อาชีพ "สถาปนิก" หรือ "Architect" ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์อาคารหรือบ้านเรือนให้สวยงามเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยทักษะหลากหลายในการออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้งาน และสร้างความโดดเด่นให้กับผลงานได้อย่างลงตัว สำหรับ Career Unlock EP. นี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับคุณปูน ปวัน ฤทธิพงศ์ Design Director จาก RAD Studios ผู้อยู่เบื้องหลังผลงาน นิรันดร์ อพาร์ทเมนท์ ร้านชานม GAGA รวมถึงโปรเจกต์อื่น ๆ อีกมากมาย
รวมถึงจะพาไปเจาะลึกถึงเบื้องหลังการทำงานของสถาปนิกในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการก่อสร้าง พร้อมคำแนะนำในการเลือกเส้นทางอาชีพ และความท้าทายที่ต้องเผชิญในสายงานนี้ ใครที่สนใจในอาชีพสถาปนิกต้องห้ามพลาด!
สวัสดีครับ ผมปูน ปวัน ฤทธิพงศ์ เป็น Design Director ของ RAD Design Studios หรือเรียกง่าย ๆ ว่า RAD Studios ก็ได้ครับ วันนี้ขออนุญาตเป็นตัวแทนหุ้นส่วนอีกสองท่านนะครับ คุณดาว Interior Design Director และคุณต่าย Technical Design Director เรามีสามสตูดิโอ จึงขออนุญาตแนะนำทั้งสามคนครับ
จริง ๆ แรดเลยครับ มาจากภาษาอังกฤษ คำว่า Radical เป็นคำแสลงที่ค่อนข้างแฟชั่นนิดหนึ่ง หมายถึงว่ามันเป็นอะไรที่แสดงว่าเป็นดีไซน์ที่ดี ยอดเยี่ยม จะเป็นอะไรแบบนี้ แต่พอเป็นภาษาไทย มันก็สองแง่สองง่ามดี แล้วเราก็รู้สึกว่าเวลาเราทำงานเราจะชอบเช็กตัวเองว่า “งานเราแรดหรือยัง?” ก่อนที่เราจะส่งให้ลูกค้า
น่าจะเหมือนเด็ก ๆ ทุกคน ก็คือว่าชอบวาดรูป พอชอบวาดรูป ต่อยอดขึ้นมาก็จะเป็นเรื่องของสถาปนิก หรือเป็นนักออกแบบต่าง ๆ ซึ่งตอนที่เป็นเด็กเราก็ไม่ได้มีความรู้มาก คุณพ่อเป็นวิศวกร เขาก็แนะนำว่ามีอันนี้นะ แล้วเราก็ลองมาดู ตอนนั้นเราก็ไม่ได้ชอบหรอกครับ เราก็แค่รู้สึกว่าไม่มีไอเดียก็เชื่อพ่อแล้วกัน ลองดู
ตอนนั้นเรียนที่สถาปัตย์ จุฬาฯ ก็คือไม่ค่อยเข้าใจครับ หมายถึงว่าเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพยายามสอนเรามันคืออะไร ผมจะเป็นคนทำงานไม่ได้เกรด A ก็เกรด D ไปเลย เราก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร จนกระทั่ง ปี 4 ปี 5 เริ่มเข้าใจแล้วว่าจริง ๆ เขาต้องการอะไรในการที่จะทำให้เราได้คะแนนดี ตอนนั้นเราโฟกัสแค่เรื่องคะแนน ซึ่งพอเรารู้วัตถุประสงค์ของเขา เราก็เริ่มได้คะแนนดีครับ
ในระหว่างเรียนไม่ได้มี Passion ว่าสุดท้ายต้องมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง หรือว่าต้องมีชื่อเสียงอะไรนะครับ แค่ว่าโอเคเราทำตรงนี้ได้ดี มันเริ่มต้นจากนั้นก่อนว่าตอนเรียนตอนที่เราเกรดดี เพื่อน ๆ ก็ถือว่าชื่นชมประมาณนึง เราก็รู้สึกว่าเราก็มีความมั่นใจแล้วเราก็เลยลองเข้าบริษัทก่อน แล้วก็ไปศึกษาจากเขา แล้วเราก็รู้สึกว่าน่าจะทำได้นะ ถ้าเรามีอะไรเป็นของตัวเอง
ก็สะสมประมาณ 5-6 ปี แล้วก็ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ที่ The Architectural Association School of Architecture (AA) ครับ จะเป็นคล้าย ๆ โรงเรียนเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตย์ ซึ่งก็เปิดโลกเราประมาณนึงเหมือนกัน ตอนนั้นก็ทําแล้วรู้สึกชอบและเริ่มอิน แต่ว่าก่อนที่เราไปเราเป็นคนที่ค่อนข้างมีความมั่นใจในตัวเองประมาณหนึ่ง แต่พอไปเจอโลกกว้างแล้วมันเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเบอร์หนึ่ง เรารู้สึกว่าเราตัวเล็กมากเหี่ยวมาก เราไม่น่าจะทําอะไรด้วยตัวเองได้ เหมือนเสียความมั่นใจไปเลย แต่ว่าพอสุดท้ายก็มีไปฝึกงานบริษัทชื่อดังที่นั่นนิดหนึ่ง เราก็รู้สึกว่าค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปจากตรงนั้น
จริง ๆ ถ้าคนที่เรียนอยู่ก็จะทราบในแง่ของแขนงนะครับ ผมไม่มั่นใจว่าสมัยนี้มีอะไรบ้างนะ แต่ว่าตอนที่ผมเรียนมันก็จะมี Industrial Designer ซึ่งก็อยู่ในพาร์ทของสถาปัตย์เหมือนกัน คือออกแบบผลิตภัณฑ์ สามารถออกแบบ Interior ลักษณะของบูธก็ได้ Graphic Design แล้วก็พวก Event Design, Organizer อะไรพวกนี้ มันก็จะเป็นพาร์ทของการออกแบบเหมือนกัน แต่มันแยกย่อยนะ แล้วก็ถ้าเฉพาะทางลงไป จะเป็น Interior Design เราอาจจะรู้จักกันอยู่แล้ว Urban Planning ก็คือการวางผังเมือง Landscape Designer ก็จะเป็นในพาร์ทของความเป็นสถาปัตย์เหมือนกัน สถาปัตย์หลัก คือ สร้างบ้าน สร้างตึก แบบนี้ ก็คือพวกผมนี้แหละครับ
อันนี้ผมคิดว่า ถ้าเป็นคนทั่วไปก็จะดูไม่ออก จริง ๆ หลัก ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของหลักสูตรที่แตกต่างกัน คือถ้าคนจบสถาปัตยกรรมภายใน ก็คือจะอยู่ในวุฒิ สถาปัตย์ หรือ สถ.บ. จะค่อนข้างไปทางสายวิทย์ เขาก็จะเรียนเรื่องพื้นที่ว่าง เรื่อง Space เรื่องความต่อเนื่องของตึกกับตัวพื้นที่ภายใน แต่ถ้าไปมัณฑนศิลป์หรือมัณฑนากรเนี่ย ก็จะเป็นเรื่องของ Styling เรื่องของความสวยงาม จะมีความเข้าใจในแง่ของสไตล์การตกแต่ง Decoration ต่าง ๆ มากกว่า
ต้องมีครับ ต้องมีเหมือนทนายความ เหมือนคุณหมอ แล้วก็มีลำดับขั้น มีประสบการณ์ ก็เลื่อนขั้นขึ้นไปได้ จบใหม่ก็สอบได้เลย อยู่ที่ว่าหลักสูตรเราเป็น 5 ปี สถ.บ. หรือเป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต ถ้าวิทยาศาสตร์บัณฑิตต้องต้องเรียนต่ออีก 2 ปี มันมีหลายมหาวิทยาลัยที่ต้องเป็นแบบนั้น ถ้าไม่เรียนต่อก็ต้องมีประสบการณ์การทํางานถึงจะมีสิทธิ์สอบ
จริง ๆ ตอบยากมากเลยครับ ผมเล่าเป็นสโคปคร่าว ๆ แล้วกัน ก็คือตามสเกล Urban Designer หรือ Urban Architect จะเป็นสเกลที่ใหญ่ที่สุด คือ สเกลผังเมือง ซึ่งในเมืองไทยก็แทบไม่มีหน่วยงานอะไรที่รองรับเท่าไหร่ ถ้าจบด้านนี้ก็เป็นอาจารย์อะไรแบบนี้ แต่ในประเทศที่พัฒนาค่อนข้างเยอะ อย่างเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็จะมีแหล่งงานที่เป็น Urban Planning ค่อนข้างเยอะ อย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประเทศที่ยังว่าง ๆ ต้องมีการวางผังเมือง เป็นสเกลที่ใหญ่ พอสเกลที่ใหญ่โอกาสที่จะมีเนื้องานมันไม่เยอะ เพราะที่ใหญ่ ๆ ที่ยังว่างขาดการพัฒนามันไม่ได้มีเยอะ
พอย่อยลงมาก็เริ่มเป็น Landscape Designer ก็อาจจะพัฒนาสนามกอล์ฟ สวนของเมือง มันก็จะเป็นสเกลที่เล็กลงมา โอกาสที่จะมีงานก็มากขึ้น เล็กกว่านั้นก็คือเป็นเรื่องตึก ก็คือสถาปนิกทั่วไป พอเป็นสถาปนิกทั่วไป มันก็มีตึกให้สร้างอีกเยอะแยะ แต่ถ้าเราไปมองประเทศที่มีความหนาแน่นเยอะ ๆ อย่างเช่น ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ โอกาสสร้างใหม่แทบไม่มี
สุดท้าย Interior เนื้องาน Interior บนโลกมันก็จะเยอะมาก แต่ทีนี้มันก็อยู่ที่ Demand-Supply แล้ว ถามว่ามีอะไรที่เป็นเทรนด์ ณ ตอนนี้บนโลก ผมคิดว่าไม่ได้มีชัดเจนขนาดนั้น แล้วจริง ๆ ก็เป็นช่วงเวลาของเศรษฐกิจด้วย หมายถึงว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี งานเชิงพาณิชย์จ๋า ๆ เลย คนไม่ลงทุน อย่างตอนนี้อสังหาริมทรัพย์ไม่ค่อยดี งานประเภทนั้นก็จะหายไป คนที่เกี่ยวข้องงานก็จะลดลงประมาณนั้น เราก็อาจจะกระทบไปด้วย อย่างตอนนี้ท่องเที่ยวกลับมา งานที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวพวกนี้ก็จะมา ก็จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วยเหมือนกันครับ
จริง ๆ มันมีหลาย Approach นะครับ แต่ว่าโดยทั่วไปที่เขาทํากัน สมัยนี้จะง่ายกว่าสมัยก่อนเยอะ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว เราจะมีเหมือน Community หลักของสถาปนิก เราเรียกว่าสมาคมสถาปนิก คือทางสมาคมสถาปนิกจะกําหนดข้อกําหนดในแง่ของวิชาชีพต่าง ๆ แล้วมันมีข้อหนึ่งที่ค่อนข้างจำกัดการหาลูกค้าอยู่เหมือนกัน ก็คือการโฆษณาตัวเอง มันเป็นหนึ่งในจรรยาบรรณวิชาชีพที่เราทำไม่ได้ คือจริง ๆ มันเป็นเรื่องของการป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง มันควรจะพิสูจน์ด้วยผลงาน พอเป็นยุคใหม่ก็เริ่มมีช่องทางมันมี Social Media ซึ่งเราก็สามารถโพสต์ผลงานของเราได้ ลูกค้าก็สามารถเห็นเราจากตรงนั้น หรือการไปออกสื่อก็ช่วยได้ทั้งนั้นนะครับ ทำให้ลูกค้าเข้ามา
การได้งานอีกประเภทหนึ่งที่มีความยั่งยืนกว่านะครับ มันก็คือเรื่องของการบอกปากต่อปาก ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่สําคัญ จริง ๆ งานสถาปนิกคล้าย ๆ งานบริการเหมือนกัน คือเราทําตั้งแต่ออกแบบเขียนแบบ แล้วก็บ้านเสร็จ บ้านเสร็จดีมั้ย ถ้าดีเขาก็บอกต่อ เขาชอบบริการทั้งหมดของเราหรือเปล่า แล้วเราดูแลเขาดีตั้งแต่ต้นจนจบหรือเปล่า อันนี้คือเป็นสิ่งที่ผมมองว่าสำคัญ เพราะว่าบ้านหรืออาคารเนี่ย มันไม่ได้มีราคาถูก การที่เขาจะลงทุนกับใคร จะเลือกหัวสมองใคร ในการที่จะให้มาออกแบบให้เขามันก็ต้องเลือกให้ดีเหมือนกัน
หลังจากนั้นสมมุติเขาชอบเราและเข้ามาหาเรา ปกติเราก็ต้องถามความต้องการก่อน หลัก ๆ เขาชอบเราก็คงต้องมีหลายมุม ผมจะถามก่อนว่าชอบเราเพราะอะไร เพราะว่าบางทีอาจจะชอบเพราะงานนี้ ชอบเพราะงานนั้นอะไรแบบนี้ หรือเขาดูเราแล้วเราเป็นยังไง แต่ไม่ได้บอกว่าทุกบริษัทจะเหมือนกันนะครับ แต่เราก็เหมือนคุยกัน เคมีตรงกันหรือเปล่า เพราะประเด็นก็คือว่าเราอยู่กันยาวมาก คือถ้าเราอยู่กันยาวเราก็เป็นเพื่อนกันไป พอหลังจากบ้านเสร็จมีอะไรก็คุยกันได้ ไม่ได้จำเป็นว่าจบงานต้องจบกัน เพราะฉะนั้นเราก็จะดูกันเยอะเหมือนกันในช่วงแรก
ถ้าสมมุติทุกอย่างโอเคแล้ว เราก็เริ่มคุยเรื่องรายละเอียด คุณอยากได้แบบไหนความต้องการพื้นฐานก็จะแบ่งเป็นสองอย่างนะครับ ก็คือเรื่อง Styling แล้วก็เรื่อง Function ถ้าเป็นบ้านก็คือ บ้านกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ จอดรถกี่คัน มีอะไรพิเศษมั้ย Home Theater สระว่ายน้ำอะไรก็แล้วแต่ คือเคลียร์ตรงนี้กันให้เรียบร้อยก่อน ถ้าลงรายละเอียดไปอีกมันก็มีผลกับขนาดของบ้าน ก็มีเรื่องงบประมาณ ใหญ่ก็แพง แล้วก็ค่าบริการออกแบบก็จะแพงขึ้น ตามสัดส่วนนะครับ
ถ้าลูกค้าไม่มีแบบในใจเลย ในแง่ของผลงานก็จะยากนิดหนึ่ง ที่จะออกมาแล้วโอเค เพราะว่าจริง ๆ เราก็จะดูเนื้องานแต่ละงาน ถ้าออกมาดีมักจะเป็นงานที่มีข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ดีหมายความว่าลูกค้ามีตัวตนมีอะไรบางอย่าง เรามีหน้าที่ไปแงะทำให้งานเขาดูเจ๋งเห็นชัดขึ้น บ้านเราบางทีก็ใส่ความคิดอะไรเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่เสมอไปนะครับ คือมันก็เหมือนเราซื้อเสื้อผ้า หรือเราซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม เราชอบยี่ห้อนี้มากเลยอยากให้เขาทำในแบบที่เขาเป็น
เราต้องพัฒนาแบบร่วมกันก่อน เราจะใช้คำว่าร่วมกันก็คือว่า ดีไซเนอร์ก็ต้องการฟีดแบ็กดีไซน์แปลน แปลนโอเคแล้วก็ไปความสวยงาม เลือกวัสดุพวกนี้ มันก็เป็นการทำงานร่วมกัน เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา แล้วก็บอกว่าอันนี้มีข้อดีข้อเสียยังไง แพงถูกอยู่ได้นานไม่นานอะไรแบบนี้ครับ หน้าที่ของเราก็ใช้วิชาชีพของเราเต็มที่เข้าไป
พอจบขั้นที่เราเรียกว่าขั้นดีไซน์ มันก็จะเริ่มไปที่กลุ่มอื่นแล้ว กลุ่มอื่นในที่นี้ก็คือว่าเราส่งงานให้กับทีม In House หรือในหลาย ๆ บริษัทก็จะเป็น Supplier ก็คือคนที่ทำงานร่วมกับเรา ร่วมกับวิศวกรระบบต่าง ๆ ถ้าบ้านมี Lighting Designer, Landscape Designer ก็จะเข้ามาร่วมหลังจากที่แบบดีไซน์เราค่อนข้างใกล้จะไฟนอลครับ มาช่วยกันทำให้งานมันดีขึ้น บางคนไม่รู้จัก เขาก็อยากให้เราหาทีมงานที่เคยทำงานร่วมกันแล้วดีก็มีเหมือนกัน
แล้วขั้นตอนต่อไป คือเหมือนเราแจกงานให้ดีไซเนอร์ท่านอื่น ๆ ส่วนพาร์ทของเราเองที่เป็นไม้แรก เราก็จะไปขลุกกับวิศวกร เขาก็ไปทำแบบโครงสร้าง แบบไฟฟ้า แล้วเราก็มารวมกันจนเป็นแบบก่อสร้าง ถ้าเป็นอาคารในกรุงเทพฯ หรือในประเทศไทย ถ้าเกิน 150 ตารางเมตร เราต้องขออนุญาตต้องมีเจ้าหน้าที่ไปขออนุญาตตามกฏระเบียบ แล้วก็การประมูลราคาเป็นลำดับต่อไป
เรามีแบบก็เอาไปให้ผู้รับเหมาหลาย ๆ เจ้า มาเปรียบเทียบราคา เราก็เป็นคนกลาง หรือถ้า ณ ตอนนี้บางที ถ้าโปรเจกต์ใหญ่มาก ก็จะมีที่ปรึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาก็จะมาเป็นคนกลางตรงนี้ให้ในการจัดการ แล้วหลังจากนั้นก็คุยกัน ตกลงกันว่าจะจ้างใคร จากนั้นก็เป็นเรื่องของการก่อสร้าง ไปดูหน้างาน การแก้ปัญหาหน้างานแหละครับ ก็ต้องอยู่จนจบ
แล้วแต่นะครับ ผมเคยทํา 3,000 - 4,000 ตารางเมตร ในเดือนเดียวก็มี มันก็อยู่ที่ความต้องการของลูกค้าครับ อยู่ที่ว่าเขามาแบบรีบร้อนขนาดไหน ถ้าเป็นบ้านมักจะไม่ค่อยรีบร้อน แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างเชิงพาณิชย์ บางทีลูกค้าเพิ่งได้เช่าที่มาต้องเริ่มแล้ว ดอกเบี้ยจะรันแล้วอะไรแบบนี้ก็ต้องรีบทำเลย
จริง ๆ โชคดีที่ผมเป็นทั้งสองอย่างมาก่อนแล้ว คนที่จะเปิดบริษัทของตัวเองอาจจะต้องผ่านการทำงานบริษัทมาก่อนแล้วก็ผ่านช่วงที่ตัวเองต้องเป็นฟรีแลนซ์ เพราะว่างานไม่ได้เยอะ แล้วก็ค่อยมาเปิดบริษัท
ส่วนคนทำงานประจํา จริง ๆ อยู่ที่บริษัทด้วยครับ เป็นเรื่องของสเกลของบริษัท สเกลขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เนื้องานก็จะต่างกัน ขนาดเล็กก็จะได้ทำทุกอย่าง ขนาดใหญ่ก็จะเรียนรู้ระบบ แต่ว่าเราไม่ได้ทำทุกอย่าง อยู่ที่ว่าเราเหมาะกับอะไร แล้วเรามีความสุขกับอะไร อันนี้คือเรื่องสำคัญ เราก็จะเรียนรู้อะไรจากคนที่เก่งกว่า แต่ว่าฟรีแลนซ์มีข้อเสียอยู่ค่อนข้างเยอะเหมือนกันเพราะว่าเราไม่ได้เรียนรู้กับใคร นั่นคือประเด็นที่ยาก แล้วก็ในสายวิชาชีพมันไม่สามารถค้นหาความรู้ได้ต้องเจอประสบการณ์จากของจริง แล้วก็ความผิดพลาดจริง ๆ ที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นบทเรียนแล้วเราก็จะจำ แล้วเราก็เรียนรู้พัฒนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในสายวิชาชีพนี้มันไม่มีทางลัดเท่าไหร่ ต้องลงมือทำอย่างเดียวเลย
อยู่ในออฟฟิศมันก็มีข้อดี คือมีรุ่นพี่คอยบอกเราว่าอันนี้ไม่เวิร์กนะ แต่ว่าเราก็อาจจะไม่เข้าใจมาก ไม่เวิร์กเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้โดนด้วยตัวเอง แต่ถ้าออกไปทำฟรีแลนซ์แล้วสามารถทำกระบวนการทุกอย่างด้วยตัวเองได้ทั้งหมด ซ้ำ ๆ สักรอบ สมมุติทำบ้านหลังที่หนึ่งกับหลังที่ห้าจะเห็นเลยว่าเราพัฒนาขึ้นเยอะมาก เราจะรู้ว่าอะไรดีไม่ดีอะไรแบบนี้ครับ มันก็จะเรียนรู้อีกแบบนึง ในฟรีแลนซ์มันก็มีข้อดี เราถูกบังคับให้ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
จริง ๆ มันไม่มีคำว่าพร้อมเลยครับ เราไม่รู้หรอกว่าจะไปเจออะไร อย่างตอนนั้นผมทํางานที่บ้านก่อน ก่อนที่จะมาที่นี่ มีกันสามคน ก็คือ Director สามคน นั่งทำงานด้วยกันยังไม่มีอะไรเลย แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่อยู่ห้องข้าง ๆ เขาก็ถามว่ามีห้องว่างเอามั้ย เรายังไม่พร้อมเรามีแค่สามคน แต่ห้องใหญ่เลยจะเอามาทำอะไร คือมันจะเป็นขั้นที่ทำให้เราลำบากก่อน คือถ้าเอาตรง ๆ ผู้ประกอบการทุกคนจะรู้เลย ถ้าสมมุติรับพนักงานใหม่ปุ๊บ งานหาย มันจะเป็นแบบนี้เสมอ พองานแน่น พนักงานไม่พอ รับใหม่ งานหาย จะเป็นแบบนี้ตลอด
จริง ๆ มีหลายมุมมากเลยนะครับ การแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดเลย มีปัญหาทุกรูปแบบเลย คือการสร้างเนี่ยมันไม่ยากเท่าการแก้สิ่งที่ทำไปแล้ว ซึ่งตรงนี้พอเรายิ่งผ่านประสบการณ์มาเยอะขึ้น เราสร้างบางอย่างโดยที่เราจะถูกจำกัดไอเดียขึ้น เพราะเรารู้ว่าบางอย่างที่เราสร้างขึ้นมามันอาจจะนำไปสู่ปัญหาเราก็เลือกที่จะไม่ทำ มันจะย้อนแย้งครับ พวกนี้จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์เราหายไป บางอย่างก็ต้องลองชั่งน้ำหนัก
เคสท้าทายที่ผ่านมาเป็นโชว์รูมหนึ่งลูกค้าได้ที่มา เหมือนเขาเป็นโชว์รูมรถอยู่แล้วเขาจะต้องออกจากที่เดิมเพราะหมดสัญญาแล้วก็ได้ที่ใหม่ขึ้นมา มันมีการแก้ปัญหารายวันที่เจอทุกอย่างเลยเพราะว่าทุกอย่างมันเร็วไปหมด หนึ่งเดือนในที่นี้ ถ้าในแง่มุมของดีไซเนอร์ทุกคน ผมออกแบบ เขียนแบบก่อสร้าง แล้วก็เสร็จในหนึ่งเดือน ซึ่งสเกลนี้มันยากมาก คือจริง ๆ ถ้าสเกลนี้ถ้าจะทำออกมาให้ดีต้องใช้เวลา 6-7 เดือน ซึ่งก็เป็นความท้าทายแต่ว่าเราก็ทำกันมาได้นะ แต่ว่าระหว่างทางมันก็มีข้อผิดพลาดค่อนข้างเยอะเพราะว่าเวลามันน้อยมาก
ผมไม่แน่ใจว่าบริษัทอื่นเป็นอย่างไรนะครับ ก็จะเป็นเรื่องของความผิดพลาดที่นํามาสู่ความเสียหายที่เป็นเงินซึ่งผมว่าทุกบริษัทอาจจะต้องเจอบ้าง อาจจะตกตัวเลขไปนิดหนึ่งแล้วลูกค้าไม่ได้ทำอะไรผิด อย่างเช่น เขาจะเลือกไม้รุ่นนี้สีน้ำตาลตัวเลขเบอร์สาม แต่ว่าเราพิมพ์ในแบบเป็นตัวเลขเบอร์สองเป็นสีเหลืองแทน ผู้รับเหมาไม่รู้หรอกว่าซื้ออะไรเขาก็ไปสั่งมาแล้วเรียบร้อย ถามว่าความผิดอยู่ที่ใคร ก็ต้องอยู่ที่เรา บางเจ้าก็ใจดีลูกค้าก็ช่วยกันหรืออะไรแบบนี้ แต่ว่ามันคือสิ่งที่เป็น Pain Point เหมือนกันสำหรับการที่ต้องมาแก้ปัญหาที่มีเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้อง เพราะว่าจริง ๆ สมมุติแบบเล่มนึงมันหนามากมันมีโอกาสผิดแบบเยอะเรื่องความละเอียด แนะนำก็คือถ้ามีคนกลาง อย่างเช่นที่ปรึกษามาช่วยตรวจสอบก่อน เรายินดีมากเลย จริง ๆ มีหลาย ๆ ท่านไม่ชอบการมีที่ปรึกษา เขาก็จะมานั่งตรวจ มาจุกจิกกับเรา แต่ผมชอบมากเลยเพราะว่าจะช่วย Double Check คือเราเป็นคนทำเองเราไม่รู้หรอกว่ามันผิดตรงไหน ต่อให้เรามานั่งตรวจอีกกี่รอบเราก็จะไม่รู้เพราะว่าเราเป็นคนเขียนเอง ต้องมีคนอื่นช่วยตรวจ
อันนี้น่าสนใจ ก็เป็นโปรเจกต์ที่ดีที่ต้องขอบคุณเจ้าของด้วย เพราะว่าเขาก็มีวิสัยทัศน์ ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะ เขาก็บอกว่าอยากออกแบบพื้นที่ที่เป็นศิลปะอยู่ในที่ของเขา คือให้มันเกิดเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอย่างอื่น ที่ไม่ใช่แค่องค์พระปฐมเจดีย์, มหาวิทยาลัย ให้มันเป็นจุดเริ่มต้นว่าถ้าเรามีตรงนี้มันอาจจะมีคนอยากทำเพิ่มขึ้นมา เลยคิดว่าจะเป็นการออกแบบที่ผสมผสานกัน ระหว่างอพาร์ตเมนต์กับลานบางอย่าง ที่ตอนนี้มันก็ยังเบลอ ๆ อยู่นะครับว่ามันจะเป็นอะไร แต่ว่ามันเป็นพื้นที่ว่างที่จะให้คนบริเวณนั้นเข้ามาใช้ในเชิงศิลปะ ในเชิงพาณิชย์
ผมว่ามันอยู่ที่สไตล์แล้วก็ Positioning ของดีไซเนอร์ท่านนั้น ๆ เราอยากจะมีลุคเป็น Specialist ด้าน Luxury เราก็โฟกัส แต่เราต้องมั่นใจว่าเราเก่งด้านนั้นคือสิ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน แต่ถ้าเราเป็นคนทำได้ทุกอย่างไม่ได้เก่งทางไหนเราก็ไม่ควรที่จะไปเฉพาะเจาะจง ซึ่งมันก็มีข้อดี คือถ้าเฉพาะเจาะจง ตลาดมันแคบลงแต่ว่าเราก็แข่งกับคนที่น้อยลง หมายถึงว่า เราเก่งด้านนี้ คุณเป็นสถาปนิกที่ทำสิบแบบ แต่ฉันทำเฉพาะแบบนี้ ถ้าลูกค้าอยากทำ Luxury เขาก็จะนึกถึงเราก่อน มันค่อนข้างเป็นเรื่องของ Branding เหมือนกัน
คนถามเยอะเหมือนกันว่าเราเป็นแนวไหน ถ้าไปดูใน Social Media ของทางผมก็จะเห็นว่ามันแตกต่างกันมากเลย ร้านอาหารไทยก็ทำ Modern ก็ทำ Luxury ก็ทำ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมมองว่าตัวผมเอง ผมชอบสนุกกับลูกค้าอย่างที่บอกไปตอนต้น สมมุติว่าเขาเป็นยังไง เราก็ชอบคาแรกเตอร์แบบนี้ ผมอยากสร้างตึกหรือดีไซน์บางอย่างที่มันคือคาแรกเตอร์เขา หรือคาแรกเตอร์แบรนด์เขา คาแรกเตอร์ร้านชานมอันนั้น หรือโรงแรมแบบนี้ ซึ่งโจทย์ความเป็นเขาเราใส่ความแรดเข้าไป ก็คือเหมือนทำให้งานมันแรดขึ้นแต่ว่ามันยังเป็นตัวเขานะ ไม่ใช่ผมเลย
บางคนถ้า Specialist ขายง่ายเราเน้นแนวนี้ไปเลย แต่ว่าอย่างรวม ๆ แบบนี้ จะขายยังไงให้มันน่าสนใจ ผมคิดว่านักออกแบบทุกคนจะมีกลิ่น สมมุติว่าเราเอางานห้าคนมารวมกัน ถ้าเราจับ Category มันจะพอดูออก มันจะมีลายเซ็น ลายเส้น หรือวิธีการออกแบบบางอย่างที่คนคนนั้นชอบในบางจุด แล้วสุดท้ายก็จะจัดกลุ่มได้เองว่าคนนี้ประมาณนี้ แม้ว่าจะมีหลายสไตล์แต่เขาจะดูออกว่าอันนี้ มันคือคนนี้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าคนที่ไม่ได้โดดเด่นด้านไหน ไม่จำเป็นต้องไปซีเรียสกับมัน สุดท้ายเราทำวิชาชีพเราให้ดี บริการให้ดี จบงานให้สวย สุดท้ายมันก็จะอยู่ได้
จริง ๆ ผมมองว่าหน้าที่ของเราก็จะบอกว่า เราวางแปลนแบบนี้ เราทำตึกแบบนี้ มันมีข้อดีข้อเสียยังไง คือมันเป็นวิทยาศาสตร์ เราก็อธิบายเขาในมุมนี้ แต่ว่าทางเชิงศาสตร์ของฮวงจุ้ย เขาก็จะเป็นศาสตร์ที่เขาก็มีหลักการของเขา เขาก็จะเอาของเขามา เราก็เอาของเรามา จุดที่เราจะไม่ตีกัน คือเจ้าของเป็นคนตัดสินใจครับ คืออยากให้มองว่ามันมีวิธีการที่สามารถทำให้ดีได้ แต่โดยมากโปรเจกต์ที่มันจะพัง ก็คือซินแสเข้ามาทีหลัง มันควรมาแต่แรกเลย ไม่เป็นไร เราเปิดอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกคนก็ต้องเจออยู่แล้ว ตอนนี้ก็ประมาณร้อยละ 70-80 ถ้ามาก็จะมากับซินแสเลย โดยมากผมจะบังคับลูกค้าให้มาแต่แรก เคยมีมาทีหลัง รื้อเลย คือยังไม่ได้สร้างนะ กำลังจะสร้างแล้ว ตกลงราคาเรียบร้อย แล้วเขามาทีหลัง แล้วเขาก็มาชี้ ๆ แก้ แต่ผมไม่ได้เจอเขานะ เจ้าของก็เอาแปลนที่เขาจะแก้มาให้ผม ผมก็บอกว่าไม่ได้ ทำใหม่ดีกว่า ผมก็ทำให้ใหม่ เรื่องค่าใช้จ่าย ผมก็จำเป็นต้องชาร์จลูกค้าว่าไม่ไหวจริง ๆ เราก็ถามว่าคุณโอเคมั้ย ถ้าคุณโอเคก็โอเคทำให้ใหม่ ไม่เป็นไร ถ้าเกิดว่าอยากได้ความสบายใจด้านนั้น ก็มารับความเสี่ยงด้านนี้แทน ทางที่ดีที่สุดต้องมาแต่แรก
โดยมากซินแสสมัยนี้เขาก็จะค่อนข้างรู้เรื่องสถาปัตย์เหมือนกัน อะไรที่แย่ ๆ เขาก็จะไม่เขียนมา คืออะไรที่มันขัดหลักจริง ๆ เอาตรงนี้มาวาง ตรงนี้ทำไมมันแย่ คือจริง ๆ มันมีความเกี่ยวข้องกันนะครับ สองศาสตร์นี้ กระแสดีมันคืออะไร ลมมันคืออะไร ค่อนข้างใกล้กับสถาปัตย์เหมือนกัน ซึ่งเขาก็จะไม่ได้วางอะไรแย่ ๆ อยู่แล้ว
ณ ตอนนี้คิดว่ายัง แต่ว่ามันทำให้เราตื่นเต้นขึ้น เราสามารถมีตัวเลือกในการออกแบบ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน คือสมัยก่อนที่ผมไปเรียนที่อังกฤษ เราเรียน Advanced Architecture ถ้าภาษาชาวบ้านเขาเรียก Wayfinding ในการที่จะทำให้เกิดดีไซน์ใหม่ ๆ คือถ้าเราคิดแบบเดิม ฟังก์ชันแบบนู้นแบบนี้ ไม่มีทางที่จะเกิดของใหม่ แล้วก็จะมีอย่างที่ผมเรียนเรื่องของคอร์สเรียกว่า Emergent Architecture อะไรก็ตามที่มันปรากฏขึ้นมาเอง อย่างเช่น เทคนิคการออกแบบ
สมมุติว่าเอาวงกลมกับสี่เหลี่ยมมาเจอกัน จะกลายเป็นรูปอะไรก็ไม่รู้ที่ซ้อนกันเป็นวงกลมสี่เหลี่ยม แล้วเราก็ให้คำสั่งมันอันนี้คือถ้ามันบวกกัน ถ้ามันไปลบกับสามเหลี่ยมมันก็จะเกิดอะไรไม่รู้ เราเขียนเหมือนคล้าย ๆ Scripting Program ขึ้นมา แล้วต้นทางเราใส่ บวก ลบ คูณ หาร แล้วสุดท้ายมันจะเป็นอะไรไม่รู้ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และหน้าที่ของเรา ก็คือการเลือกใช้
AI ก็คือสร้างบางอย่าง เช่น ไม่ชอบตัวเลือกนี้ มีให้อีกห้าตัวเลือก แล้วลองดู แต่หน้าที่ของเราก็ยังเหมือนเดิม เราต้องเป็นคนที่พลิกเอามาใช้ให้ได้ จริง ๆ คือเจอทางตันในการออกแบบ มันไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอะไร ถึงจะได้ของใหม่ขึ้นมาอีกก็เลยใช้วิธีทางคอมพิวเตอร์แล้วกันใช้การคำนวณที่ประมวลผลออกมาเพื่อให้ได้รูปทรงประหลาดหรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช้สมองคนปกติคิดขึ้นมา แต่ถ้าถามว่า Disrupt มั้ยตอนนี้คิดว่ายังครับ ผมไม่รู้มันจะฉลาดได้ขนาดไหน แต่ว่าคิดว่ามันมีโอกาส ซึ่งจริง ๆ ก็ต้องอยู่ที่เราแหละในการที่เราจะต้องพัฒนา คือตอนนี้จริง ๆ เราก็คอยติดตาม ลองใช้สิ ใช้แล้วเป็นไงเราเอามาปรับกับงานเราได้ยังไงบ้าง
ในที่บริษัทก็จะเป็นช่วงทดลองก็คือมันมีบางอย่าง ไม่ถึงขั้นขึ้นจากศูนย์ เราอาจจะสร้างกรอบบ้าง สมมุติว่าเรามีกล่องสองอัน กล่องสองอันหน้าตาเป็นอะไรได้บ้าง ลองเอาเข้าไป เราคิดไม่ออก เขาก็จะมีคิดมาให้ มีแบบนี้ แบบนี้ได้ แล้วเราก็อาจจะมาต่อจากตรงนั้นอีกทีหนึ่ง เหมือนเป็นความคิดตั้งต้น มันก็จะช่วยทำให้เราเหมือนคิดได้กว้างขึ้นแล้วก็รวดเร็วขึ้น ก็คือจริง ๆ เอามาช่วยให้ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น
ผมว่าสถาปนิกเป็นศาสตร์ยังมีโอกาสที่จะรอดกับมันได้เพราะว่ามีทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ แล้วก็เป็นเรื่องเซนส์ต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง แต่ผมมองว่าหลาย ๆ อันที่มันไม่มีวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้องเลยไม่มีการที่เราต้องคุยกับลูกค้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบโลโก้หรืออะไรพวกนี้ พวกนี้จะง่ายมากสําหรับ AI แล้วจะเก่งกว่าเรามาก ๆ เลย เพราะฐานข้อมูลเขาคือโลโก้ทั่วโลก เขาก็ไปหามา แล้วเขาก็มาปรับใช้เข้ากับคำสั่งที่เราใส่เข้าไป มันง่ายกว่า แต่โจทย์ของเรามันซับซ้อน
ถ้าเป็นเด็กจบใหม่ก่อนแล้วกัน ก็ต้องมีพื้นฐานทางโปรแกรมก่อน เพราะว่าอันนี้หนีไม่ได้ ไม่อยากจะพูดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเบอร์หนึ่งเพราะว่าพอเข้ามายังไงต้องเจอ ถ้าคุณทำไม่เป็นก็คือจบเลย มันก็จะมีโปรแกรมเฉพาะทางที่บางออฟฟิศ อาจจะต่างกันนิดหน่อย แต่ผมว่าพื้นฐานเด็กสถาปัตย์ เด็กออกแบบทุกคน เขาก็ต้องผ่านมาอยู่แล้ว
อีกอันหนึ่งเป็นความรู้ที่โรงเรียนสอนมา ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่จะมีช่วง Probation คือทดลองงาน ซึ่งผมคิดว่ามันก็จะพิสูจน์ให้เห็นตรงนี้แหละ ว่าเรามีพื้นฐานมากน้อยขนาดไหน
ไม่เลยครับ ไม่เคยดูเลย เพราะว่าเหมือนยุคนี้คนที่วาดรูปด้วยมือไม่มีแล้ว ไม่เคยเห็นเลย สมัยที่ผมเรียนก็จะมีเขียนภาพด้วยมือ แต่เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์หมด ก็คือว่าต้องทำโปรแกรมพื้นฐานให้ได้
จริง ๆ ทั่วไปที่เป็นที่นิยมสำหรับวงการสถาปัตย์ก็คือ SketchUp แล้วก็ถ้าเป็น Interior Design ก็จะมี 3ds Max อะไรพวกนี้ที่สร้างภาพ Rendering ขึ้นมาก็จะมีเรื่อง AutoCAD ที่ไว้เขียนแบบ Photoshop เกี่ยวข้องบ้างนิดหน่อย ซึ่ง RAD Studios ก็คือใช้โปรแกรมพวกนี้
ผมว่าสำคัญสุดเลยอาชีพนี้ ก็คือ Endurance ความอดทน หลาย ๆ วิชาชีพผมคิดว่าต้องใช้ แต่ว่าอันนี้ผมให้เป็นเบอร์หนึ่ง เพราะว่าหลาย ๆ บริษัทต้องทำงานหนัก ก็ต้องเจอก่อน แล้วก็อาจจะมีอดทนจากแรงกดดันด้วยในบางครั้งนะครับ ทำไม่ทัน คิดไม่ออก แต่ต้องออกมาแล้วอะไรแบบนี้ แล้วก็โดนกดดันจากลูกค้า แล้วก็การแก้ปัญหา ก็เลยคิดว่าความอดทนสำคัญสุด
Soft Skills ที่รองลงมาก็คือการปรับตัว อันนี้สำคัญว่าเรามี Fixed Mindset หรือ Open Mindset ถ้าเราปรับตัวเก่ง มันจะไปได้ดี ยืดหยุ่น อันนี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญ ผมให้สองตัวนี้เป็นตัวหลัก ส่วนอันอื่น ๆ ผมคิดว่ามีแล้วดี Critical Thinking อะไรพวกนี้ คือมันก็จะช่วยทำให้เราโดดเด่นขึ้นมา สมมุติมีพนักงาน 20 คน เรามีตรงนี้ขึ้นมา เราก็จะเด่นขึ้นมา แต่การที่จะเอาตัวรอดในสายงานดีไซน์ควรจะมีสองตัวแรก
จริง ๆ ไปได้เยอะมากครับ เพราะว่าถ้าสังเกตรุ่นพี่เก่า ๆ เลย สถาปัตย์ จุฬาฯ ก็จะมีดารา ผู้จัด เยอะ จริง ๆ พื้นฐานของการที่จะไปต่อได้ เพราะความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเรียนสถาปัตย์ ข้อดีก็คือสอนให้สร้างสรรค์ พอสอนให้สร้างสรรค์ มันสามารถไปสร้างสรรค์ในอะไรก็ได้ เป็นการสร้างธุรกิจก็ได้ มันก็สามารถสร้าง Firm ที่มีบางอย่างใหม่ได้ สร้าง Product สมมุติผมมีน้องสาวทำงานเภสัชกร ไปทำยาที่มันเป็นแบบนี้ได้มั้ย เรามีไอเดีย คือสามารถไปได้กับทุกอย่างเลยครับ คือจุดเด่นของคนที่เรียนสถาปัตย์
การที่จะทำให้เราเติบโตในสายวิชาชีพมันต้องการเวลา การที่จะผลิตหนึ่งผลงาน สอง-สามปี แล้วก็จะมีงานต่อ ๆ ไป ไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการรักษาให้ความรู้สึกอยากทำงานยังคงอยู่ แยกออกจากคำว่า Passion นะครับ เพราะว่า Passion มักจะเกิดขึ้น ณ ตอนที่เราจะเริ่มทำอะไร คือ Passion มันไม่ใช่มาราธอน ไม่ใช่การวิ่งมาราธอน มันคือการที่จะออก Sprint มี Passion เยอะ เราก็จะ Sprint ได้ดี แต่ว่าการที่เราวิ่งมาราธอนหรือวิ่งระยะยาวมันต้องการความอดทนที่บอกไป เพราะว่าผลงานเราต้องรอเวลา ฉะนั้นการที่เราจะมี Mindset ในการที่ทำยังไงก็ได้ให้เรายังมีความสุขกับมัน แล้วก็สามารถทำต่อไปได้จนเห็นผลในระยะยาว มันคืออะไร
อย่างตัวผมเอง ผมก็จะเหมือนสร้างเป้าหมายเล็ก ๆ ในทุกอย่าง โปรเจกต์นี้อยากทำอะไร บ้านอีกแล้ว บ้านหลังที่ยี่สิบ มันก็คือบ้าน เดี๋ยวก็มีห้องนอน ห้องน้ำ ในแต่ละโจทย์ เราก็จะตั้งโจทย์ให้มัน อันนี้คือ Mindset เล็ก ๆ ของผม ที่ผมมองว่าทำในทุก ๆ งานให้มันมีความสนุก เหมือนตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง ตั้งเป้าหมายให้โปรเจกต์ โปรเจกต์นี้ งบประมาณเท่านี้ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม บางทีมันไม่ได้เกี่ยวกับการออกแบบ บางทีมันก็เป็นงานหนึ่งที่ทำให้เรามีแรงผลักดันในการทำงานต่อ คือผมก็จะทำแบบนี้กับลูกน้องทุกคน คุณจะได้รับโปรเจกต์นี้ เอารางวัลให้ได้ โปรเจกต์นี้เอางบประมาณให้ได้ อะไรแบบนี้ มันก็จะมีเป้าหมาย ไม่ใช่ทำให้ดี แต่ว่าดีขนาดไหนถึงจะพอ และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันจะหล่อเลี้ยงให้เราไปถึงในจุดที่วันหนึ่ง เราผ่านสามงาน ห้างาน ที่ผ่านมา ทำให้เราประสบความสำเร็จในวิชาชีพได้ คือมันต้องใช้เวลา โดยมากคนจะล้มหายไปจากวิชาชีพไปก่อนเพราะว่ามันรอไม่ไหว คือล้มเลิกไปก่อน ก็เลยคิดว่า Mindset ในเรื่องตั้งเป้าหมายระยะสั้น แล้วก็ทำให้สำเร็จในทุก ๆ วันให้ได้ มันน่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราไปยืนในระยะยาวได้ เราภูมิใจในงานของเรามันก็โอเคแล้ว
หลัก ๆ ถ้างานสายออกแบบเราจะดู Portfolio แล้วก็เราจะดูเกรด ก็คือเราจะดูนิสัย เกรดมันจะบอกนิสัยว่าคุณรับผิดชอบมั้ย คือไม่ได้บอกว่าเรียนเก่งหรือไม่เก่ง อย่างที่บอกคือคอนเทนต์ของการเรียน เราใช้จริงได้น้อยมาก ก็หาคนที่เกรดดี แน่นอนคุณก็ต้องตั้งใจเรียน เข้าเรียนมันก็มีผลในเรื่องนี้ ส่วนฝีมือ เราก็จะดูใน Portfolio ตอนเรียนเขาจะมีอยู่แล้วครับ เขาก็จะเก็บผลงานตอนเรียน แต่ถ้ายิ่งไปรับงานนอกมาฝึก ประสบการณ์มาก็ดีเลย ก็ดูภาพรวม คุณเสนออะไรมาเราก็ดูหมด
คิดง่าย ๆ ว่าถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท แล้วมีแบบยี่สิบอันมาวาง ทำยังไงให้เราเป็นอันที่เขาจะหยิบขึ้นมา ตั้งโจทย์ให้ตัวเองก่อนว่าทำยังไงให้ Portfolio เรามันเตะตาเป็นหนึ่งในยี่สิบ แล้วเขาหยิบอันที่หนึ่งมา ให้เราเป็นอันที่หนึ่งในนั้น ต้องเด่น อันดับที่สองก็คือว่าคุณสมัครออฟฟิศอะไร Job Description เขาต้องการใคร ทำการบ้าน บางทีเราอยากจะแสดงออกถึงตัวตนของเรา แต่งานเล็กงานน้อยงานปีหนึ่งไม่ได้สวยเลยใส่มาให้หมดเลย บางอย่างงานไม่ดีมันก็ทำให้เราดูไม่ดีเขาก็ไม่เลือก หรือบางอย่างไม่ได้เข้ากับเขาด้วย บางคนก็จะทำ Portfolio หนึ่งอัน แล้วก็ส่งห้าบริษัท สิบบริษัทแล้วแต่คน แต่บางคนจะทำแบบเฉพาะเจาะจงว่าออฟฟิศนี้ใช่มั้ย เน้นทางก่อสร้าง ผมส่งเขียนแบบไปเยอะ ๆ ผมมี Portfolio เขียนแบบ ออฟฟิศนี้ Modern ผมก็คัดเฉพาะงาน Modern มา แล้วก็คัดเอามาใส่ให้ออฟฟิศนี้
ผมเชื่อว่าในแต่ละบริษัทน่าจะต่างกันมาก ๆ แต่โดยทั่วไปคิดว่า ถ้าบริษัทระดับไม่ใหญ่ก็จะ Casual ก็จะคุยกันเหมือนพี่น้องรู้จักกันแล้วเราก็จะดูจริตว่าตรงกันหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่มันก็มีขั้นตอน มี HR มันก็จะเหมือนสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ก็จะดู Background นั่นนี่ การแต่งตัวก็สำคัญ เป็น First Impression เลย พอมันเป็นงานออกแบบ เราอยากรู้รสนิยมคุณ อันนี้สำคัญ ถ้ามาเนี้ยบ ใส่สูทมาบางทีก็ไม่ได้เหมือนกันนะ คือวิชาชีพเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น
เปิดรับนะครับ เราเปิดรับทั้งสถาปนิกแล้วก็ Interior Designer นะครับ มีทีม Production ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างด้วย ใครถนัดเรื่องแบบก็มาได้เหมือนกัน จริง ๆ เราเปิดตลอด เพราะว่านอกจากบริษัทเราเล็ก ก็ยังอยากให้มันเล็กแบบนี้ เราคัดสรรเหมือนกัน
ส่วนใหญ่ก็จะมองหาคนที่พร้อมเรียนรู้ครับ แล้วก็อยากให้เติบโตไปกับเรา เพราะว่าเราไม่ใช่บริษัทใหญ่ บางคนอยากเข้ามา ฉันเป็นส่วนหนึ่งของ Louis Vuitton สมมุติ มันยืดอกได้เลย แต่ว่าของเรา เข้ามาสร้างไปด้วยกันมั้ย มาโตไปด้วยกันมั้ย ประมาณนั้นมากกว่า
ถ้าลงรายละเอียดจริง ๆ คนที่เป็นสถาปนิกจริง ๆ ผมคิดว่าน่าจะเกาะกลุ่มกับกลุ่มเพื่อนบริษัท และเพื่อนในมหาวิทยาลัยมากกว่า แต่ถ้าเป็นระดับเจ้าของออฟฟิศ เขาจะมี Generation ก็จะมีสถาปนิก เรามักจะเรียกว่า “ซุป'ตาร์” เป็นเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ เขาก็จะเป็นกลุ่มเพื่อนของเขา แล้วก็รองลงมาก็จะมี กลุ่มเพื่อนตามช่วงอายุอะไรแบบนี้ มันก็จะเป็นกลุ่ม ๆ แต่ถ้าเป็นน้อง ๆ ผมคิดว่าโดยทั่วไปก็จะเกาะกลุ่มกันในบริษัท แล้วก็เพื่อนเก่าที่มาจากมหาวิทยาลัยมากกว่า แล้วค่อย ๆ พัฒนา Connection ไป
เด็กสมัยนี้ข้อเสียอย่างหนึ่งคือ มีความกดดันตัวเอง เหมือนอยากประสบความสำเร็จเร็ว อยากบอกให้ใจเย็นนิดนึง เลือกบริษัทที่ใช่กับเรา คำว่าใช่กับเรา หมายถึงเราต้องรู้ก่อนว่า เรา Introvert หรือ Extrovert อยากทำงานเป็นทีมมั้ย แล้วก็เลือกบริษัทที่เขาสอนเราให้เยอะ สำหรับช่วงเริ่มต้นของอาชีพนะครับ เพราะว่าอย่างที่บอกก็คือ Career Path มันยาว แล้วเรามีโอกาสผิดพลาดอีกเยอะ ทางลัดก็คือ ถ้าบริษัทที่เขาสอน เราก็จะเก่งขึ้นเร็ว ถ้าส่วนตัวจริง ๆ ไม่แนะนำให้เริ่มด้วย Freelance เว้นแต่ว่าเป็นคนเครือข่ายดีจริง ๆ แต่ผมคิดว่าจะไปสร้างความผิดพลาดให้ลูกค้ามากกว่าเพราะฉะนั้นจริง ๆ ต้องรู้จักตัวเองแล้วก็เริ่มจากจุดนั้น
สำหรับน้อง ๆ จบใหม่เวลาเรารับสมัครงาน เราดู Portfolio เราก็แค่ดูภาพรวมของสิ่งที่เขาทำมา แล้วก็ความรับผิดชอบของเขาจากเกรดอย่างที่บอกนะครับ แต่ว่าส่วนต่าง ๆ หลังจากนี้มันก็คือการที่เราต้องสอนเขาเพราะว่าเขาไม่รู้ ถ้าจุด ณ ตรงนั้น เราไม่เปิดรับ อันนี้จะยากสำหรับเรา คือจริง ๆ คำแนะนำก็คือว่าเราเป็นคนเปิดรับกับการเรียนรู้มากกว่าเพราะว่าเราไม่รู้อะไรอีกเยอะเลยสำหรับเด็กที่จบใหม่นะครับ
แล้วก็อยากจะฝากอีกนิดหนึ่งว่าจริง ๆ สถาปนิกมีพาร์ทของความเป็นสถาปนิกอีกเยอะ หมายถึงว่าคือเราไม่จำเป็นต้องออกแบบเก่งก็ได้แล้วไม่ต้องเป็นตัวท็อปของรุ่นก็ได้ สมมุติเราเก่งเลขเราก็สามารถทำงานด้านการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการก็ได้ ไปอยู่กับสถาปนิกใน Developer ก็ได้ ไปช่วยทำตัวเลขวิเคราะห์โครงการก็ได้ ถ้าเราเป็นสายที่ศึกษาเก่งเราไม่จำเป็นต้องเป็นออกแบบอย่างเดียวหรือชอบไปลุยไซต์งาน เราไม่ชอบนั่งออฟฟิศ มันก็จะมีบริษัทที่เน้นไปด้านนั้นหรือตำแหน่งงานที่ไปด้านนั้น แต่ก็เป็นสถาปนิกเหมือนกัน มันไม่ได้แค่ว่าคุณต้องนั่งโต๊ะแล้วออกแบบ มันมีอีกหลายแขนง ซึ่งทำให้ผมคิดว่าน้อง ๆ ทุกคน ก็จะมี Slot ของตัวเอง เราจะมีทางของตัวเองครับ