เทรนด์การทำงานในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนทำให้เกิด Buzzword หรือศัพท์ที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มากมาย หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Quiet Quitting หรือ The Great Resignation ซึ่งเป็นหนึ่งในศัพท์ที่เกิดจากเทรนด์การทำงานกันมาบ้าง ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ยังมีอีกเยอะมาก วันนี้ JobThai เลยมัดรวม 25 Buzzwords ยอดฮิตจากเทรนด์การทำงานมาฝาก
1. Office Peacocking
การปรับปรุงและดีไซน์ออฟฟิศใหม่ให้สวยงาม น่าเข้ามาทำงาน เพื่อดึงดูดให้พนักงานที่ติดใจการทำงานแบบ Remote Working รู้สึกอยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง โดยคำว่า Peacock หมายถึงการอวดรูปลักษณ์ด้วยความมั่นใจเหมือนนกยูงตัวผู้ที่กำลังรำแพนหางดึงดูดนกยูงตัวเมียนั่นเอง
2. Anti-perks
สวัสดิการที่ดูผิวเผินเหมือนจะดี แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่ดีอย่างที่คิด เช่น สวัสดิการมื้อเย็นฟรี แต่จริง ๆ แล้วมีจุดประสงค์เพื่อหลอกล่อให้พนักงานอยู่ทำงานล่วงเวลา หรือสวัสดิการแอลกอฮอล์ฟรี แต่หากพนักงานดื่มในเวลาทำงาน หรือดื่มเกินลิมิตที่พอดี ก็น่าหวั่นใจถึงประสิทธิภาพงานที่ออกมา
3. The Great Stay / The Big Stay
เทรนด์ที่ตามมาหลังปรากฏการณ์การลาออกครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Resignation) คือ The Great Stay หรือ The Big Stay ซึ่งเป็นเทรนด์ที่คนทำงานไม่ยอมลาออกและทำงานอยู่ที่เดิมไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน เนื่องจากหลายองค์กรมีนโยบายปลดพนักงานออกและรัดเข็มขัด จ้างพนักงานเท่าที่จำเป็นเพื่อประหยัดงบ ทำให้คนตกงานจำนวนมาก การแข่งขันกันหางานก็สูงขึ้นด้วย คนที่มีงานประจำอยู่แล้วจึงเลือกที่จะเกาะที่นั่งเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเพื่อความมั่นคง
4. Labor Hoarding
การที่บริษัทเลือกที่จะไม่ปลดพนักงานออกในช่วงสภาวะการเงินย่ำแย่ แม้จะทำให้บริษัทลำบากกับค่าใช้จ่าย แต่ในระยะยาว การรักษาพนักงานไว้อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่า เพราะไม่ต้องสูญเสียเงินค่าชดเชยจำนวนมากและเสียค่าสรรหาพนักงานใหม่ในช่วงที่สภาวะการเงินกลับมาเข้าที่
5. Tech Shame
สถานการณ์ที่คนทำงานรู้สึกอับอายจากการใช้งานเทคโนโลยีในที่ทำงานบางอย่างไม่เป็น หรือใช้ได้ไม่คล่องแคล่ว เช่น สแกนเอกสารกลับหัวกลับหาง ไม่สามารถแสดงหน้าจอของตัวเองผ่านการวิดีโอคอลได้ เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ผนวกรวมเข้ากับชีวิตประจำวัน จึงเกิดเป็นความคาดหวังว่าทุกคน โดยเฉพาะคน Gen Z ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลจะต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีสูง ดังนั้นเมื่อมีคนที่ไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีในที่ทำงานได้ตามที่คาด จึงเกิดเป็นความอับอายที่เรียกว่า Tech Shame นั่นเอง
6. Sunday Scaries
อาการที่คนทำงานรู้สึกจิตตกและเศร้าซึมในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ เพราะรู้ว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงจะต้องกลับไปทำงานต่อในวันจันทร์ โดย Sunday Scaries มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Sunday Night Syndromes หรือ Sunday Blues
7. Bare Minimum Monday
วันจันทร์เป็นวันที่คนทำงานหลาย ๆ คนรู้สึกหดหู่ เนื่องจากเป็นการทำงานวันแรกของสัปดาห์ เทรนด์ Bare Minimum Monday จึงเกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับอาการนี้ โดยวิธีการต่อกรคือการทำงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ในวันจันทร์ โดยอาจเลือกทำเฉพาะงานที่สำคัญเร่งด่วนเท่านั้น แล้วเก็บงานอื่นไว้ทำในวันต่อไป พอรู้สึกว่าวันจันทร์เป็นวันที่ไม่ค่อยมีงานต้องทำก็ช่วยให้รู้สึกหดหู่น้อยลง
8. Career Cushioning
เทรนด์การสร้าง “เบาะกันกระแทก” เตรียมแผนสำรองเผื่อตกงานในยุคเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งแผนที่ว่าก็มีตั้งแต่การอัปสกิลหรือเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ การเริ่มต้นสร้างแบรนด์หรือธุรกิจของตัวเอง การหาคอนเน็กชันผ่านการพูดคุยนัดแนะเรื่องงานกับคนรู้จัก เตรียมหาลู่ทางเผื่อเอาไว้ล่วงหน้า
9. Ghost Job
เคยเห็นประกาศงานที่ลงไว้นานนม แม้จะผ่านไปหลายเดือน หรือบางที่อาจผ่านไปเป็นปีแล้ว ประกาศงานนั้นก็ยังคงอยู่ไหม ถ้าเคยเห็นละก็ ประกาศงานนั้นอาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Ghost Job’ ก็ได้ แม้ชื่อจะฟังดูน่ากลัวแต่จริง ๆ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับผีแต่อย่างใด Ghost Job เป็นการลงประกาศงานที่ไม่ได้ตั้งใจเปิดรับคนจริง ๆ แต่ลงเอาไว้เพื่อเก็บลิสต์แคนดิเดตสำรองเผื่อกรณีมีพนักงานในองค์กรลาออก จะได้ติดต่อหาคนใหม่ได้ทันที หรือไม่ก็เป็นเพราะ HR ลืมเอาประกาศงานั้นออกหลังได้คนแล้วนั่นเอง
10. Lazy Girl Job
Lazy Girl Job เป็นเทรนด์การทำงานที่ไวรัลมาจาก Gabrielle Judge คอนเทนต์ครีเอเตอร์คนหนึ่งใน TikTok ที่ต้องการสนับสนุนให้ผู้หญิงมี Work-life Balance ในการทำงาน โดยการเลือกทำงานที่มีความยืดหยุ่น มั่นคง ไม่กดดัน และได้รับค่าตอบแทนเพียงพอกับการใช้ชีวิต แม้จะไม่อู้ฟู่แต่ก็ไม่ขัดสน และไม่ต้องแลกกับการเสียสุขภาพจิตและเวลาชีวิต
11. New Collar Job
เราอาจเคยได้ยิน Blue Collar (กลุ่มคนทำงานใช้แรงงาน) และ White Collar (กลุ่มพนักงานออฟฟิศ) กันมาบ้างแล้ว คราวนี้ก็มาถึงคิวของ New Collar บ้าง คำนี้เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกคนทำงานกลุ่มใหม่ที่มีทักษะพิเศษที่เป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานบริการสุขภาพ วิศวกรรม เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ โดยคนทำงานกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้อง แต่อาจเรียนรู้และฝึกฝนทักษะจากการเข้าคอร์สอบรมหรือบูทแคมป์ต่าง ๆ
12. Personality Hire
การจ้างพนักงานที่มีอารมณ์ขัน บุคลิกสดใสสนุกสนาน มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน และสามารถสร้างพลังบวกให้กับเพื่อนร่วมงานรอบข้างได้ ถึงแม้พนักงานคนนั้นอาจไม่ได้เก่งหรือมีทักษะในการทำงานมากนักก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์ในการจ้างคือเพื่อให้เขาเข้ามาสร้าง Good Vibes หรือบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน
13. Greenwashing
การทำแคมเปญหรือการชูนโยบายขององค์กรต่าง ๆ ว่าผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิตขององค์กรนั้นเป็นแบบ Eco-friendly ยั่งยืนและไม่ทำลายธรรมชาติ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและจะได้ไม่ตกขบวนเทรนด์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งที่จริง ๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น
14. Rage Applying
การร่อนใบสมัครงานรัว ๆ แบบไม่สนใจว่าตำแหน่งงานที่สมัครไปคือตำแหน่งอะไร มีภาระงานแบบไหน เนื่องจากโกรธแค้นที่โดนบริษัทปัจจุบันเอาเปรียบหรือปฏิบัติด้วยอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ต้องการย้ายงานหนีไปองค์กรอื่นให้เร็วที่สุด
15. Conscious Quitting
เทรนด์การลาออกจากงานที่เกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มคน Gen Z โดยสาเหตุการลาออกเป็นเพราะแนวทาง แนวปฏิบัติ หรือค่านิยมบางอย่างขององค์กรไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือยึดถือ เช่น องค์กรมีกระบวนการผลิตสินค้าที่ทำลายธรรมชาติ เอาเปรียบและไม่จริงใจกับผู้บริโภค ฯลฯ
16. Loud Quitting
เทรนด์ขั้วตรงข้ามของ Quiet Quitting หรือการเลิกทุ่มเทให้กับงานแบบเงียบ ๆ เพราะ Loud Quitting คือเทรนด์การเลิกทุ่มเทให้กับงานแบบตะโกน เมื่อหมดใจและหมดไฟแล้วก็แสดงออกให้ทุกคนรับรู้อย่างเปิดเผย เช่น เลือกปฏิเสธที่จะทำงานบางชิ้นแบบตรงไปตรงมา แฉการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพในออฟฟิศให้คนภายนอกรับรู้
17. Quittok
เทรนด์แชร์เรื่องราวการลาออกของตัวเองและเปิดเผยความเลวร้ายขององค์กรที่ตัวเองออกมาลง TikTok ให้คนอื่นได้รับรู้ โดยเป็นการผสมคำระหว่าง Quit ที่หมายถึงการลาออก กับชื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม TikTok เข้าด้วยกัน
18. Cyberloafing / Cyberslacking
การที่คนทำงานแอบใช้อินเทอร์เน็ตในเวลางานเพื่อทำเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น เล่นโซเชียลมีเดีย เช็กอีเมลส่วนตัว ตอบแชตเพื่อน ดูคลิปวิดีโอ ไปจนถึงการแอบหางานใหม่
19. Productivity Theater
การที่พนักงานพยายามแสดงออกว่าตัวเอง Productive เป็นคนทำงานหนักหรือมีตารางงานที่ยุ่งเป็นพิเศษ โดยให้น้ำหนักกับงานที่ได้หน้ามากกว่างานที่สำคัญจริง ๆ เช่น การพยายามเข้า Meeting ทุกประชุมแม้จะเป็น Meeting ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง
20. Proximity Bias
การที่หัวหน้าหรือผู้นำทีมมีแนวโน้มที่จะลำเอียง เข้าข้าง หรือมองว่าลูกน้องที่ทำงานแบบ On-site เป็น ‘ลูกรัก’ มากกว่าลูกน้องที่ทำงานแบบ Remote Working เนื่องจากเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกันมากกว่า ได้พูดคุยและเห็นหน้าเห็นตากันบ่อยกว่า
21. Productivity Paranoia
ภาวะที่หัวหน้าเกิดอาการพารานอยด์ ระแวงว่าพนักงานที่ทำงานแบบ Remote Working จะแอบอู้งานและไม่ Productive เหมือนตอนเข้าออฟฟิศ เนื่องจากตัวอยู่ห่างไกล ทำให้ไม่เห็นหน้าและการกระทำว่ากำลังทำงานอยู่จริงหรือเปล่า
22. Hush Trip
การที่คนทำงานทางไกลหรือ Remote Worker แอบหนีไปเที่ยวแบบเงียบ ๆ โดยไม่ได้ลาพักร้อนเป็นกิจจะลักษณะ รวมถึงไม่ได้บอกให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานรู้ด้วยว่าตัวเองจะหายไป แต่ทำเหมือนเข้างานปกติ ทั้งที่จริง ๆ แล้วกำลังไปออกทริปที่อื่นอยู่
23. Hustle Culture
แนวคิดหรือวัฒนธรรมการทำงานที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนักและนาน ผลักดันให้คนเป็น ‘Workaholic’ หรือมนุษย์คลั่งงาน หายใจเข้าออกเป็นงาน ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการทำงานจนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพตัวเอง
24. Sick Guilt
อาการรู้สึกผิดที่จะลาหยุดงานเพราะป่วย หรือรู้สึกแย่ที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เสร็จลุล่วงตามเวลาที่กำหนด เนื่องจากป่วยหรือสุขภาพไม่ดี
25. Side Gig / Side Hustle
งานเสริมนอกเหนือจากงานประจำหลักที่ทำอยู่ โดย Side Gig อาจจะเป็นงาน Full-time, Part-time หรืองานฟรีแลนซ์ก็ได้
JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน
ที่มา:
aihr.com, techtarget.com, alltopstartups.com, culture-shift.co.uk, forbes.com, indeed.com, marketsearchrecruiting.com, nexushr.com, nexushr.com, betterteam.com, betterup.com, pockethrms.com