นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาเกือบ 3 ปีเต็ม ทำให้คนทำงานต้องปรับตัวไม่น้อยทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายและเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่หลายสิ่งก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจนเราแทบจะหลงลืมภาพของวิถีชีวิตในช่วงก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อการทำงานมากขึ้น ทั้งจากการทำงานทางไกล และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราทำงานได้อย่างไม่ขาดตอนในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่าง นอกจากนี้พฤติกรรมการทำงานของมนุษย์เราเองก็เปลี่ยนไปมากเช่นเดียวกัน
ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2022 แบบนี้ JobThai จะพาไปดูว่าในโลกการทำงานนั้นมีเทรนด์น่าสนใจอะไรเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงยากที่จะเชื่อว่าหุ่นยนต์จะสามารถทำงานได้เก่งเท่ากับมนุษย์ และแนวความคิดนี้คงเป็นแค่จินตนาการหรือฉากหนึ่งในหนังแนว Sci-fi เท่านั้น ว่ากันตามตรงเรื่องของ AI และ Machine Learning นั้นมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ในปี 2022 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความก้าวหน้าสุด ๆ ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ที่ทำได้ตั้งแต่วาดรูปจากคำบอกของมนุษย์ แต่งเพลง เขียนบทความ เรียกว่างานอะไรที่คิดว่าทำได้เฉพาะมนุษย์ AI ทำแทนได้หมด
ความสามารถของ AI ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดประจำปีนี้คงหนีไม่พ้น การวาดภาพด้วย AI ตามการป้อนคำสั่งของเรา เพียงแค่พิมพ์คำศัพท์ง่าย ๆ ไม่กี่คำ จากนั้น AI ก็จะประมวลผลจากคลังภาพ และเนรมิตภาพใหม่ออกมาภายในเวลาไม่กี่วินาที เทรนด์นี้โด่งดังเพราะ Project ที่มีชื่อว่า Midjourney เปิดให้ทดลองใช้งานในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตื่นตัวในวงการเทคโนโลยีรวมถึงกลุ่มคนทั่วไปด้วย เพราะ Midjourney ให้ลองใช้งานฟรี (แบบจำกัดจำนวนภาพที่อยากวาด ถ้าเกินโควตาหรือติดใจอยากใช้งานก็ต้องเสียเงินเพื่อใช้งานต่อ) ด้วยการใช้งานผ่าน Social Media อย่าง Discord ประโยชน์ของโมเดล AI นี้คือแม้แต่คนที่วาดรูปไม่เป็นก็สามารถใช้ AI ผลิตภาพตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้ง่าย ๆ ในขณะที่ศิลปินมืออาชีพที่วาดภาพเก่งอยู่แล้วก็อาจจะใช้ AI ร่างแบบโดยไม่ต้องเสียเวลาวาดเอง
ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีหลายเจ้าพัฒนาเทคโนโลยีนี้ อย่างโมเดล Stable Diffusion ของบริษัท Stability AIหรือ โมเดล DALL·E 2 ของบริษัท OpenAI ที่เปิดให้ทดลองแบบจำกัดจำนวนคน และมีแต่คนในวงการซอฟต์แวร์และศิลปินบางกลุ่มเท่านั้นที่สนใจ ความโด่งดังของ Midjourney นี้ทำให้ Mark Zuckerberg เจ้าของ Meta ยังต้องตามกระแสกับเขาด้วย แต่เพราะมาทีหลังเขาก็ต้องเล่นใหญ่กว่าสักหน่อย โดยประกาศเปิดตัว Make-A-Video ซึ่งเป็นการสร้างภาพเคลื่อนไหวจากการป้อนคำสั่งเหมือนกัน โดยก่อนหน้านี้ Meta ก็ซุ่มทดลองการใช้ AI วาดภาพที่มีชื่อว่า Make-A-Scene อยู่แล้ว ก็เลยใช้โอกาสนี้เกาะขบวนรถไฟสาย AI ซะเลย
แต่พัฒนาการของ AI ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะในช่วงเดือนพฤศจิกายน OpenAI ก็ได้ทำให้เกิดอีกกระแสที่เกี่ยวกับ AI ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ChatGPT ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของซอฟต์แวร์สร้างภาษาที่ออกแบบมาเพื่อจำลองการพูดคุยที่ชาญฉลาดเหมือนกับว่าเราได้คุยกับคนจริง ๆ โดยอาศัยคลังข้อมูลจำนวนมากจากฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อประมวลผลเป็นคำตอบ โดยในแต่ละครั้งที่มีการโต้ตอบกันระบบก็จะจดจำ และปรับปรุงคุณภาพของคำตอบได้เองด้วย ที่สำคัญ ด้วยความที่ AI ตัวนี้ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลดิจิทัลที่มีข้อมูลมหาศาล การเขียนโค้ดซอฟต์แวร์ได้เก่งพอ ๆ กับ Software Engineer จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเท่าไร
การพัฒนา AI ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนให้มันเรียนรู้จากการใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ หรือการเขียนบทความ ตามตัวอย่างที่ได้หยิบยกมาให้ดู อีกไม่นานเทคโนโลยี AI นี้จะมีความแม่นยำในการทำงานมากขึ้น สามารถทำตามหน้าที่คาดการณ์พฤติกรรมของผู้ใช้งานได้ มีความสามารถใกล้เคียงหรือเก่งกว่ามนุษย์ ใครที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า AI เหล่านี้ไม่สามารถทำงานสาย Creative หรือมีตรรกะคิดได้เหมือนมนุษย์ เราอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ และจับตาดูเทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบไม่กระพริบตาก่อนที่เราจะตามโลกไม่ทัน
ตั้งแต่ปลายปี 2021 จนถึงกลางปี 2022 ได้การเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “The Great Resignation” หรือที่รู้จักกันว่า “การลาออกครั้งยิ่งใหญ่” ซึ่งผู้ที่คิดค้นคำนี้คือศาตราจารย์ Anthony Klotz จาก Texas A&M University ที่คาดการณ์ไว้ว่าคนจะเริ่มลาออกหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ในปรากฏการณ์นี้พนักงานจำนวนมากของสหรัฐอเมริกาได้ลาออกภายในช่วงเวลาเดียวกันจนเป็นประวัติการณ์หน้าใหม่ของประเทศ แน่นอนว่าการลาออกพร้อมกันของหลายคนย่อมต้องส่งผลกระทบต่อปริมาณแรงงานในภาพรวม และทำให้บริษัทต้องหาทางรับมือกับปรากฏการณ์นี้
สำหรับการตัดสินใจลาออกของพนักงานนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การได้ค้นพบทักษะใหม่ในการทำงานในช่วงที่ต้องทำงานแบบ Work from Home เลยอยากจะเปลี่ยนสายงาน หรือการได้ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นและเห็นคุณค่าของเวลาและชีวิต เลยอยากได้ความยืดหยุ่นหรือสวัสดิการที่ดีกว่าเดิม จึงลาออกเพื่อหยุดพักชีวิตการทำงาน และมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองมากกว่าเดิม
เมื่อมองตามเทรนด์ The Great Resignation นี้ จะเห็นว่าพนักงานเหล่านี้ไม่ได้ลาออกไปเฉย ๆ แต่เป็นการลาออกจากองค์กรหนึ่งไปยังอีกองค์กรหนึ่ง เปลี่ยนสายงาน หรือย้ายไปอุตสาหกรรมอื่น ทำให้มีผู้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า Great Reshuffle หรือการสลับเปลี่ยน ย้ายงานครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อหลายอุตสาหกรรมในภาพรวมนั่นเอง
เคยรู้สึกไหมว่าที่ทำงานปัจจุบันนั้นมีหลายเรื่องขัดหูขัดตาเหลือเกิน แต่ก็ไม่ได้อยากลาออกไปหางานใหม่ เพราะงานที่ทำอยู่ก็ตอบโจทย์ชีวิตดี “Quiet Quitting” นั้นไม่ได้แปลตรงตัวจากคำว่า Quit ที่หมายถึงการลาออก แต่กลับหมายถึงการปล่อยวาง ไม่ต้องพยายามมากจนเกินไปจนเกิดความเครียดสะสมจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำเพราะทุ่มเทเกินร้อยให้กับงาน หรือการไม่อยากชิงดีชิงเด่นในที่ทำงาน โดยเฉพาะออฟฟิศที่มีเรื่องการเมืองภายใน กว่าจะเติบโตได้ต้องเสียสุขภาพจิตกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนถึงกับต้องตั้งคำถามว่านี่ที่ทำงานหรือ Game of Thrones กันแน่
เมื่อผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาในช่วงโควิด-19 คนทำงานหลายคนเลยได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าวัฒนธรรมการแข่งขันกันเพื่อความก้าวหน้าในที่ทำงานนั้น ไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต และเลือกที่จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย และไปโฟกัสกับสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าสำหรับชีวิตของพวกเขา แน่นอนว่าพฤติกรรมนี้อาจดูเป็นปัญหาสำหรับองค์กรที่ต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผู้นำองค์กรคาดหวังกับการทำงานที่เต็มประสิทธิภาพจากพนักงานแต่ละคนที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญ การทำงานแบบ Quiet Quitting จึงอาจส่งผลต่อ Productivity ในภาพรวม และบ่งบอกว่าวัฒนธรรมองค์กรกำลังมีปัญหาบางอย่างที่รอการแก้ไข แต่หากมองในมุมของพนักงานบ้าง เราอาจจะเห็นว่าการทำงานแบบ Quiet Quitting นั้นเป็นทางเลือกที่พวกเขาจะทำงานได้อย่างสบายใจ ตราบใดที่เขาเหล่านั้นยังทำงานเต็มที่ ไม่ได้ขาดตกบกพร่องในหน้าที่ การทำงานแบบ Quiet Quitting จึงเป็นสไตล์การทำงานส่วนตัวที่ตัดสินใจแล้วว่าดีกับตัวเองและเปรียบเสมือน Comfort Zone ของใครหลาย ๆ คนในยามที่ต้องเผชิญกับเรื่องหนักใจในการทำงาน
โดยทั่วไปแล้ว Frugality นั้นมีความหมายว่าการประหยัด หรือความตระหนี่ แต่ในปี 2022 คำนี้ถูกใช้อธิบายการทำงานแบบที่มี Work-Life Balance มากขึ้น เช่นเดียวกันกับกระแส The Great Resignation และ Quiet Quitting โดยการทำงานแบบ Frugality นั้นเกิดขึ้นจากการที่คนทำงานบางส่วนเห็นคุณค่าของการใช้เวลากับครอบครับหรือคนใกล้ตัวมากขึ้น คนที่มีแนวคิดแบบ Frugality จะยอมได้รับค่าตอบแทนน้อยลงเพื่อแลกกับชั่วโมงการทำงานที่ลดลง เพราะพวกเขาตระหนักได้ว่าการทำงานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แม้จะได้รับเงินน้อยลง แต่ก็มีความสุขกับการใช้เวลาว่างที่มากขึ้นเพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีความสำคัญมากกว่า
เทรนด์การทำงานแบบนี้จึงเป็นการปฏิเสธรูปแบบการทำงานเดิม ๆ ที่เห็นงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต จนอาจทำให้หลายคนต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และสร้างผลกระทบในหลาย ๆ ด้านทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งนำไปสู่การหมดไฟในการทำงานในระยะยาวได้ นอกจากนี้ Frugality ยังเกี่ยวโยงไปถึงวิถีชีวิตที่ไม่ฟุ่มเฟือยอีกด้วย เพราะการยอมลดค่าตอบแทนในการทำงานลงเพื่อแลกกับเวลาที่มากขึ้น ย่อมทำให้รายรับโดยรวมน้อยลง จะกินจะใช้จ่ายอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมการทำงานแบบที่ต้องเรียกเงินเดือนเยอะ ๆ แต่ก็ต้องทำงานหนักให้คุ้มกับเงินเดือนสูง ๆ แม้จะหาเงินได้มาก ใช้จ่ายได้ตามใจ แต่เวลาพักผ่อนก็อาจจะมีน้อย และไม่มีความสุขเท่าที่ควร ความแตกต่างนี้เองที่ทำให้คนทำงานแบบ Frugality ยอมลดเงินจากการทำงานแต่ได้สมดุลในการใช้ชีวิตที่มากขึ้น
เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานใหม่หลังยุคโควิด-19 ที่แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปแล้ว แต่คนทำงานหลายคนก็มองว่าความยืดหยุ่นในการทำงานนั้นมีความสำคัญไม่แพ้สวัสดิการอื่น ๆ ขององค์กร ทำให้หลายบริษัทยังเปิดทางเลือกให้พนักงานได้ทำงานตามความต้องการทั้งเรื่องสถานที่ทำงานและเวลาเข้าทำงาน ซึ่งก็แล้วแต่ข้อจำกัดและเงื่อนไขของแต่ละบริษัทว่าจะสามารถยืดหยุ่นให้พนักงานได้มากแค่ไหน บางบริษัทที่มองแล้วว่าการทำงานที่บ้านนั้นไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงก็จะเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือนอกสถานที่ได้ตามความเหมาะสม แถมยังเลี่ยงรถติด ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อีกด้วย ในขณะเดียวกันสำหรับบางตำแหน่งที่จำเป็นต้องทำงานหรือประชุมแบบพบหน้ากันบ่อย ๆ ก็อาจจะต้องหาความสมดุลและเท่าเทียมให้กับพนักงานในทุกแผนก
แน่นอนว่าการทำงานแบบ Hybrid Working ที่เปิดโอกาสให้คนทำงานสามารถเลือกทำงานได้ทั้งที่ออฟฟิศและที่บ้าน และเลือกเวลาทำงานได้จะได้ใจคนทำงานที่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และน่าจะยังเป็นเทรนด์ของการทำงานแบบ New Normal ต่อไปอีกหลายปี แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์กรและการบริหารจัดการระบบการเข้า-ออกงาน และนโยบายของแต่ละองค์กรว่าการทำงานแบบนี้ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจของตนเองมากแค่ไหน
เทรนด์สุดท้ายอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวคนทำงานในปัจจุบันไปสักนิด แต่คนทั่วไปและบริษัทเทคโนโลยีต่างก็เริ่มตื่นตัวกับกระแส Metaverse มากขึ้น หลังจาก Mark Zuckerberg ประกาศว่าอยากสร้างโลกเสมือนจริง ตั้งแต่ปลายปี 2021 โดยตั้งชื่อว่า Metaverse ตามชื่อบริษัทใหม่ คือ Meta เพราะวันนี้บริษัทต้องการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไม่หยุดอยู่แค่แพลตฟอร์มหนังสือรุ่นออนไลน์อย่าง Facebookแล้ว
เทคโนโลยี Metaverse มีหัวใจสำคัญคือการสร้างโลกเสมือนซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์อย่างแว่นตา VR(Virtual Reality) เพื่อให้เราเหมือนหลุดไปอยู่ในโลกจำลองที่สามารถทำกิจกรรมอะไรก็ได้เหมือนโลกจริง ยิ่งทุกวันนี้เราเคยชินกับการเล่น Social Media อยู่แล้ว Meta เลยอยากควบรวมชีวิตในโลกออนไลน์เข้ากับประสบการณ์เสมือนเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวในโลกดิจิทัลให้กับผู้ใช้งาน เช่น มีบ้านที่ตกแต่งได้ตามใจ เปิดให้เพื่อนเข้ามาพูดคุยสังสรรค์กันได้ เช่นเดียวกับการทำงาน อย่างการประชุมหรือนำเสนองานในโลกเสมือนจริง
ล่าสุดในปี 2022 นี้ Meta ได้จับมือกับ Microsoft เพื่อทดลองใช้งานฟีเจอร์การทำงานใน Metaverse โดยเราสามารถใช้งาน Microsoft 365 ซึ่งรองรับการทำงานไฟล์ Word, Excel, PowerPoint, Outlook และ SharePoint ผ่านอุปกรณ์ VR ได้แล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคต การทำงานบนโลกเสมือนด้วยสภาพแวดล้อมในออฟฟิศที่กำหนดได้เอง อาจกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ใคร ๆ ก็ทำกันแทนที่การทำงานในออฟฟิศ หรือการทำงานออนไลน์หน้าจอคอมพิวเตอร์แบบเดิม ต่อไปเราอาจได้สมัครงานและสัมภาษณ์งานผ่านโลก Metaverse ก็เป็นได้
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับเทรนด์การทำงานในปี 2022 กระแสที่เกิดขึ้นในปีนี้มีทั้งเรื่องพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนแต่ก็ช่วยทุ่นแรงในการทำงานได้มาก JobThai หวังว่าการย้อนกลับไปดูเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงการทำงานในปีนี้จะทำให้เราได้เห็นแง่มุมต่าง ๆ นำไปปรับใช้กับการจัดลำดับสิ่งที่สำคัญ การวางแผนและการตั้งเป้าหมายการทำงาน รวมถึงได้ไอเดียในการพัฒนาตัวเอง และการตั้งเป้าหมายชีวิต พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ การทำงานในปีหน้าได้เป็นอย่างดี
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
bbc.com, bloomberg.com, crn.com, financesonline.com, futurism.com, hrme.economictimes.indiatimes.com, makeavideo.studio, medium.com, weforum.org, workpointtoday.com