เทคนิคการพูดในที่สาธารณะยังไงให้ดูโปร

18/09/20   |   32.3k   |  

 

  • เชื่อมั่น และเป็นตัวของตัวเอง แสดงออกถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้นที่จะพูด ทำความเข้าใจเรื่องที่จะพูดให้ลึกซึ้ง อย่าอ่านสคริปต์ แต่ระวังอย่าฝืนเล่าเรื่องตลกหากคุณไม่ได้เก่งในเรื่องนี้มากพอ
  • รู้ว่ากลุ่มผู้ฟังเป็นใคร แล้วพยายามหาเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงกับพวกเขา หรือเรื่องที่พวกเขาจะเข้าใจได้
  • อัดวิดีโอแล้วดูว่าตัวเองมีลักษณะท่าทาง หรือการพูดอย่างไร จากนั้นให้ปรับปรุงในส่วนที่คิดว่าควรจะต้องแก้ไข
  • อย่าอ้างแต่สถิติ หรือคำพูดของคนอื่นมากเกินไป แต่ให้ใส่ความคิด มุมมอง หรือประสบการณ์ของคุณเข้าไปด้วย
  • ถ้ามีสไลด์ประกอบการนำเสนอ ให้ใส่เฉพาะรูปภาพ หรือหัวข้อ และข้อความสำคัญ อย่าใส่ข้อความมากเกินไป เพราะผู้ฟังจะเอาแต่อ่านโดยไม่สนใจสิ่งที่คุณพูด
  • เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ถามข้อสงสัยบ้าง และถ้าหากคุณไม่มั่นใจว่าจะตอบคำถามได้ทุกคำถาม อาจใช้วิธีให้มีการถามนอกรอบแทน

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เวลาได้รับหน้าที่พูดต่อที่สาธารณะ ยิ่งมีคนฟังมากเท่าไหร่ ก็มักจะยิ่งตื่นเต้นมากเท่านั้น หลายคนคงพยายามคิดหาวิธี และตัวช่วยต่าง ๆ เพื่อมาทำให้การพูดของตัวเองลื่นไหล ไม่ติดขัด และสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้ ดังนั้นวันนี้ JobThai เลยมีเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณดูเป็นมือโปรในการพูดในที่สาธารณะมากขึ้น ไม่ว่าจะต้องพูดท่ามกลางคนจำนวนมากเท่าไหร่ก็เอาอยู่

 

1. เรื่องที่พูดต้องมีคุณค่า และเข้าถึงผู้ฟัง

ใคร ๆ ก็อยากฟังเรื่องที่มีประโยชน์ และน่าสนใจ ดังนั้นเรื่องที่คุณจะพูดนั้นจำเป็นต้องมีคุณค่า ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ หรือเรื่องให้โทษ ที่สำคัญเรื่องนั้นต้องทัชใจกลุ่มผู้ฟังได้ เช่น บทเรียนชีวิต หรือเรื่องที่นำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ สิ่งที่ห้ามลืมคือคุณต้องรู้ว่ากลุ่มผู้ฟังของคุณเป็นใคร และพยายามพูดเรื่องที่พวกเขาจะเข้าใจและเข้าถึงได้

 

2. เลิกอ่านสคริปต์     

การมีสคริปต์ไว้ท่องก่อนขึ้นพูดจริงเป็นสิ่งที่ดี แต่การเอาขึ้นไปอ่านบนเวทีคงไม่ดีนัก คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าคุณต้องนั่งฟังคนบนเวทีอ่านหนังสือให้คุณฟัง แม้การพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ อาจเป็นเรื่องที่ยาก และกดดัน แต่คุณสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ ลองอ่านทำความเข้าใจในสิ่งที่จะพูดอย่างลึกซึ้ง โน้ตส่วนที่สำคัญแล้วท่องจำให้เป็นธรรมชาติที่สุด และถ้าคุณใช้เวลากับมันมากพอ คุณจะเอาคนฟังอยู่หมัด และสคริปต์จะไม่จำเป็นอีกต่อไป

 

3.ซ้อมพูดด้วยการอัดคลิป  

เวลาพูด คณไม่เห็นว่าตัวเองเป็นยังไง ดังนั้นลองหยิบกล้องหรือมือถือมาถ่ายตัวเองเวลาพูดแล้วสังเกตการพูดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และจังหวะจะโคน คุณจะได้เห็นข้อดีและข้อเสียของตัวเองก่อนใคร ๆ และสามารถปรับปรุงการพูดของคุณได้ทัน ก่อนการพูดจริงจะมาถึง

 

4. เลิกอ้างอิงคนอื่น และเป็นตัวของตัวเอง

ไม่ว่าข้อมูลสถิติตัวเลขจะน่าเชื่อถือ หรือคำคมที่ได้ยินจากคนอื่นมาจะกินใจขนาดไหน แต่ถ้าคุณอ้างถึงสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป คนฟังจะเบื่อและมองว่าคุณไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ดังนั้นแสดงความคิดเห็นของคุณแบบจริงใจ ตรงไปตรงมา เพราะคนฟังอยากได้ยินสิ่งที่คุณคิด ยิ่งถ้าคุณเล่าประสบการณ์ที่เจอมากับตัว หรือมุมมองที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังสนใจกับการได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน 

 

5. รูปภาพช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น

เวลาคุณฟังคนพรีเซนต์งานที่สไลด์มีแต่ตัวหนังสือเต็มเอียด คุณคงจะรู้สึกเบื่อ และตาลายไปกับตัวหนังสือพวกนั้น ดังนั้นการทำสไลด์ที่น่าสนใจคือการใช้รูปภาพประกอบเข้ามาเสริม รวมถึงฟ้อนต์ที่ใช้ก็มีขนาดชัดเจนเพื่อให้อ่านง่าย ไม่ควรใส่ข้อความยืดยาวแต่ให้ใส่มาแค่คำพูดที่เป็นใจความสำคัญที่ต้องการเน้น เวลาพรีเซต์ก็พูดอธิบายขยายความข้อความเหล่านั้นเพิ่มเติม

 

6. ทำตัว Active เวลาพูด

เวลาพูดบนเวทีที่มีสายตาหลายสิบคู่จับจ้องมา แน่นอนว่าพวกเขาจะเห็นการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหวของคุณอย่างชัดเจน ถ้าคุณทำหน้าง่วงเหมือนนอนไม่พอ หรือดูไม่มีเอนเนอร์จี้เลย คนฟังก็คงฟังแบบไม่มีเอนเนอร์จี้เหมือนคุณ แต่ถ้าคุณแสดงออกถึงความแอคทีฟในการพูด คนฟังก็ตื่นตัวไปกับคุณเช่นกัน

 

7. ไม่ตลกอย่าฝืน

การสร้างบรรยากาศเป็นกันเองในการพูดเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่ปกติคุณไม่ใช่คนตลกแล้วพยายามจะเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เพราะใครจะไปรู้ว่ามุกตลกฝืด ๆ ของคุณอาจไปทำลายเรื่องราวดี ๆ ที่คุณพูดมาทั้งชั่วโมง และเรื่องบางเรื่องสำหรับคุณอาจจะตลก แต่สำหรับบางคนอาจไปกระทบจิตใจเขาได้

 

8. ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม

ถ้าอยากให้คนฟังตั้งใจฟังคุณมากขึ้น ในช่วงเริ่มต้นของการพูดควรเปิดให้มีการถาม-ตอบปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่คุณพูด เมื่อผู้ฟังรู้ว่าคุณเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม พวกเขาจะตั้งใจฟังมากขึ้น รวมถึงเตรียมคิดคำถามระหว่างที่ฟังคุณพูด และนั่นจะทำให้ผู้ฟังตั้งใจฟังคุณพูดมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าพวกเขาควรจะถามอะไร

 

9. ตอบคำถามนอกรอบ 

ถ้าคุณยังใหม่ในเรื่องการพูด การตอบคำถามจากผู้ฟังไม่ได้อาจสร้างความลำบากใจ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งของตัวคุณเองและผู้ฟังที่มีต่อตัวคุณ ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่าจะตอบได้ทุกคำถามได้ดี คุณควรจัดให้มีการตอบคำถามแบบตัวต่อตัวนอกรอบ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ฟังที่สนใจในเรื่องที่คุณเพิ่งพูดไป

 

10. เป็นตัวของตัวเอง  

การเชื่อมั่นในตัวเองคือสิ่งสำคัญที่สุด เชื่อมั่นในสิ่งที่คุณเป็น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ต้องการจะบอกเล่าให้แก่ผู้ฟัง  ความมั่นใจนี้จะถูกสะท้อนออกมาผ่านน้ำเสียง ท่าทางในการพูดของคุณ ผู้ฟังจะเกิดความประทับใจและจดจำได้ทั้งตัวคุณและเรื่องราวดี ๆ ที่คุณพูด

 

ฝากประวัติเพื่อหางานได้ ที่นี่

 

 
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
Public group · 23,411 members
Join Group
 

 

ที่มา:
entrepreneur.com

tags : งาน, เทคนิคการทำงาน, การพูดในที่สาธารณะ, career & tips, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม