถ้าเป็นกลุ่มก็จะซอยออกไปหน่อย แต่จะยากกว่านิดนึงตรงที่เราต้องวางบล็อกกิ้งเหมือนวางตุ๊กตาตั้งแต่แรกเลย พอเราไปเจอกับศิลปินตัวจริง ก็ทำได้เลย สมมุติว่ามีศิลปินดูโอ้ คนหนึ่งหลังตรงแล้วเท่ คนหนึ่งทำอีกแบบแล้วเท่ ถ้าเราจะให้เขาหลังตรงทั้งคู่แล้วไม่ใช่ตัวเขามันก็ไม่ได้ค่ะ หรือผู้หญิงตัวสูงกับตัวเล็กอยู่ด้วยกัน ต้องออกแบบท่าให้ไม่ต่างกันมากเกินไป ออกมาแล้วดูบาลานซ์

 

ความยากง่าย หรือความท้าทายของอาชีพนี้คืออะไร

ความยากง่ายอยู่ที่การสื่อสาร คิดท่าเต้นได้ดีแค่ไหน ถ้าสื่อสารส่งต่อให้คนที่รับจากเราไปไม่ได้ก็เฟล ซึ่งวิธีการสื่อสารเราพูดแบบเดียวไม่ได้ด้วยเพราะว่าแต่ละคนรับสารไม่เหมือนกัน เราต้องซ้อมเต้นจนตัวเองเข้าใจ เพราะว่าบางทีเราคิดท่าเต้นมันออกมาจากความรู้สึก เราเข้าใจแบบนี้แต่ถ้าเราไปเจอคนแล้วเราทําท่าให้เขาดูแต่เราไม่พูดอธิบายเลย คนที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการใช้ร่างกายเขาไม่เข้าใจแน่นอน  เราเลยต้องมั่นใจว่าถ้าเราจะอธิบาย ต้องอธิบายยังไงให้เข้าใจ เมื่อเราไปเจอคนแล้วเขามีคําถามอะไรมาเราจะตอบได้

 

หาแรงบันดาลใจในการออกแบบท่าเต้นจากไหน?

ดูใน YouTube ดูนักเต้นต่างประเทศ ดูนักเต้นไทย หรือว่าบางทีดูหนัง ดูการ์ตูนก็ใช้ได้ มันแค่เอามาปรับใช้ สมมุติเราเห็นโต๊ะกินข้าวที่มันยาว ๆ ก็เอามาทำโชว์ได้ ยิ่งดู Reference เยอะ ๆ ยิ่งดีด้วย เพราะว่าการดู Reference มันทําให้เรามองเห็นอะไรหลาย ๆ อย่างแล้วเราเอามาใส่ลงในงานของเรา แต่ว่าเราไม่ได้ไปเลียนแบบนะ เป็นแรงบันดาลใจเฉย ๆ เราต้องเน้นเรื่องนี้ การลอกเลียนแบบมันไม่เจ๋ง

 

คนสนใจอยากจะทำอาชีพนี้จะเริ่มวางแผนเส้นทางอาชีพยังไงบ้าง

“ใจ” ต้องมาก่อนค่ะ ถ้าชอบด้วยก็ยิ่งดี ประกอบกับการใช้ร่างกายเป็น เคลื่อนไหวเป็น ไม่ต้องเก่งก็ได้ แค่กล้าที่จะทำ เมื่อเรามีพื้นฐานการใช้ร่างกายมากกว่าคนอื่นนิดหน่อย เราก็จะจินตนาการและใช้การเคลื่อนไหวได้มากกว่าคนอื่น ยังไม่ต้องเก่งก็ได้เพราะเราก็ไม่ใช่คนเก่งเหมือนกัน แต่เพราะเราได้รับโอกาสที่ดีด้วย 

 

หางานที่ใช่ ในสายธุรกิจบันเทิงได้ที่นี่

 

จำเป็นไหมว่าต้องเรียนเกี่ยวกับการเต้นมาก่อนถึงจะมาทำอาชีพนี้ได้

ไม่ได้จำเป็นนะเพราะออยล์ก็ไม่ได้จบเกี่ยวกับการเต้นมา แค่เป็นนักเรียนในคลาสเต้น ตอนเย็นและวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ว่าจริง ๆ แล้วก็เคยเห็นว่ามีมหาวิทยาลัยที่สอนเต้นเหมือนกัน สาขานี้โดยเฉพาะ

 

ถ้าจะเข้ามาเป็นครูสอนเต้นหรือนักออกแบบท่าเต้น ต้องไปหาโอกาสหรือ Connection ยังไง

ลองไปเรียนเต้นแล้วก็ถามคุณครูในคลาสที่เราไปเรียนนี่แหละว่าครูมาทำอาชีพนี้ได้ยังไง แล้วถ้าสนใจก็ลองถามดูเผื่อว่ามันจะมี Connection หรือถ้าเขาเห็นว่าเราตั้งใจหรือเรามีพรสวรรค์มันก็อาจจะมีโอกาสตรงนั้นเข้ามาได้ จริง ๆ คือเจ้านายเราเคยพูดว่า โอกาสมันจะมาตอนที่ไม่ได้ตั้งตัว ถ้าเราทิ้งตรงนั้นมันก็จะหายไป แต่ถ้าเราพยายามทำมัน ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ให้ทำไปก่อน มันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีของเรา แล้วก็ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองอันนี้เรื่องสำคัญจริง ๆ

 

คนที่ชอบเต้นมาก ๆ นอกจากการเป็นนักออกแบบท่าเต้นแล้ว สามารถประกอบอาชีพไหนได้อีกบ้าง?

ถ้าชอบเต้นเป็นกลุ่ม ๆ ก็รวมกลุ่มกันไปประกวดเรื่อย ๆ ก็อาจจะได้รับงานเป็นแดนเซอร์ทั้งทีม หรือมีคนเห็นความสามารถก็อาจจะมาเป็นครูสอนเต้นแบบนี้ หรือว่าเป็นแดนเซอร์ก็มี เพราะเราก็เริ่มจากเป็น Extra เหมือนกัน ชอบเต้นเป็น Extra แล้วก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นมา

 

อาชีพนี้ต้องอาศัยทักษะอะไรบ้างที่จำเป็น

อันแรกเลยต้องชอบและใจรักมากเพราะว่ามันจะมีการบาดเจ็บ บางทีเต้นไปเต้นมาเท้าพลิก นอกจากนั้นก็ต้องมีความอดทน ต้องอดทนที่จะซ้อม อดทนเหนื่อย มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็การพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่อยู่กับที่ค่ะ ที่สำคัญเราต้องมีทักษะการใช้ร่างกายระดับหนึ่งเลย ถึงจะเป็น Artist Choreographer ที่ดีได้ เพราะเราจะต้องสื่อสารต่อให้คนอื่นด้วย ถ้าเราไม่รู้วิธีการใช้ร่างกายมันก็ยากที่จะสื่อสารต่อ ก็จะเป็นได้แค่ Artist Choreographer ที่ไม่ได้เป็น Artist Choreographer ที่ส่งต่อคนอื่นได้

 

ต้องหางานในสายอาชีพนี้ยังไง?

จริง ๆ ตามสตูดิโอเต้นก็จะมีการออดิชันแดนเซอร์ ออดิชันครู หรืออะไรแบบนี้อยู่เรื่อย ๆ ต้องลองดูตามที่เขาเปิดรับสมัครค่ะ ในหลาย ๆ ที่ทั่วไปก็จะมีอยู่แล้ว

 

ฝากอะไรถึงคนที่อยากเป็นนักออกแบบท่าเต้นหน่อย

อยากฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนนะคะ ชอบอะไร รักอะไรก็ทําเลย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรอ เพราะว่าถ้าเรารอแค่หนึ่งนาที มันก็มีโอกาสที่จะหลุดไปได้แล้ว โอกาสมันไม่ได้มาหาเราตลอด จําไว้ว่าโอกาสมันมาตอนที่เราไม่พร้อม ไม่ต้องกลัว มุ่งมั่น อดทน แล้วก็ทํามันค่ะ ไม่ต้องเก่งก็ได้ เราจะเก่งขึ้นเองจากประสบการณ์ที่เราเจอค่ะ

 

สามารถติดตามพี่ออยล์ได้ช่องทางไหนบ้าง

ติดตามได้ที่ Harlem Shake Studio เลยนะคะ แล้วก็ IG ส่วนตัวชื่อ IG HEDNOIZ ค่ะ

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, ทำงาน, career & tips, ทักษะการทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, ทักษะ, career unlock, นักออกแบบท่าเต้น, artist choreographic, choreographic, บันเทิง, นักเต้น, dancer, อาชีพ, ศิลปิน, ไอดอล, ท่าเต้น, ครูสอนเต้น, harlem shake, gmm grammy



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม