เมื่อเพื่อนร่วมงานไม่ถูกกัน ควรวางตัวเป็นคนกลางในที่ทำงานอย่างไร

เมื่อเพื่อนร่วมงานไม่ถูกกัน ควรวางตัวเป็นคนกลางในที่ทำงานอย่างไร
22/02/24   |   10.4k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

หนึ่งในปัญหาหนักอกหนักใจของคนทำงาน ก็คือการมีเพื่อนร่วมในที่ทำงานไม่ถูกกันจนอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานเข้าไปอีก ยิ่งถ้าเราต้องเป็นคนกลางในการประสานด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการไปเรียกคุยส่วนตัวเพื่อแก้ไขปัญหา ใครที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้อยู่ หรือเคยผ่านเหตุการณ์ที่คล้ายกันทำนองนี้มาแล้ว มาลองเอาวิธีการรับมือเพื่อนร่วมงานไม่ถูกกันจากเราไปปรับใช้กันดู เผื่ออนาคตต้องเจอเรื่องแบบนี้อีก จะได้รับมือกันถูกแบบไม่เสียสุขภาพจิต

 

วิธีการรับมือเพื่อนร่วมงานไม่ถูกกัน

 

ความขัดแย้งในที่ทำงาน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เรื่องงานไปจนถึงเรื่องส่วนตัว อย่างเช่น การส่งมอบงานระหว่างแผนกที่ล่าช้า การถกเถียงกันในที่ประชุม ไปจนถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการใช้ห้องน้ำ ใช้ครัวออฟฟิศร่วมกันแล้วไม่รักษาความสะอาด หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ ที่ดูไม่เล็กอย่างการพูดคุยเสียงดังที่อาจรบกวนการทำงานของคนอื่น ก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ไม่กินเส้นกันได้เหมือนกัน

 

6 แนวทางการรับมือเมื่อต้องเป็นคนกลางในที่ทำงาน

 

วางตัวเป็นคนกลางระหว่างเพื่อนร่วมงาน

 

เมื่อเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานไม่ถูกกันขึ้นมา คนกลางอย่างเราควรจะวางตัวอย่างไรให้ไม่อึดอัด หรือไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน เรามีแนวทางในการรับมือเรื่องนี้มาฝาก โดยเฉพาะกับคนที่เจอเพื่อนร่วมงานในแผนกเดียวกันทะเลาะกันเอง ซึ่งรับมือได้ยากกว่าการไม่กินเส้นกันระหว่างแผนก

 

1. โฟกัสที่เรื่องงานเป็นหลัก

อย่างแรกที่เราต้องทำเลยก็คือ โฟกัสงานที่เราต้องทำเป็นหลัก อย่าไปเอาเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาคิดให้ปวดหัว เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเราด้อยลงแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา จนไม่อยากตื่นเช้าไปทำงานอีกด้วย ให้ความสำคัญกับการทำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราให้ออกมาดีก็พอ

 

2. ฟังหูไว้หู ไม่นำเรื่องส่วนตัวไปเล่าต่อ

หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับฟัง เพราะคนกลางอย่างเราดันรู้จักกับคนที่ไม่ถูกกันทั้งสองฝ่าย ก็ให้รับฟังแบบไม่ใส่ความคิดเห็นผสมโรงลงไปด้วย เพราะเราอาจจะกลายไปเป็นตัวละครในเรื่องที่เขาทะเลาะกันแทน หรืออาจจะกลายเป็นการเลือกข้างจากการโดนเอาชื่อไปอ้างอิงได้

 

ดีลให้เป็นเมื่อมีเพื่อนร่วมงานเป็นคนที่ "รู้ทุกอย่างไปหมด"

 

3. พูดคุยกับทุกคนอย่างเสมอภาค

ความเป็นมืออาชีพ คือสิ่งสำคัญที่สุดในสังคมการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนร่วมงานในองค์กร ในฐานะที่เราเป็นคนกลาง เราควรพูดคุยกับทุกคนให้ดูเป็นปกติ ไม่แสดงท่าทีที่แปลกไปในการคุยงาน เพราะอาจจะทำให้บรรยากาศการทำงานนั้นแย่ลง และส่งผลให้งานที่ต้องจัดการให้เสร็จนั้นล่าช้าลงไปอีก

 

4. ไม่เลือกข้างในการทำงาน

วุฒิภาวะ เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คนกลางอย่างเราควรท่องเอาไว้ เรื่องที่เพื่อนร่วมงานบาดหมางกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรา จึงไม่ควรรับฟังมาเป็นอารมณ์ และเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนตัวเราเองเกลียดอีกฝ่ายไปด้วย เพราะจะยิ่งทำให้องค์กรมีแต่จะเกิดความแตกแยกมากขึ้นไปอีก และสุดท้ายเราอาจจะโดนหางเลขไปด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

5. หลีกเลี่ยงการตักเตือนด้วยตัวเอง

ต่อให้เราจะรู้สึกอึดอัดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะคนกลางแค่ไหน หากเราไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในตำแหน่งงานที่สูงกว่าคนที่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ก็ไม่ควรที่จะไปตักเตือนทั้งคู่โดยตรง หากปัญหาหนักข้อมากขึ้นจริง ๆ ควรแจ้งฝ่ายบุคคลที่มีหน้าที่ในการดูแลจัดการปัญหาตรงส่วนนี้แทน หรือปรึกษากับหัวหน้าแผนกให้เขาได้รับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบต่อการทำงานที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดการปัญหาของคนในทีม

 

6. พยายามรักษาระยะห่างไว้

อีกเรื่องที่ควรระวังเป็นอย่างมากในการเป็นคนกลาง แม้ว่าเราไม่ควรที่จะเลือกข้าง และต้องพูดคุยกับทุกคนอย่างเป็นปกติก็ตาม แต่หากเพื่อนร่วมงานคนนั้นดันเป็นคนที่เราสนิทสนม และมักจะไปกินข้าวเที่ยงด้วยกันเป็นประจำ ถ้าในกรณีที่เพื่อนร่วมงานคนนั้นผิดจริง หรือเป็นคนที่สร้างปัญหาขึ้นมา เราก็ควรที่จะเลี่ยงออกมาให้มีระยะห่างมากขึ้น แต่หากไม่รู้ว่าใครผิดจริง ก็ยังสามารถพูดคุยด้วยได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ควรผสมโรงในเรื่องปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเข้าไปอีก อาจก่อให้เกิดปัญหาภายในองค์กรเพิ่มขึ้น 

 

8 วิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงาน Passive-Aggressive ดื้อเงียบ ร้ายลึก บอกโอเคแต่ไม่โอเค

 

เพราะเราไม่สามารถเลือกสังคมการทำงานได้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในการปรับตัว และเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอยู่เสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ช่วยเราเติบโตขึ้น แม้จะไม่ใช่เรื่องงานโดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้คนซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน อีกทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจถึงแนวทางการรับมือขององค์กรที่เรากำลังร่วมงานอยู่ได้ว่าเวลาพนักงานมีปัญหา เขามีวิธีการจัดการยังไง ซึ่งสามารถช่วยให้เราเลือกสถานที่ทำงานในอนาคตได้ตรงความต้องการมากยิ่งขึ้น แต่หากใครที่รู้สึกว่าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีจากองค์กรที่ทำอยู่ สามารถมองหางานใหม่กับทาง JobThai ได้เลย

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสง่าย ๆ ในการได้งานที่ใช่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, career & tips, งาน, ทำงาน, คนทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, ปัญหาในที่ทำงาน, ปัญหาในออฟฟิศ, ที่ทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, การปรับตัวในที่ทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม