7 แนวคิดเอาชนะความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องลาออก

7 แนวคิดเอาชนะความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องลาออก
16/03/22   |   12.8k   |  

 

  1. จะเติบโตได้ ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงบ้าง
  2. การลาออกเพราะได้งานใหม่ เป็นเรื่องที่ควรทำให้เรารู้สึกแฮปปี้
  3. อย่ารู้สึกผิดเพราะกำลังมีงานติดพัน
  4. มองว่าการจ้างงานคือข้อตกลงทางธุรกิจ
  5. ให้เวลาคนในทีมได้ทำความเข้าใจ
  6. นึกภาพคนอื่นมาทำงานแทนเรา
  7. การรับข้อเสนอจากงานเดิม อาจไม่ช่วยอะไร

 

JobThai Mobile Application หางานที่ใช่ได้บนมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อเราได้รับข่าวดีทางโทรศัพท์ว่า “คุณได้งานนี้แล้วนะ” สำหรับบางคนมันอาจกลับกลายเป็นความรู้สึกหวานปนขม ใจนึงก็ตื่นเต้นมาก แต่อีกใจนึงก็รู้สึกผิดที่ต้องลาออกจากงานเดิมไป เพราะจะไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันแล้ว หรืออาจเพราะกลัวเป็นการทิ้งงานที่ยังเหลือเอาไว้ให้เพื่อนที่ยังอยู่ ซึ่งความรู้สึกผิดแบบนี้อาจทำให้เราไขว้เขวกับการตัดสินใจย้ายงาน หรืออาจทำให้เราใช้เวลาที่เหลือกับงานเก่าอย่างไม่มีความสุขก็ได้

 

เพราะฉะนั้น JobThai ขอพาคุณมาดู 7 แนวคิดที่จะช่วยยกความรู้สึกผิดเหล่านี้ออกจากใจ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีแต่ความรู้สึกที่ดี

 

JobThai หางาน สมัครงาน ลาออก รู้สึกผิดที่ลาออก ทัศนคติ

 

1. จะเติบโตได้ ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงบ้าง

เมื่อเราทำงานที่เดิมมาเป็นเวลานาน หลายคนที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และพัฒนาความสามารถมาจนสุดขีดที่ตำแหน่งนี้จะให้ได้แล้วจึงเริ่มมองหาเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งบางครั้งการทำที่เดิมต่อไปอาจไม่ตอบโจทย์เป้าหมายใหม่อีกแล้ว ดังนั้นการลาออกจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นับว่าเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เพราะในฐานะคนทำงานเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดที่อยากจะก้าวหน้าเลยสักนิด

 

6 สัญญาณที่บอกว่าคุณควรคิดเรื่องหางานใหม่

 

2. การลาออกเพราะได้งานใหม่ เป็นเรื่องที่ควรทำให้เรารู้สึกแฮปปี้

คนหางานบางคนที่ผ่านช่วงเวลาการส่งใบสมัครและสัมภาษณ์งานมาอย่างดุเดือด พอได้รับการตอบรับจากบริษัทใหม่มันก็เป็นเรื่องที่น่าดีใจไม่ต่างกับการได้รับรางวัล เพราะฉะนั้นอย่าเอาแต่รู้สึกผิดที่จะต้องลาออกจนทำให้ความรู้สึกตื่นเต้นที่มีต่องานใหม่ลดลงหรือหมดไป เอาเวลาที่มีไปเอ็นจอยกับพลังบวกและความรู้สึกตื่นเต้นที่แทนดีกว่า อย่าลืมว่าโอกาสดี ๆ แบบนี้ไม่ได้มีเข้ามาบ่อย ๆ นะ

 

3. อย่ารู้สึกผิดเพราะกำลังมีงานติดพัน

ถ้าจังหวะที่ตั้งใจจะลาออกคือช่วงที่งานปัจจุบันกำลังรัดตัว เราอาจรู้สึกผิดและไม่กล้าทิ้งทีมเพราะคิดว่าจริง ๆ มันไม่ใช่จังหวะที่เหมาะเอาซะเลย สิ่งสำคัญที่เราต้องย้ำกับตัวเองเอาไว้ก็คือ ถึงงานนี้จะไม่มีเราอีกแล้ว แต่ตัวงานยังคงต้องเดินต่อไม่ว่าทางใดก็ทางนึง ไม่ช้าก็เร็วบริษัทหรือหัวหน้าทีมก็ต้องหาคนมาแทนเราได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือแจ้งล่วงหน้าว่าเราอยู่ถึงช่วงไหน ช่วยเคลียร์งานในส่วนของเราให้เรียบร้อยที่สุด และเตรียมข้อมูลต่าง ๆ สำหรับส่งต่อให้คนใหม่ที่จะเข้ามาทำให้เขาสามารถทำงานต่อได้อย่างราบรื่น

4. มองว่าการจ้างงานคือข้อตกลงทางธุรกิจ

เมื่อทำงานที่เดิมมาเป็นเวลาหลายปีจนสนิทกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน เราอาจรู้สึกผิดเมื่อต้องลาออก เพราะคิดว่าตัวเองทิ้งคนในทีมเอาไว้ข้างหลังรึเปล่า เมื่อไหร่ที่มีความคิดนี้ผุดขึ้นมาให้เรามองกลับไปที่จุดเริ่มต้นว่าเราตัดสินใจมาทำงานที่นี่ด้วยข้อตกลงทางธุรกิจ ซึ่งทั้งเราและองค์กรเองต่างก็มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะร่วมงานกันไปถึงเมื่อไหร่ ยังไงก็ตามถึงเราจะลาออกไปก็ไม่ได้แปลว่าความสัมพันธ์ดี ๆ ที่มีกับคนในบริษัทเดิมจะต้องจบลง หรือต้องเลิกรู้จักกันไป เรายังสามารถรักษา Connection ดี ๆ ระหว่างกันเอาไว้ได้เสมอ ไม่แน่พอห่างกันอาจสนิทกันกว่าเดิมก็ได้ เพราะเราสามารถแชร์เรื่องราวให้กันฟังได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกับเรื่องงานอีกต่อไป

 

สิทธิที่คนทำงานต้องรู้ : แจ้งลาออกล่วงหน้าจำเป็นแค่ไหน มีสิทธิอะไรบ้างที่ควรจะได้

 

5. ให้เวลาคนในทีมได้ทำความเข้าใจ

บางคนรู้สึกไปต่อไม่ถูกเมื่อตัดสินใจเดินไปบอกหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานว่าตัวเองจะลาออกแต่คนฟังกลับไม่ได้แสดงท่าทีอะไรมากมาย กลายเป็นความรู้สึกเฟลหรือน้อยใจว่าเขาไม่ได้แคร์เราเท่าที่เราแคร์เขาเลย หรือคิดไปเองว่าเขาคงผิดหวังในตัวเราแน่ ๆ ทั้งที่จริง ๆ เขาอาจจะแคร์เรามากเลยก็ได้ แต่เขาแค่กำลังงง ๆ กับข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และกำลังพยายามนึกภาพการทำงานต่อไปโดยที่ไม่มีเราอยู่ในทีมอีกแล้ว

 

6. นึกภาพคนอื่นมาทำงานแทนเรา

ถ้ายังรู้สึกผิดกับการลาออกเพราะผูกพันกับงานที่ทำมานาน ให้ลองมองว่าเราในตอนนี้เติบโตจากตอนเพิ่งเข้าทำงานและได้เก็บเกี่ยวทักษะและความสามารถมามากพอจนอิ่มตัวแล้ว เราพร้อมสำหรับการไปทำสิ่งใหม่ที่ต่างไปจากเดิมแล้ว จากนั้นก็ลองนึกภาพคนทำงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานแทนเรา ได้เรียนรู้ประสบการณ์แบบเดียวกับที่เราได้ มองไปถึงผลดีที่ทีมจะได้ว่าหลังจากนี้ทางทีมจะมีคนคอยเสนอไอเดียใหม่ ๆ ส่วนเราเองก็จะได้ไปช่วยเสนอไอเดียใหม่ ๆ ให้กับที่ทำงานใหม่ด้วยนั่นเอง

 

7. การรับข้อเสนอจากงานเดิม อาจไม่ช่วยอะไร

การที่เรายอมให้ความรู้สึกผิดเป็นผู้ชนะ อาจนำเราไปสู่การตอบรับข้อเสนอจากงานเดิมในตอนคุยเรื่องลาออก เช่น ข้อเสนอการเพิ่มเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง โดยที่ข้อเสนอเหล่านี้จะกำจัดเหตุผลบางข้อที่ทำให้เราอยากลาออกออกไป เราต้องพิจารณาว่าข้อเสนอเหล่านี้มันคุ้มรึเปล่ากับการต้องทำงานที่เดิมต่อไปอีกพักใหญ่ เพราะถ้าเราต้องตัดสินใจอยู่ต่อทั้งที่ไม่มีใจแล้ว เราอาจกลายเป็นคนที่เฉยชากับการทำงานและส่งผลกับคุณภาพของผลงานที่ทำ เพื่อนร่วมงานก็อาจสัมผัสได้ว่าเราอยู่อย่างไม่โอเค คราวนี้ถ้ายังลาออกอยู่ก็อาจจะยิ่งคุยยากกว่าเดิม เพราะเหตุผลเดิม ๆ ที่เคยทำให้อยากลาออก ได้ถูกอุดไปด้วยข้อเสนอใหม่ที่เขาให้แล้ว

 

ความรู้สึกผิดมักจะมาคู่กับการตัดสินใจลาออกจนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเจอในชีวิตของเราทุกคน แทบจะไม่มีใครที่ทำงานในตำแหน่งเดิมไปตลอดชีวิต และเมื่อเราสามารถเอาชนะความรู้สึกผิดได้ในที่สุด เราจะออกเดินไปยังบทใหม่ของชีวิตการทำงานได้อย่างสบายใจมากขึ้น

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:

camdenkelly.com

indeed.com

tags : jobthai, career & tips, เคล็ดลับคนทำงาน, ทัศนคติ, แนวคิดเรื่องลาออก, ลาออก, รู้สึกผิดเพราะลาออก, คนทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม