แนวคิด Self-Concept รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเองมากกว่าที่เคย

01/01/24   |   18.2k   |  

 

  • Self-Concept เป็นทฤษฎีในการนิยามตนเอง เพื่อช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของเราเองมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน และการใช้ชีวิต
  • ทฤษฎีตัวตน (Self-Theory) ของ คาร์ล โรเจอร์ ช่วยอธิบาย Self-Concept ได้โดยแบ่งตัวตนออกเป็น 3 แบบ คือ ตัวตนที่มองเห็น ตัวตนตามที่รับรู้ และตัวตนตามอุดมคติ
  • เป็นเรื่องปกติที่เราอาจจะยังค้นหาตัวตนไม่เจอ หรือไม่พอใจในตัวตนปัจจุบัน แต่เราสามารถค้นหาและพัฒนาตัวตนของเราได้พร้อมกัน 

 

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

“เราคือใคร” หนึ่งในคำถามที่อาจเกิดขึ้นในใจของใครหลายคน โดยเฉพาะกับวัยทำงาน ที่กำลังรู้สึกสับสน และหลงทางกับสิ่งที่เลือกทำอยู่ในตอนนี้ เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องแบกรับภาระและสร้างตัวไปพร้อม ๆ กัน จนทำให้ไม่มีเวลาได้คิดทบทวนว่าชีวิตที่มีความสุขในแบบที่เราต้องการคืออะไรกันแน่ “Self-Concept” เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีในการนิยามตัวเอง ที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวตนของเราเอง และกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

ทำความรู้จักแนวคิด Self-Concept

Self-Concept คือ แนวคิดภาพสะท้อนที่เรามีต่อตัวเราเอง เหมือนกับการยืนส่องกระจกแล้วถามตัวเองว่า คนในกระจกที่เราเห็นเป็นคนแบบไหน ซึ่งอาจฟังดูเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่ในความเป็นจริงเราสามารถสังเกตได้จากการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของตัวเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวเรา

 

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด อาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบทำในชีวิตประจำวันจนติดเป็นนิสัย แต่ตัวเราเองอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือนิสัยของเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเวลาว่างในวันหยุด แล้วเรามักเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าการอยู่บ้าน แม้ว่าจะเหนื่อยล้าจากการทำงานแค่ไหนก็ตาม สิ่งนี้อาจจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่บ่งบอกได้ว่าเรามีนิสัยชอบผจญภัยเพื่อพบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าการนอนพักผ่อนอยู่บ้านให้หายเหนื่อย ซึ่งอาจจะหมายถึง เราเป็นคน Extrovert ที่รู้สึกมีความสุขเมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งใหม่ ๆ ที่พบเจอ มากกว่าการปลีกวิเวกอยู่เพียงคนเดียว

 

5 เทคนิคการสัมภาษณ์งานสำหรับคน Extrovert

 

อีกส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้นก็คือ ภาพสะท้อนที่คนอื่นมองเราจากบทบาททางสังคมที่แตกต่างกันไป เช่น ในบทบาทของเพื่อนร่วมงาน เราดูเป็นคนจริงจังและเคร่งเครียดตลอดเวลา แต่ในบทบาทของสมาชิกในครอบครัว เราอาจดูเป็นคนที่อ่อนโยน ใส่ใจคนในครอบครัวเป็นอย่างดีเสมอ ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า แท้จริงแล้ว อุปนิสัย วิธีคิด และการแสดงออกต่อผู้คนรอบข้างที่เรามี แบบไหนคือสิ่งที่เราเป็นจริง ๆ
 


องค์ประกอบของ Self-Concept ตามทฤษฎีของ Carl R. Rogers

การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีกฎเกณฑ์ อาจทำให้เราทุกคนมีวิธีในการแสดงออกที่แตกต่างกันไป บางคนเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่บางคนก็ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างที่ตัวเองต้องการ หากจะหยิบยกทฤษฎีมาอธิบายเรื่อง Self-Concept ได้ดีที่สุด ก็คงหนี้ไม่พ้นทฤษฎีตัวตน (Self-Theory) ของ คาร์ล โรเจอร์ ที่แบ่งการมีตัวตนของคนเราออกเป็น 3 แบบ คือ ตัวตนที่มองเห็น ตัวตนตามที่รับรู้ และตัวตนตามอุดมคติ ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

Self-Image

Self-Image เป็นการที่เรามองตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร เช่น เรารู้สึกว่าเราเป็นคนฉลาด มีความคิดสร้างสรรค์ ใส่ใจในรายละเอียด หรือชอบเรื่องที่ท้าทายกรอบความคิด อาจเป็นสิ่งที่เราคิดว่านั่นเป็นตัวตน และนิสัยที่แท้จริงของเรา แต่อาจเป็นเพียงมุมมองส่วนตัวเท่านั้น และผิดจากที่คนอื่นมองเราก็เป็นได้ 

 

Real-Self

คือตัวตนที่เราเป็นจริง ๆ ทั้งความคิด การกระทำ และการแสดงออกที่เกิดขึ้นจากบุคลิกนิสัย จะมีความแตกต่างกับตัวตนที่เรามองว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร ซึ่งจะรับรู้ได้ผ่านการทบทวนตัวเอง หรือสอบถามจากคนรอบข้างในชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กับเรา จึงอาจจะเป็นจุดที่ทำให้หลายคนจมกับความรู้สึกผิด เมื่อได้รู้ถึงข้อดีและข้อด้อยในบุคลิกนิสัยของตัวเอง

 

Ideal-Self

ตัวตนในอุดมคติ คือ สิ่งที่เราอยากจะเป็น แต่ยังไม่สามารถเป็นได้ เหมือนเป็นภาพในอุดมคติที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในที่ประชุมได้ แต่สิ่งที่เราอยากจะเป็น คือ คนที่กล้าแสดงออก พูดคุยได้อย่างไม่เคอะเขินในที่ประชุม เพราะจะช่วยให้เราได้มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงานได้มากกว่าการเป็นคนเงียบ

 

 

 

วิธีพัฒนา Self-Concept ให้ใจตัวเองแข็งแรง 

การไม่พอใจในจุดที่เป็นอยู่ของชีวิต เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะต้องเจอในช่วงค้นหาตัวตน แต่การหาจุดที่พอดีในชีวิตให้เจอได้เร็วที่สุดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยิ่งเข้าใจถึงอุปนิสัย ความชอบ และความต้องการในชีวิตได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราเข้าใกล้ชีวิตในแบบที่เราพึงพอใจได้เร็วขึ้นเท่านั้น

 

สำรวจตัวเอง: รู้จักตัวเองให้มากขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบ

สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้ในทันที คือการสำรวจตัวเองทั้งในแง่ดี และแง่ที่ไม่ดี จากการคิดทบทวนถึงสิ่งที่เราเป็นมาโดยตลอด ทั้งการกระทำ คำพูด และผลกระทบที่เกิดกับคนรอบข้างในชีวิต เพื่อที่จะได้เห็นภาพได้ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาเราเป็นคนแบบไหน มีด้านไหนบ้างที่เรารู้สึกว่าดีอยู่แล้ว และด้านไหนบ้างที่เรารู้สึกว่าอยากจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

ตั้งเป้าหมาย: กำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน

มีคนเคยกล่าวว่า คนเรามักจะเปลี่ยนทุก 3-5 ปี ในด้านอุปนิสัยใจคอ ความชอบ และมุมมองในการใช้ชีวิต ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดมาจากสภาพแวดล้อมที่อยู่ และสิ่งที่เราเสพจากความสนใจส่วนตัวในขณะนั้น การมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอะไรในชีวิตทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยาว จะช่วยทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายได้ง่ายมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องงาน เราอยากจะไปถึงในตำแหน่งที่ต้องการภายในระยะเวลากี่ปี ถ้าเรามีเป้าหมายแบบนี้แล้ว เราก็จะเริ่มหาหนทางในการพัฒนาตัวเองให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งการเลือกงานที่ตรงกับนิสัย และความต้องการในด้านอื่นประกอบกัน ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ทำงานมีความสุข และมีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

 

 

ลงมือทำ: ลงมือทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

เมื่อตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้แล้ว สิ่งต่อมาก็คือการลงมือทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คนเราเมื่อมีเป้าหมายก็จะมีความอดทนในการทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้เดินไปถึงเป้าหมายได้อย่างไม่ย่อท้อ ซึ่งเป้าหมายที่ว่านั้นอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตที่ไม่ต้องยิ่งใหญ่ก็ได้ เช่น การตื่นก่อน 7 โมงเช้าเพื่อออกไปวิ่ง การพยายามเก็บเงิน เพื่อนำไปท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ เป้าหมายเล็ก ๆ พวกนี้สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และนิสัยของเราให้มีวินัยขึ้นได้ แม้ว่าจะไม่ใช่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นการขยับเข้าใกล้สิ่งที่เราต้องการในชีวิตทีละก้าวก็ยังดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย

 

ยอมรับตัวเอง: เรียนรู้ที่จะยอมรับในสิ่งที่เป็นตัวเอง

เมื่อเรารู้แล้วว่าตัวเองมีนิสัยอย่างไรจากการสำรวจพฤติกรรมและการกระทำที่ผ่านมา รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มีการวางเป้าหมาย และลงมือทำแล้ว เราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าสิ่งที่เราทำลงไปจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดหรือไม่ก็ตาม การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ฝืน เพราะเราไม่สามารถเป็นคนที่เพอร์เฟกต์ทั้งต่อตัวเราเอง หรือคนรอบข้างได้ตลอดเวลา

 

การตั้งเป้าหมายในชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ และคนที่มีเป้าหมายในชีวิตมักเป็นคนที่เข้าใจตัวเองได้อย่างถ่องแท้ การเข้าใจเรื่อง Self-Concept ในเรื่องนิสัยใจคอและความต้องการในชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนวัยทำงานไม่ควรจะมองข้าม และถ้าหนึ่งในเป้าหมายคือการหางานใหม่ที่จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิต การเลือกหางานจากเว็บที่เปิดโอกาสในการหาความก้าวหน้าอย่าง JobThai ก็เป็นอีกทางเลือกที่ตอบโจทย์คุณได้เช่นกัน 

 

เพิ่มโอกาส ได้งานที่ใช่ เพียงฝากประวัติ กับ JobThai

 

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

Source:

verywellmind.com

positivepsychology.com

thoughtco.com

sharingcitizen.co

starfishlabz.com

krungsri.com

tags : self-concept, ทำความเข้าใจตัวเอง, รู้จักตัวเอง, คนทำงาน, การทำงาน, jobthai, หางาน, สมัครงาน, แนวทางการใช้ชีวิต, แนวคิดในการทำงาน, แนวคิดในการใช้ชีวิต, เคล็ดลับประสบความสำเร็จ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม