JobThai Mobile Application หางานตรงใจได้ผ่านมือถือ โหลดเลย!
iOS
Android
Huawei AppGallery
|
|
“แจ้งลาออกแต่บริษัทไม่ให้ออก” หรือ “ไม่อนุมัติการลาออก” เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ ลูกจ้างควรจัดการอย่างไรถึงจะคลี่คลายปัญหาได้โดยไม่ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน JobThai ได้รวบรวมสาระสำคัญที่ลูกจ้างต้องรู้เพื่อรักษาสิทธิของเราเองมาฝาก!
สัญญาจ้าง หรือที่เรียกว่าสัญญาจ้างแรงงาน หมายถึงสัญญาที่จัดทำขึ้นระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง โดยระบุว่าลูกจ้างจะทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงาน
สัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลา
เป็นประเภทสัญญาจ้างที่ระบุระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการทำงานอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สัญญาจ้าง 6 เดือน สัญญาจ้าง 1 ปี หรือ สัญญาจ้าง 3 ปี หากลาออกก่อนกำหนด ลูกจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่นายจ้างตามข้อตกลงที่ระบุในสัญญาจ้าง
สัญญาจ้างแบบไม่กำหนดระยะเวลา
เป็นประเภทสัญญาจ้างที่ไม่ระบุระยะเวลาในการทำงาน หากเราเซ็นสัญญาประเภทนี้กับบริษัท เราสามารถยกเลิกสัญญาหรือลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ และองค์กรก็สามารถยกเลิกสัญญาหรือเลิกจ้างเราได้เช่นกัน
ตามกฎหมาย มาตรา 17 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างสามารถลาออกได้โดยไม่ต้องแจ้งให้บริษัททราบก่อนล่วงหน้า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาจ้างด้วย เนื่องจากบางบริษัทมีการระบุลงในสัญญาจ้างว่าหากพนักงานประสงค์จะลาออก ต้องแจ้งให้ทางบริษัททราบตามระยะเวลาที่ตกลงกัน ซึ่งถ้าเราไม่ได้ทำตามข้อระบุนั้น ลาออกโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้าตามกำหนด บริษัทก็อาจยื่นฟ้องเราได้ในกรณีที่การลาออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าของเราสร้างความเสียหายให้กับบริษัท แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
ทำไมถึงควรแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วัน
ใจเขา ใจเรา เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกัน ทุกตำแหน่งในบริษัทล้วนมีความสำคัญ การแจ้งลาออกล่วงหน้า 30 วันก็เพื่อให้บริษัทมีเวลาหาคนมาทำงานแทน หรือเพื่อให้เรามีเวลาส่งต่องานให้กับคนอื่นที่จะมาดูแลงานส่วนของเราต่อ แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ
สถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจอย่างการแจ้งลาออก แต่เจ้านายไม่อนุมัติ หรือยื่นใบลาออกแล้วแต่บริษัทไม่ให้ออก ถ้าลูกจ้างไม่เข้าข่ายกระทำความผิดใด ๆ สามารถทำตามวิธีดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบระยะเวลาแจ้งออกในสัญญาจ้าง
ตรวจสอบระยะเวลาแจ้งลาออก เพื่อนำไปปรึกษากับฝ่ายบุคคลว่าจะสามารถลาออกอย่างถูกต้องโดยไม่ผิดสัญญาได้อย่างไร ในกรณีที่เราทำสัญญาแบบไม่กำหนดระยะเวลา แม้จะสามารถลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เพื่อไม่ให้งานที่เรารับผิดชอบอยู่เกิดปัญหาหรือได้รับความเสียหายจากการลาออกของเรา แนะนำให้เจรจาและหาทางออกที่เหมาะสมกับทั้งสองฝ่าย
2. เขียนใบลาออกให้เป็นกิจจะลักษณะ
หลังจากปรึกษาและพูดคุยกับฝ่ายบุคคลแล้ว ก็ดำเนินเรื่องเขียนใบลาออกให้เป็นกิจจะลักษณะ โดยระบุวันที่สิ้นสุดการทำงานให้ชัดเจน กรณีบริษัทไม่ยินยอมและต้องการฟ้องร้อง จะได้มีหลักฐานยืนยันว่าเราแจ้งลาออกอย่างถูกต้อง และต้องไม่ลืมถ่ายสำเนาเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าเราแจ้งลาออกอย่างถูกต้อง
3. ทำงานให้ครบตามระยะเวลาที่เหลือ
หลังจากยื่นใบลาออกที่ระบุวันที่สิ้นสุดการทำงานแล้ว เราก็ทำงานให้เต็มประสิทธิภาพตามระยะเวลาที่ตกลงกับทางบริษัท เมื่อครบกำหนดแล้วก็ถือว่าสิ้นสุดการทำงาน ถึงแม้จะไม่ได้รับการอนุมัติใด ๆ ก็ถือว่าการลาออกของเราสมบูรณ์แล้วโดยไม่ผิดกฎหมาย
ลูกจ้างไม่ต้องกังวลหากต้องเผชิญกับสถานการณ์ลาออกแล้วแต่บริษัทไม่อนุมัติให้ออก เพียงสัญญาจ้างสิ้นสุด หรือลูกจ้างแสดงเจตนาต้องการลาออกและทำเรื่องลาออกตามระเบียบแล้ว การลาออกนั้นจะถือว่ามีผลทันที ไม่ต้องรอให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติ แต่ต้องไม่ลืมที่จะขอใบรับรองการทำงานเพื่อใช้ในการหางานครั้งหน้าด้วย เพราะถึงแม้บริษัทจะไม่เห็นชอบที่พนักงานลาออก แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่ออกใบรับรองได้
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน