สิ่งที่หัวหน้ามือใหม่จำเป็นต้องรู้ในช่วงแรกของการรับตำแหน่ง

03/03/23   |   112.1k   |  

 

  • เริ่มต้นจากความมั่นใจก่อนว่าการที่เราได้รับตำแหน่งนั้นเป็นเพราะผู้บริหารเห็นศักยภาพและเชื่อมั่นในตัวเรา เพราะฉะนั้นตัดเรื่องความไม่มั่นใจทิ้งให้หมด

  • การเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ใช่แค่สั่งเป็นอย่างเดียว ต้องรู้จักฟังให้มากขึ้นด้วย ซึ่งเทคนิคง่าย ๆ ในการเรียนรู้การเป็นหัวหน้างานที่ดี เริ่มต้นจากการถามตัวเองว่าก่อนหน้านี้ เราชอบหรือไม่ชอบให้หัวหน้าทำอะไรกับเราบ้าง

  • หาโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารให้ชัดเจนถึงเป้าหมายและความคาดหวังในตัวเรา เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าต้องมุ่งไปทางไหนและจะได้วางแผนถูก

  • พิจารณาถึงความสามารถของลูกทีมแต่ละคน และดูว่างานที่ทำเหมาะกับพวกเขาไหม พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกทีมได้มีการเสนอความคิดเห็น เล่าปัญหาในการทำงาน เพื่อที่จะได้วางแผนงานร่วมกัน

  • ต้องมองภาพใหญ่มากขึ้น จากที่เคยคิดแค่ขอบเขตงานตัวเอง หลังจากนี้เราต้องมองถึงความสำเร็จของทีมเป็นอันดันดับแรก

 

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

การปรับตำแหน่งหรือการถูกโปรโมตเป็นเรื่องที่คนทำงานหลายคนต้องการ เพราะนอกจากเรื่องของรายได้แล้ว การปรับตำแหน่งก็หมายความว่าการทุ่มเทและการพิสูจน์ตัวเองมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งในเรื่องการทำงาน ระเบียบวินัย ไปจนถึงผลงาน ได้เห็นผลแล้ว ซึ่งเมื่อหัวหน้ามือใหม่ถูกปรับตำแหน่งนอกจากภาระการรับผิดชอบงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกหนึ่งความท้าทายอย่างการบริหาร “คน” ก็เป็นเรื่องที่หัวหน้ามือใหม่หลายคนกังวลเช่นกัน

 

วันนี้ JobThai เลยจะมาแนะนำ 5 สิ่งที่หัวหน้ามือใหม่ควรรู้ เพื่อที่จะลดข้อผิดพลาดและยังเป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับทีมได้อีกด้วย 

 

1. เรียนรู้ที่จะเป็น “ผู้นำ” ไม่ใช่ “เจ้านาย”

หลายครั้งหัวหน้ามือใหม่ยังเข้าใจผิดกับหน้าที่หลักของตัวเองว่าคือการสั่งงานเท่านั้น ซึ่งนั่นจะทำให้เรากลายเป็น “เจ้านาย” ทันที แทนที่จะเป็น “ผู้นำ” และด้วยสิ่งนี้ก็อาจทำให้เราไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะอย่าลืมว่าเราเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน นอกจากการได้รับการยอมรับจากหัวหน้าของเราแล้ว เราก็ต้องพิสูจน์และแสดงออกให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นด้วย ว่าเราเข้ามาเพื่อช่วยเหลือและเป็นผู้นำที่จะพาทีมให้เดินทางไปอย่างถูกทาง ซึ่งจริง ๆ แล้วภาวะผู้นำสามารถแสดงออกผ่านการกระทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะการวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกทีมเห็น เป็นโค้ชที่คอยสอนงาน เป็นที่ปรึกษาที่ช่วยให้คำแนะนำ และเป็นเพื่อนที่ร่วมสังสรรค์กันบ้างในบางเวลา ถ้ายังคิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร ให้ลองมองย้อนกลับไปถึงหัวหน้าเก่า ๆ ของเราว่ามีพฤติกรรมอะไรที่พวกเขาทำแล้วเรามีความสุข และอะไรที่พวกเขาทำแล้วเรารู้สึกแย่

 

คุณเป็นหัวหน้าสไตล์ไหน ระหว่างเจ้านาย (Boss) กับ ผู้นำ (Leader)

 

2. เมื่อไหร่ที่รู้ทิศก็จะรู้ทาง ยิ่งรู้เป้าหมายก็ง่ายต่อการวางแผน

การได้รับตำแหน่งหัวหน้าถือเป็นบทบาทใหม่ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเลยเพราะคนทำงานทุกคนก็ต่างต้องเรียนรู้จากประสบการณ์และเริ่มต้นนับหนึ่งในความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น หากเรายังไม่แน่ใจในขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเอง อย่างหน้าที่อะไรบ้างที่เพิ่มขึ้นมา อำนาจการตัดสินใจมีมากแค่ไหน รวมถึงความคาดหวังจากผู้บริหารมีอะไรบ้าง 

 

วิธีที่ดีที่สุดก็คือการคุยกับผู้บริหารโดยตรง ซึ่งเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะช่วยให้เราเห็นภาพว่าต้องทำอะไร หลังจากนั้นการวางแผนก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าเดิม

 

3. มอบหมายงานให้ถูกคน

การมอบหมายชิ้นงานให้ถูกคนก็จะทำให้ทีมของเราแข็งแกร่งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลายคนเมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่ก็มักจะปล่อยให้ลูกทีมทำในสิ่งที่เคยทำโดยไม่ได้พิจารณาว่าแต่ละคนนั้นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดจริงหรือไม่ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ หาเวลาคุยกับทีมเพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องชิ้นงานที่พวกเขาทำอยู่และชิ้นงานไหนที่พวกเขาอยากทำ ศึกษาทีมว่าแต่ละคนมีทักษะอะไรบ้าง จุดแข็ง จุดอ่อน และสไตล์การทำงานของแต่ละคนเป็นยังไง ซึ่งนอกจากเราจะได้คนที่เหมาะกับงานที่สุดแล้ว เราก็อาจจะเจอความสามารถพิเศษบางอย่างที่หลบซ่อนอยู่ในตัวพวกเขาก็ได้ เพราะบางคนเสียเวลาทำสิ่งที่ไม่ถนัดมาทั้งชีวิตแต่พอได้เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ชอบก็อาจสร้างผลงานได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ปัญหาในการมอบหมายงานที่หัวหน้ามือใหม่มักต้องเจอ

 

4. ความสัมพันธ์ภายในทีมสำคัญไม่แพ้ความสามารถ

ความสัมพันธ์ภายในทีมอาจเป็นเรื่องท้าทายที่สุดที่หัวหน้ามือใหม่ต้องเจอ เพราะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งแต่ละคนก็ต่างเติบโตจากคนละที่ นิสัยใจคอคนละแบบ อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจมีทั้งเรื่องสไตล์การทำงาน นิสัยส่วนตัว เราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ สิ่งที่ควรทำคือหาวิธีให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกันได้  อาจเริ่มจากการจัดการประชุมทีมและพูดคุยเพื่อให้ทุกคนเห็นถึงเป้าหมายเดียวกัน และเน้นย้ำว่าเป้าหมายจะสำเร็จได้ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกคน หลังจากนั้นหาเวลาพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับลูกทีมเพื่อสอบถามถึงปัญหาที่พบในการทำงาน หรือความไม่สบายใจต่าง ๆ เพื่อที่จะปรับแก้และหาวิธีที่ลงตัวที่สุด

 

5. เปลี่ยนมุมมองใหม่มองภาพให้กว้างและไกลกว่าเดิม

ตอนนี้หน้าที่ของเราไม่ใช่เพียงทำงานของตัวเองที่ได้รับมอบหมายมาให้เสร็จไปวันวันแล้ว หากมัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักเพื่อทำงานของตัวเองให้เสร็จเหมือนเมื่อก่อนคงไม่เพียงพออีกต่อไปเพราะตอนนี้หน้าที่เราเหมือนเป็นกัปตันเรือ ที่ต้องคอยรับผิดชอบลูกเรืออีกหลายชีวิต ถึงแม้เราไม่จำเป็นต้องออกแรงพายแต่ก็ต้องรู้ว่าหางเสือของเรือลำนี้ต้องหันไปในทิศทางไหน ใครมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง และต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่เพื่อที่จะไปถึงจุดหมายได้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งนอกจากเราต้องคอยดูแลการทำงานในภาพรวมแล้ว เรายังต้องมองไปข้างหน้าเพื่อให้เห็นอุปสรรคที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย เพื่อที่เราจะได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

 

10 สิ่งที่พนักงานต้องการจากคนเป็นผู้นำ

 

ในช่วงแรกของการก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนี้อาจดูวุ่นวายและต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่บ้าง แต่หากเราเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้มาอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วแสดงว่าตัวเราเองก็ต้องมีดีเหมือนกัน การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำที่ดีนั้นไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้แค่เพียงข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง เพราะวันข้างหน้ายังมีความท้าทายอีกมากมายที่รอเราอยู่ในเส้นทางของการเป็นหัวหน้าและการทำงาน

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสในการได้งานที่ใช่ได้ง่าย ๆ สมัครเลย!

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : การทำงาน, เทคนิคการทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, ปัญหาในการทำงาน, เป้าหมายในการทำงาน, หัวหน้า, หัวหน้ามือใหม่, เทคนิคการทํางานเป็นทีม, เทคนิคการทํางานให้มีประสิทธิภาพ, เทคนิคการทํางานร่วมกัน, สิ่งที่หัวหน้าต้องรู้, career & tips, มนุษย์เงินเดือน, การบริหารจัดการ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม