เจาะหลายเหตุผลของคนทำงานกับการลาออก
เจาะเหตุผลของคนพูด แต่ไม่(ลา)ออก
เจาะเหตุผลของคน(ลา)ออก แต่ไม่เคยพูด
เหตุผลมากมายที่ทำให้คนทำงานอย่างเราเดินเข้าไปแจ้งความจำนงกับผู้บังคับบัญชาว่า “มาแจ้งลาออกครับ/ค่ะ” บางคนก็มีท่าทีหรือมีสัญญาณบางอย่างมาสักพัก บางคนแทบไม่มีสัญญาณอะไร ในขณะที่บางคนพูดในวงสนทนาบ่อยครั้งแต่ไม่ออกสักทีก็มีถมไป
JobThai จึงอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจกันว่าอะไรที่ทำให้ “คนพูดไม่ออก แต่คนออกกลับไม่พูด” พร้อมกับเหตุผลที่มักทำให้คนลาออก ที่ไม่ว่าจะลาออกแบบไหนก็ไม่ได้มีปัจจัยแตกต่างกันมากมายนัก
การลาออกของคนทำงานถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ต้องใช้ความกล้าสูงแต่สุดท้ายการลาออกก็จะเป็นอีกหนึ่งขั้นบันไดที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับคนทำงานอยู่ดี แล้วเหตุผลอะไรที่ทำให้คนทำงานลาออกบ้าง
เพราะจุดมุ่งหมายของตนไม่ตรงกับวิสัยทัศน์และทัศนคติขององค์กร ทำให้หากทำงานต่อไปอาจสร้างความอึดอัดให้ตัวเองได้
เพราะการทำงานเป็น Routine หรือทำงานแบบเดิมนาน ๆ อาจไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนทำงานที่ชอบความท้าทายสักเท่าไหร่ การออกไปหาความท้าทายใหม่ ๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
เพราะไม่พึงพอใจในเรื่องเงินเดือนและโอกาสในการเติบโตของตัวเอง ตำแหน่งอยู่ที่เดิมและเงินเดือนก็ไม่ตอบโจทย์ ก็เป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้ลาออกได้เช่นกัน
เพราะ “คน” ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือคนที่บ้าน หากทำให้การทำงานของเรามีปัญหา ก็คงจะทำให้อึดอัดใจไม่น้อย
เพราะมีโอกาสที่ดีกว่าเข้ามา เช่น ได้รับ Offer จากบริษัทอื่น หรือมีคนรู้จักแนะนำงานใหม่ ๆ ที่เราเห็นว่าน่าสนใจ และส่งผลดีกับเราทั้งการเติบโตและรายได้ แม้จะไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการทำงานที่เดิม แต่การได้โอกาสใหม่ที่น่าสนใจก็ทำให้คนทำงานหลายคนไม่สามารถปฏิเสธได้
คนทำงานที่มักจะพูดว่า “อยากลาออกให้มันจบ ๆ ไป” ความจริงแล้วมีอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้เขาพูดคำนี้ออกมา อาจเป็นเพราะเกิดความน้อยใจบางอย่างในบริษัท น้อยใจกับคำพูด การกระทำของหัวหน้า หรือมีปัญหาส่วนตัวบางอย่าง อาจเป็นเพียงความรู้สึกชั่วขณะที่ทำให้อยากระบายกับเพื่อนร่วมงานหรือระบายกับคนใกล้ตัวที่ไว้ใจ ซึ่งคนฟังหลายคนอาจคิดว่าการเอาแต่พูดว่า “อยากลาออก ๆ” นั้นเป็นเพียงการเรียกร้องความสนใจไม่ต้องไปให้น้ำหนักมากหรอก แต่หากเรามองลงไปลึก ๆ การที่เขากล้าพูดถึงเรื่องการลาออกมาตรง ๆ แบบนี้ เพราะตัวเขาเองเผชิญปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้หรือเปล่า ซึ่งหากเราไม่ยอมรับฟัง ไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยหรือเสนอทางแก้ไข การพูดในวันนี้อาจกลายเป็นการปฏิบัติจริงเข้าสักวันก็ได้
การแจ้งความจำนงในการออกเลยโดยที่ไม่เคยพูดและไม่เคยมีสัญญาณมาก่อน อาจเป็นเพราะตัวเขาเองนั้นคิดว่าการลาออกเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จึงไม่อยากป่าวประกาศออกไปเพราะอาจทำให้บรรยากาศในการทำงานเสียหรือกลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะปฏิบัติกับตัวเองเปลี่ยนไป ยิ่งไปกว่านั้นหากเกิดปัญหาบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถลาออกได้ทันที การพูดออกไปก็อาจกลายเป็นคำที่ดูไม่มีน้ำหนักไปเลย จึงทำให้คนทำงานหลายคนเลือกที่จะเก็บคำลาออกไว้กับตัวเองและหัวหน้าเท่านั้น กว่าเพื่อนร่วมงานจะรู้ก็เมื่อทำเรื่องลาออกเรียบร้อยแล้วจริง ๆ
การลาออกเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคนอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าเราจะลาออกด้วยเหตุผลอะไร หรือลาออกแบบไหน ออกเลยไม่พูดมาก หรือพูดมาเรื่อย ๆ แล้วค่อยออก สิ่งสำคัญในการลาออกที่เราไม่ควรลืมคือ มารยาทในการลาออก อย่างการเคลียร์งานที่ค้าง บอกเพื่อนร่วมงานที่ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ให้การลาออกของเราส่งผลเสียต่อการทำงานในภาพรวม และอาจทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อเราได้
ที่มา:
tags : jobthai, career & tips, การลาออก, คนทำงาน, ลาออก, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, ความสุขในการทำงาน, การทำงาน
ท่านสามารถกรอกอีเมลผู้รับได้หลายอีเมล โดยใส่เครื่องหมาย ( , ) คั่นระหว่างอีเมล
ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email